จับตาเวียดนาม แย่งตลาด ทุเรียนไทย

จับตาเวียดนาม แย่งตลาดทุเรียนไทย

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ทั่วโลกมีการค้าขายทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่สุดของโลก ด้วยสัดส่วน 94% ของตลาดรวม ขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่ง 95% ของตลาดรวม 
  • ปี 2023 ไทยมียอดส่งออกทุเรียนกว่า 1.09 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 1.65 แสนล้านบาท ขณะที่ ราคาทุเรียนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาเกือบ 5 เท่า และในปี 2024 ราคาก็มีแนวโน้มปรับขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากปัญหาอากาศร้อนจัด ทุเรียนขาดน้ำ ส่วนแหล่งปลูกทุเรียนสำคัญของไทย คือ จันทบุรี ชุมพร ระยอง 
  • เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยที่กำลังตีตลาดจีนอย่างหนัก ขณะที่ ทุเรียนจีนเอง ก็เป็นคู่แข่งอีกรายที่น่าจับตาของทุเรียนไทย 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงนี้ไม่ว่าจะไถหน้าฟีดกี่รอบ ก็ต้องได้เห็นคอนเทนท์ทุเรียนผ่านตา เพราะเดือนพฤษภาคมแบบนี้เป็นหน้าทุเรียนนี่เอง วันนี้พี่ทุยเลยชวนทุกคนมาติดตาม ทุเรียนไทย กันหน่อย ว่าทำไมช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาราคาพุ่งกระฉูด แล้วทุเรียนไทยในระดับโลกขายดีขนาดไหน แล้วนอกเหนือจากเรา ประเทศไหนเป็นคู่แข่งนัมเบอร์วันที่น่าจับตา

ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรที่มีความต้องการบริโภคสูง

จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agfriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้สรุปข้อมูลการค้าทุเรียนทั่วโลกในปี 2023 ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

  • ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูง ผลผลิตจะอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
  • ปริมาณการค้าทุเรียนทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2003-2022 รวม 20 ปี เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า โดยยอดสูงสุดคือปี 2021 อยู่ที่ 930,000 ตัน 
  • ปัจจัยที่สนับสนุนให้การค้าทุเรียนขยายตัว คือ เทคโนโลยีการขนส่งควบคุมความเย็น และระยะเวลาในการขนส่ง 
  • ผู้ผลิตทุเรียนรายสำคัญของโลก 3 อันดับแรก คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมียอดผลผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี 
  • ไทย ครองอันดับหนึ่ง ผู้ส่งออกทุเรียนหลักของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ย ​94% ของยอดส่งออกทั่วโลก ในปี 2020-2022 ส่วนปริมาณการส่งออกที่เหลือส่วนใหญ่มาจาก เวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับ อินโดนีเซีย ที่มีผลผลิตประมาณ 3% ของผลผลิตทุเรียนทั้งโลก ส่วนใหญ่รองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก 
  • จีน เป็นผู้นำตลาดนำเข้าทุเรียน มียอดนำเข้าเฉลี่ยต่อปี 740,000 ตัน ระหว่างปี 2020-2022 คิดเป็น 95% ของสัดส่วนการนำเข้าทั้งโลก โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไทย แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มนำเข้าจากเวียดนามมากขึ้น 
  • จีนมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียน โดยปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าได้จากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ ผลผลิตต้องได้รับการรับรอง โดยหน้าบรรจุภัณฑ์ต้องมีเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าเป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยพืชและคุณภาพที่กำหนด มีการบันทึกเกี่ยวกับการควบคุมสัตว์รบกวนและการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ได้

คราวนี้มาดูเรื่องราวของทุเรียนไทยกันดีกว่าว่า แต่ละปีมีการนำเข้า-ส่งออกทุเรียนเยอะแค่ไหน มีแหล่งผลิตสำคัญมีที่ไหนบ้าง 

มูลค่าการนำเข้า-ส่งออก ทุเรียนไทย ปี 2020-2024

มูลค่าการนำเข้า-ส่งออก ทุเรียนไทย ปี 2020-2024

ราคาทุเรียนไทย แพงขึ้นขนาดไหน 

ราคาทุเรียนไทย แพงขึ้นขนาดไหน 

ดูจากข้อมูลราคาแล้ว ก็ต้องบอกว่า 10 ปีผ่านไป ราคาทุเรียนไทย มาไกลมาก ๆ จากหลักราคาแค่ 19-24 บาทต่อ กก. ราคาเพิ่มขึ้นมาเกือบ 5 เท่า และปีนี้ ราคาก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ทุเรียนขาดน้ำ มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดไม่สูง แต่ความต้องการรับประทานทุเรียนสูงไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นราคาก็เลยสูงขึ้นตามระเบียบ 

สถิติ 10 อันดับ จังหวัดที่มีผลผลิตทุเรียนมากที่สุด​ปี 2022

  1. จันทบุรี 496,760 ตัน 39.87%
  2. ชุมพร 261,232 ตัน 20.96%
  3. ระยอง 149,234 ตัน 11.98%
  4. ตราด 86,336 ตัน 6.93%
  5. นครศรีธรรมราช 58,693 ตัน 4.71%
  6. สุราษฎร์ธานี 45,282 ตัน 3.63%
  7. อุตรดิตถ์ 32,616 ตัน 2.62%
  8. ระนอง 28,667 ตัน 2.30%
  9. ยะลา 28,622 ตัน 2.30%
  10. ประจวบคีรีขันธ์ 11,296 ตัน 0.91%

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

รู้จักพันธุ์ทุเรียนไทย 

ถ้าเดินผ่านไปผ่านมาในตลาด เราอาจจะเห็นชื่อพันธุ์ทุเรียนอยู่ไม่กี่ชื่อ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทุเรียนไทย มีไม่ต่ำกว่า​ 600 สายพันธุ์ ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งบางสายพันธุ์ก็เป็นพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์โบราณที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว สำหรับกลุ่มสายพันธุ์หลักๆ ของทุเรียนไทย จะแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะรูปทรงใบ ลักษณะฐานใบ ลักษณะทรงผล และรูปร่างของหนามที่แตกต่างกันไป

7 กลุ่มสายพันธุ์ทุเรียนไทย ​

  1. กลุ่มกบ 46 พันธุ์ เช่น กบแม่เฒ่า กบเล็บเหยี่ยว กบตาขำ และ กบพิกุล
  2. กลุ่มลวง 12 พันธุ์ เช่น ลวง ชะนี ชะนีก้านยาว และ สายหยุด 
  3. กลุ่มก้านยาว 8 พันธุ์  เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก (เหลืองประเสริฐป ก้านยาวสีนาค และ ก้านยาวพวง 
  4. กลุ่มกำปั่น 13 พันธุ์ เช่น กำปั่นเดิม (กำปั่นขาว) กำปั่นเหลือง (เจ้ากรม) หมอนทอง และ หมอนเดิม
  5. กลุ่มทองย้อย 14 พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร นกหยิบ และ อีทุย 
  6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด 81 พันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กระดุมทอง นกกระจิบ พวงมณี และหลงลับแล 

ขณะที่ ทุเรียนสายพันธุ์ยอดฮิตติดใจนักชิม จะมีหลักๆ อยู่ 7 สายพันธุ์ คือ หมอนทอง ก้านยาว ชะนี กระดุม หลงลับแล พวงมณี และนกกระจิบ 

การนำเข้าทุเรียนของจีน

พี่ทุยขอพาไปดูข้อมูลฝั่งจีน ที่เป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายสำคัญกันบ้างว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าเยอะขนาดไหน

ยอดการนำเข้าทุเรียนของจีน ปี 2023

ยอดการนำเข้าทุเรียนของจีน ปี 2023

ดูจากข้อมูลนี้แล้ว ก็จะพบว่า ไทยเป็นเจ้าตลาดส่งออกทุเรียนไปจีน ทั้งทุเรียนสด และทุเรียนแช่แข็งก็จริง แต่ว่า คู่แข่งก็น่าจับตาไม่น้อย เพราะว่า การนำเข้ามีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดจากไทยไปเยอะมาก ๆ สำหรับปี 2023

และที่น่าจับตาคือ ในตลาดทุเรียนแช่แข็ง ที่ปี 2023  แม้จีนจะยังไม่มีการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากเวียดนาม แต่ว่าในปี 2024 นั้น เป็นที่น่าจับตาว่าไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดส่วนนี้ให้เวียดนามไปอีก เมื่อเวียดนามมีการใช้มาตรฐานการส่งออกทุเรียนแช่แข็งจากเวียดนามไปจีนแล้ว 

จับตาเวียดนาม คู่แข่งสำคัญชิงตลาดทุเรียนจีน

ทั้งนี้ จากข้อมูลไตรมาส 1/2024 ทุเรียนเวียดนาม สามารถส่งออกไปได้ถึง 254 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 โดยมูลค่าส่งออกทุเรียนเวียดนาม ไปจีน คิดเป็น 98% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของเวียดนาม

โดยจุดขายสำคัญของทุเรียนเวียดนาม คือ มีราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ทั้งยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี จึงไม่ต้องแข่งขันกับทุเรียนไทย ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ระยะเวลาการขนส่งไปจีนที่รวดเร็ว จึงทำให้ทุเรียนเวียดนามตีตลาดจีนได้รวดเร็ว ในเวลาไม่ถึง 2 ปี ที่เปิดตลาดจีนมา

ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีน ชี้ว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024 ประเทศมีการนำเข้าทุเรียนสดไป 53.11 ตัน เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน มูลค่าอยู่ที่ 283.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ยอดการนำเข้าจากเวียดนาม สูงถึง 32.75 ตัน มูลค่าประมาณ 161 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 2.4 เท่า ในเชิงปริมาณ​เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แซงหน้าทุเรียนไทยไปแล้ว โดยในส่วนของไทย กลายเป็นอันดับ 2 ด้วย ยอดการนำเข้า 2 ตัน มูลค่า 19.016 ล้านดอลลาร์ ลดลง 120.3% ในเชิงปริมาณ และลดลง 50.3% ในเชิงมูลค่า 

ไม่ใช่แค่ทุเรียนเวียดนามเท่านั้น ที่น่าจับตา พี่ทุยต้องบอกว่า ทุเรียนที่จีนปลูกเอง ก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก ๆ เช่นกัน โดยจากข้อมูลพบว่า ผลผลิตทุเรียนที่ปลูกในจีน มีแนวโน้มจะออกสู่ตลาดในเดือน ก.ค.​นี้ โดยส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่มาจากไห่หนาน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “เกาะไหหลำ” ซึ่งคาดว่า ปีนี้ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปีที่ผ่านมา เป็น 200 ตัน ซึ่งทุเรียนส่วนนี้ ก็จะมารองรับความต้องการบริโภคของคนจีนที่เติบโต นอกเหนือไปจากทุเรียนที่นำเข้าจากไทยและเวียดนาม และในอนาคต ก็ไม่ว่า อาจจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดอื่น ๆ ในโลกด้วย  

สำหรับราคาทุเรียนในจีน ล่าสุดจะขายอยู่ที่ 70-200 หยวนต่อลูก แบบไม่รวมเปลือก นอกจากนี้ จีนยังมีการนำทุเรียนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เค้ก ชานม กาแฟ หรือแม้กระทั่งหม้อไฟ โดยมีการนำเสนอราคาที่ทำให้รู้สึกเข้าถึงได้มากกว่าทุเรียนสด จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคหนุ่มสาว 

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในอดีตที่ผ่านมา ไทยจะครองเบอร์หนึ่งผลิตและส่งออกทุเรียนไปยังตลาดโลกมายาวนาน แต่ตำแหน่งนี้อาจจะไม่มั่นคงอีกต่อไป เมื่อมีคู่แข่งสำคัญ ทั้งเวียดนาม และจีน จ่ออยู่ที่หน้าประตู รอโค่นแชมป์เราลง โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยนั่นเอง

เจาะลึก ทุเรียนไทย 2024

  • ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. โดยผลผลิตจะสูงสุดในเดือน พ.ค.​
  • มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2567 ดังนี้ 
    • พันธุ์กระดุม 15 เม.ย.
    • พันธุ์ชะนี และพันธุ์มวงมณี 5 พ.ค. 
    • พันธุ์หมอนทอง 20 พ.ค. 
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกแนวทางแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกร เพื่อส่งออกทุเรียนไทยในปี 2024 ได้แก่ 

1.ควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) 

1.1 กำหนดจุดบริการตรวจก่อนตัด/กำหนดแผนการตรวจรายแปลง
1.2 เกษตรกรและนักตัดทุเรียน ต้องเก็บตัวอย่างทุเรียนในสวนของตนเอง หรือสวนที่จะตัด และนำไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนตัด อย่างน้อย 3 วัน 

เกณฑ์น้ำหนักที่มีคุณภาพ 

  • พันธุ์กระดุม ต้องมีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 27%
  • พันธุ์ชะนี ต้องมีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30%
  • พันธุ์พวงมณี ต้องมีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30%
  • พันธุ์หมอนทอง ต้องมีน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 32%

1.3 จุดตรวจบริการตรวจก่อนตัด ต้องออกหนังสือรับรองให้เกษตรกร
1.4 สถานประกอบการ (ล้ง) ต้องสื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
1.5 แผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจแผงรับซื้อ 

2. การขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน
3. การควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) โดยแบ่งเกรดสีโรงคัดบรรจุตามข้อมูลผลการตรวจก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว (สีเขียว สีเหลือง สีแดง) ทั้งนี้จะสุ่มตรวจ และตรวจเข้มข้น เพิ่มความถี่ในกลุ่มโรงคัดบรรจุสีแดง และสีเหลือง
4. การควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดในประเทศ​(ค้าส่ง-ค้าปลีก)
5. การสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ และกรมประมง รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มแล้วสนับสนุนให้รับรอง GAP แบบกลุ่ม เป็นต้น

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile