เลือกกองทุน

5 ขั้นตอนที่มือใหม่ควรรู้ก่อน เลือกกองทุน

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • กองทุนรวมถือเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่นักลงทุนมือใหม่และมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายให้ความสนใจ ทั้งเรื่องของการลงทุนเพื่อให้ได้เงินงอกเงยและการลดหย่อนภาษี
  • ขั้นตอนการเลือกกองทุน เริ่มจากกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุน อัตราผลตอบแทนที่มีความสม่ำเสมอ เปรียบเทียบความเสี่ยง ขนาดกองทุน และความสามารถของผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)
  • จากข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมา จะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุน SSF/RMF มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 7-12 % ต่อปี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยเชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหลายคน กำลังมองหาการลงทุนที่เหมาะสม พี่ทุยก็คงแนะนำที่ “กองทุน” ก่อนเลย เพราะหนึ่งในประเภทของกองทุนอย่าง SSF RMF จะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีไปด้วย แต่เราจะมีวิธี เลือกกองทุน ยังไง ?

วิธี เลือกกองทุน

ปัญหาสำคัญสำหรับมือใหม่ กองทุนมีเป็นร้อยเป็นพันกอง มีหลายสถาบันที่ออกกองทุนมา คือ ควรมีวิธีเลือก “กองทุน” อย่างไรดี บทความนี้พี่ทุยมีจะบอก 5 ขั้นตอนแบบเข้าใจง่าย ๆ ที่มือใหม่ สามารถเลือกกองทุนได้ด้วยตนเอง เริ่มจาก

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของการลงทุน (Policy)

ขั้นตอนแรกสำคัญมากสำหรับนักลงทุน ต้องรู้ก่อนว่า เราลงทุนกองทุนนี้เพื่ออะไร แล้วจะลงทุนระยะเวลาเท่าใด เพื่อเลือกกองทุนที่มีนโยบายตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา เช่น เราต้องการลงทุนกองทุนในระยะยาว และต้องการลดหย่อนภาษีด้วย ดังนั้นกองทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของเรา คือ กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF หรือหากเราต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ กองทุนที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเรา คือ กองทุนรวมต่างประเทศ ที่มีนโยบายการลงทุนในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

2. อัตราผลตอบแทนที่มีความสม่ำเสมอ (Return)

ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นสิ่งที่นักลงทุนแทบทุกคนนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ เลยก็ว่าได้ นักลงทุนต่างคาดหวังผลตอบแทนที่สูง แต่ผลตอบแทนสูงอาจนำพาไปซึ่งความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน (High risk high return) สิ่งที่นักลงทุนมักชอบทำกัน คือ การไปดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนว่าปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ปี 2563 กองทุน A ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% เป็นต้น

ดังนั้นนักลงทุนจะคาดหวังว่าปีนี้หรือปีต่อ ๆ ไป กองทุน A นี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงเดิมได้ พี่ทุยขอบอกเลยว่า การกระทำแบบนี้อาจไม่ถูกต้อง ! สิ่งที่นักลงทุนมือใหม่ควรดูในเรื่องของอัตราผลตอบแทน ควรดูย้อนหลังไปอย่างน้อย 3-5 ปี บางกองทุนมีอายุนาน อาจจะดูเป็นระยะยาวได้มากกว่านั้น 5-10 ปี ให้เราดูค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในอดีต ว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น กองทุน A มีผลตอบแทน 5 ปีล่าสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 7% เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าพอดูผลการดำเนินงานของกองทุนในระยะยาวขึ้นแล้ว ผลตอบแทนอาจจะน้อยลงได้ แต่ให้ไปเทียบกับผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังด้วย ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เรายอมรับได้อยู่หรือไม่ แนวคิดสำคัญในเรื่องอัตราผลตอบแทน ควรมีความสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าบางปีผลตอบแทนสูง บางปีผลตอบแทนติดลบ  หรือผลตอบแทนสวิงผันผวนมากจนเกินไป แบบนั้นอาจทำให้นักลงทุนมือใหม่ตื่นตกใจขายกองทุนออกไปก่อนได้

3. เปรียบเทียบความเสี่ยง (Risk)

การลงทุนใด ๆ ก็ตามทีย่อมมีความเสี่ยง การลงทุนที่ดีต้องสามารถสร้างผลตอบแทนที่นักลงทุนพึงพอใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่ความเสี่ยงของการลงทุนที่มือใหม่อาจยังไม่ค่อยรู้กัน ค่าที่นิยมใช้วัดความเสี่ยง คือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ SD (Standard Deviation) ที่บอกถึงความผันผวนของกองทุนได้ ยิ่งค่า SD มาก ๆ แสดงว่ากองทุนมีความผันผวนสูงมากด้วยตามกัน โดยที่มือใหม่ควรจะต้องดูค่าความเสี่ยงควบคู่ไปกับอัตราผลตอบแทน เช่น กองทุน A ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 7% และมีค่า SD หรือค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 3% เป็นต้น

และมีอีกค่าหนึ่งที่ใช้วัดความเสี่ยงของกองทุน คือ ค่าชาร์ป เรโช (Sharpe Ratio) เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยง หรือพูดแบบง่ายๆเป็นค่าที่นำอัตราผลตอบแทนหารโดยความเสี่ยงนั่นเอง ดังนั้นยิ่งกองทุนไหนมีค่า Sharpe Ratio สูงกว่าแสดงว่าบริหารกองทุนได้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ดังนั้นวิธีเลือกกองทุนใดๆก็ตามให้ดูกองไหนมีนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน ก็ให้เราเลือกกองทุนจากค่า Sharpe Ratio ที่มีค่าสูงกว่า

และค่าวัดความเสี่ยงหรือโอกาสในการขาดทุนสูงที่สุดจากพอร์ตการลงทุนที่เรียกว่า “Maximum Drawdown” คำนวณโดยการเอาผลขาดทุนจากค่าสูงสุด (Peak Value) ของพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลานั้น นับไปจนถึงจุดต่ำสุด (Valley Value) ของพอร์ตการลงทุน จากนั้นนำไปหารกับค่า Peak Value อีกครั้งก็จะได้ค่า Maximum Drawdown เป็นเปอร์เซ็นต์ออกมานั่นเอง

4. ขนาดของกองทุน (Fund size)

ขนาดของกองทุนหรือมูลค่าสินทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนบริหาร มีทั้งกองทุนใหญ่ กลาง เล็ก ให้นักลงทุนเลือก ก็มีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกันไป อาทิ กองทุนขนาดใหญ่ที่ขนาดกองหลายหมื่นหรือเป็นแสนล้าน ก็อาจมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ต่ำกว่ากองทุนขนาดเล็กหรือกลาง ที่มีขนาดกองทุนหลักร้อยหรือหลักพันล้านเท่านั้น

แต่กองทุนใหญ่กว่าไม่ได้การันตีว่าจะดีกว่ากองเล็ก ๆ เสมอไป กองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสภาพคล่องในการสลับเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุน เนื่องด้วยกองทุนมีขนาดใหญ่อาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นได้มากกว่ากองขนาดเล็ก

5. ความรู้ความสามารถของผู้จัดการกองทุน (Fund manager)

ผู้จัดการกองทุนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางการลงทุนของกองทุน ดังนั้นนักลงทุนควรที่จะรู้ประวัติ ประสบการณ์ และผลงานสไตล์ในการลงทุนในอดีตของผู้จัดการกองทุนด้วย นอกจากนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีจรรยาบรรณที่ดี ไม่มีประวัติเสียหายด้านการบริหารมาก่อน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้กองทุนมีคุณภาพตอบสนองต่อนักลงทุนได้สูงที่สุด

จากข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมา จะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุน SSF/RMF มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 7-12 % ต่อปี พี่ทุยว่าก็ไม่เลวนะ เพราะถ้าเกิดว่าเราต้องการซื้อเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษี เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องถือยาว ๆ อยู่แล้วนั่นเอง

เข้าไปดูคลิปเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนเพิ่มเติม ได้ทีช่อง Youtube ของ Money Buffalo ได้เลย ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply