[วิเคราะห์] หาก จีนบุกไต้หวัน เหมือนรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

[วิเคราะห์] หาก จีนบุกไต้หวัน เหมือนรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ของนายพลเจียง ไคเชกพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์ (จีน) ของเหมา เจ๋อตุง ทำให้ต้องหนีไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนต่อที่เกาะไต้หวัน ด้านพรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • การใช้กำลังทางทหารจากฝั่งจีนต่อไต้หวัน ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยประกอบไปด้วยกำลังทางทหาร, เศรษฐกิจโลก และการเมืองภายในและชื่อเสียงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
  • ความรุนแรงจะสร้างผลกระทบมหาศาลและไม่ใช่คำตอบสำหรับการรวมประเทศอย่างแน่นอน แต่จะใช้แนวทางไหนคงยากจะคาดเดาได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครน มีความตึงเครียดในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นและอยู่มายาวนานกว่า 70 ปี นั่นคือ คู่กรณีระหว่าง จีน และ ไต้หวัน ทำให้มีบทวิเคราะห์ออกมาในเชิงเปรียบเทียบว่า มีความเป็นไปได้ที่ จีนบุกไต้หวัน เหมือนอย่างที่รัสเซียบุกยูเครนก็เป็นได้

วันนี้พี่ทุยเลยรวบรวมข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทิศทางความตึงเครียดดังกล่าวแล้ววิเคราะห์ดูว่ามีโอกาสที่จีนจะบุกไต้หวันได้หรือไม่? ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!!

ความเป็นมาระหว่าง จีน และ ไต้หวัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ดินแดนไต้หวันหลุดจากการปกครองของญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สาธารณรัฐจีนอันมีนายพลเจียง ไคเชกเป็นผู้นำ และได้ปกครองไต้หวัน

อีก 2-3 ปีต่อมา เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพพรรคคอมมิวนัสต์ของเหมา เจ๋อตุง กับกองทัพรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ผลสุดท้ายนายพลเจียง ไคเชก และสมาชิกรัฐบาลก๊กมินตั๋งหนีไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนต่อที่เกาะไต้หวัน ด้านพรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวโดยถือว่าสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นหนึ่งในมณฑลของตนเอง ส่วนไต้หวันก็มองว่าตนเองเป็นรัฐเอกราชที่มีสกุลเงิน ระบบการเมือง และระบบตุลาการเป็นของตนเอง แต่ก็ใช้นโยบายจีนเดียวเช่นกันโดยมองว่าจีนกับไต้หวันยังเป็นส่วนเดียวกัน แต่รัฐบาลที่ถูกต้อง คือ ไต้หวัน ขณะที่สหรัฐฯ เคารพนโยบายจีนเดียวของจีน แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังและมีกฎหมายภายในที่จะปกป้องไต้หวันหากเจอการบุกรุก

สุดท้ายแล้วนโยบายอย่างเป็นทางการของจีน คือการรวมประเทศอย่างสันติ และใช้การปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ กับไต้หวันหากมีการรวมประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการรวมชาติเกิดขึ้นแต่อย่างใด

บทเรียนจากเหตุการณ์ที่ยูเครน

การบุกยูเครนที่กินเวลานานกว่าคาดไว้มากแสดงกำลังการทหารที่สูงกว่าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถการันตีชัยชนะโดยปราศจากการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากได้ ยิ่งกับไต้หวันที่เตรียมรับมือการบุกจากจีนมาโดยตลอดนั้นเท่ากับว่าหากมีการรบขึ้นจริง จีนแผ่นดินใหญ่ก็คงไม่สามารถยึดไต้หวันได้ง่ายอย่างที่จินตนาการไว้

แม้จีนจะแบ่งรับแบ่งสู้บางประเด็นของการสู้รบครั้งนี้ในเวทีนานาชาติ แต่หากพูดถึงประเด็นไต้หวันกลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างชัดเจน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนปฏิเสธการเปรียบเทียบระหว่างยูเครนกับไต้หวัน โดยกล่าวว่ายูเครนเป็นประเทศที่มีอธิปไตย ด้านไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่แบ่งแยกมิได้

อดีตเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์จีน-ไต้หวัน ต่างให้ความเห็นว่าการบุกยูเครนของปูตินช่วยยับยั้งการใช้กำลังทางทหารจากฝั่งจีนต่อไต้หวัน ซึ่งต้องเจอกับอีกหลายปัจจัยนอกเหนือจากการต่อต้านจากกองทัพไต้หวัน เช่น การคว่ำบาตรจากนานาชาติ, การสนับสนุนและตอบโต้จากสหรัฐฯ, กำลังทหารสหรัฐฯ และความไม่สงบภายในประเทศ แต่ก็มีบางความเห็นก็มองว่ามาตรการคว่ำบาตรอาจไม่ส่งผลต่อจีนและคุ้มค่ามากพอสำหรับการยึดไต้หวัน ทั้งนี้ตัวแปรหลักขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะส่งกำลังมาช่วยหรือไม่

กำลังการทหาร

[วิเคราะห์] หาก "จีนบุกไต้หวัน" เหมือนรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

ไม่ว่าจะเปรียบเทียบขนาดกองทัพบก เรือ อากาศ ก็เห็นชัดว่ากองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีนครองความได้เปรียบทุกแนวรบ จนเคยมีการคาดว่าจีนจะยึดเกาะไต้หวันภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่การรบที่ยูเครนสะท้อนชัดว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะยึดครองไต้หวันอย่างง่ายดายขนาดนั้น

กองทัพจีนต้องข้ามช่องแคบไต้หวันระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ซึ่งเรือรบสหรัฐฯ มักเดินเรือเยือนไต้หวันผ่านช่องแคบนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันที่ชัดเจนกว่ากรณียูเครน ดังนั้นกองทัพจีนจะต้องเปิดฉากจัดการกับฐานทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้หมดก่อนเพื่อตัดความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบระหว่างสองมหาอำนาจของโลก

ดังนั้นการเปิดสงครามผ่านน่านน้ำที่มีระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร และอาจต้องเผชิญหน้ากับกองทัพสหรัฐฯ คงไม่ใช่หนทางที่น่าสนใจสักเท่าไร ทางการจีนคงต้องเดินหมากปิดล้อมไต้หวันเพื่อข่มขู่ให้ไต้หวันเข้าโต๊ะเจรจาสันติภาพ

เศรษฐกิจโลก

สารพัดมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรถาโถมใส่รัสเซีย เพียงไม่กี่วันหลังเปิดฉากบุกยูเครน ไม่ว่าจะเป็นการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT การยกเลิกโครงการท่อส่งแก๊ส Nord Stream 2 อายัดธุรกิจและคนใกล้ชิดของปูตินด้วย แบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่ไม่แน่ใจว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรจะสามารถใช้มาตรการเช่นนี้กับประเทศจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ารัสเซีย 10 เท่า ได้หรือไม่?

ประเทศจีนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก ทั้งในแง่ผู้นำเข้าและส่งออกวัตถุดิบ เป็นแหล่งผลิตสินค้าให้ทั่วโลก และยังเป็นผู้บริโภครายสำคัญของบริษัทต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการตอบโต้ทางเศรษฐกิจอาจตอบได้ไม่ชัดเจนว่าจะเพียงพอหยุดยั้งจีนไม่ให้บุกรุกไต้หวันหรือไม่

เพื่อจะหยุดยั้งให้ได้ทั่วโลกต้องร่วมมือกันโดดเดี่ยวจีนและตัดสัมพันธ์ทางการค้าให้หมดสิ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นผลประโยชน์อันมหาศาลของเศรษฐกิจจีนอาจดึงดูดบางประเทศให้แตกแถวจากความร่วมมือดังกล่าว อีกทั้งคงไม่มีประเทศไหนอยากแบนจีนเพราะผลเสียอาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึง

ส่วนไต้หวันก็มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมชิปอันเป็นเบื้องหลังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการนำของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ที่ครองความเป็นผู้นำด้านการผลิตชิปที่ทันสมัยให้ลูกค้าที่เป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เช่น Apple, NVIDIA, AMD เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ ก็จัดให้ไต้หวันเป็นแกนหลักในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก หมายความว่าสหรัฐฯ มีแรงจูงใจในการป้องกันไต้หวันมากกว่ายูเครนหลายเท่าตัว

เรียกได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลกอาจได้ไม่คุ้มเสีย

การเมืองภายในและชื่อเสียงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ภาพประชาชนรัสเซียยืนต่อแถวกดเงินสดจากตู้ ATM เป็นหนึ่งในความลำบากจากมาตรการคว่ำบาตร หลายคนตัดสินใจทิ้งเงินรูเบิลที่ด้อยค่าลงไปหาเงินสกุลต่างชาติ และการประท้วงสงครามที่เกิดขึ้นหลายแห่ง เป็นภาพสะท้อนความไม่สงบภายในประเทศที่รัสเซียเผชิญอยู่

พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงภายในเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดีสี จิ้งผิง เตรียมขึ้นครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 พร้อมสถาปนาความยิ่งใหญ่เทียบเท่าเหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสียวผิง สองผู้นำรุ่นแรกและรุ่นสองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

การใช้กำลังทหารอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายพัฒนาประเทศอันสำคัญอย่างการสร้างจีนให้กลายเป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ (Great Modern Socialist Country) ภายในปี 2050 ซึ่งจะเห็นถึงความจริงจังจากการใช้นโยบายความรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)

มากไปกว่านั้นจีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ เห็นได้ชัดจากการใช้มาตรการควบคุมผู้ติดเชื้อ COVID อย่างเข้มงวด หรือการไม่ส่งกำลังตำรวจเข้าปราบปรามการประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี 2019 ดังนั้นความรุนแรงและข่าวสารเชิงลบที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนหากมีการบุกไต้หวันอาจทำให้จีนต้องคิดให้ถี่ถ้วนมากขึ้น 

จากทิศทางนโยบายชี้ให้เห็นว่าทางการจีนยังต้องเน้นแก้ไข้ปัญหาภายในให้เรียบร้อยก่อนเปิดศึกภายนอกกับไต้หวัน

สรุปแนวโน้มความตึงเครียด จีนบุกไต้หวัน

จากการประเมินหลายปัจจัยชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าคงยังไม่มีการบุกไต้หวันในระยะนี้แน่นอน คงไม่มีประเทศที่เล็กกว่าประเทศไหนที่รู้ตัวว่าสู้ไม่ได้แล้วคิดจะสู้ ฉะนั้นจากท่าทีของไต้หวันสะท้อนว่าหากจีนจะบุกก็คงต้องพบกับการต่อต้านอันหนักหน่วง ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองไปในทางเดียวกันว่าความรุนแรงจะสร้างผลกระทบมหาศาลและไม่ใช่คำตอบสำหรับการรวมประเทศอย่างแน่นอน แต่จะใช้แนวทางไหนคงยากจะคาดเดาได้

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย