คุณภาพชีวิตหลังเกษียณอย่างหนึ่งของคนไทยก็คือ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เงินคนแก่ 600 บาท ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง แต่แล้วเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ จะได้เมื่อไหร่ ต้องลงทะเบียนตอนไหน ได้เงินกี่มากน้อย ใครเป็นคนจ่าย พี่ทุยสรุปเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาให้แล้ว
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2567 คืออะไร
สวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือ เงินคนแก่ เป็นอีกสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้ กับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน
โดยในแต่ละปี จะเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ มาลงทะเบียน นั่นเท่ากับว่า ถ้าอยากรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากภาครัฐจะต้องละทะเบียนก่อน
อย่างเช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567) สำหรับคนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2507 จะเปิดลงทะเบียนไปแล้ว ในเดือน ต.ค. 2565 – ก.ย. 2566 ซึ่งปัจจุบันปิดรับลงทะเบียนแล้ว
ซึ่งใครเกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2507 แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ก็จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2567 แทน โดยปี 2567 นี้จะยังไม่ได้รับเงินยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยผู้สูงอายุ 2567 ออกวันไหน
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะออกทุกวันที่ 10 ของเดือน แต่หากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการ จะจ่ายในวันทำการก่อนวันหยุด เท่ากับว่าในปี 2567 ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยตามวันที่ต่อไปนี้
- เดือนมกราคม 2567 : วันพุธที่ 10 ม.ค. 2567
- เดือนกุมภาพันธ์ 2567 : วันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 2567
- เดือนมีนาคม 2567 : วันศุกร์ที่ 8 มี.ค. 2567
- เดือนเมษายน 2567 : วันพุธที่ 10 เม.ย. 2567
- เดือนพฤษภาคม 2567 : วันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2567
- เดือนมิถุนายน 2567 : วันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. 2567
- เดือนกรกฎาคม 2567 : วันพุธที่ 10 ก.ค. 2567
- เดือนสิงหาคม 2567 : วันศุกร์ที่ 9 ส.ค. 2567
- เดือนกันยายน 2567 : วันอังคารที่ 10 ก.ย. 2567
- เดือนตุลาคม 2567 : วันพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค. 2567
- เดือนพฤศจิกายน 2567 : วันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 2567
- เดือนธันวาคม 2567 : วันอังคารที่ 10 ธ.ค. 2567
เบี้ยผู้สูงอายุ 2568 ลงทะเบียนเมื่อไหร่
สำหรับใครที่กำลังจะอายุครบ 60 ปี ในปี 2568 หรือลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพคนชราไม่ทันในปีที่ผ่านมา สามารถลงทะเบียนได้ ตั้งแต่ ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567
โดยลงทะเบียนได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของตัวเอง คือ
- กรุงเทพฯ : สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
- ต่างจังหวัด : สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
แต่ตามกฎหมายเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งออกมาใหม่ ส.ค. 2566 ผู้สูงอายุที่ครบ 60 ปี ให้ยืนยันสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยไม่ต้องลงทะเบียน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำนวยความสะดวกโดยการแจ้งไปยังผู้สูงอายุที่มีสิทธิ และหากผู้สูงอายุมีความประสงค์ที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้แนบเอกสารหลักฐานข้อมูล เพื่อยืนยันสิทธิตนเอง
เบี้ยผู้สูงอายุ คุณสมบัติ
บุคคลที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2567 จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ คือ
1. สัญชาติไทย มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คือ ต้องเกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2507 (สำหรับผู้ที่ทราบแค่ปีเกิด แต่ไม่ทราบวันเกิด/เดือนเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 ม.ค. ของปีนั้น ๆ)
2. ผู้สูงอายุต้องไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อน หรือถ้าเคยลงทะเบียนมาก่อน แต่ย้ายภูมิลำเนามาใหม่ จะต้องมาลงทะเบียนใหม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามทะเบียนบ้านใหม่
เช่น เคยลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2562 แต่ปี 2566 เพิ่งย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่กรุงเทพ จะต้องไปลงทะเบียนใหม่ที่สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพ
3. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขต สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามทะเบียนบ้าน
4. ต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์เป็นรายเดือนจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน
เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
แต่!!! ตามกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ 12 ส.ค. 2566 คุณสมบัติในข้อ 4 จะเปลี่ยนเป็น
4. เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
เท่ากับว่าผู้ที่จะรับเบี้ยผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจนก่อน ถึงจะได้รับเงินชรา หากเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเกณฑ์ก็จะหมดสิทธิรับเงินส่วนนี้
ส่วนผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้บังคับใช้ ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป ตามบทเฉพาะกาล ข้อ 17
อ้างอิง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566
ทว่าข่าวดีคือ ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจนเรื่องเกณฑ์การชี้วัดรายได้ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายฉบับเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน
ลงทะเบียน เงินผู้สูงอายุ 2568 ใช้เอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
แต่ตามวิธีการลงทะเบียนแบบใหม่ เอกสารที่ใช้ยืนยันสิทธิ มีเพียง
(1) แบบยืนยันสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
(2) สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ที่ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
เบี้ยผู้สูงอายุ อายุ 60, 70, 80, 90 ปี ได้เท่าไหร่
เงินผู้สูงอายุที่จะจ่ายให้ทุกเดือนตลอดชีวิต และจะปรับขึ้นตามอายุ
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- ส่วนอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
ระหว่างปีงบประมาณ จะได้ปรับขึ้นเงินผู้สูงอายุเพิ่มเดือนไหน
ตามกฎหมายเดิม หากผู้สูงอายุมีอายุครบ 70, 80 หรือ 90 ปี ในระหว่างปีงบประมาณ จะยังไม่ได้ปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นทันที โดยต้องรอการปรับเบี้ยในปีงบประมาณถัดไป
แต่ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกรณีการปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได โดยให้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ วันที่มีอายุครบในเดือนนั้นทันที ไม่ต้องรอให้ครบปีงบประมาณ
รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่ไหนบ้าง ?
ผู้สูงอายุสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเบี้ยยังชีพผ่านทางช่องทางใดต่อไปนี้
- รับเงินสดด้วยตนเอง
- ให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจมารับเงินสดแทน
- โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้สูงอายุ
- โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูงอายุ
ลงทะเบียน เบี้ยผู้สูงอายุ 2568 แล้วจะได้รับเงินเมื่อไหร่
การลงทะเบียนขอรับ เงินผู้สูงอายุ เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อรับเงินในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้น แม้จะลงทะเบียนก่อน แต่ไม่ได้รับเงินในทันที ทว่าจะได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป คือช่วงเดือน ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567
ส่วนจะได้รับเงินในเดือนไหน ขึ้นอยู่กับวันเกิดของผู้ลงทะเบียน โดยจะจ่ายให้ในเดือนถัดจากวันเกิด 1 เดือน เช่น
- เกิดวันที่ 2-31 ต.ค. 2507 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567
- เกิดวันที่ 2-30 มิ.ย. 2508 จะได้รับเงินครั้งแรกในเดือน ก.ค. 2568
ยกเว้นคนเกิดวันที่ 1 จะได้รับเงินในเดือนเกิดนั้นเลย เช่น เกิดวันที่ 1 พ.ย. 2507 จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567
อายุเกิน 60 ปี แต่เพิ่งมาลงทะเบียนครั้งแรก จะได้รับเงินเมื่อไหร่
หากใครมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมาลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุ สามารถมาลงทะเบียนในช่วงเดือน ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567 ได้เลย เพื่อรับเงินผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2568 โดยจะได้รับเงินครั้งแรกในเดือน ต.ค. 2567 (ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง) โดยลงทะเบียนครั้งเดียว ก็จะได้เงินเข้าทุกเดือน ยกเว้นกรณีเปลี่ยนภูมิลำเนาต้องลงทะเบียนใหม่
มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ เงินบำนาญประกันสังคม ยังรับเบี้ยคนชราได้อีกมั้ย?
คำตอบคือ ได้ (หากมีหลักเกณฑ์เข้าคุณสมบัติเป็นผู้สูงอายุ)
แม้ว่าจะมีรายได้อยู่ แต่ยังมีรายได้ไม่เกินเกินเกณฑ์ที่กำหนด มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบตามเกณฑ์ ก็สามารถลงทะเบียนได้ หรือจะสละสิทธิ์การรับเบี้ยคนชราก็ทำได้เช่นกัน
อ่านเพิ่ม