ทำไมไทยต้อง “กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท” เพิ่มอีก ?

ทำไมไทยต้อง “กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท” เพิ่มอีก ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • วิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต้องใช้เวลายาวนานกว่าหลายประเทศทั่วโลก
  • พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรอบแรกใช้จ่ายไปแล้ว 98% เหลือเพียงอีก 2% เท่านั้น สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรง โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 เมื่อเดือน เม.ย. 64 ทำให้ต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินรอบสอง วงเงินอีก 500,000 ล้านบาท
  • ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ว่า ไทยจะสูญเสียรายได้จากการจ้างงานเป็นมูลค่าสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท เพราะแรงงานหลายล้านตกงานและขาดรายได้ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างกลุ่มคนและภาคธุรกิจ รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อพยุงเศรษฐกิจ
  • หนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่กว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ (Internal Debt) และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำกว่าเพดาน และต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นลำดับ 12 ของโลก สะท้อนว่า ประเทศไทยมียังมีศักยภาพในการกู้เงินเพิ่มอยู่พอสมควร

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยมีโอกาสได้ฟัง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอาการและทางออกของเศรษฐกิจไทย ชี้แนะให้รัฐบาล “กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท” เพิ่มอีก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เพราะวิกฤตครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หากไม่มีเงินมาสนับสนุน เศรษฐกิจไทยจะซึมยาวและใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าหลายประเทศทั่วโลก แล้วทำไมต้องกู้ จะกู้เพิ่มได้ไหม พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟัง

พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รอบแรกกำลังจะหมดลง

กว่าปีครึ่งแล้วที่เราต้องอยู่กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างความเสียให้ประชาชนและธุรกิจของไทยสูญเสียรายได้ มีหนี้มากขึ้นแต่รายได้กลับหดหาย รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง โดยการระบาดรอบแรกไทยมีการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในเดือน เม.ย. 63 ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือน เม.ย. 63 โดยแบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ

1. แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข กรอบวงเงินตามพระราชกำหนด 45,000 ล้านบาท

2. แผนงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ กรอบวงเงินตามพระราชกำหนด 555,000 ล้านบาท

3. แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงินตามพระราชกำหนด 400,000 ล้านบาท

ซึ่ง พ.ร.ก. กู้เงินนี้ได้ถูกนำมาใช้ในหลายโครงการที่หลายคนรู้จักกันดี เช่น การจัดหาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และวัคซีน การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ม.33 เรารักกัน และเราชนะ เป็นต้น

ความคืบหน้าของ พ.ร.ก. กู้เงินในปัจจุบัน ณ วันที่ 20 ส.ค. 64 พบว่า จากวงเงิน พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 980,828.17 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของวงเงินทั้งหมด และเหลือเพียงอีก 2% เท่านั้น นั่นหมายความว่า วงเงิน พ.ร.ก. กู้เงินรอบแรกของรัฐบาลปัจจุบันกำลังใกล้จะหมดลงแล้ว มีความคืบหน้าแต่ละแผนงานดังนี้

  • แผนงานช่วยเหลือทางการแพทย์ กรอบวงเงินปัจจุบันเดิมที่ 45,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 44,478.69 ล้านบาท และคงเหลือ 521.31 ล้านบาท 
  • โครงการช่วยเหลือประชาชน กรอบวงเงินปัจจุบันมากขึ้นกว่าเดิมที่ 701,238 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 690,136.57 ล้านบาท และคงเหลือ 11,101.43 ล้านบาท 
  • แผนงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กรอบวงเงินปัจจุบันลดลงกว่าเดิมที่ 253,762 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 246,212.97 ล้านบาท และคงเหลือ 7,549.02 ล้านบาท

วงเงินรอบแรกนั้น รัฐบาลใช้จ่ายเกือบจะหมดแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจยังประสบกับความยากลำบากจากโควิด-19 ระลอก 3 ในเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมรอบสองอีก 500,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

1) การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ 300,000 ล้านบาท

2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 170,000 ล้านบาท 

3) การแก้ปัญหาโควิดระบาดระลอกใหม่ 30,000 ล้านบาท

ซึ่งจากแผนการกู้เงินรอบสองนี้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เขยิบเข้าใกล้เพดานที่ 58.8%

ทำไมประเทศต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท

ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังเผชิญกับอาการที่เรียกว่า “หลุมรายได้” ที่ใหญ่และลึก เพราะโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยว ค้าขาย ทั้งธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจที่กำลังเติบโต ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงานกลายเป็นคนว่างงาน 

ทางแบงก์ชาติคาดว่า สิ้นปี 2564 จะมีคนว่างงานสูงถึง 3.4 ล้านคน และมีคนว่างงานเกิน 1 ปี ถึง 1.7 แสนคน มากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 กว่า 3 เท่าตัว รวมถึงกลุ่มเด็กจบใหม่ที่จะหางานไม่ได้อีกราว 3 แสนคน

พอคนจำนวนมากต้องตกงานและขาดรายได้ ทางแบงก์ชาติก็ประเมินว่า ในช่วงปี 2563-2564 ประเทศจะสูญเสียรายได้จากการจ้างงานมากถึง 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2565 คาดว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้กลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 จะทำให้รายได้ประเทศหายไปอีก 8.0 แสนล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 3 ปี เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 2.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 17% ของ GDP

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน รายได้มาก-รายได้น้อย ธุรกิจขนาดใหญ่-ธุรกิจขนาดเล็ก ก็จะสูงมากขึ้นเหมือนขารูปตัว K (K-shaped) เช่น ธุรกิจส่งออกได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว แต่ธุรกิจการผลิตและค้าขายในประเทศกลับต้องปิดตัวลง คนรายได้สูงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ ตรงกันข้ามกับคนรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วต้องถูกซ้ำเติมจากโควิด-19 เข้าไปอีก ซึ่งแรงงานอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนี้สูงเกินครึ่งของจำนวนแรงงานทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ใช้เวลายาวนานกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและหลายประเทศทั่วโลก และคาดว่าต้องใช้เวลากว่า 3 ปี เศรษฐกิจไทยถึงจะเข้าใกล้จุดเดิมก่อนเกิดโควิด-19 เทียบกับประเทศในเอเชียที่ใช้เวลาน้อยกว่าเพียง 2 ปีเท่านั้น

ผู้ว่าแบงก์ชาติจึงแนะให้รัฐบาลต้องกู้เพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือ 7% ของ GDP เพื่อทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกลับมาฟื้นตัวให้เร็วที่สุด แม้ว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งขึ้นไปเกินเพดานที่ 70% ก็ตามในปี 2567 เมื่อรวมกับ พ.ร.ก. เงินกู้รอบแรกและรอบสอง ก็จะทำให้มีงบประมาณรวมกันถึง 2.5 ล้านล้านบาท

ฉะนั้น การกู้เพิ่มและมีเงินนำออกมาใช้จ่ายมากขึ้น จะกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว หนี้สาธารณะของประเทศก็จะค่อย ๆ ลดลงในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีกว่าปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจนทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นอีกในระยะยาว

กู้เพิ่มได้ไหม กู้แล้วจะเป็นอย่างไร

โดยทั่วไปในฐานะนักลงทุนหรือประชาชนทั่วไปการกู้คือการเป็นหนี้ แต่จะเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย หนี้สั้นหรือหนี้ยาว ก็มีลักษณะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทและวัตถุประสงค์ของการกู้ ในระดับประเทศก็เช่นเดียวกัน การกู้เพิ่มก็หมายถึงประเทศกำลังจะมีหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และต้องมาประเมินว่าฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเพียงพอต่อความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่

หลัก ๆ แล้วต้องดูว่าหนี้สาธารณะของประเทศ เป็นหนี้ที่กู้มาจากในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งหนี้ของรัฐบาลไทยกว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ (Internal Debt) ที่กู้มาจากหลายแหล่งในประเทศ ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และประชาชน ผ่านการระดมทุน เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

ส่วนอีก 2% เป็นหนี้ต่างประเทศ (External Debt) จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่โดยทั่วไปแล้วเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ต่างประเทศกำหนดไว้ว่าให้กู้แล้วต้องซื้อสินค้าจากประเทศผู้ให้กู้ด้วย

หากดูสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 56% ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ศึกษาวิจัยและสร้างกรอบเอาไว้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหากเทียบไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น (266%) สิงคโปร์ (131%) อินเดีย (70%) จีน (67%) และมาเลเซีย (61%) เป็นต้น หรือหากกู้จากต่างประเทศ ประเทศไทยก็นับว่าเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นลำดับ 12 ของโลกในปัจจุบัน ที่ประมาณ 9,201,395 ล้านบาท

จากศักยภาพของประเทศ การที่จะกู้เงินเพิ่มต้องบอกว่า รัฐบาลไทยยังมีศักยภาพเพียงพอในการกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐไทยในยามที่เกิดวิกฤตรุนแรงในประเทศ ประเมินจากความรุนแรงของสถานการณ์ ทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงแตะ 2 หมื่นคนต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนจากการประท้วงภายในประเทศ ดูแล้วยังไม่เห็นท่าทีที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเวลาอันใกล้นี้

พี่ทุยเลยคิดว่า การชี้แนะจากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่ควรทำอย่างยิ่งเพื่อช่วยเหลือ ยับยั้ง และบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ประสิทธิภาพของแผนการใช้เงินกู้ให้ตรงจุดนับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันติดตามดูกันต่อไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย