การผลัดพรากจากบุคคลที่รักเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ความตายเป็นสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ พี่ทุยขอแสดงความเสียใจกับคนที่กำลังเผชิญความสูญเสียอยู่ และแม้ว่าคนจากไปแล้ว แต่สิทธิของ ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ก็ยังมีเงินจำนวนหนึ่งเหลือเอาไว้ช่วยคนที่ยังอยู่ให้จัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ วันนี้พี่ทุยพาไปดูว่า ทายาทหรือผู้รับสิทธิสามารถขอรับสิทธิเหล่านี้ได้อย่างไร มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขเบิกประกันสังคม กรณี ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต
ผู้ประกันตน (ผู้ที่เสียชีวิต) ได้ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต
พ่อ แม่เสียชีวิต เบิกประกันสังคมได้ไหม ?
ถ้าพ่อแม่มีสิทธิประกันสังคม โดยส่งเงินสมทบตามเงื่อนไขข้างต้นที่ได้ส่งเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิตก็สามารถเบิกประกันสังคมได้ โดยมีสิทธิเบิกเงินได้ 3 สิทธิ
ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ทายาทได้สิทธิเบิกเงินประสังคมแทน 3 สิทธิ
1. หากเสียชีวิตประกันสังคมจ่าย : เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
ประกันสังคมช่วยเหลือการจัดการศพของผู้ประกันตน เป็นจำนวน 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ ดังนี้
- บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
- สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน
- บุคคลอื่น ๆ ที่มีหลักฐานเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
เอกสารสำหรับขอรับค่าทำศพ 50,000 จากประกันสังคม ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพ + ตัวจริง
- หลักฐานจากฌาปนสถาน
- สำเนาใบมรณบัตร + ตัวจริง
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน
2. เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ความตาย
เป็นเงินที่จ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ จะเฉลี่ยจ่ายให้ผู้มีสิทธิในจำนวนที่เท่ากัน
ผู้มีสิทธิ คือ สามีหรือภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิตจะจ่ายตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไว้ก่อนถึงแก่ความตาย ดังนี้
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
ตัวอย่าง
ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีเงินเดือนเฉลี่ยที่ 30,000 บาท แต่จะคำนวณฐานค่าจ้างสูงสุด คือ 15,000 บาท แม้ค่าจ้างเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30,000 บาทก็ตาม + จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมแล้ว 120 เดือน
การคำนวณเงินสงเคราะห์ ใช้อัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน คิดจาก (15,000 บาท x 12 เดือน) = 180,000 บาท
อัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน คิดเป็น 180,000 บาท x 50% = 90,000 บาท
ดังนั้น เงินสงเคราะห์ที่จะได้รับเท่ากับ 90,000 บาท แบ่งเงินตามหนังสือที่ระบุไว้หรือหากไม่มีหนังสือก็แบ่งเงินจำนวนเท่ากันแก่ทายาททุกคน
หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 + จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมแล้ว 120 เดือน
จะได้รับ 28,800 บาท มาจากฐานค่าจ้าง 4,800 บาท x 50% x 12 = 28,800 บาท
เอกสารสำหรับขอรับเงินสงเคราะห์
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตน และของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)
- สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร
- หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)
3. เงินบำเหน็จชราภาพ
นอกจากสิทธิประโยชน์ทดแทน 2 สิทธิข้างต้นแล้ว ยังมี “เงินบำเหน็จชราภาพ” โดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ ได้แก่
1) บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
2) สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย
3) บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา
หรือ 4) บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ
ซึ่งรายละเอียดการให้เงินบำเหน็จต้องดูก่อนว่า
1) ผู้ประกันตนที่เสียชีวิตนั้นได้รับเงินชราภาพแล้วหรือยัง คือ เสียชีวิตก่อนหรือหลัง 55 ปี เพราะเงินชราภาพจะได้รับจากประกันสังคมเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 แล้ว
2) หากได้รับแล้วนั้นได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ หรือ เงินบำเหน็จชราภาพ
- กรณีรับเงินบำนาญชราภาพ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- กรณีรับเงินบำเหน็จชราภาพ : จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หลังอายุ 55 ปี
ผู้ประกันตนก่อนเสียชีวิตได้ทำเรื่องขอรับเงินบำนาญแล้วจะด้วยอายุครบ 55 ปีแล้ว
กรณีที่ 1 ผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ
ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ = จำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
กรณีที่ 2 ผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต โดยได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน
ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
กรณีที่ 3 ผู้ประกันตนรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน
ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
กรณีที่ 4 กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน
ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × 10 เท่า
กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ก่อนอายุ 55 ปี
ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 และ มาตรา 39 เสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเป็นเงิน “บำเหน็จชราภาพ” ตามกฎหมายประกันสังคมกำหนด ซึ่งจะไม่ได้สิทธิเป็นเงินบำนาญกรณีชราภาพ
กรณีที่ 1 ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายไว้
กรณีที่ 2 ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ = เงินสมทบที่ผู้ประกันตนรวมกับส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบไว้ให้
ระยะเวลารับคืนเงินกรณีชราภาพ
เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทผู้มีสิทธิ สามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี
เงินประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ม.33 ม.39 ใครได้บ้าง
1) บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
2) สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย
3) บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา
4) บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ
ทั้งนี้ ขึ้นกับสิทธิที่ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วย
ยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่ไหน ?
ยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ให้บริการ 24 ชั่วโมง หรือ Line : @ssothai และทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
อ่านเพิ่ม