ไทยเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพไม่สูงนักสำหรับชาวต่างชาติ ส่วนคนไทยเอง ในอดีตก็อาจจะเคยรู้สึกว่าค่าครองชีพไม่ได้สูง แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ดูเหมือนสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแล้ว พี่ทุยเลยขอพาไปอัปเดต ค่าครองชีพไทย 2024 กันหน่อย
พี่ทุยไปเจอผลสำรวจ numbeo.com ที่ทำการสำรวจค่าครองชีพในปี 2024 เอาไว้ โดยคำนวณค่าครองชีพในแต่ละเมืองจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค ไม่นับรวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก
- เบอร์มิวดา (สหราชอาณาจักร)
- บาเซล (สวิตเซอร์แลนด์)
- เมืองซูริก (สวิตเซอร์แลนด์)
- เมืองโลซานน์ (สวิตเซอร์แลนด์)
- เมืองเบิร์น (สวิตเซอร์แลนด์)
- เมืองเจนีวา (สวิตเซอร์แลนด์)
- นิวยอร์ก (สหรัฐฯ)
- ซานฟรานซิสโก (สหรัฐฯ)
- ฮอนโนลูลู (สหรัฐฯ)
- ซานโฮเซ (สหรัฐฯ)
ส่วน กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 235 ภูเก็ต อันดับที่ 253 เชียงใหม่ อันดับที่ 300
ที่มา : numbeo
ขณะเดียวกัน numbeo.com ยังได้สรุปค่าครองชีพในไทยแนะนำชาวต่างชาติเอาไว้ว่า หากมาใช้ชีวิตในไทยโดยอยู่กันเป็นครอบครัว มีสมาชิก 4 คน และไม่ได้มีค่าเช่าบ้าน ในแต่ละเดือน จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 72,589.2 บาท แต่ถ้ามาใช้ชีวิตคนเดียว โดยไม่รวมค่าเช่าบ้าน จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20,419.3 บาทต่อเดือน โดยต้นทุนค่าครองชีพในไทยนั้น เฉลี่ยแล้วยังต่ำกว่าสหรัฐฯ อยู่ 52% ขณะที่ค่าเช่าที่อยู่อาศัยในไทย มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าในสหรัฐฯ อยู่ที่ 73.8%
ค่าครองชีพไทย 2024 แต่ละเดือน เป็นค่าอะไรบ้าง
ถ้าดูจากข้อมูลนี้แล้ว ก็จะพบว่า ถ้าอาศัยอยู่ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ เลยจะเสียไปกับการจ่ายตลาด ถึง 38.6% อันดับรองลงมา ก็จะเป็น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยในแต่ละเดือน 23.1% ตามด้วย อันดับที่ 3 เป็นค่าเดินทาง 13.9% ส่วนที่เหลือก็เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารในร้านอาหาร ค่าทำกิจกรรมด้านกีฬาและการพักผ่อนหย่อนใจ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังจากสถิตินี้ออกมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า หากพิจารณาในเชิงภาพรวมค่าครองชีพของทั้งประเทศไทย จะพบว่า เราอยู่ในอันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็ถือว่ายังเป็นประเทศที่ค่าครองชีพต่ำ โดยที่อันดับนั้นตกลงมาจากปี 2023 ซึ่งเคยอยู่ในอันดับ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อันดับ ค่าครองชีพไทย 2024 ลดลงมา
- ค่าใช้จ่ายในการจ่ายตลาด ซื้อสินค้าในร้านของชำ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ ปรับลดลง
- ราคาอาหารในร้านอาหารลดลง
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลดลงนั้น ก็มาจากการที่ภาครัฐ มีมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพออกมา ประกอบกับเงินเฟ้อที่ลดลงในทิศทางเดียวกับอีกหลายประเทศ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าครองชีพปรับลดลง
คราวนี้ พี่ทุยจะชวนมาเทียบกันต่อว่า ถ้าเอาประเทศไทย ไปเทียบกับอาเซียนด้วยกัน รวมถึงเอากรุงเทพฯ ไปเทียบกับเมืองต่างๆ ในโลก ค่าครองชีพเราถูกหรือแพงกว่ากันแค่ไหน
หากพิจารณาแบบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ก็พบว่า ค่าครองชีพไทย อยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียน จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยประเทศในอาเซียนที่ค่าครองชีพสูงกว่าไทย คือ สิงคโปร์ ตามด้วย บรูไน เมียนมา และกัมพูชา อันดับ 88 ส่วนประเทศในอาเซียนที่ค่าครองชีพยังต่ำกว่าไทย คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลำดับค่าครองชีพในอาเซียน
ทางด้าน expatistan ได้มีการเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ สำหรับการอยู่ในไทย พร้อมทั้งทำการเปรียบเทียบค่าครองชีพระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองอื่น ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย ว่า ถูกหรือแพงกว่ากันเท่าไหร่
เทียบค่าครองชีพในกรุงเทพฯ กับเมืองต่าง ๆ ในโลก
- ภูเก็ต กรุงเทพฯ แพงกว่า 11%
- พัทยา กรุงเทพฯ แพงกว่า 30%
- กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ แพงกว่า 43%
- ปักกิ่ง (จีน) เท่ากัน
- โตเกียว (ญี่ปุ่น) กรุงเทพฯ ถูกกว่า 26%
- โซล(เกาหลีใต้) กรุงเทพฯ ถูกกว่า 29%
- ฮ่องกง กรุงเทพฯ ถูกกว่า 49%
- เมลเบิร์น (ออสเตรเลีย) กรุงเทพฯ ถูกกว่า 52%
- ลอสแองเจลลิส (สหรัฐฯ) กรุงเทพฯ ถูกกว่า 56%
- สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ถูกกว่า 59%
ที่มา : Expatistan
อย่างไรก็ตาม ถึงดูตัวเลขเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ค่าครองชีพไทยจะดูเหมือนไม่แพง แต่อย่าลืมว่า ส่วนหนึ่งเพราะช่วงที่ผ่านมา เรามีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ของภาครัฐออกมาช่วยด้วย ซึ่งถ้ามาตรการพวกนี้สิ้นสุดลง ก็อาจจะทำให้ค่าครองชีพในไทยเด้งขึ้นมาได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเรา ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ ก็คือ ต้องรู้จักวางแผนการเงิน การใช้จ่ายต่าง ๆ นั่นเอง
พูดง่าย ๆ ก็คือ อย่าหลงดีใจไป ที่เห็นอันดับค่าครองชีพเราต่ำ เพราะถึงแม้เอาตัวเลขค่าใช้จ่ายไปเทียบกับประเทศอื่นแล้วยังถูก แต่ถ้าวัดจากตัวเลขเงินในมือที่ต้องจ่ายออกไปกับสินค้าและบริการแต่ละอย่างแล้ว พี่ทุยเชื่อว่า คนไทยหลายคนรู้สึกได้ชัดเจนเลยแหละว่า เงินออกจากกระเป๋าไวขึ้น ต้องซื้อสินค้าและบริการหลายอย่างในราคาที่แพงขึ้นมากเลยเมื่อเทียบกับในอดีต
ดูง่าย ๆ ก็ค่าอาหารตามสั่ง ที่เดี๋ยวนี้มีเงิน 20 บาท ก็คงซื้ออาหารตามสั่งกินแทบไม่ได้แล้ว อย่างมาก ด้วยราคาเท่านี้ ก็อาจจะได้แค่ ข้าวเปล่ากับไข่ดาวอีก 1 ใบเท่านั้น หรือเผลอๆ ก็ได้แค่ข้าวเปล่าไปกิน คลุกกับพริกน้ำปลา ในขณะที่ ถ้าต้องการซื้ออาหารตามสั่ง ไม่ว่าจะเป็น ผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ราดหน้า ขนมจีน หรือใดๆ ก็ตาม ไปที่ร้านค้าต่างๆ เดี๋ยวนี้ ต้องมีเงินในกระเป๋า 40 บาทขึ้นไป ถึงจะเริ่มซื้อได้
ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกว่า เราต้องใช้เงินในมือมากขึ้นแค่ไหนเพื่อใช้ชีวิตในไทย มาดูกัน
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในไทย ปี 2012-2022 (บาท)
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย 6 เดือนแรกปี 2023
ถ้าดูจากตัวเลขนี้ ก็จะเห็นว่า ถึงค่าครองชีพในกรุงเทพฯ จะดูคล้าย ๆ ลดลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ว่า ค่าครองชีพรวมทั้งประเทศ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนไทย ก็จะเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ ส่วนลำดับรองลงมา เป็นค่าที่อยู่อาศัย/เครื่องใช้ ตามด้วย ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนนี้ก็ถือว่าสูงทีเดียว
แต่พี่ทุยคิดว่า หลายคนก็คงเห็นด้วย สังเกตไม่ยาก เพราะพี่ทุยเชื่อว่าหลายคนมีค่าใช้จ่ายเสี่ยงดวง ลุ้นโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน มากทีเดียว เรียกได้ว่า ใช้ชีวิตแบบมีความหวัง ลุ้นรวยด้วยโชคชะตา จนบางทีก็อาจจะลืมไปว่า เอาเงินในกระเป๋าไปแขวนกับความหวังมากเกินพอดี
สุดท้ายนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าค่าครองชีพมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ เงินเดือน ผ่านมือมาแล้วผ่านไป แถมปรับขึ้นก็ไม่ไวอีกต่างหาก แล้วเราจะอยู่ยังไง
สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้ อย่างแรกเลย พี่ทุยอยากให้ทุกคนทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองในแต่ละเดือน แต่ละปี ว่า รับมาเท่าไหร่ จ่ายออกไปเท่าไหร่ จ่ายเงินไปกับค่าอะไรบ้าง
จากนั้นลองมาดูซิว่า มีอะไรที่เราจ่ายมากเกินไปรึเปล่า และสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเราสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อเทียบกับรายได้ที่มีเข้ามา ซึ่งโดยหลักแล้ว เราควรจะแบ่งเงินออกมาออมไว้ก่อนที่จะใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ที่เหลืออีก 90% ใช้มันให้หมดเลย เพราะเราก็ควรจะใช้จ่ายอย่างมีสติ เน้นสิ่งที่จำเป็นอยู่ดี
โดยเบื้องต้น เราควรจะเตรียมตุนเงินออมเอาไว้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอใช้จ่ายกรณีที่อยู่ดีๆ เกิดตกงานกะทันหัน หรือมีรายจ่ายอะไรฉุกเฉินก้อนใหญ่ๆ เข้ามา อย่างน้อยก็ประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายแต่ละเดือน เพื่อให้เพียงพออยู่ได้ในช่วงที่หางานใหม่ หรือตั้งหลักได้เมื่อเผชิญเหตุการณ์ที่ต้องใช้จ่ายฉุกเฉินก้อนใหญ่ ๆ
ถ้าเก็บเงินก้อนนี้ได้แล้ว เงินที่เหลือก็แบ่งไปลงทุนซะหน่อย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินในกระเป๋าเติบโตได้ในอนาคต แล้วส่วนที่เหลือ อยากจะใช้จ่ายอะไรเพื่อความสุข เพื่อความสบายใจก็ตามสบาย
ส่วนใครที่ต้องการอุ่นใจมากขึ้นว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในอนาคต และคิดว่า แค่เก็บเงิน คุมรายจ่ายอย่างเดียวคงไม่พอ พี่ทุยก็แนะนำว่า อาจจะลองหารายได้เสริมอีกช่องทาง เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋า และเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้หลักจากงานประจำเพียงอย่างเดียว โดยอาจเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองว่ามีความถนัดด้านไหน มีความชอบเรื่องอะไรเป็นพิเศษ และสิ่งเหล่านี้ พอจะมีโอกาส มาช่วยต่อยอดสร้างรายได้ได้มั้ย
เอาเป็นว่า พี่ทุยขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ได้ ในยุคที่อะไร ๆ ก็แพง
อ่านเพิ่ม