สวิตเซอร์แลนด์นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีทิวทัศน์สวยงาม นักท่องเที่ยวอยากไปเยือนแล้ว บรรดาเศรษฐี ก็นิยมหอบเงินไปฝากกับ ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ เช่นกัน แล้วทำไมธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ ถึงเป็นที่นิยม พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟัง
คนสวิตเซอร์แลนด์มีความมั่งคั่งเฉลี่ยมากที่สุดในโลก
ก่อนอื่น พี่ทุยขอบอกว่า สวิตเซอร์แลนด์ ไม่ใช่แค่ที่ที่เศรษฐีอยากจะมาพักเงินเท่านั้น เพราะคนของประเทศเขาเอง ก็มีความมั่งคั่งมากเช่นกัน โดยจากข้อมูลรายงาน Global Wealth Report 2023 ที่ UBS จัดทำขึ้นและเผยแพร่ออกมาล่าสุด พบว่า คนสวิตเซอร์แลนด์ มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 685,230 ดอลลาร์ต่อคน สูงที่สุดในโลก
5 อันดับแรกของประเทศที่คนมีค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก ในปี 2022
- สวิตเซอร์แลนด์ 685,230 ดอลลาร์
- สหรัฐฯ 551,350 ดอลลาร์
- ฮ่องกง 551,190 ดอลลาร์
- ออสเตรเลีย 496,820 ดอลลาร์
- เดนมาร์ก 409,950 ดอลลาร์
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า ไม่ใช่แค่คนมีความมั่งคั่งเฉลี่ยมากเท่านั้น แต่คนที่เป็นระดับมหาเศรษฐีในสวิตเซอร์แลนด์ก็ไม่น้อยเช่นกัน สมมติว่า ถ้าเดินอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์สวนกับคนสวิส 80,000 คน ก็อาจจะเจอกับมหาเศรษฐีที่มีเงินเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ 1 คน โดยสวิตเซอร์แลนด์ มีมหาเศรษฐีประมาณ 110 คน คนเหล่านี้มีความมั่งคั่งรวมกัน 338,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าพื้นที่อื่นที่เป็นแหล่งมหาเศรษฐี เช่น ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์
จากข้อมูลรายงาน ในอดีตปี 2022 พบว่า ในสวิตเซอร์แลนด์ มีอภิมหาเศรษฐีที่มีเงินระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมด 110 คน หรือทุกๆ 80,000 คน ที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ จะเจออภิมหาเศรษฐีอยู่ 1 คน โดยอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ มีความมั่งคั่งรวมกัน 338,000 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าพื้นที่ที่มีมหาเศรษฐีอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เหตุผลที่เศรษฐีนิยมไปพักเงินกับ ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ ResearchGate ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง What make the Swiss Banks Special? หรือ อะไรที่ทำให้ธนาคารสวิสมีความพิเศษ ซึ่งมีการศึกษาว่าเพราะอะไร กลุ่มธนาคารสวิสจึงมีชื่อเสียงมายาวนานในเรื่องการดึงดูดสินทรัพย์จากต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง
งานวิจัยนี้ชี้ว่า ผู้คนในประเทศที่ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง และเศรษฐกิจ มักต้องการนำสินทรัพย์มาไว้ในสวิตเซอร์แลนด์ เพราะต้องการพื้นที่เก็บที่ปลอดภัยสำหรับความมั่งคั่งที่มีอยู่ และด้วยกฎหมายความลับทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1930 ถือว่า มีความสำคัญอย่างมากในการดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า การรักษาความลับของลูกค้าจะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในฐานะแหล่งพักเงินของผู้ที่มีความมั่งคั่งจากทั่วโลก ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เสถียรภาพโดยรวมของประเทศ สกุลเงินที่มีเสถียรภาพและแปลงสภาพได้ง่าย และการมีโครงสร้างการดำเนินงานที่สะดวกต่อการดำเนินงานระหว่างประเทศ
พี่ทุยได้สรุปเหตุผลสำคัญจากงานวิจัยฉบับนี้ รวมถึงเหตุผลสำคัญอื่นๆ ที่เคยมีการนำเสนอไว้ผ่านผู้ให้บริการวางแผนภาษี บริษัทกฎหมายต่างๆ ในต่างประเทศ โดยพบ 5 เหตุผลสำคัญ ดังนี้
5 เหตุผลที่ ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสวรรค์พักเงินเศรษฐี ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์
1. การเมืองมีเสถียรภาพ
ประเด็นนี้เป็นเหตุผลสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ถูกมองเป็นสถานที่พักเงินที่ปลอดภัย โดยในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีวิกฤติการเมืองและการเงินเกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังสามารถรักษาความมั่นคงทางการเมืองมาได้นาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ดึงดูดธุรกิจและบุคคลที่มองหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับสินทรัพย์ของตน
2. ระบบธนาคารและการเงินแข็งแกร่ง
สวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงค่อนข้างมากเรื่องระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง และการควบคุมที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงของระบบการเงินที่ต่ำ ทั้งยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งในระบบการเงินที่ทันสมัยที่สุดในโลก ขณะเดียวกัน ระบบยังสร้างขึ้นบนหลักการความเป็นส่วนตัว ความมั่นคง และความปลอดภัย จึงเป็นแหล่งพักเงินที่นักลงทุนและบริษัทที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินของตนเองมองหา ขณะที่ ในด้านกฎหมายการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีความเข้มงวดและมีชื่อเสียงมายาวนาน ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน จึงทำให้นักลงทุนมั่นใจเอามาก ๆ กับการฝากฝังความมั่งคั่งเอาไว้ที่นี่
3.กฎหมายภาษีเอื้ออำนวย
สวิตเซอร์แลนด์มีการเก็บภาษีในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ จึงดึงดูดธุรกิจและบุคคลจำนวนมากเข้ามาได้ จะเห็นได้ว่ามีบริษัทหลายแห่งที่เลือกจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์มีการลงนามในสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้อนเอาไว้กับหลายประเทศ ฉะนั้น นักลงทุนจากต่างประเทศที่มาพักเงินเอาไว้ จึงวางใจได้ค่อนข้างมากว่าจะไม่ต้องเสียภาษีสองครั้งสำหรับรายได้เดียวกันที่เกิดขึ้น
4. ระบบกฎหมายแข็งแกร่ง
สวิตเซอร์แลนด์ให้ความคุ้มครองกับนักลงทุนและธุรกิจในระดับสูง มีศาลอิสระที่มีชื่อเสียงเรื่องความเป็นกลาง ทำให้นักลงทุนที่ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายต้องการมาพักเงินไว้ที่นี่ นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีระบบกฎหมายสัญญาที่ได้รับการยอมรับอย่างดี ทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจต่างๆ สามารถทำข้อตกลงได้อย่างมั่นใจ
5. ค่าเงินฟรังก์สวิส (CHF) มีความแข็งแกร่ง
เงินฟรังก์สวิส ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก เป็นค่าเงินที่มีเสถียรภาพในเศรษฐกิจโลก โดยบ่อยครั้งที่นักลงทุนมักจะซื้อฟรังก์สวิสเก็บไว้ ในยามที่เห็นว่าสกุลเงินต่างประเทศสกุลอื่นกำลังเผชิญความเสี่ยงอยู่ ทั้งจากเศรษฐกิจและการเมือง สำหรับปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินฟรังก์สวิสมีเสถียรภาพ ก็มาจาก ธนาคารกลางสวิสมีการควบคุมมูลค่าเงิน ขณะที่การเมือง และการเงินในสวิตเซอร์แลนด์ก็มีเสถียรภาพ
พี่ทุยต้องบอกว่าจุดเด่นสำคัญสุด ๆ เลยที่เหล่าเศรษฐีเลือกไปฝากเงินไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์ หนีไม่พ้นเรื่อง การเก็บข้อมูลทางการเงินเป็นความลับ อย่างไรก็ตามในจุดเด่นนี้ ก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า ต้องพิสูจน์ได้ด้วยว่า เงินที่นำมาฝากไว้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น จะต้องไม่ได้เป็นบุคคลที่มาจากประเทศที่ถูกคว่ำบาตร และไม่มีธุรกิจที่เชื่อมโยงกับบริษัทหรือบุคคลที่ถูกคว่ำบาตร เพราะถ้าเป็นกรณีนี้ การฝากเงินในสวิตเซอร์แลนด์ที่ถูกมองเป็นสวรรค์ ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่แทน
ทำไมการเมืองสวิตเซอร์แลนด์จึงมีเสถียรภาพ
สวิตเซอร์แลนด์นั้นปกครองภายใต้ระบบสหพันธรัฐ ได้แก่ สมาพันธรัฐ มณฑล และเทศมณฑล อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบทางตรง ที่ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงในประเด็นสำคัญๆ ต่างๆ ทั้งนี้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ภายใต้การควบคุมโดยสภารัฐบาลกลาง หรือ Federal Council ซึ่งจะมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน การตัดสินใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากสมาชิก
ทั้งนี้ UBS ได้ระบุจุดเด่น ที่ทำให้การเมืองของสวิตเซอร์แลนด์มีเสถียรภาพ ดังนี้
- มีกรอบนโยบายที่สอดคล้องกัน
- เคารพในหลักนิติธรรม
- สถาบันต่าง ๆ มีความเข้มแข็ง
- การตัดสินใจเน้นฉันทามติ
- การกำกับดูแลเข้มแข็งและเน้นความรับผิดชอบ
ความโดดเด่นในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน
สวิตเซอร์แลนด์นั้นจัดว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและมีความหลากหลายในโลก มีทั้งรากฐานที่แข็งแกร่งของธนาคารแบบดั้งเดิม มีเครือข่ายระหว่างประเทศที่โดดเด่น ทั้งยังเป็นแหล่งนวัตกรรมทางการเงินด้วย จึงทำให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีเสถียรภาพ
จากสถิติที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์หรือ FINMA เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ มีธนาคารทั้งหมด 501 แห่ง ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานตลาดการเงิน 159 ราย บริษัทหลักทรัพย์ 74 แห่ง บริษัทประกันและบริษัทประกันสุขภาพทั่วไป 189 แห่ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคารผู้รับฝากหลักทรัพย์ และตัวแทน 444 แห่ง การก่อตั้งโครงการลงทุนรวม 10,486 โครงการ และบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค 4 แห่ง
ทำไมระบบภาษีของสวิสเซอร์แลนด์ถึงเอื้อกับการนำเงินไปพัก
พี่ทุยต้องบอกว่า ถ้ามีบริษัทจัดการเงิน วางแผนการลงทุนไว้ให้อย่างดี การนำเงินไปพักไว้ในสวิสเซอร์แลนด์ ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมาก แต่ก็ใช่ว่าสวิสเซอร์แลนด์จะไม่เก็บภาษีอะไรเลยกับคนที่มีความมั่งคั่ง โดยในสวิตเซอร์แลนด์ก็มีการเก็บภาษีจากความรวย หรือที่เรียกว่า Wealth Tax หรือภาษีความมั่งคั่ง โดยเก็บจากยอดความมั่งคั่งสุทธิ หลังนำสินทรัพย์มาหักลบกับหนี้สินที่มี แต่ละเมืองก็จะมีอัตราความมั่งคั่งเริ่มต้นที่จะต้องถูกจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ Geneva เป็นเมืองที่เก็บภาษีความมั่งคั่งสูงที่สุด โดยเริ่มเก็บตั้งแต่สวิสฟรังก์แรกเลย อัตราการจัดเก็บเป็นขั้นบันได เริ่มต้นที่ 0.175% ไปจนถึง 0.450% ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่มีความมั่งคั่งมากๆ จะเสียภาษีความมั่งคั่งในอัตราสูงสุดรวมประมาณ 1%
ส่วน Zurich เก็บภาษีความมั่งคั่งเป็นขั้นบันได ตั้งแต่ 0-0.30% ของความมั่งคั่งส่วนที่เกินมา ซึ่งเมื่อรวมอัตราภาษีสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งต้องเสียมากที่สุดแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 0.7% ขณะที่ Nidwalden เก็บภาษีความมั่งคั่งต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับ Geneva และ Zurich
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ แม้สวิสเซอร์แลนด์จะเก็บภาษีสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่ง แต่ว่า สำหรับการลงทุนในหน่วยลงทุน หรือหุ้นที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากส่วนต่างราคาที่ได้ (Capital gains tax) เหมือนกับไทย ซึ่งจุดนี้เองเป็นช่องทางสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง มาใช้บริการธนาคารเพื่อการลงทุนส่วนบุคคลในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาและเพิ่มความมั่งคั่งที่นี่ ในขณะที่รายได้ที่มาจากดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินปันผลนั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 35% ก่อนถึงมือนักลงทุนอยู่แล้ว
ต่างชาตินำเงินไปพัก ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทุกคนเลยมั้ย
พี่ทุยต้องบอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาภาคธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ มีการคุ้มครองเงินลงทุนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้คนร่ำรวยจากทั่วโลก รวมถึงบริษัทต่าง ๆ นำเงินมาไว้ที่นี่ อย่างไรก็ตาม จากการที่เงินบางส่วนที่นำมาฝากไว้กับธนาคารในสวิสมีต้นกำเนิดที่น่าสงสัย ทำให้หลายครั้งสวิตเซอร์แลนด์ถูกมองว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน เพราะยอมให้เงินที่มาจากกิจกรรมคอร์รัปชัน หรือการก่อการร้ายเข้าไปลงทุน โดยไม่ถูกตรวจสอบ เนื่องจากใช้ประเด็นเรื่องปกป้องความเป็นส่วนตัว ทำให้หลบเลี่ยงได้
แต่ในประเด็นนี้สวิตเซอร์แลนด์ก็มีการแก้ไขด้วยการเสริมกฎระเบียบการป้องกันการฟอกเงิน (AML) เข้าไป เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ และเพิ่มความโปร่งใส ผ่านการควบคุมที่สำคัญ เน้นไปที่ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงของทรัสต์เพื่อการลงทุน หรือบริษัทอื่น ๆ จะต้องเปิดเผยข้อมูล โดยผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงครอบคลุมทั้งที่เป็นประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม จากการมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นในบริษัท องค์กรอาชญากรรม บุคคลทางการเมือง และบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนผ่านโครงสร้างที่ซับซ้อนเข้าข่ายการฟอกเงินระหว่างประเทศ เงินทุนสำหรับกิจกรรมก่อการร้าย และการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร
ทำไมเงินสวิสฟรังก์ถึงแข็งแกร่งได้รับการยอมรับระดับโลก
สำหรับเงินสวิสฟรังก์ หรือ CHF เป็นสกุลเงินของสวิตเซอร์แลนด์ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือน พ.ค.1850 ทดแทนสกุลเงินหลาย ๆ สกุลที่ออกโดยสมาชิกรัฐต่าง ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีด้วยกัน 26 รัฐ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เงินสวิสฟรังก์แข็งแกร่งก็มาจากการที่ ธนาคารกลางสวิสมีโยบายเงินเฟ้อ 0% มายาวนาน และเป็นอิสระจากการเมือง จึงทำให้ สวิสฟรังก์มีสกุลเงินที่มีอำนาจและมีเสถียรภาพ แม้ในช่วงที่ยุโรปเกิดวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจในปี 2008 จากปัญหาหนี้ ทำให้สวิสฟรังก์ถูกมองว่าเป็นหลุมหลบภัยชั้นดี ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่สกุลเงินที่ถูกนำไปไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศก็ตาม
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2011 ธนาคารกลางสวิส มีการเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ โดยดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ย เพื่อลดมูลค่าของสวิสฟรังก์เมื่อเทียบกับเงินยูโร และในเดือน ธ.ค. 2014 ได้ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ หวังจะให้ค่าเงินสวิสฟรังก์อ่อนค่าลง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะค่าเงินสวิสฟรังก์ก็ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้หุ้นสวิสร่วงลงรวดเร็ว ขณะที่เงินสวิสฟรังก์เพิ่มขึ้นเทียบกับยูโร
ขณะที่ นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของธนาคารกลางสวิสในเรื่องนี้ และด้วยแรงกดดันจากต่างชาติที่หนักหน่วง ในที่สุดธนาคารกลางสวิสก็ต้องประกาศว่า จะกลับไปใช้จุดยืนเดิมคือไม่เข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ
ด้วยนโยบายการเงินที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมายาวนานนั้น ทำให้เอื้อต่อการที่นักลงทุนต่างชาติจะกู้ยืมด้วยสกุลเงินสวิสฟรังก์ แล้วนำเงินไปลงทุนในสนิทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และสกุลเงินอื่นในโลก
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว หลังโควิด-19 และเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานในยุโรป ส่งผลให้ธนาคารกลางสวิส ที่เคยใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบมายาวนาน สิ้นสุดการใช้ลง โดยในเดือน ก.ย. 2022 ได้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่เคย -0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.5% เนื่องจากต้องการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
พี่ทุยต้องบอกว่า ในปี 2023 ที่ผ่าานมา สวิสฟรังก์ ถูกจัดให้เป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าคู่แข่งสกุลเงินในกลุ่ม G10 ด้วยกัน โดยแข็งค่ากว่าเงินยูโร และดอลลาร์ ซึ่งการแข็งค่าของเงินสวิสฟรังก์นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากธนาคารกลางสวิสได้ขายสินทรัพย์ต่างประเทศที่ซื้อมาในช่วงปี 2015 ที่มีการแทรกแซงค่าเงิน ประกอบกับเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ชะลอตัว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เงินสวิสฟรังก์กลับมามีความโดดเด่น ในฐานะที่ถูกมองเป็นสกุลเงินที่มั่นคงปลอดภัย หรือ safe haven นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งที่น่าพักเงินสำหรับเศรษฐีนั้นมีค่อนข้างมากทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นเศรษฐีระดับโลกหอบเงินไปพักไว้ที่นี่
อ่านเพิ่ม