พูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ภาพที่เห็น คือ การเติบโตต่ำเสียจนดูท่าทางจะไม่ไปไหนอีกหลายปี แต่พอหันไปดูเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศกลับเติบโตสวนทาง โดยเฉพาะ เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ที่ดูเหมือนว่าจะเติบโตแรงแซงโค้งจนน่าจับตามอง
พี่ทุยเลยจะพาไปดูความน่าสนใจของประเทศนี้ แล้วเทียบบทเรียนกับประเทศไทยหน่อยว่า ‘ทำไมเศรษฐกิจอินโดนีเซียถึงเติบโตแรงทิ้งห่างจากไทย’ และเขามีอะไรที่ต้องทำให้ได้เพื่อก้าวข้ามไปสู่ระดับเอเชีย ?
ปี 2025 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย โต 5.1% เพื่อนบ้านอื่น ๆ ก็แรงพร้อมแซงไทย
เมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา IMF เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกของปี 2025 ซึ่งประเทศที่ถูกคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแรงก็ต่างอยู่ในเอเชียรวมถึงเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย เช่น อินเดียคาดไว้ที่ 6.5%, อินโดนีเซีย 5.1%, มาเลเซีย 4.7%, ฟิลิปปินส์ 6.1% ส่วนประเทศไทยของเราถูกคาดไว้ที่ 2.3% เท่านั้น เรียกว่าแตกต่างกันมาก (เกินไป)
ที่น่าตกใจมากกว่านั้น คือ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ขนาดเศรษฐกิจไทยที่ตอนนี้อยู่อันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อาจโดนแซงจนหล่นมาอยู่ที่อันดับ 6
ประกอบกับเมื่อกลางปีที่แล้ว มีข่าวทั้ง NVIDIA และ Microsoft สนใจลงทุนด้าน Data Center และ AI ในย่านอาเซียน ซึ่งมีทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงเวียดนาม ซึ่งมีการประกาศงบลงทุนเป็นตัวเลขที่ชัดเจนกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่กลับยังไม่มีความชัดเจนกับประเทศไทย
กลายเป็นคำถามขึ้นมาเลยว่าทำไมเศรษฐกิจประเทศไทยถึงโตช้าจนเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านโตแซงขนาดนี้ ? หรือมองอีกมุมได้ว่า ‘ทำไมประเทศเพื่อนบ้านถึงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากกว่าไทย’ ซึ่งกับประเทศเวียดนามทุกคนอาจรู้จักกันมากอยู่แล้ว แต่ยังมีอินโดนีเซียอีกประเทศที่มาแรงให้ได้ศึกษาไม่แพ้กัน
ประชาชนอินโดนีเซียยังวัยรุ่น หนี้ครัวเรือนต่ำ สินเชื่อธนาคารมีช่องว่างให้โตอีกมาก
เริ่มจากเบสิคพื้นฐานประเทศที่เศรษฐกิจจะโตแรง แน่นอนว่าก็ต้องเริ่มจากภาคประชาชนที่มีความพร้อม โดยสเปคที่ดีก็ต้องประกอบไปด้วยการมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานเยอะ หนี้ครัวเรือนต่ำ และสินเชื่อธนาคารมีช่องว่างให้โตได้อีก ซึ่งอินโดนีเซียดูเหมือนจะติ๊กถูกสเปคตามนี้ทั้งหมด
อินโดนีเซียมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 20-39 ปี คิดเป็น 30.3% ของประชากรทั้งหมด ส่วนกำลังเสริมที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี คิดเป็น 16.8% ส่วนทางด้านไทยมีประชากรอายุระหว่าง 20-39 ปี อยู่ที่ 27.7% และอายุระหว่าง 10-19 ปี เพียง 11.6% เท่านั้น
ด้านหนี้ครัวเรือนของอินโดนีเซียค่อนข้างต่ำเพียง 16.3% ของ GDP เท่านั้นเอง ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหลักของไทยอย่างมาก เพราะสูงถึง 89% ของ GDP และดูท่าทางคงไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววันนี้
เมื่อหนี้ครัวเรือนค่อนข้างต่ำหมายความว่าอินโดนีเซียยังพอมีช่องว่างเหลือให้สำหรับการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายหรือลงทุน ที่สามารถเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจได้อีกทาง โดยสินเชื่อธนาคารของอินโดนีเซียเติบโตแรงที่ประมาณ 10.3% ส่วนสินเชื่อธนาคารของไทยเติบโตเพียง 3.2% เป็นอีกมุมที่สะท้อนชัดว่าประเทศไทยมีกำลังใช้จ่ายต่ำสุด ๆ แถมเงินทุนเพิ่มเติมจากสินเชื่อก็น้อย หรือสรุปก็คือเศรษฐกิจไทยแทบไม่สามารถคาดหวังการเติบโตจากภาคส่วนนี้ได้เลย
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพพร้อมรับการเติบโต
อินโดนีเซียนั้นมีศักยภาพที่สามารถดึงดูดต่างชาติได้มากกว่าใคร เพราะพื้นฐานด้านครัวเรือนก็ผ่านเกณฑ์ เรื่องจำนวนประชากรก็ไม่เป็นรองใคร เพราะมีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก แถมเรื่องต้นทุนค่าแรงก็ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอีกต่างหาก
โดยอินโดนีเซียมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันที่ประมาณ 159 บาท ส่วนเขตเมืองหลวงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแพงสุดอยู่ที่ 398 บาท ส่วนประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดสูงที่ 370 บาท และต่ำสุดอยู่ที่ 338 บาท
ขณะที่เวียดนามมีอัตราค่าจ้างสูงสุดที่เขตเมืองหลวงประมาณ 250 บาท และฟิลิปปินส์มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 229 บาท
จะเห็นได้ว่าเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ค่อนข้างได้เปรียบประเทศอื่น แถมการเมืองก็นิ่ง แล้วจะไม่ให้อินโดนีเซียน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติได้อย่างไร
อินโดนีเซียทรัพยากรธรรมชาติครบ รัฐบาลส่งเสริมถูกจุด
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติมากตามไปด้วย โดยมีปริมาณสำรองแร่นิกเกิลที่มีความสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ประมาณ 21 ล้านตัน มีมากที่สุดในโลก แค่นี้ก็เป็นต่ออีกหลายประเทศในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทรถ EV ระดับโลกไปพอสมควรแล้ว
นอกจากนี้ยังมีแร่ทองแดง ดีบุก สังกะสี ตะกั่ว และเชื้อเพลิง คือค่อนข้างพร้อมสำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
เมื่อทรัพยากรพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลได้ผ่อนคลายกฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศด้วยการแบ่งหมวดหมู่ธุรกิจออกเป็นธุรกิจที่เปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้ 100% และธุรกิจที่ต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)
แถมยังมีข้อกำหนดอีกมากมายเพื่อส่งเสริมและป้องกันธุรกิจในประเทศ เช่น ให้ส่งสินค้าที่ท่าเรือห่างไกลจากเมืองหลวง, นำเข้าสินค้าอาหารบางประเภทต้องไม่ตรงกับช่วงที่สินค้าในประเทศออกสู่ตลาด
ส่วนเรื่องภาษีก็มีมาตรการดึงดูดมากมาย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 20 ปี ให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านล้านรูเปียห์, ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังมีสิทธิพิเศษอื่น เช่น สิทธิการใช้อาคาร 80 ปี
แต่ภาครัฐก็ยังมีกฎหมายปกป้องธุรกิจท้องถิ่นจากแพลตฟอร์ม e-Commerce ไม่ให้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกทะลักเข้าประเทศ โดยออกกฎหมายให้แพลตฟอร์ม e-Commerce ต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษและพัฒนาแอปแยกออกจากแอปอื่นของบริษัท ตามด้วยกำหนดราคาสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านรูเปียห์ และยังขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 100-200% กับสินค้าหลายรายการ
นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อินโดนีเซียมีสตาร์ทอัพจำนวนมากที่สุดในอาเซียน แถมแกร่งพอที่จะตีตลาดต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น Traveloka, Tokopedia, Go-Jek
พอมองกลับมายังประเทศไทยที่เรื่องทรัพยากรก็เป็นรอง บวกกับมาตรการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติที่แทบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จนสะท้อนออกมาผ่านตัวเลข FDI รวม 3 ไตรมาสของปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 5,670 ล้านดอลลาร์ ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ ห่างกันประมาณ 7 เท่า
เรื่องการปกป้องธุรกิจในประเทศจากแพลตฟอร์ม e-Commerce ไทยก็จัดการช้าซะเหลือเกิน กว่าจะลงมือได้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว
ส่วนตลาดสตาร์ทอัพสัญชาติไทยก็แทบจะเงียบกริบ ไม่มีการสนับสนุนที่เหมาะสมเลย เปิดตลาดในประเทศยังยาก ไม่มีบริษัทแจ้งเกิดต่างแดนได้เหมือนอินโดนีเซีย
ความเสี่ยง ความท้าทาย เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ที่อาจเป็นเสือตัวที่ 5 แบบไทย
ถึงแม้อินโดนีเซียจะดูสวยหรูและมีอนาคตที่สดใจ แต่ทุกประเทศต่างก็ต้องมีอุปสรรคความท้าทายที่ต้องเผชิญ และมีข้อสำคัญที่สุดที่สามารถเรียนรู้ได้จากประเทศไทย (อดีต) เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย
ถ้าใครเคยฟังบทเรียนเคสนักธุรกิจไทยที่เคยไปบุกเบิกธุรกิจที่อินโดนีเซีย จะมีอุปสรรคที่คล้ายกัน นั่นคือ เป็นประเทศใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านขนส่งที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการ เช่น ทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างเมือง หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าและน้ำประปาที่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าจะเน้นการเติบโตภาคอุตสาหกรรมก็ยังต้องพัฒนาด้านนี้อีกมาก
ต่อมาคือเรื่องของทักษะแรงงาน เป็นความได้เปรียบที่ประเทศไทยยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอยู่ในทุกวันนี้ ในทางกลับกันอินโดนีเซียยังมีความท้าทายอยู่ โดยเมื่อไปดู World Future Skills Index เพื่อดูความพร้อมต่อการพัฒนาในอนาคต จะเห็นได้ว่าอินโดนีเซียมีคะแนนตามหลังฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
สุดท้ายถ้าสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากพอ จนส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแรงและประชาชนมีรายได้เพิ่ม รัฐบาลต้องพาประเทศก้าวข้ามกับดักชนชั้นกลางไปให้ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ ต้องทำให้ประชาชนรวยก่อนแก่ ไม่งั้นประเทศก็จะติดกับดักชนชั้นกลาง และประชาชนมีโอกาสแก่ก่อนรวยแบบไทย
ณ เวลานี้ อินโดนีเซียส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเติบโตออกมาอย่างชัดเจน ด้วยคุณสมบัติที่พร้อมในทุกด้าน มีข่าวกับบริษัทระดับโลกจนเพื่อนบ้านต้องอิจฉา ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วล่ะว่าจะดึงเอาคุณสมบัติเหล่านี้มาใช้ได้เต็มศักยภาพหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านเพิ่ม