คํานวณ เงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33 39 ได้กี่บาท ได้คืนเมื่อไร ใครได้บ้าง ?

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • เงินชราภาพจากประกันสังคมเป็นเงินหลังเกษียณของผู้ส่งสมทบ แบ่งเป็นเงินบำเหน็จได้ก้อนเดียวครั้งเดียว กับเงินบำนาญได้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
  • ผู้ประกันตน ม.33 และ 39 จะได้เงินชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี และ ม. 40 จะได้เมื่ออายุครบ 60 ปี และผู้ประกันตนทั้งสามมาตราต้องแจ้งสิ้นสุดการส่งเงินสมทบประกันสังคม และยื่นเรื่องเพื่อขอเงินชราภาพ
  • จำนวนเงินบำนาญที่จะได้คิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ทำงาน โดยถ้าส่งเงินสมทบ 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้บำนาญเดือนละ 20% จากฐานเงินเดือนเฉลี่ย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มีสิทธิจะได้รับ เงินชราภาพประกันสังคม ที่เป็นหลักประกันหนึ่งในชีวิตหลังเกษียณว่าจะมีเงินจำนวนหนึ่งในมือ โดยหลักเกณฑ์การรับเงินชราภาพก็แตกต่างกันไปตามระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและจำนวนเงินเดือน อีกทั้งรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย วันนี้พี่ทุยอาสา พาทุกคนไปไขข้อข้องใจกัน

เงินชราภาพประกันสังคม คืออะไร 

เงินชราภาพประกันสังคม คือ เงินใช้ยามเกษียณของมนุษย์เงินเดือนที่เป็น 1 ในผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม โดยได้สะสมมาตั้งแต่ทำงานแรก หรือพูดง่าย ๆ คือ เงินที่เราถูกหักทุก ๆ เดือน เป็นจำนวน 5% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) จะโดนตั้งแต่ 250 – 750 บาท โดยใน 5% นี้ก็จะถูกแบ่ง 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 สมทบกองทุนดูแลเรื่อง เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ / ทุพพลภาพ / คลอดบุตร และเสียชีวิต จำนวน 1.5% หรือ 225 บาท ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน
ส่วนที่ 2  เก็บเป็นเงินออมกรณีสงเคราะห์บุตร / ชราภาพ จำนวน 3 % หรือ 450 บาท จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี
และส่วนที่ 3 สำหรับใช้ประกันการว่างงาน จำนวน 0.5 % หรือ 75 บาท ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถเอาใช้สิทธินี้ได้ เพื่อเป็นรายได้ระหว่างตกงานหรือกำลังหางานใหม่ หากไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน

เงินชราภาพประกันสังคม

เงินทุกเดือนที่เราจ่ายประกันสังคมไป หากเราจ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือน ก็จะมีเงินจำนวน 450 บาท ถูกหักเข้าไปเป็นเงินออมชราภาพทันที เสมือนกองทุนประกันสังคม ช่วยทำหน้าที่เก็บออมเงินให้เรา แต่ ๆ เพื่อนควรวางแผนออมเงินยามเกษียณเองด้วยนะ 

กองทุนประกันสังคม คือ อะไร ? 

กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ผู้ประกันตน หรือมนุษย์เงินเดือน จ่ายเงินสมทบเข้ามาทุกเดือนประจำเท่ากันทุกเดือน โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้ากองทุนได้ต้องเป็นผู้มีรายได้และมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินชีวิต เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร เงินชดเชยกรณีว่างงาน เงินชราภาพ เงินช่วยเมื่อเสียชีวิต และอื่น ๆ เป็นต้น

เงินชราภาพ เงินหลังเกษียณจากประกันสังคม 

สาเหตุที่ต้องมีเงินชราภาพ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำบาญไว้ใช้ยามชราภาพ เป็นสวัสดิการหลังเกษียณแบบหนึ่ง

เงินชราภาพประกันสังคม ได้ตอนไหน ใครได้บ้าง 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิกรณีชราภาพโดยผู้ที่ได้รับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา (ม.33, ม.39, ม.40)

  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 ต้องมีอายุมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

หรือเมื่อเป็นผู้ทุพพลภาพ

กลุ่มที่ 2 ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต

  • ลูก หรือ ลูกบุญธรรมที่ชอบด้วยกฏหมาย
  • สามี-ภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • บิดา-มารดา ที่มีชีวิตอยู่

อ่านเพิ่ม

จะได้รับเป็น เงินบำเหน็จชราภาพ หรือ เงินบำนาญชราภาพ 

ผู้ประกันตนจะรู้ได้ยังไงว่า จะได้รับเงินชราภาพเป็น เงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 2 อย่างนี้ต่างกันยังไง 

  • เงินบำเหน็จชราภาพ คือ เงินชราภาพที่ประกันสังคมจะจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว 
  • เงินบำนาญชราภาพ  คือ เงินชราภาพที่ประกันสังคมจะจ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต หลังอายุ 55 ปี

เลือกได้ไหม ว่าจะรับ เงินบำเหน็จชราภาพ หรือ เงินบำนาญชราภาพ 

คำตอบคือ ไม่สามารถเลือกได้ เพราะกองทุนประกันสังคมใช้ระยะเวลาส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเกณฑ์การตัดสิน 

ใครจะได้เงินบำเหน็จชราภาพ ? และได้เท่าไร

เงินบำเหน็จชราภาพจะให้แก่ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 1-179 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ = จำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับกองทุนประกันสังคม “เพียงก้อนเดียวเท่านั้น”
  2. จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 3 ก้อน คือ
    • จำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม
    • จำนวนเงินสมทบส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม
    • ผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

อ่านเพิ่ม

เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคมใครได้บ้าง และได้เท่าไร 

เงินบำนาญชราภาพจะให้แก่ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ  

  1. จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือ 15 ปี 
  2. จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนหรือเกิน 15 ปี

โดยการคำนวณค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน พี่ทุยจะอธิบายอย่างละเอียดดังนี้ 

วิธีคำนวณเงินบำนาญประกันสังคม มาตรา 33 39 ได้เท่าไหร่ ?

เงินชราภาพ แบบบำนาญของประกันสังคมล่าสุด คือ เงินที่กองทุนประกันสังคมจ่ายให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยมีวิธีคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายแต่ละเดือน แบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือ 15 ปี 

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินรายเดือน เท่ากับ 20% ของรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยใช้ฐานรายได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และฐานรายได้ต่ำสุด 1,650 บาท หรือง่าย ๆ คือ ได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย

สูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายครบ 180 เดือน

สูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายครบ 180 เดือน 

เงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายครบ 180 เดือน = (20x อัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) / 100 

ตัวอย่าง พี่ทุย อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จ่ายเงินสมทบ 180 เดือนหรือ 15 ปีพอดี โดยได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปี (60 เดือนสุดท้าย) 50,000 บาท แต่ทางประกันสังคมก็จะใช้ฐานสูงสุดที่ 15,000 บาทเท่านั้น สำหรับคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ก็คือ (20 x 15,000)/ 100 = 3,000

เท่ากับว่า พี่ทุยจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 3,000 บาทตลอดชีวิต

ถ้ามีรายได้เฉลี่ยอยู่ 10,000 บาท ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 2,000 บาทตลอดชีวิต

กรณีที่ 2 จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนหรือเกิน 15 ปี

กรณีนี้ นอกจากผู้ประกันตนจะได้รับเงินเดือนเท่ากับ 20% ของรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว ยังได้บวกเพิ่มอีก 1.5% ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน (ไม่ครบ 12 เดือนปัดจำนวนเดือนที่เกินทิ้ง ไม่นับปีเพิ่ม)

โดยใช้ฐานรายได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และฐานรายได้ต่ำสุด 1,650 บาทเช่นเดียวกัน หรือง่าย ๆ คือ ได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย + 1.5% ทุก ๆ 1 ปีที่เกิน 60 เดือนแรก

สูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายเกิน 180 เดือน

สูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายเกิน 180 เดือน

เงินบำนาญชราภาพกรณีจ่ายเกิน 180 เดือน = [(20 + (1.5 x จำนวนปีส่วนเกิน 15 ปีหรือ 180 เดือน)) x อัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย] / 100 

ตัวอย่าง พี่ทุย อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จ่ายเงินสมทบ 20 ปีพอดี สำหรับคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ก็คือ [(20 + (1.5 x 5 ปี)) x 15,000] / 100 

= [(20 + 7.5) x 15,000] / 100

= [27.5 x 15,000] / 100 = 4,125 

เท่ากับว่า พี่ทุยจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 4,125 บาทตลอดชีวิต

อ่านเพิ่ม

ตาราง เงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33

ตารางคํานวณ เงินชราภาพประกันสังคม

หากเรามีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท/เดือน ก็ใช้เงินจำนวนนั้น หาค่าเฉลี่ยรายได้ 60 เดือนสุดท้ายก่อน (หรือ จำนวนรายได้ทั้งหมดที่ได้รับหารด้วย 60) เพื่อนำรายได้เฉลี่ยนมาคำนวณเงินชราภาพ แบบบำนาญ ที่ทางประกันสังคมจะจ่ายให้ต่อเดือนเป็นอันดับถัดไป  

เงินชราภาพ ผู้ประกันตนมาตรา 33 กับ มาตรา 39 ได้เท่ากันไหม ? 

กรณีรับเงินบำนาญชราภาพ หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะกำหนดฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39  จะกำหนดฐานการคิดเงินเดือนที่ 4,800 บาทเท่านั้น 

เช่น เปลี่ยนเป็นผู้ประกันจนมาตรา 39 เป็นระยะเวลา 60 เดือนสุดท้ายพอดีก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณี จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน) เท่ากับว่า 20% x 4,800 บาท = 960 บาท 

เท่ากับว่า รับเงินบำนาญเดือนละเพียง 960 บาทเท่านั้นเองนะ

วิธีคํานวณ เงินชราภาพประกันสังคม มาตรา 33 39 –  รวมทุกคำถามสงสัย พร้อมคำนวณเงิน

พี่ทุยรวมข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับเงินชราภาพ พร้อมคำตอบมาให้แล้ว

1. ส่งเงินสมทบไปหลายปี (5 ปี 6 ปี 10 ปี หรืออื่น ๆ) แต่ไม่ถึง 15 ปี แล้วลาออกตอนอายุ 40 ปี จะได้เงินชราภาพประกันสังคมไหม

คำตอบคือ ได้ เเต่จะเป็นเงินบำเหน็จ เพราะจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนหรือ 15 ปี แต่ไม่สามารถขอได้ทันทีที่ลาออกจากงานตอนอายุ 40 ปี 

ต้องรอจนกว่าจะอายุ 55 ปีบริบูรณ์เสียก่อน และลาออกจากประกันสังคมแล้วถึงจะทำเรื่องขอรับเงินได้ 

2. ส่งเงินสมทบไป 15 ปี แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี จะขอรับเงินชราภาพประกันสังคมเลยได้ไหม

คำตอบคือ ไม่ได้ แม้จะส่งเงินสมทบมาครบ 15 ปีเเล้ว และทั้งลาออกจากงานและประสังคมด้วยแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินชราภาพอยู่ดี ต้องรอจนกว่าจะอายุ 55 ปีบริบูรณ์เสียก่อน ดังนั้น ไม่ต้องรีบลาออกกันนะ ทำงานกันไปก่อนนนน 

3. ส่งเงินสมทบไป 15 ปี แล้วเปลี่ยนจากประกันสังคมมาตรา 33 มาใช้มาตรา 39 จะได้เงินชราภาพกี่บาท

ประเด็นที่ 1 อายุเท่าไหร่ 

  • อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ + ลาออกจากประกันสังคม มาตรา 33 และ มาตรา 39 เรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่า มีสิทธิรับเงินชราภาพได้เลย 

ประเด็นที่ 2 ระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ เพื่อดูว่าจะได้บำเหน็จ หรือ บำนาญ  

  • จ่ายสมทบ 15 ปีหรือ 180 เดือนพอดี = ได้รับเงินบำนาญ

ด้วยสูตรการคำนวณ 20% ของรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

ประเด็นที่ 3 ช่วงเวลาที่ 5 ปี หรือ 60 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนนั้น เป็นผู้ประกันตนในมาตราไหน มาตรา 33 หรือ มาตรา 39 

  • มาตรา 33 ใช้ฐานรายได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และฐานรายได้ต่ำสุด 1,650 บาท
  • มาตรา 39 กำหนดฐานการคิดเงินเดือนที่ 4,800 บาทเท่านั้น 

ดังนั้น หากเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 นั่นหมายความว่า เวลาคำนวณเงินชราภาพก็จะคิดจากฐานเงินเดือนที่ 4,800 บาทเท่านั้น  

เช่น 

กรณีแรก พี่ทุย ส่งเงินสมทบมา 15 ปี ในฐานะผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วลาออกจากงาน  + ลาออกจากประกันสังคม + รอจนอายุ 55 ปี โดยมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ 15,000 บาท

จะได้รับเงินบำนาญ 20% x 15,000 = 3,000 บาท/ เดือน 

กรณีสอง ระหว่างรออายุ 55 ปี พี่ทุยที่ลาออกจากงานแล้วไปสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ส่งเงินสมทบต่ออีก 5 ปี รวมเป็นส่งเงินสมทบทั้งหมด 20 ปี

เท่ากับว่า 

  • ส่งเงินสมทบ 20 ปี ได้รับอัตราเงินบำนาญ 27.5%
  • ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยหากเป็นมาตรา 39 สูงสุดจะอยู่ที่ 4,800 บาท

จะได้รับเงินบำนาญ 27.5% x 4,800 = 1,320 บาท/ เดือน 

ดังนั้น ก่อนเปลี่ยนจากผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็น มาตรา 39 ควรพิจาณาคำนวณเงินบำนาญที่จะได้รับในอนาคตให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะยอดเงินที่ได้ต่อเดือน แตกต่างกันหลายพันบาททีเดียว 

4. ถ้า 5 ปี (60เดือน) สุดท้าย ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบทั้ง มาตรา 33 และมาตรา 39 จะคำนวณเงินชราภาพบำนาญยังไง 

พี่ทุยเชื่อว่า หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าในระยะเวลา 60 เดือนสุดท้ายหรือ 5 ปี ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนจะคิดยังไง มาดูตัวอย่างกันดีกว่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า  

ตัวอย่าง 

พี่ทุย ทำงานตั้งเเต่อายุ 22 จนถึง 51 ปีแล้วลาออกจากงาน = ส่งเงินสมทบ 30 ปี ภายใต้ความเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 

หลังลาออกจากงาน จนถึง อายุ 55 ปี =  ส่งเงินสมทบต่ออีก 4 ปี ภายใต้ความเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39  

เท่ากับว่า พี่ทุยส่งเงินสมทบมา 34 ปี โดยในช่วง 60 เดือนสุดท้ายก่อนลาออกจากประกันสังคมแบ่งการส่งเงินสมทบดังนี้  

  • ส่งเงินสมทบมาตรา 33 ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จำนวน 12 เดือน (1ปี)
  • ส่งเงินสมทบมาตรา 39 ที่ฐานเงินเดือน 4,800 บาท จำนวน 48 เดือน (4ปี)

ดังนั้น พี่ทุยมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 

[(15,000 x 12) + (4,800 x 48)] / 60 = 6,840 บาท 

จะสามารถคิดเงินบำนาญได้ ดังนี้

  • ส่งเงินสมทบ 34 ปี = ได้รับอัตราเงินบำนาญ 48.5%
  • ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย =  6,840 บาท 

จะได้รับเงินบำนาญ 48.5% x 6,840 = 3,317.40 บาท/ เดือน 

ได้มากกว่า คนที่ส่งสมทบ 15 ปีพอดีและไม่เปลี่ยนไปมาตรา 39 เพียง 317.40 บาทเท่านั้น ทั้งที่ส่งมาตั้ง 34 ปี

ดังนั้น พี่ทุยขอเตือนว่า คำนวณให้ดี ๆ ก่อนนะ อ้างอิงจากตารางข้างต้น ถ้าส่งสมทบถึง 34 ปี ภายใต้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับบำนาญถึงเดือนละ 7,275 บาท/เดือนเลยนะ

5. รับเงินบำนาญประกันสังคม แล้วได้รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือเปล่า ? 

คำตอบคือ ได้ ผู้ประกันตนประกันสังคมสามารถรับได้ทั้ง 2 อย่าง คือ เงินชราภาพจากประกันสังคม และ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล

อ่านเพิ่ม

ขอรับเงินชราภาพได้ยังไง – เอกสาร หลักฐานที่ใช้มีอะไรบ้าง

กรณีผู้ประกันตนขอคืนเงินชราภาพด้วยตัวเอง

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
  2. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) 

กรณีทายาทขอรับสิทธิ์เงินชราภาพแทน

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
  2. สำเนามรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย
  3. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ์รับเงินชราภาพ
  4. สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดา (ถ้ามี)
  5. สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร
  6. หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ถ้ามี)
  7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)

ขอรับ เงินชราภาพประกันสังคม ที่ไหน 

ยื่นเอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ และขอรับเงินชราภาพได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ โดยห้ามเกินแม้แต่วันเดียว เพราะจะถูกตัดสิทธิ์รับเงินบำเหน็จ-บำนาญทัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 บริการ 24 ชั่วโมง  Line@ssothai และทาง www.sso.go.th 

ขอรับเงินชราภาพผ่านพร้อมเพย์ได้ไหม ? 

สามารถรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ได้ แต่ต้องเป็นพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยบัตรประชาชนเท่านั้น 

รับเงินประกันสังคม คืน อายุ 55 กี่ วัน ได้เงิน – เงินชราภาพประกันสังคม

กรณี เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับภายใน 7-10 วันทำการ (ไม่นับวันหยุดราชการ) หลังจากได้รับการอนุมัติ

กรณี เงินบำนาญชราภาพ จะได้รับการเงินโอนเข้าบัญชีภายในวันที่ 25 ของเดือนถัดไป หลังจากได้รับการอนุมัติ

หากขอรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว แต่จะกลับมาทำงานเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำนาญต่อหรือไม่

คำตอบคือ ทางกองทุนประกันสังคมจะหยุดจ่ายบำนาญ หากกลับมาเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือ 39 เพราะตามเงื่อนไขการรับเงินชราภาพคือ จะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile