ย้อนรอย “วิกฤติน้ำมันแพง” กับ “ความขัดแย้งทางการเมือง” ในประวัติศาสตร์โลก

ย้อนรอย “วิกฤติน้ำมันแพง” กับ “ความขัดแย้งทางการเมือง” ในประวัติศาสตร์โลก

5 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • หลังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ส่งผลให้หลายประเทศออกมาคว่ำบาตร นำมาสู่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอยู่ที่ 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งนับว่าราคาขึ้นสูงพอกับเหตุการณ์น้ำมันแพงเมื่อปี 2008
  • ความขัดแย้งทางการเมืองคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ที่ผ่านมาหากประเทศผู้ผลิตหรือส่งออกน้ำมันระดับโลกเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมานั้น ผลก็คือ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง เช่น สงครามอาหรับ-อิสราเอล ปฏิวัติอิหร่าน สงครามอิรัก-คูเวต เป็นต้น
  • ปัจจุบัน 5 อันดับประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย แคนาดา และจีน ตามลำดับ 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ปัญหา “วิกฤติน้ำมันแพง” สร้างความปวดหัวให้หลายคนไม่น้อย เมื่อ มี.ค. 2022 ราคาน้ำมันดิบขยับพุ่งแตะเพดานที่บาร์เรลละ 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ แถมนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจแตะขึ้นไปอีกถึง 185 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นจุดราคาสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์นี้เป็นผลมาจากการที่รัสเซียบุกยูเครนนั่นเอง

หากถามว่า แล้วทำไมราคาน้ำมันขึ้นได้ นั่นก็เพราะ หลายประเทศคว่ำบาตรรัสเซียหลังบุกรุกยูเครน เท่ากับว่าได้ตัดกำลังผู้ผลิตน้ำมันของโลกออกไป ทำให้ต้องหาแหล่งซัพพลายใหม่และยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องกลไกอุปสงค์-อุปทาน

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทุกครั้งที่เกิดสงครามหรือปมขัดแย้งทางการเมือง มักทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและพุ่งขึ้นเสมอ โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในประเทศที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตน้ำมัน

พี่ทุยเลยอยากพาทุกคนมาย้อนรอยดูเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่ผ่านมา ว่ามีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น แล้วราคาน้ำมันที่ผ่านมาขึ้นมามากน้อยแค่ไหน

ใครคือผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ก่อนอื่นมาดูว่า ปัจจุบันผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกคือประเทศไหน สำนักงานบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อปี 2021 ว่าการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมทั่วโลกตกอยู่ที่ประมาณ 95.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีประเทศ 5 อันดับแรกที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก ดังนี้

ย้อนรอย “วิกฤติน้ำมันแพง” กับ “ความขัดแย้งทางการเมือง” ในประวัติศาสตร์โลก

สหรัฐอเมริกา นอกจากผลิตน้ำมันสูงสุดแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซเหลวธรรมชาติอันดับต้น ๆ โดยทำกำลังการผลิตเฉลี่ย 11.3 ล้าน บาร์เรล/วัน ในปี 2020 

ซาอุดิอาระเบีย ถือครองน้ำมันสำรอง คิดเป็น 15% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุด รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศจากกลุ่ม OPEC ที่ติดโผผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกด้วย 

รัสเซีย การล่มสลายของสหภาพโซเวียตส่งผลให้ธุรกิจน้ำมันในประเทศอยู่ในมือเอกชนมากขึ้น แต่รัฐยังเข้าไปดูแลควบคุมทุกภาคส่วนอยู่ โดยแหล่งผลิตน้ำมันหลักอยู่ที่ไซบีเรียตะวันตก ไซบีเรียตะวันออก ยูรัล-วอลกา เขตสหพันธ์ตะวันออกไกล แคว้นอาร์ฮันเกลสค์ และสาธารณรัฐโคมี ส่วนใหญ่ไซบีเรียตะวันตกและยูรัล-วอลกา คือแหล่งต้นกำเนิดของการผลิตน้ำมัน 

เมื่อรัสเซียบุกเข้าพื้นที่ยูเครนเมื่อปี 2014 ทำให้ประเทศตะวันตกคว่ำบาตร รวมทั้งสหรัฐฯ ก็แบนไม่ให้บริษัททำธุรกิจพลังงานของรัสเซียเข้ามาตีตลาดน้ำมันของประเทศ หรือห้ามเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตพลังงานเชลล์อีกด้วย 

ต่อมา สมาชิกกลุ่ม OPEC จำนวน 14 ประเทศ และประเทศที่ไม่ได้อยู่กลุ่ม OPEC นำโดยรัสเซียอีก 10 ประเทศ ร่วมกันจัดตั้ง OPEC+ เพื่อกำหนดจำนวนโควต้าส่งออกน้ำมันของแต่ละประเทศ และกลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในตลาดพลังงานระดับโลก

แคนาดา EIA ได้ประเมินว่า แคนาดาผลิตน้ำมันดิบและก๊าซเหลวธรรมชาติได้ 4.2 ล้าน บาร์เรล/วัน ในปี 2020 และจะทำได้มากขึ้นถึง 6.9 ล้าน บาร์เรล/วัน ในปี 2050

ทรายน้ำมัน คือทรัพยากรหลักในการผลิตน้ำมันของแคนาดา ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ที่อัลเบอร์ตา ลุ่มน้ำตะกอนตรงฝั่งตะวันตก และบริเวณชายฝั่งแอตแลนติก

จีน เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อปี 2017 แซงหน้าสหรัฐฯ และปี 2021 มีอัตราการใช้น้ำมันมากถึง 14.3 ล้าน บาร์เรล/วัน กลายเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคน้ำมันใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ 

สรุปแล้ว หากว่ากันเฉพาะสหรัฐฯ รัสเซีย และกลุ่ม OPEC ครองสัดส่วนการผลิตน้ำมันโลกมากถึง 2 ใน 3 แต่ยังไม่มีใครจะเพิ่มความต้องการขาย เพื่อตบราคาน้ำมันให้ต่ำลงได้

ย้อนรอย “วิกฤติน้ำมันแพง” กับปมขัดแย้งทางการเมืองในอดีต

ย้อนรอย "วิกฤติน้ำมันแพง" กับปมขัดแย้งทางการเมืองในอดีต

1960 ก่อตั้ง OPEC

หลายคนคงคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี โดย OPEC รวมกลุ่มประเทศสมาชิกที่ผลิตน้ำมันส่งออกให้มาร่วมมือกันสร้างนโยบายผลิตปิโตรเลียม เพื่อคงราคาเชื้อเพลิงไม่ให้ผันผวนและเกิดความเป็นธรรมในหมู่ผู้ผลิตด้วยกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ OPEC ทำหน้าที่เหมือนบริษัทขายน้ำมันโลก จึงต้องหาทางทำยอดขายน้ำมันขององค์กรให้ได้มากที่สุด โดยปรับการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและความต้องการซื้อน้ำมันของโลก

พอว่ากันถึงราคาน้ำมันนั้น ช่วงแรกกลุ่ม OPEC ยังไม่ได้ปรับราคาน้ำมันเต็มเหนี่ยวนัก ทำให้ราคาคงที่อยู่ จนถึงปี 1970 สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในตลาดน้ำมันดิบระดับโลก และยังเป็นแหล่งเก็บน้ำมันสำรองมากมาย 

1973 อาหรับยุติการส่งออกน้ำมัน

ต้นสายปลายเหตุเริ่มต้นที่สงครามยมคิปปูร์ ว่าด้วยการรบกันระหว่างแนวร่วมหนุนรัฐอาหรับ (ซึ่งรวมอียิปต์และซีเรีย) กับอิสราเอล โดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของริชาร์ด นิกสัน ได้ส่งกองกำลังทหารไปช่วยฝั่งอิสราเอล หลังจากอียิปต์และซีเรียโจมตีเมื่อวันที่ 6 เดือน ต.ค. ปี 1973 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว 

อาหรับจึงตัดกำลังส่งออกน้ำมันให้สหรัฐฯ และประเทศที่หนุนอิสราเอลอีกหลายประเทศ อย่างเนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ เพื่อประท้วงการกระทำดังกล่าว

ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงจากบาร์เรลละ 24 ดอลลาร์สหรัฐฯ แตะที่บาร์เรลละ 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อต้นปี 1974 โดยแก๊สโซลีนในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมา 40% ทำให้ผู้คนกลัวเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันจนต้องออกไปต่อแถวยาวที่ปั๊มเพื่อตุนน้ำมันไว้ 

เหตุการณ์นี้ถือเป็นวิกฤติน้ำมันและพลังงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันทั่วโลก ที่สำคัญ สหรัฐฯ และประเทศยุโรปถึงกับต้องมาทบทวนการนำเข้าน้ำมันจากกลุ่มตะวันออกกลาง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการผลิตน้ำมันและยกระดับประสิทธิภาพพลังงานของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

1979 ปฏิวัติอิหร่าน

หรืออีกชื่อหนึ่งคือ การปฏิวัติอิสลาม ว่าด้วยเหตุการณ์ประท้วงจลาจลครั้งใหญ่ นำไปสู่การล้มระบอบอำนาจนิยมอีกหลายประเทศในอีก 30 ปีถัดมา เดิมทีอิหร่านปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ขณะนั้นราชวงศ์ต้องปะทะกับขั้วตรงข้ามมากมาย แต่ที่สั่นคลอนราชวงศ์มากที่สุดคือฝ่ายนิกายชีอะห์ที่มีคนนับถือมากและได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษา ในขณะที่ราชวงศ์ก็มีสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง 

การประท้วงมาถึงจุดแตกหักในปี 1978 โดยประชาชนนับล้านที่หนุนฝ่ายชีอะห์ออกมาลงถนน รวมทั้งหยุดงานทั้งประเทศ ถึงอย่างนั้น รูฮุลลอห์ โคไมนี ผู้นำฝ่ายชีอะห์ต้องลี้ภัยไปอยู่อิรักเมื่อต้นปี 1979 ก่อนกลับเข้าอิหร่านอีกครั้ง เพื่อรับตำแหน่งผู้นำหลังมีประชามติเปลี่ยนผ่านอิหร่านให้เป็นสาธารณรัฐอิสลาม 

ส่วนพระเจ้าชาห์ก็ลี้ภัยไปที่สหรัฐฯ โดยได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนไม่พอใจถึงกับบุกไปสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน แล้วจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน อีกทั้งยังคว่ำบาตรทางการค้า กำลังการผลิตที่ลดลงจากความไม่สงบทางการเมืองที่มีต่อเนื่องส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นจากบาร์เรลละ 56 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่บาร์เรลละ 125 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

1981 รัฐบาลเรแกนยกเลิกกฎน้ำมัน

ต้องย้อนกลับไปที่กรณีปฏิวัติอิหร่าน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวภาวะขาดแคลนน้ำมันและราคาน้ำมันพุ่งกันทั่วโลก โดยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ กล่าวถึงนโยบายพลังงานทั้งในแง่ประหยัดพลังงานและควบคุมราคาน้ำมัน รวมทั้งลงนาม Energy Security Act ว่าด้วยการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่คิดหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันได้

เมื่อถึงปี 1981 ก็ถึงยุครัฐบาลโรนัลด์ เรแกน เขาได้ยกเลิกกฎราคาน้ำมันดิบและการควบคุมการผลิตและกระจายน้ำมันและแก๊สโซลีน ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ต่างขึ้นราคาตลาดกัน อีกทั้งกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ OPEC เริ่มผลิตน้ำมันได้ดีกว่าประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งสวนทางกับความต้องการซื้อทั่วโลกที่เริ่มลดลง เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น 

ปี 1982 สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันประมาณ 28% ซึ่งลดลงกว่า 45% เมื่อเทียบกับปี 1977 ราคาน้ำมันยังลงต่อเนื่อง โดยปี 1985 มีการใช้เชื้อเพลิงยานยนต์ลดลง แถมคนก็หันมาใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพและไฟฟ้า ทำให้ลดการใช้น้ำมันลงไปกว่าเดิม

หากสรุปง่าย ๆ แล้ว ช่วงปี 1981 – 1986 ราคาน้ำมันลดลงเฉลี่ยปีละ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบตกลงจากบาร์เรลละ 113 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค. ปี 1981 มาอยู่ที่บาร์เรลละ 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1986

1990 อิรักบุกคูเวต

หรือสงครามอิรัก-คูเวต เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปี 1990 อันนำมาสู่ข้อพิพาทแหล่งน้ำมันรูไมลา โดยอิรักกล่าวว่าถูกอีกฝ่ายเข้ามาขุดเจาะน้ำมันในเขตแดนของตน การเข้ายึดคูเวตใช้เวลาเพียง 2 วัน เมื่อเข้ายึดได้แล้ว ซัดดัม ฮุสเซน ก็ประกาศแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดปกครองคูเวต การเข้ายึดคูเวตส่งผลให้ราคาน้ำมันขึ้นจากบาร์เรลละ 34 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเกือบถึงบาร์เรลละ 77 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

แต่หลังจากทั่วโลกรวมถึงมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียออกมาประณามพร้อมคว่ำบาตร ตลอดจนสหรัฐฯ ที่เข้ามาเจรจาไม่สำเร็จ จนต้องส่งกองกำลังทหารร่วมกับประเทศอื่น (รู้จักกันในชื่อ กองกำลังสัมพันธมิตร) เข้ามาขับไล่อิรักเมื่อต้นปี 1991 นั้น ราคาน้ำมันก็ตกลงมาอยู่ที่ 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนพุ่งขึ้นแตะที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย และกลับมาราคาคงที่หลังสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอิรัก

2008 น้ำมันพุ่งเป็นประวัติการณ์

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่อเนื่อง เพราะเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การตัดกำลังการผลิตและส่งออกน้ำมันมากมาย ตั้งแต่เวเนซุเอลาไม่ขายน้ำมันให้อย่าง Exxon Mobil จากกรณีฟ้องร้องระหว่างรัฐบาลเวเนฯ กับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ อิรักยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามภายในประเทศจนส่งออกน้ำมันไม่ได้ กลุ่มแรงงานประท้วงทำให้กำลังการผลิตน้ำมันลดลงทั้งในไนจีเรียและฝั่งทะเลเหนือของอังกฤษ โดยท่อส่งน้ำมันของไนจีเรียถูกกองกำลังติดอาวุธระเบิดจนขนส่งน้ำมันไม่ได้

หากพูดถึงภาพรวมแล้ว ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากบาร์เรลละ 118 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ ธ.ค. ปี 2007 แตะเกินเพดานราคาบาร์เรลละ 165 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางปี 2008 ถือว่าพุ่งขึ้นถึงขีดสุดเมื่อเทียบกับตอนราคาต่ำสุดที่ 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 

ที่สำคัญ ราคาน้ำมันและอาหารขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็ได้ถกเถียงเรื่องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันภายในประเทศ 

จากนั้น ช่วงครึ่งหลังของปี 2008 ก็ถึงยุควิฤติการเงินโลก ทำให้ราคาน้ำมันตกลงมาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อมกราคม ปี 2009 ก่อนดีดกลับมาที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

2010 ยุคปฏิวัติน้ำมัน Shale Oil

ถือเป็นจุดเปลี่ยนวงการพลังงานของสหรัฐฯ ขณะนั้นสหรัฐฯ ใช้วิธีขุดเจาะน้ำมันในชั้นหินดินดานหรือเชลล์ได้สำเร็จ ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง บูสต์เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลก โดยคิดเป็น 1.6% ของ GDP ประจำปี 2011 รวมทั้งเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นตลอดช่วงปี 2010-2012 

ที่สำคัญ ยังทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งมีส่วนช่วยดันราคาน้ำมันดิบลดลงจากเดิม 87 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปีนั้น เหลือต่ำกว่าที่บาร์เรลละ 51 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2020 

2020-ปัจจุบัน จากโรคระบาดสู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบทั่วหน้า ธุรกิจปิดตัวลง รัฐบาลประกาศระงับการเดินทางข้ามพื้นที่ ความต้องการซื้อน้ำมันลดลงรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาตกลงตามไปด้วย นำไปสู่ความไม่ลงรอยกันในกลุ่ม OPEC เกิดเป็นสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย 

ฝั่งซาอุดิอาระเบียเพิ่มกำลังผลิตน้ำมัน เพื่อตัดราคาคู่แข่ง ทำให้ราคาน้ำมันตกลงถึงจุดต่ำสุด จากนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามเป็นนายหน้าเจรจาดีลกับกลุ่ม OPEC เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจน้ำมันของสหรัฐฯ แย่ลงไปกว่านี้ โดยทุกอย่างจบลงที่กลุ่ม OPEC และรัสเซียตกลงหยุดการผลิตน้ำมันและดึงราคากลับมา

ถึงอย่างนั้น การบุกรุกยูเครนของรัสเซียเมื่อ ก.พ. 2022 ทำให้ตลาดน้ำมันวุ่นวายอีกครั้ง ไบเดนห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกก็ทำให้บริษัทพลังงานหลายแห่งถอนตัวออกจากประเทศ 

จริง ๆ แล้ว ราคาน้ำมันเริ่มพุ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งพุ่งถึงจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 สหรัฐฯ เอง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งเร่งหารือเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันภายในประเทศ และกระตุ้นให้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน 

ที่สำคัญ สหรัฐฯ และสมาชิก EIA ประกาศแผนระบายน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ออกมาทั้งสิ้น 60 ล้านบาร์เรล แถมรัฐบาลก็คิดจะประสานรอยร้าวความสัมพันธ์กับอิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเวเนซุเอลา เพื่อหวังว่าประเทศเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนซัพพลายน้ำมันมากขึ้น 

ราคาน้ำมันส่งผลต่อโลกเรายังไงบ้าง ?

ทำไมทั่วโลกต้องจับตามองเมื่อน้ำมันราคาขึ้น ก็เพราะราคาน้ำมันคือหัวใจหลักของการเติบโตเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อ 

คิดง่าย ๆ ว่า 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ ถูกนำมาใช้กับขนส่งและคมนาคม ส่วนที่เหลือนำไปใช้กับอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกและสร้างถนน ซึ่งคิดเป็น 28% อีก 6% นำมาใช้เพื่อการอยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ และผลิตพลังงานไฟฟ้า 

หากเกิด “วิกฤติน้ำมันแพง” แน่นอนว่าเราต้องจ่ายเงินซื้อทุกอย่างแพงตามไปด้วย ค่าตั๋วเครื่องบินจะขึ้นราคา ค่าขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ก็ขึ้น ไปจนถึงค่าใช้จ่ายของการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ยิ่งราคาน้ำมันแพงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อได้มากขึ้น เพราะคนซื้ออย่างเรา ๆ ต้องแบกรับภาระเสียเงินมากมายไปกับการเติมน้ำมันทุกวัน ในขณะที่เจียดเงินซื้อสินค้าและบริการอื่นได้น้อยลง

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile