เคยได้ยินมาตั้งนาน LTF RMF คืออะไรกันแน่ ?

เคยได้ยินมาตั้งนาน LTF RMF คืออะไรกันแน่ ?

 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อพูดถึงเรื่องลดหย่อนภาษี “LTF RMF” ก็เป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของเหล่าพนักงานประจำหรือใครที่ต้องเสียภาษี บางคนก็ใช้สิทธิเต็มทุกปี บางคนก็ยังลังเล เอ๊ะ.. ควรจะซื้อหรือไม่ซื้อดีนะ หรือบางคนก็อาจจะยังงงๆอยู่ว่ามันคืออะไรกันแน่ พี่ทุยเลยอยากพาเรามาทำความรู้จักเจ้ากองทุน “LTF กับ RMF” กันให้มากขึ้นซักหน่อย

“LTF” ย่อมาจาก Long Term Equity Fund หรือภาษาไทย คือ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนใน “หุ้น” ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่ากองทุน เหตุผลในการจัดตั้งกอง LTF ขึ้นมา ก็เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว ทำให้ตลาดหุ้นมีสภาพคล่อง มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นแรงจูงใจกับผู้ลงทุน

กองทุน LTF แต่ละกองก็จะมีรายละเอียดในการลงทุนแตกต่างกัน บางกองทุนจะลงเฉพาะหุ้นใน SET 50 บางกองลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรม บางกองลงทุนตามสัดส่วนหุ้นของดัชนี SET Index ซึ่งเราสามารถทราบรายละเอียดนโยบายการลงทุนได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุนนั้นๆ

นอกจากนี้ กองทุน LTF จะมีทั้งแบบที่จ่ายเงินปันผล และไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับกองที่จ่ายเงินปันผล เมื่อนักลงทุนได้รับเงินปันผลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลที่ได้รับ หรือจะเลือกนำเงินปันผลไปรวมกับรายได้ทั้งปี แล้วค่อยเสียภาษีทีเดียวพร้อมกับรายได้อื่นๆก็ได้

สำหรับเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี เงินลงทุนที่เอาไปหักลดหย่อนภาษีได้ จะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องถือหน่วยลงทุน LTF เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

ส่วน “RMF” จะย่อมาจาก Retirement Mutaul Fund หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้เราออมเงินระยะยาวเพื่อใช้ยามเกษียณ โดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นแรงจูงใจกับผู้ลงทุนเช่นเดียวกับ LTF

ข้อแตกต่างของกองทุน RMF กับ LTF คือ กองทุน RMF จะมีนโยบายการลงทุนในกองทุนที่หลากหลายกว่า ไม่ได้เน้นลงทุนหุ้นอย่างเดียวแบบ LTF แต่กองทุน RMF มีทั้งลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล ตลาดเงิน ตราสารหนี้เอกชน หุ้น ทองคำ เป็นต้น มีให้เลือกมากมายหลากหลายความเสี่ยงตั้งแต่ต่ำ กลาง สูง

แต่ข้อดีของการลงทุน RMF ก็คือ เราสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ และยืดหยุ่นตามความต้องการแต่ละช่วงเวลา เช่น เมื่อวัยเริ่มต้นทำงานเราเลือกกอง RMF ที่ลงทุนในหุ้น เมื่อระยะเวลาผ่านไปเข้าใกล้วัยเกษียณ เราก็สามารถขายกองหุ้นนั้นไปซื้อกอง RMF ที่มีความเสี่ยงต่ำๆ เช่น กองที่ลงทุนในตลาดเงินได้

สำหรับเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี เงินลงทุนที่เอาไปหักลดหย่อนภาษีได้ เมื่อนำเงินลงทุนใน RMF + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. + ประกันชีวิตบำนาญ รวมกันจะต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ เมื่อเริ่มลงทุนแล้ว ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี สามารถลงทุนปีเว้นปีได้ ถ้าปีไหนไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องลงทุนก็ได้ มีเงินลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในปีนั้นๆ หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนไหนจะต่ำกว่า ที่สำคัญคือ จะขายคืนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่ซื้อครั้งแรก

สำหรับใครที่จะซื้อกองทุน LTF พี่ทุยแนะนำว่าเราต้องมั่นใจก่อนว่ายอมรับความเสี่ยงความผันผวนที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นได้ เมื่อครบกำหนดที่เราขายกองทุนได้ เราอาจจะขาดทุนหรือกำไร และนอกจากนี้ต้องมั่นใจว่าเราพร้อมจะลงทุนในระยะยาวอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ได้มีการวางแผนจัดการสภาพคล่อง เงินฉุกเฉินไว้เพียงพอแล้ว ถ้าเราเกิดต้องการใช้เงินจริงๆ แล้วอยากขายกองทุน LTF ก่อนระยะเวลา เราต้องยอมรับได้ว่าช่วงเวลาที่เราขายกองทุนเราอาจจะขาดทุนอยู่ และยังจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนไปและอาจยังมีค่าปรับตามมาอีกด้วย

ส่วนใครที่จะซื้อกองทุน RMF พี่ทุยก็อยากให้ทำความเข้าใจนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนให้ดีก่อนว่าลงทุนอะไร ความเสี่ยงเป็นยังไง รวมทั้งเราต้องมั่นใจว่าเรามีวินัยในการออมเงินระยะยาวจริงๆ และได้เตรียมสภาพคล่องไว้เพียงพอแล้ว เพราะกองทุน RMF จะขายได้เมื่ออายุ 55 ปีเลย สำหรับบางคนอาจจะนานกว่า LTF ซะอีก

พอจะรู้จัก LTF กับ RMF กันมากขึ้นแล้ว คงจะรู้แล้วว่าที่จริง LTF กับ RMF ไม่ได้เอาไว้ลดหย่อนภาษีอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือนึงที่ช่วยให้เรามีเงินออมและสามารถลงทุนระยะยาวได้ และเราจะตะบี้ตะบันซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีท่าเดียวเลยก็ไม่ได้ แต่ยังมีเรื่องรายละเอียดผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เราควรต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะลงทุนด้วย ส่วนถ้าอยากรู้ว่าเวลาเลือกกองทุนทำยังไงพี่ทุยแนะนำบมความนี้เลย “5 ขั้นตอนการเลือกกองทุนรวมแบบเจาะลึกสำหรับมือใหม่” 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย