ลองจินตนาการตามพี่ทุยดูนะทุกคน ถ้าอยู่ดี ๆ รัฐบาล แจกเงินคนไทย 1 ล้านบาท ไม่ต้องใช้คืน ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไม่ต้องถูกหวยเราก็เป็นเศรษฐีเงินล้านแล้ว ฟังดูก็เข้าที ปัญหาความยากไร้ถูกแก้ไข คนจนหมดแผ่นดิน (???)
แต่เดี๋ยววววก่อน อย่าพึ่งรับฟังจนหูผึ่งไป จริง ๆ แล้วการแจกเงินมีข้อเสียที่ลึกซึ้ง และส่งผลกระทบในระยะยาวอยู่มากมาย ถ้าการจัดการระบบการแจกเงินไม่รอบคอบและคิดถึงในหลากหลาย ๆ มิติ
วันนี้พี่ทุยพาทุกคนไปดูกันว่า หากมีการแจกเงินจริง ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน ธุรกิจ และประเทศอย่างไร และควรทำอย่างไรเพื่อให้การแจกเงินส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด ไปฟังกัน
ถ้า แจกเงินคนไทย 1 ล้านบาท จะเกิดอะไรขึ้น
ลองคำนวณเล่น ๆ ตามพี่ทุยนะ สมมติคนไทยทั้งประเทศมี 70 ล้านคน ถ้าแจกเงินคนละ 1 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 70 ล้านล้านบาท เพื่อแจกจ่าย ซึ่งมากกว่า GDP ไทย ตอนนี้ถึง 4 เท่า (อธิบาย GDP แบบหยาบ ๆ ก็คือมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของไทย) เพราะ GDP เดือน มี.ค. 2566 มีเพียง 17.6 ล้านล้านบาท
พูดง่าย ๆ ขั้นแรกก็คือ จะเอาเงินที่จ่าย มันก็เป็นไปไม่ได้ (น่าจะเป็นไม่ได้ล่ะนะ) แต่ถ้าจะทู่ซี้แจกเงินจริง สิ่งที่รัฐจะต้องทำก็คือกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งการเป็นหนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน ถ้าเงินที่ยืมมาแล้วนำไปลงทุนต่อยอด ได้ผลตอบแทนคืนมามากว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมันก็คุ้ม แต่คำถามคือการกู้หนี้ของรัฐเพื่อนำเงินมาแจกจ่ายประชาชน มัน “คุ้ม” หรือเปล่า
คุ้มไม่คุ้มดูยังไงล่ะ? ก็อาจจะต้องมานั่งคาดการณ์กันว่า ถ้าแจกเงินให้ประชาชนทุกคนจะเกิดฉากทัศน์ (scenario) อะไร
ถ้าประชาชนมีเงินในมือแบบเหลือ ๆ ก็เดาว่าการใช้จ่าย ซื้อนู้นซื้อนี้ จะเพิ่มขึ้นมาก ในตลาดเงินจะสะพัดสุด ๆ แต่ประเด็นคือ เมื่อความต้องการซื้อพุ่งขึ้นสูงพร้อม ๆ กัน สินค้าและบริการจะสามารถเพิ่มขึ้นตามมาสนองทันมั้ย? ถ้าผลิตไม่ทัน อุปทานไม่พอ คนจะแย่งกันซื้อ แย่งกันใช้ สิ่งที่ตามมาก็คือ เงินเฟ้อที่สูงมาก อาจจะถึงขั้น Hyperinflation เลยก็ว่าได้
ตัวอย่างประเทศที่เกิด Hyperinflation เพราะ นโยบายประชานิยม
เวเนซุเอลา เป็นตัวอย่างนโยบายการแจกเงินแบบไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ ทำให้เกิด Hyperinflation ค่าเงินของเวเนฯ อ่อนค่าสุด ซื้ออะไรก็ไม่ได้ ธนบัตรไม่ต่างกับกระดาษที่ไร้ค่า ประชาชนมีเงินแต่ก็ซื้ออะไรไม่ได้ เพราะสินค้าต่างราคาพุ่งสูงในเวลาอันรวดเร็ว
เรียกว่า การที่เงินอ่อนค่าแบบหนักและรวดเร็ว สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
ไทยเองก็เคยเจอวิกฤตค่าเงินอ่อน คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง
ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เมืองไทยก็เจอปัญหาจากการปล่อยลอยตัวค่าเงิน เงินบาทอ่อนอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยทรุดหนักในช่วงนั้น
การแจกเงิน ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจดี เสมอไป?
โดยสรุปแล้ว การแจกเงินหรือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบแบบไม่มีแผนรองรับ สุดท้ายแล้วเงินเกือบทั้งหมดจะวิ่งกลับไปหากลุ่มคนเดียวเท่านั้น จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นไปอีก
และอย่างที่พูดไปตั้งแต่ต้น นโยบายการแจกเงินลักษณะนี้ทำให้รัฐต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะอย่างแน่นอน และความน่ากังวลคือตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถานะการเงินของรัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลเสมอ เพราะข้อจำกัดของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ไม่สามารถเพิ่มอัตราภาษีได้เลย รวมถึงจำนวนคนที่เข้าระบบเสียภาษีของไทยยังน้อย ซึ่งนี้เป็นปัญหาแน่นอน
แจกเงินคนไทย 1 ล้านบาท คงไม่ใช่คำตอบ
แม้ว่าการแจกเงินจะเป็นไปเพื่อความหวังให้เศรษฐกิจดี ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีต้องมาพร้อมกันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ แต่ต้องเตรียมภาพรวมให้พร้อม ทั้งความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการให้ตามเงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้น อุปสงค์กับอุปทานเติบโตไปพร้อมกัน เน้นการพึ่งพาการผลิตจากในประเทศ มากกว่าการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ไม่ให้เกิด Hyperinflation ทั้งยังเตรียมให้คนที่รายได้น้อยหรือธุรกิจรายย่อยสามารถเก็บเกี่ยวเม็ดเงินที่เทลงมาได้ด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตทุกส่วน ไม่ผูกขาดแค่ผู้เล่นรายใหญ่
อ่านเพิ่ม