[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางแผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ก่อนเริ่มต้นวางแผนการเงิน สิ่งที่ควรทำ คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อทำให้เราเหลือเงินออม แล้วจึงนำเงินออมไปลงทุนให้เงินงอกเงยมากขึ้น
  • สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือ วางแผนการเงินที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีการวางแผนการเงินเลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ คือ เมื่อการลงทุนเกิดความผิดพลาด ทุกสิ่งทุกอย่างจะหายวับไปกับตา
  • คอนเทนต์นี้จะเป็นคู่มือฉบับสมบูรณ์ที่ช่วยทำให้ทุกคน สามารถนำไปวางแผนต่อได้จริง เพื่อให้ชีวิตมีความสุขและมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ก่อนอื่นใครที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์นี้ พี่ทุยขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จทางการเงินกันก่อนล่วงหน้าเลย เพราะการเริ่มต้น “วางแผนการเงิน” นี่แหละ คือก้าวแรกของความสำเร็จทางด้านการเงินอย่างแท้จริง

เริ่มต้น วางแผนการเงิน จากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

สิ่งแรกที่พี่ทุยแนะนำเลยก็คือ ให้เริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย (แวะเข้าไปดูแอปพลิเคชันสำหรับการทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ ที่นี่) เพื่อทำให้เราเหลือเงินออม และนำเงินออมไปทำให้เงินงอกเงยอีกทีหนึ่ง ซึ่งสมการเงินออมที่พี่ทุยแนะนำเสมอก็คือ

รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย

หลักการก็คือ เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้วให้รีบหักนำมาออมกันก่อน อย่าใช้ก่อนแล้วค่อยออมเงินทีหลัง เพราะสุดท้ายจากที่พี่ทุยเห็น หลาย ๆ คน ก็ไม่เคยเหลือเงินออมเลยเมื่อถึงสิ้นเดือน และหลังจากที่เราเริ่มมีเงินออม พี่ทุยว่าหลาย ๆ คนคงมีอาการเหมือนกัน นั่นก็คือ

  • อยากจะเริ่มลงทุน
  • อยากจะซื้อ SSF RMF เพื่อลดหย่อนภาษี
  • อยากจะได้เงินปันผลเยอะ ๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว พี่ทุยอยากที่จะให้ลืมความคิดเหล่านี้ไปก่อน เพราะการวางแผนการเงินแบบพื้นฐาน เราควรเริ่มต้นที่สามเหลี่ยมการเงินหรือพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) ก่อนเสมอ

รูปร่างหน้าตาของสามเหลี่ยมการเงิน

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว เราจะวางแผนการเงินจากด้านล่างขึ้นข้างบนเสมอ โดยเริ่มจากฐานด้านล่างของสามเหลี่ยมทางการเงินที่ใช้สำหรับวางแผนการเงินกันก่อน

1. ความต้องการพื้นฐาน และการบริหารความเสี่ยง

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

เริ่มต้นที่ความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) และการบริหารความเสี่ยง โดยในส่วนนี้จะเริ่มที่เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Cash) 3-6 เดือน ก่อนเสมอ โดยเงินส่วนนี้ คือ เงินที่เก็บไว้ให้พอเพียงกับค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3-6 เดือน

เงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ มีเพื่อไว้ทำอะไรบ้าง ?

พี่ทุยคิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะตอบว่าเป็นเงินเผื่อไว้ตอนที่เราประสบอุบัติเหตุ หรือปัญหาเรื่องสุขภาพที่ต้องใช้เงินเยอะ ๆ ซึ่งพี่ทุยอยากจะบอกว่าเกือบถูกต้องแล้ว แต่ในความเป็นจริงเงินก้อนนี้เอาไว้ใช้เผื่อในกรณีที่รายได้เราหยุดลง ไม่ว่าจะเป็นการโดนไล่ออกจากงาน ตกงาน ยอดขายไม่ดี อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้รายรับเราไม่เหมือนเดิม ซึ่งในเวลานั้นอย่าลืมว่ารายจ่ายของเราไม่เคยหยุดตามรายได้ที่ปรับตัวลดลงเลย

สำหรับการ วางแผนการเงิน เราควรจะเตรียมเงินเผื่อไว้ใช้ 3 เดือน หรือ 6 เดือนดีกว่ากัน ?

ส่วนตัวพี่ทุยมองว่าขึ้นอยู่กับ “แหล่งรายได้” ของเรา ถ้าเรามีอาชีพที่สามารถหางานใหม่ได้รวดเร็ว ก็อาจจะเตรียมเผื่อไว้เพียงแค่ 3 เดือนก็พอแล้ว แต่ถ้าเราทำงานที่ขยับตัวได้ยาก ไม่ค่อยมีความแน่นอน เช่น ดารา-นักแสดง นายแบบ-นางแบบ ควรสำรองไว้เกิน 6 เดือนด้วยซ้ำ เพราะมักไม่มีความแน่นอน ถ้าหากงานไม่เข้าหรือเจอข่าวด้านลบ อยู่ดี ๆ อาจจะทำให้รายได้หายไปเป็นปี ๆ เลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน

หรือถ้าใครมีแหล่งรายได้ทางเดียว เช่น มนุษย์เงินเดือน และไม่มีรายได้ทางอื่นเลย ก็ควรมีอย่างน้อย ๆ 6 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าการมีเหลือไว้ย่อมดีกว่าขาดแน่นอน

หลังจากที่เราเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว เราจะมาดูที่การทำประกันให้เพียงพอ (Sufficient Insurance) ซึ่งตรงนี้จะเป็นเบาะคอยรองรับเราเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือประสบปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งสิ่งที่พี่ทุยเน้นมากเลยก็คือ การที่มีประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพอย่างเพียงพอ พี่ทุยขอเน้นย้ำคำว่าเพียงพอ

การทำประกันให้เพียงพอ (Sufficient Insurance) ควรมีเท่าไหร่ ?

พี่ทุยไม่สามารถบอกได้ว่า เราควรต้องมีเท่าไหร่ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน และโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีค่ารักษาพยาบาลไม่เท่ากัน ดังนั้นทางที่ดีก็คือ เรากลับไปตรวจสอบว่าโรงพยาบาลที่เราเข้าใช้บริการบ่อย ๆ หรือว่าในกรณีที่ฉุกเฉินแล้วต้องเข้าโรงพยาบาลจะเป็นที่ไหน ก็ลองไปสอบถามพวกค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ และนำมาซื้อประกันให้ครอบคลุมค่ารักษาไว้ก่อนดีที่สุด

ค่ารักษาพยาบาลในระดับ 2,000-3,000 บาท อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะยังไงก็น่าจะสามารถนำมาจ่ายได้อย่างไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือ ค่ารักษาพยาบาลในระดับหลักแสนถึงหลักล้านบาท ว่าเราสามารถเบิกประกันได้หรือไม่ มีเพียงพอหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด

ประกันยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวในตลาดที่สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้ ก่อนที่เราจะลงทุนกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราควรเริ่มจากสิ่งเหล่าที่เรียกว่า ความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) เพราะถ้าหากยังไม่ได้เตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางการเงิน ในระยะยาวจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน พี่ทุยอยากให้ลองนึกภาพว่า เหมือนกับตอนที่เราสร้างบ้าน ถ้าหากลงเสาเข็ม เทพื้นไม่ดี ต่อให้สร้างสูงหรือสวยแค่ไหน สักวันก็น่าจะต้องพังลงมาอยู่ดีนั่นเอง

2. การออมเงิน หรือการเก็บสะสมความมั่งคั่ง (Accumulation)

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

หลังจากที่พี่ทุยแนะนำให้จัดการเรื่องความต้องการพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ก็มาดูเรื่องการออมเงินหรือการเก็บสะสมความมั่งคั่ง (Accumulation) โดยเป็นการวางแผนเก็บออมเงินเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น การวางแผนเกษียณ (Retirement Planning) ซึ่งหลาย ๆ คนมักชอบมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

สำหรับใครที่มองว่าการวางแผนเกษียณ (Retirement Planning) เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะเมื่อเราต้องการเกษียณอายุ พี่ทุยเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้เลยว่าต้องใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ และสิ่งที่เตรียมเอาไว้เพียงพอต่อการใช้หรือไม่

การวางแผนเกษียณอายุเป็นการวางแผนระยะยาว จึงควรวางเงินลงทุนแบบระยะยาวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น) ซึ่งการออมเงินนั้นควรออมเงินเดือนละเท่าไหร่เพื่อให้เพียงพอกับเป้าหมาย ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลยว่า

  • ต้องการเกษียณอายุเท่าไหร่ — ถ้าเกษียณเร็ว ก็ต้องออมเยอะ
  • ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ เดือนละเท่าไหร่ — ถ้ายิ่งเยอะ ก็ต้องยิ่งออมเยอะ
  • ความสามารถในการลงทุน — ถ้ามีมาก ก็ออมน้อย
  • อายุปัจจุบัน — ถ้าอายุยิ่งสูง ก็อาจจะต้องยิ่งเหนื่อย ต้องออมเยอะ (ดังนั้น การเริ่มต้นวางแผนเร็วกว่ามักจะได้เปรียบมากกว่า)

และอีกแผนการเงินหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับคนที่มีครอบครัวและมีลูกน้อยอยู่ นั่นก็คือ การวางแผนเพื่อการศึกษาบุตร (Education Planning) ซึ่งเป็นการคำนวณว่า หากลูกเราเกิดมา ก็จะต้องมีการวางแผนว่าจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ลูกสามารถเรียนจบปริญญาตรีหรือโทได้เป็นอย่างน้อย

แต่นอกจาก 2 แผนการเงินนี้ จริง ๆ แล้ว ยังมีแผนการเงินอื่น ๆ อีกพอสมควร เช่น การวางแผนเพื่อซื้อคอนโดในอีก 5 ปี ก็เป็นการวางแผนการเงินได้เช่นกัน

โดยการวางแผนเพื่อซื้อคอนโดนี้ ก็เป็นการที่เราจะต้องคิดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าเราต้องออมเงินเดือนละเท่าไหร่ และนำไปลงทุนที่ไหนบ้าง ฯลฯ อย่างกรณีการวางแผนซื้อคอนโดนี้เป็นการลงทุนระยะกลาง

หรือถ้าอยากลงทุนระยะยาว ก็ควรวางเงินใน SSF หุ้นกู้เอกชน กองทุนรวมต่าง ๆ ก็เหมาะสมอยู่เหมือนกัน แต่ต้องมาดูด้วยว่าเรารับความเสี่ยงได้ขนาดไหนอีกครั้งหนึ่ง

หรือจะเป็นการวางแผนเพื่อการเที่ยวรอบโลก ก็เป็นแผนการเงินได้เหมือนกัน แต่อย่าลืมจัดความสำคัญของเป้าหมายก่อน เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วความต้องการของเรามักจะเยอะ แต่ที่แน่ ๆ เลย คือ เราไม่สามารถทำทุกเป้าหมายได้พร้อมกัน ยกเว้นว่าเราจะมีรายได้ที่มากพอ

ดังนั้น พี่ทุยก็จะแนะนำว่าให้เริ่มจัดการเป้าหมายที่จำเป็นก่อน เช่น วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุหรือวางแผนการศึกษาบุตร แล้วค่อยจัดการเรื่องเป้าหมายที่ไม่จำเป็นรอง ๆ ลงมาที่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการอื่น ๆ ในชีวิตเพิ่มเติม

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่จัดการเรื่องความต้องการพื้นฐาน และ การออมเงิน (สะสมความมั่งคั่ง) ก่อน ?

สมมติว่าวันนี้เราเก็บเงินเพื่อการศึกษาของลูกเรา อยู่ดี ๆ เกิดโชคร้ายประสบอุบัติเหตุ หรือ ตรวจพบเนื้อร้าย (มะเร็ง) จนทำให้เราจะต้องนำเงินที่ตั้งใจว่าจะเอาไปจ่ายค่าเทอมของลูก ไปจ่ายให้กับหมอและไม่มีเงินนำไปจ่ายค่าเทอม แน่นอนว่าพอเจอปัญหาแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน การป้องกันเอาไว้ก่อนจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้น แต่เรามีการวางแผนจัดการเรื่องความต้องการพื้นฐานเรียบร้อย ชีวิตของคนในครอบครัวทุกคนยังสามารถใช้ได้อย่างปกติสุขดี นี่คือสิ่งที่สำคัญของการวางแผนการเงิน ซึ่งยิ่งเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น เพราะจะทำให้เราเหนื่อยน้อยลงนั่นเอง

การปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุด คือ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวลาที่ดีรองลงมา คือ วันนี้

3. การลงทุน (Investment)

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

หลังจากที่เราจัดการเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญเรียบร้อยแล้ว พี่ทุยว่าก็ถึงเวลาที่หลายคนถนัด เพราะนี่คือสิ่งที่หลายคนคิดว่าจะต้องทำเป็นอันดับแรก นั่นก็คือ การลงทุน (Investment) ซึ่งการลงทุนนี้เป้นการลงทุนที่สามารถลงทุนได้ตามใจชอบได้เลย เอาในสิ่งที่ตนเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น (อ่านซีรีส์การเงิน ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน ได้เลยที่นี่) ทำธุรกิจส่วนตัว ลงทุนอสังหาริมทรัพย์

เพราะเงินก้อนนี้สามารถรับความเสี่ยงได้และเป้าหมายของเงินก้อนนี้ คือ การทำให้ความมั่งคั่งหรือเงินของเราเพิ่มขึ้น

ข้อดีที่สุดที่พี่ทุยชอบการวางแผนการเงินในลักษณะนี้ คือ ต่อให้เงินลงทุนทั้งก้อนนี้หายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเจอวิกฤตทางการเงินหรือว่าลงทุนผิดพลาดไป เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจ็บป่วยมีเงินรักษา ตกงานก็ยังมีเงินใช้ สามารถปรับตัวได้สบาย ๆ ลูกของเรายังได้เรียนเหมือนอย่างที่เราตั้งใจไว้ และตอนเราแก่ตัวไปก็ยังมีเงินใช้ ไม่เดือดร้อนใคร

แต่สิ่งที่น่าเศร้าที่สุด คือ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคง วางแผนการเงิน แบบนี้อยู่

[สรุปโพสต์เดียวจบ] คู่มือ วางเเผนการเงิน ฉบับสมบูรณ์

การวางแผนการเงินที่ผิดพลาดแบบนี้ คือ การที่เอาเรื่องการลงทุนมานำทุกอย่าง โดยไม่มีการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง ผลที่ตามมา ก็คือ เมื่อการลงทุนเกิดความผิดพลาด สิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ทุกอย่างก็จะหายไปกับตา

ด้วยการวางแผนการเงินในลักษณะนี้ (หรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจวางแผนการเงินที่ถูกต้อง) ทำให้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เกิดอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์หมดไปกับการลงทุนทั้งในธุรกิจและตลาดหุ้น พอการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทุกอย่างก็พังตามไปด้วย

สำหรับใครที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศในช่วงนั้น อยู่ดี ๆ หนี้สินก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะค่าเงินบาทปรับตัวจาก 25 บาทเท่ากับ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ กลายเป็น 56 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในชั่วข้ามคืน

อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนน่าจะเห็นภาพกันแล้วว่าทำไมการวางแผนการเงินถึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตได้ อย่าปล่อยให้เราต้องมาบ่นกับตัวเองว่า รู้งี้น่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ พอถึงตอนนั้นก็น่าจะสายเกินไปแล้ว

หรือถ้าใครอยากติดตามคอนเทนต์วิดีโอการลงทุนแบบเข้าใจง่าย ๆ อื่น ๆ ก็เข้าไปติดตามกันได้เลย คลิกที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile