ต้องบอกว่าการลงทุนที่ร้อนแรงในช่วง 2-3 ปีนี้ คงหนีไม่พ้นหุ้นเทคโนโลยี ทั้งรถยนต์ EV อย่าง Tesla โทรศัพท์มือถืออย่าง Apple หรือแม้กระทั่งบิตคอยน์ จนทำให้เกิดวิกฤต “ชิปขาดแคลน” อย่างที่หลายคนเคยได้ยิน
และชิปในทีนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Semiconductor ว่าแต่มันคืออะไร แล้วมีความสำคัญกับโลกของเรามากแค่ไหน พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟังแบบง่าย ๆ กัน
Semiconductor คืออะไร ?
เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) คือ “สารกึ่งตัวนำ” มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและเป็นฉนวนได้ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ แสง และปัจจัยอื่น ๆ เช่น หากอุณหภูมิสูงขึ้น สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ ก็จะสามารถเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ แต่ถ้าหากอุณหภูมิเย็นลงก็จะกลายเป็นฉนวนไฟฟ้า เป็นต้น
ทำให้มีความเหมาะสมสำหรับนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น ชิป หรือแผงวงจร เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งานที่สูง และในปัจจุบันค่อนข้างมีบทบาทสำคัญสำหรับการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั่นเอง
ทำไมตลาดต้องการมาก จนถึงขั้นเกิดวิกฤต “ชิปขาดแคลน” ?
จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อ Supply Chain โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ชิป” เนื่องจากมีความต้องการที่สูงขึ้น ผู้คนต่างมีความจำเป็นต้องทำงานกันที่บ้าน (Work From Home) ต้องมีคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปเอาไว้ใช้งาน หรือสรรหาอุปกรณ์สร้างความบันเทิง เช่น เครื่องเล่นเกมส์ หรือ Smart TV
หรือแม้แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตและมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าร่วมในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการประมาณการณ์เอาไว้ว่า ปัญหาการขาดแคลน “ชิป” อาจจะไม่ได้สิ้นสุดเร็ว ๆ นี้ แต่อาจใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าที่สมดุลระหว่าง Demand และ Supply จะกลับคืนมาอีกครั้ง
กราฟการฟื้นตัวของ Supply Chain และสภาวะของอุตสาหกรรม “Semiconductor” ตั้งแต่ต้นปี 2021 จนถึงปีคาดการณ์ 2022 – ที่มา gartner.com
วิกฤต “ชิปขาดแคลน” จะส่งผลกับอุตสาหกรรมไหนบ้าง ?
แน่นอนว่าถ้าเป็นในมุมมองธุรกิจ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากวัตถุดิบขาดแคลนคือ “การผลิต” ที่หยุดชะงักหรือผลิตได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
อย่างที่เราได้เห็นกันไปบ้างแล้วว่าในช่วงที่ Nintendo Switch หรือ PlayStation 5 (PS5) ขาดแคลน ร้านค้าบางแห่งสต็อกเครื่องเอาไว้ และขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น และนั่นก็ส่งผลกระทบมายังผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่จำใจจะต้องซื้อสินค้าเหล่านั้นในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรม Video Game เท่านั้น อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอื่น ๆ อย่างเช่น รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า และ Smartphone หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบหลักก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าจากผู้ผลิตเหล่านั้นมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
อนาคตกลุ่ม “Semiconductor” น่าสนใจหรือไม่ ?
ในแง่ของการลงทุน พี่ทุยมองว่าอุตสาหกรรม “Semiconductor” แม้จะประสบกับภาวะขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน แต่กลับได้รับผลกระทบเชิงบวกไปซะมากกว่า
1. การขาดแคลนชิปไม่ได้ทำให้ธุรกิจในกลุ่ม “Semiconductor” มีรายได้ลดลง
แต่กลับมียอดการสั่งจองที่มากขึ้น เนื่องจากธุรกิจคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มมองเห็นปัญหาถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต อาจทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น จนทำให้ราคาสูงขึ้นตามมา และเริ่มมีการสำรองสต็อกกันมากขึ้น
2. การระบาดของโควิด-10 กระตุ้นความต้องการสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้น
เนื่องจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จำเป็นต้องซื้อ Laptop สำหรับใช้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นต้น
3. การเติบโตที่รวดเร็วในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและความต้องการที่มากขึ้น
จะทำให้กลุ่ม “Semiconductor” เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในกลุ่มประเทศมหาอำนาจในการให้เงินทุนสนับสนุนในด้านการพัฒนา วิจัย และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหลาย ๆ ประเทศกำลังตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างไม่ต้องสงสัย
และยังได้มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ในต่างประเทศเกี่ยวกับการเติบโตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวอาจมีการเติบโตเฉลี่ยได้ถึง 8.9% ต่อปี รวมในทุกกลุ่ม ทำให้พี่ทุยมองว่าอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ยังไปได้อีกยาวอย่างแน่นอน
กราฟการเติบโตของตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แยกตามประเภทชิ้นส่วน
ที่มา : pwc.com
อยากลงทุนในธุรกิจ “Semiconductor” ทำอย่างไรดี ?
จากที่พี่ทุยสรุปให้ฟัง พี่ทุยว่าต้องมีคำถามเกิดขึ้นในใจกันบ้างแน่ ๆ ว่าถ้าเราสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ Semiconductor สามารถลงทุนได้ยังไงบ้าง พี่ทุยเลยรวมรวย 2 ช่องทางหลัก ๆ มาให้เลือกลงทุนกัน
1. เปิดบัญชีลงทุนหุ้นโดยตรง
ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง นอกจากจะเปิดให้สามารถลงทุนในหุ้นไทยได้แล้ว ยังสามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อีกด้วย เช่น TSMC (Taiwan Semiconductor) บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้าน Semiconductor ผลิตชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากมายระดับโลก ให้กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญกับบริษัท Apple ในปัจจุบัน
โดยสามารถลงทุนผ่านตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ผ่านการเปิดบัญชีลงทุนหุ้นต่างประเทศกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เปิดให้ลงทุนได้ ข้อดีก็คือ สามารถซื้อขายหุ้นได้ตามที่เราต้องการ แต่อาจจะมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและขั้นต่ำในการลงทุนที่อาจจะสูง
2. เปิดบัญชีกองทุนลงทุนผ่านกองทุนรวม
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีการเห็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบางเจ้าเริ่มออกกองทุนในกลุ่มนี้โดยเฉพาะบ้างแล้ว
โดยข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวม คือ มีการกระจายการลงทุนและไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมถึงบางกองทุน มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่ก็จะมีข้อเสียที่ว่า เราอาจไม่สามารถกำหนดการลงทุนหรือซื้อหุ้นที่เราชอบได้อย่างเต็มจำนวน และอาจมีสภาพคล่องที่ต่ำนั่นเอง
ดู Youtube เพิ่มเติม