เปิดประวัติ "ปตท." บริษัทน้ำมันที่อยู่คู่เมืองไทยมากกว่า 44 ปี

เปิดประวัติ “ปตท.” บริษัทน้ำมันที่อยู่คู่เมืองไทยมากกว่า 44 ปี

5 min read  

ฉบับย่อ

  • ปี 2521 ไทยเกิดวิกฤตเหลือน้ำมันสำรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพียง 2 วันเท่านั้น รัฐบาลในขณะนั้นออก พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2521 เพื่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. เพื่อแก้ปัญหา
  • ปี 2544 ปตท. เปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนเจ้าของจากเดิมที่มีเพียงรัฐบาล-กระทรวงการคลังไปเป็นประชาชนทั่วไปและนักลงทุน
  • พ.ศ.  2564 ปตท. มีกำไรสุทธิใน 2564 รวม 108,363 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ถึง 100% ส่วนสถิติของนิตยสารฟอร์จูนของ ปตท. อยู่ในอันดับ 234 และเป็นบริษัทไทยที่ติดอันดับเพียงบริษัทเดียว ทำรายได้ราว ๆ 1,897,245 ล้านบาท นับรวมแล้ว ปตท. อยู่ในอันดับของฟอร์จูน 500 มานาน 18 ปี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

จากวิกฤตราคาน้ำมันแพงในปี 2565 รู้หรือไม่ว่าในอดีตเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ไทยก็เคยเผชิญกับสถานการณ์คล้าย ๆ กันนี้ และตอนนั้นเหตุการณ์ก็รุนแรงถึงขนาดที่คนไทยไม่มีน้ำมันใช้กันเลยทีเดียว นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรระดับประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในครั้งนั้น นั่นคือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบัน ปตท. หรือ PTT Public Company Limited เป็นบริษัทด้านพลังงานของไทย ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมครบวงจร และธุรกิจปิโตรเคมีที่เน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่อง มีบริษัทในเครือจำนานมาก

จากการสำรวจของนิตยสารการเงินระดับโลกอย่างฟอร์จูนในปี 2555 บริษัท PTT ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับที่ 95 จาก 500 แห่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก และ PTT ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้สูงสุดของไทย

เปิดประวัติ "ปตท." บริษัทน้ำมันที่อยู่คู่เมืองไทยมากกว่า 44 ปี

ขณะที่ล่าสุดในปี 2564 PTT มีกำไรสุทธิใน 2564 รวม 108,363 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ที่กำไร 37,766 ล้านบาทคิดเป็น 100%

ส่วนสถิติของนิตยสารฟอร์จูนของ PTT ในปัจจุบันอันดับตกลงมาอยู่ในอันดับ 234 และเป็นบริษัทไทยที่ติดอันดับเพียงบริษัทเดียว ทำรายได้ 51,647.5 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 1,897,245 ล้านบาท) กำไร 1,207.2 ล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 84,834.4 ล้านดอลลาร์ พนักงาน 29,421 คน และนับรวมแล้ว PTT อยู่ในอันดับของฟอร์จูน 500 มานาน 18 ปี

พี่ทุยเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก PTT หรือไม่เคยเลี้ยวเข้าปั๊มปตท. เพื่อแวะเติมน้ำมันหรือซื้อของต่าง ๆ เมื่อต้องเดินทาง  แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ที่มาที่ไปตลอด 44 ปี ที่เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตำนานธุรกิจขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ

เรื่องราวการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้จะมีอะไรบ้าง วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปส่องประวัติศาสตร์ขององค์กรน้ำมันแห่งนี้ เมื่อเติมน้ำมันครั้งหน้าจะได้มีเรื่องราวสนุก ๆ เอาไว้เล่าให้คนนั่งข้าง ๆ ฟัง

ไทยเสียอธิปไตยทางพลังงาน-บริษัทน้ำมันต่างชาติแห่เข้ามาในไทย

สถานการณ์วิกฤตที่ไทยเคยเผชิญถึงขนาดที่เรียกว่า “สูญเสียความมั่นคงทางพลังงาน” เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยในช่วงเวลานั้น ปี 2488 ไทยต้องยินยอมทำตามข้อตกลงภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลไทยจะต้อง “ไม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน-จำหน่ายน้ำมัน” ให้กับหน่วยงานราชการหรือประชาชน

“ไทยเสียความมั่นคงและเสียอธิปไตยทางพลังงาน มีข้อผูกมัดเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจน้ำมันได้ แต่คนไทยเองไม่สามารถทำได้ เราจึงเห็นภาพการเข้ามาทำธุรกิจน้ำมันของต่างชาติ” ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT คนที่ 7 เคยได้ให้ข้อมูลเอาไว้

ปี 2488 บริษัท รอยัล ดัตช์ เชลล์ จำกัด กลับเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอีกครั้ง โดยตั้งบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และตั้งสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งอย่างรวดเร็ว

ตามมาด้วยบริษัท สแตนด์ดาร์ดออยล์ จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด ในภายหลัง และบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (สยาม) จำกัด ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด

ต่อมาในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น สามารถเจรจาต่อรองปรับแก้สัญญาให้คนไทยสามารถเปิดดำเนินกิจการน้ำมันได้เองเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติ 

ปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้มีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิงเป็นนิติบุคคล เพื่อดำเนินธุรกิจในการผลิตและค้าน้ำมัน ซึ่งต่อมาก็คือ ปั๊มน้ำมันสามทหาร ใช้สัญลักษณ์ตราสามทหาร  เพื่อดำเนินสถานีบริการน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน

อ่านเพิ่ม

เปิดประวัติ "ปตท." บริษัทน้ำมันที่อยู่คู่เมืองไทยมากกว่า 44 ปี

น้ำมันของไทยขาดแคลนหนักจากวิกฤตน้ำมันทั้งสองครั้ง

ปี 2516-2517 โลกและไทยได้รู้จักกับเหตุการณ์วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรก เมื่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือ OPEC มีปัญหากับอิสราเอล

ครั้งนั้นทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มจาก 3 ดอลลาร์กลายเป็น 9 ดอลลาร์อย่างรวดเร็ว เกิดสถานการณ์น้ำมันขาดแคลนทั่วโลก เมื่อน้ำมันกลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของยุคสมัย และยังเป็นปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อน้ำมันขาดแคลนจึงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกและระดับประเทศ

ต่อเนื่องมาจนวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองของอิหร่าน ในปี 2521 เศรษฐกิจอิหร่านหยุดชะงัก เกิดการประท้วงหยุดงานส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกลดลง ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ไทยก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเคยได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ประเทศมีน้ำมันสำรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพียง 2 วันเท่านั้น หมายความว่า หากรัฐบาลหาน้ำมันเข้ามาเพิ่มไม่ได้ โรงไฟฟ้าหลักของประเทศจะต้องหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า”

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นที่คนในยุคนี้อาจจะจินตนาการไม่ออก ก็คือมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมา ได้แก่ การจำกัดเวลาขายน้ำมันของปั๊มน้ำมันทั่วประเทศให้ขายได้ถึงเวลา 6 โมงเย็นเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ขายน้ำมันในวันอาทิตย์ ให้ป้ายโฆษณาตามท้องถนนงดใช้ไฟ งดการฉายภาพยนตร์และมหรสพต่าง ๆ รวมถึงให้สถานีโทรทัศน์งดการออกอากาศในช่วงค่ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งประเทศมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง

สถานการณ์นี้ยังได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นเพลง “น้ำมันแพง” ขับร้องโดยสรวง สันติ หลายคนที่เกิดทันหรือคุณพ่อคุณแม่เกิดในยุคนั้นก็อาจเคยร้องให้ฟัง และคุ้นหูกับเนื้อร้องที่ว่า “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ”

ถือกำเนิดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.

เพราะไทยขาดแคลนน้ำมันระดับวิกฤต รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องหาวิธีผ่าทางตันของปัญหานี้

20 ธ.ค. 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ออก พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2521 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. จึงได้ก่อตั้งขึ้นในวันเดียวกันนั้น ท่ามกลางช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน

PTT มีภารกิจเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศ และจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเพิ่มเติม การก่อตั้ง PTT ทำให้ในช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกขาดแคลนน้ำมัน ไทยยังสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงาน และลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศไว้ได้

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการหรือบอร์ดคนที่ 1 ของ PTT นอกจากนั้น คณะกรรมการชุดแรกยังประกอบไปด้วยบุคคลระดับประเทศในยุคนั้นอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน

เปิดประวัติ "ปตท." บริษัทน้ำมันที่อยู่คู่เมืองไทยมากกว่า 44 ปี

วันที่ 5 ก.ค. 2522 มีการจัดประชุมคณะกรรมการขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการแต่งตั้งทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์เป็นผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคนที่ 1 ในปีเดียวกันนั้นได้มีการโอนองค์การก๊าซธรรมชาติและองค์การเชื้อเพลิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ PTT ด้วย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ปั๊มน้ำมันตราสามทหารก็ค่อย ๆ เลือนหายไป

ยุคที่ยังเป็นผู้ตามในตลาดผู้ให้บริการน้ำมัน

ในหนังสือ “ชมศาสตร์…ชาญศิลป์” ของชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปตท. คนที่ 9 ได้เล่าไว้ว่า ในปี  2529 PTT ยังถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการน้ำมันหน้าใหม่ ท่ามกลางบริษัทต่างชาติอย่างเชลล์ เอ็กซอน และคาลเท็กซ์ ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 90%”

โดยนายชาญศิลป์เล่าว่า “เราเอาชนะเขาด้วยการขายน้ำมันไม่ได้หรอก แต่เราต้องขายไอเดีย ขายการบริการให้ประทับใจ ขายความเชื่อมั่น” ในเวลานั้น PTT จึงตั้งสถาบันวิจัยขึ้นมาพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงกับน้ำมันหล่อลื่นให้ได้มาตรฐาน

ชาญศิลป์ยังเล่าอีกว่า “ต้องยกเครดิตให้คุณเลื่อน กฤษณกรี ท่านผู้ว่าการคนที่ 3 คุณเลื่อนเสียสละลาออกจากเอ็กซอนที่ได้เงินเดือนสูงมาก ๆ มาทำงานกับ ปตท. เพราะท่านอยากช่วยประเทศ อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทน้ำมันของทหารให้ทันสมัย แข่งกับเจ้าอื่น ๆ ได้ในเวลานั้น

มนุษย์ตะกั่วในโฆษณาไร้สารตะกั่ว

ทุกวันนี้หากมีการพูดถึงสารตะกั่วในน้ำมันขึ้นมา คนยุคปัจจุบันอาจจะนึกภาพกันไม่ออกว่าในน้ำมันเคยมีสารตะกั่วซึ่งเป็นสารอันตรายผสมอยู่ด้วยหรือ เพราะคนในยุคนี้ก็คงจะคุ้นเคยกับการเติมน้ำมันชนิดโซฮอล์ 91 95 หรือ E20 E85

แต่เมื่อ 30 ปีก่อนในตอนที่รถยนต์และรถประจำทางสาธารณะมีเพียง 600,000 คัน รถทุกประเภทใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมแค่ 2 ชนิดคือ เบนซินและดีเซล แต่เครื่องยนต์ในยุคนั้นยังสะดุดและไม่สม่ำเสมอ นักเคมีของบริษัทน้ำมันต่าง ๆ จึงคิดค้นสูตรการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการเติมสารตะกั่วเข้าไป  และตั้งชื่อว่า “เบนซินพิเศษ” บางบริษัทน้ำมันเติมคำว่า “ซูเปอร์” เข้าไป 

สารตะกั่วกลายเป็นพระเอกของน้ำมัน แต่เพียง 10 ปี จากพระเอกก็กลายเป็นผู้ร้าย เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาว่า สารตะกั่วที่ปนมากับเชื้อเพลิงนั้น เผาไหม้ไม่หมดและจะหลงเหลือผสมอยู่ในชั้นบรรยากาศรวมถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ

สารตะกั่วตัวร้ายส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะการผลิตเม็ดเลือดแดง และส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทารก ในเวลาต่อมา สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศชั้นนำต่างออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่ว และหันไปใช้สาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl) แทน

ส่วนในไทย ช่วงปี 2527 นั้น PTT เป็นผู้ให้บริการน้ำมันที่ตอบรับต่อกระแสโลกเรื่องการต่อต้านการใช้สารตะกั่วได้เร็วกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติ  ด้วยการประกาศใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว (Unleaded Gasoline) ขึ้นเป็นบริษัทแรก

อาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าการ PTT ปี 2530 ประกาศนำสาร MTBE มาผสมเพื่อเพิ่มค่าอ๊อกเทนของน้ำมันเบนซินแทนสารตะกั่ว ซึ่งสามารถเพิ่มอ็อกเทนจากเดิม 95 เป็น 97 แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินของ PTT สูงขึ้นและต้องรับภาระในส่วนนี้ไปก็ตาม

PTT ประกาศว่าตนเองเป็นบริษัทผู้ให้บริการน้ำมันรายแรกที่ขายน้ำมันเบนซินที่ไร้สารตะกั่ว ตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดปริมาณสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินภายใน ปี 2536 หลังจากนั้นบริษัทน้ำมันของต่างชาติอย่างเชลล์และเอสโซ่ก็ทยอยขายน้ำมันไร้สารตะกั่วตามเช่นกัน

ต่อมาจึงได้มีการประกาศเลิกใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วอย่างถาวรในวันที่ 1 ม.ค. 2539  และนี่จะเป็นที่มาของโฆษณา “มนุษย์ไร้สารตะกั่ว” ที่ผลิตโดยบริษัทแมชชิ่ง สตูดิโอ ที่อยู่ในความทรงจำ เป็นหนึ่งในโฆษณาภาพจำของ ปตท. จนถึงทุกวันนี้

แปรรูป ปตท.

1 ต.ค. 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนเจ้าของจากเดิมที่มีเพียงรัฐบาล-กระทรวงการคลังไปเป็นประชาชนทั่วไปและนักลงทุน

รวมถึงสถาบันการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศ วิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในเวลานั้น เปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า CEO (Chief Executive Officer)

ในช่วงเวลานั้น PTT ต้องเผชิญหน้ากับกระแสสังคมหลายด้าน ทั้งภารกิจขององค์กรที่ย้อนแย้งกันระหว่างการรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นเช่นเดียวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์บริษัทอื่น ๆ

รวมไปถึงกระแสว่าการแปรรูปในครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับนักการเมืองผู้บริหารประเทศที่มีผลประโยชน์ได้เสียในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมสาธารณูปโภคสำคัญอย่างน้ำมันด้วย 

อย่างไรก็ตาม ฝั่ง PTT ก็ได้ให้เหตุผลของการแปรรูปครั้งนี้ว่า เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2540 ตลาดหุ้นและตลาดทุนยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง หาก PTT แปรรูปรัฐวิสาหกิจจะสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้มาก เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและสร้างความเชื่อมั่นระดับโลกในฐานะบริษัทพลังงานข้ามชาติชั้นนำ 

บรรยง พงษ์พานิช อดีตประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และผู้คร่ำหวอดในวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองของไทย ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า PTT แปรรูปแล้วได้ผลชัดเจนเรื่องของกำลังทุนที่จะต้องใช้เงินลงทุนขยายธุรกิจ เข้าไปช่วยปรับโครงสร้างการเงินให้กับบริษัทลูก เพราะรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองได้ 

“แปรรูปแล้วยังเห็นได้ชัดว่าเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่รัฐยังคงมีอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ถ้า PTT ไม่แปรรูป ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นการเติบโตที่เข้มแข็งก้าวขึ้นมาทำกำไรระดับแสนล้านบาท คนไทยก็คงไม่ได้เห็นองค์กรของไทยที่ก้าวไปอยู่ในมาตรฐานระดับโลกพร้อมทั้งความโปร่งใสอีกด้วย” บรรยงกล่าว

ทวงคืน ปตท.

หลังการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ เมื่อ 31 ส.ค. 2549 มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาการแปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัทจำกัดตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

กระทั่งวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาสูงสุด ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูปฯ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แก่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ PTT ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดกระแส “ทวงคืน ปตท.” ยังต้องย้อนไปถึงการเข้าถือหุ้นของ PTT ในบริษัท TPI ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท IRPC อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าของ TPI และ PTT จึงเกิดขึ้น ซ้อนทับกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษนั้น ก็ทำให้ PTT ตกเป็นเป้าของกระแสการทวงคืนรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ นำไปสู่เหตุการณ์ม็อบปิดล้อมสำนักงานใหญ่ PTT ในปี 2557

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าคนที่ออกมาต่อต้าน ปตท. เขามีข้อมูลที่ได้รับมาชุดเดียวกัน ยังเข้าใจ ปตท. ผูกขาด เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันจนถึงขั้นเชื่อว่าไทยมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลไม่แพ้ตะวันออกกลาง ซึ่งทางเราก็เตรียมข้อเท็จจริงมาชี้แจง ตอบเขาได้หมด แม้สุดท้ายเราจะไม่สามารถลบอคติที่ผู้ประท้วงมี แต่เราก็ได้สื่อสารข้อเท็จจริงออกไปสู่สาธารณะได้” ชาญศิลป์ ตรีนุชการเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น

ปัจจุบันบนหน้าเว็บไซต์ทางการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อธิบายสถานะขององค์กรไว้ว่า PTT จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2544 โดยการแปลงสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยรับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด สินทรัพย์ และพนักงานทั้งหมด ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

โดยได้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก ในวันที่ 6 ธ.ค.. 2544 และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งก็หมายความว่า แม้จะกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แต่ PTT ก็ยังมีสถานะเป็นทั้งบริษัทมหาชน และรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 51%

และทั้งหมดนี้ก็คือตำนานอายุ 44 ปีของ ปตท. บริษัทพลังงานอันดับ 1 ของไทย ที่ยังมีชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวคู่กับประเทศไทยมายาวนาน ซึ่งในแต่ละบทแต่ละหน้าของประวัติศาสตร์ขององค์กรก็ฉายภาพซ้อนทับไปกับประวัติศาสตร์ธุรกิจการเงินของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

เป็นยังไงกับที่มาที่ไปตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงที่มาก่อนจะเป็น ปตท. ขององค์การเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันสามทหารแล้ว ถ้าอยากรู้ประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจของไทยองค์กรไหนอีก บอกพี่ทุยมาได้ทุกช่องทาง แล้วพี่ทุยจะหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้มาเล่าให้ฟังอีกในคราวหน้า

อ้างอิง

หนังสือ 40 ปีเรื่องราวแห่งความภาคภูมิใจ สานพลังไทยสู่ความยั่งยืน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

หนังสือ ชมศาสตร์… ชาญศิลป์, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย