ทำไม "PS5 ขาดตลาด" มีปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ?

ทำไม “PS5 ขาดตลาด” มีปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ปัญหา “PS5 ขาดตลาด” เกิดจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ราคาไม่แพง แต่กลับมีความสำคัญอย่างมาต่อเศรษฐกิจโลก ชื่อว่า Semiconductor
  • บริษัทที่ออกแบบเพียงอย่างเดียวและทำสัญญาจ้างบริษัทอื่นผลิตชิป จากนั้นนำชิปที่ผลิตเสร็จแล้วกลับมาขาย ถูกเรียกว่า “Fabless” เช่น Broadcom, Qualcomm และ Nvidia ส่วนบริษัทที่รับจ้างผลิตจาก Fabless เรียกว่า Foundry มี TSMC และ Samsung เป็นบริษัทรายใหญ่ของโลก
  • Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC เป็นบริษัทแรกจากไต้หวันที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คเมื่อปี 1994 ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด (Market Capital) อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท มีรายได้ปี 2020 เติบโตถึง 25% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 54.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

PlayStation 5 หรือ PS5 วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ไม่ว่าจะด้วยการล็อกดาวน์ที่ยาวนานเลยทำให้เราเล่นเกมที่บ้านกันจนเบื่อ หรือเพราะมีเงินเหลือจากการไม่ได้ท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการมากเกินคาดจน “PS5 ขาดตลาด” แต่นอกจากความต้องการที่มากเกินคาดแล้ว Sony Interactive Entertainment ผู้ผลิต PS5 ยังประสบปัญหาขาดแคลน Semiconductor

ล่าสุดซีอีโอของ Sony Interactive Entertainment และ AMD ผู้ผลิตชิปให้เครื่อง PS5 ได้ออกมากล่าวว่าปัญหาดังกล่าวจะดำเนินไปจนถึงกลางปี 2021 ไม่เพียงแต่ “PS5 ขาดตลาด” อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เป็นอีกส่วนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันจนบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องประกาศลดกำลังการผลิตแล้ว 

ในยุคที่ทุกอย่างในชีวิตประจำวันพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Semiconductor ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กซึ่งผลิตจากทราย กำลังก้าวขึ้นมาเป็นอีกสนามรบที่ประเทศมหาอำนาจต่างก้าวเข้ามาชิงความได้เปรียบโดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

วันนี้พี่ทุยจึงขอพาไปหาสาเหตุที่ทำให้ Semiconductor ขาดแคลน พร้อมหาจุดอ่อนใน Supply Chain ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้อีกในอนาคตพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย…

กระบวนการผลิต Semiconductor

เริ่มต้นจากซิลิคอน (Silicon) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ได้มาจากทราย นำไปหลอมเหลวแล้วขึ้นรูปได้เป็นแท่งซิลิคอนบริสุทธิ์ 99.9999% เรียกว่า อิงกัท (Ingot) จากนั้นนำไปตัดเป็นแผ่นบางๆ ได้เป็น เวเฟอร์ (Wafer) ซึ่งรูปแบบวงจรของ semiconductor จะถูกเขียนลงบนนี้ ปัจจุบันใช้เวเฟอร์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร หรือ ประมาณ 30 เซนติเมตร ผลิตชิปได้ถึง 2,400 ชิป กว่า 90% ของการผลิตเวเฟอร์มาจาก 5 บริษัททั่วโลก ในจำนวนนี้ 60% มาจากบริษัท Shin-Etsu และ Sumco สองบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น

รูปแบบวงจรที่จะเขียนลงบนแผ่นเวเฟอร์จะมีบริษัทออกแบบซึ่งต้องติดต่อซื้อสิทธิบัตรรูปแบบวงจรที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยบริษัท Arm Holdings เป็นบริษัทรายใหญ่ที่สุดที่จด และขายสิทธิบัตรรูปแบบวงจร ซึ่งเมื่อปีที่แล้วถูก Nvidia บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการการ์ดจอซื้อกิจการไปเรียบร้อย ต่อจากนั้นบริษัทออกแบบจะต้องซื้อซอฟต์แวร์ออกแบบซึ่งในโลกนี้มีเพียง 3 บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ นั่นคือ บริษัท Cadence, Synopsys จากสหรัฐฯ และ Mentor Graphics จากเยอรมนี

บริษัทที่ออกแบบเพียงอย่างเดียว และทำสัญญาจ้างบริษัทอื่นผลิตชิป จากนั้นนำชิปที่ผลิตเสร็จแล้วกลับมาขาย ถูกเรียกว่า “Fabless” โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากสหรัฐฯ เช่น Broadcom, Qualcomm และ Nvidia

เมื่อได้ทั้งแผ่นเวเฟอร์ และรูปแบบวงจรในชิปแล้ว “Foundry” เป็นชื่อเรียกบริษัทที่รับจ้างผลิตจาก Fabless โดยเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูง มีค่าใช้จ่ายทั้งคงที่ และเพื่อพัฒนาการผลิตที่สูง และด้วยการพัฒนาตลอดเวลาทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากสินค้าคงคลังตกรุ่น มีเพียง 3 บริษัททั่วโลกซึ่งมีความสามารถผลิตชิปขั้นสูง รายใหญ่ที่สุดก็คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC อีกสองบริษัทคือ Samsung และ Intel โดยมีเพียง TSMC และ Samsung เท่านั้นที่สามารถผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด และถูกใช้กับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันแล้ว เช่น ชิป A14 ใน iPhone12 นอกจากนี้มีประมาณการจาก Bloomberg ว่ากว่า 25% ของการผลิตของ TSMC มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Apple

ไม่เพียงแต่แผ่นเวเฟอร์ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตของบริษัท Foundry ด้วยชิปที่มีความละเอียด และซับซ้อนสูง ย่อมต้องใช้เครื่องจักร โดยทั่วโลกมีเพียง 5 บริษัทที่ขายอุปกรณ์ และเครื่องจักรสำหรับการผลิตซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด โดยมาจากสหรัฐฯ 3 บริษัท คือ Applied Materials, Lam Research Corporation และ KLA อีกหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์อย่าง ASML และ Tokyo Electronics จากประเทศญี่ปุ่น

ท้ายที่สุดชิปที่ผลิตเสร็จแล้ว จะถูกส่งไปทดสอบการใช้งาน และประกอบให้เป็นชิปที่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เรียกบริษัทที่รับงานในส่วนนี้ว่า Outsourced Semiconductor Assembly & Testing (OSAT)

และจะมีบางบริษัทที่ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงประกอบชิป เช่น Intel, Samsung, SK Hynix, Toshiba และ Micron เป็นต้น

ประเภทของ Semiconductor

ชิปประเภท Logic เป็นชิปที่มีความสำคัญ และซับซ้อน มีหน้าที่ประมวลผลโปรแกรมถูกใช้ในคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทชื่อดังจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Qualcomm, Nvidia หรือ Apple ชิปประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 42% ของยอดขายชิปทั่วโลก 

แต่บริษัทชื่อดังเหล่านี้เป็นบริษัทประเภท Fabless จึงต้องจ้างบริษัท Foundry ผลิตให้จึงทำให้เกิดปัญหาคอขวดในอุตสาหกรรม Semiconductor โดยกว่า 91% ของการผลิตจากบริษัท Foundry มาจากเอเชีย ซึ่งหนีไม่พ้นประเทศไต้หวัน และเกาหลีใต้ ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เช่น ยอดขาย PC ปี 2020 เพิ่มขึ้น 4.8% นับเป็นการเติบโตมากที่สุดตั้งแต่ปี 2010

การขาดแคลนชิปจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอปรากฎขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารวัตถุดิบที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดย Volkswagen, Ford Motor และ Toyota ต่างประกาศลดการผลิตรถยนต์ หรือแม้กระทั่ง Nio ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

บริษัทยานยนต์ใช้ชิปที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำหน้ามากนัก แต่ก็ยังมีบางส่วน เช่น เซนเซอร์จับความเคลื่อนไหว, ชิปบริหารการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งต้องใช้ชิปที่มีความซับซ้อน โดยมี Renesas, NXP และ Infineon-Cypress ที่ผลิตชิปกว่า 80% ของทั้งหมดที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้งสามบริษัทนี้ก็ใช้ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ผลิตชิปให้อยู่ดี ทำให้แม้ TSMC จะมียอดขายชิปให้กับกลุ่มบริษัทยานยนต์เพียง 3% ของรายได้ทั้งหมดของ TSMC แต่ชิปกว่า 70% ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มาจากการผลิตของ TSMC

TSMC กับความสำคัญในระบบ Supply Chain

Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษที่ 80 ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ใช้เวลานานกว่า 4 ทศวรรษในก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตชิปของโลก เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว TSMC กำลังก้าวไปอีกขั้นหลังเผยว่ากำลังวิจัยการผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร และยืนยันแผนการผลิตชิปขนาด 3 นาโนเมตร ในไต้หวันแล้ว นอกจากนี้ TSMC ยังยืนยันว่ามีงานวิจัยบางส่วนมุ่งเน้นไปที่วัตถุดิบทางเลือกแทนซิลิคอน

TSMC จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันตั้งแต่ปี 1993 และเป็นบริษัทแรกจากไต้หวันที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คเมื่อปี 1994 ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด (Market Capital) อยู่ที่ 555,800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 17 ล้านล้านบาท มีรายได้ปี 2020 ที่ 45,487 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโตขึ้นจากรายได้ปีที่แล้วถึง 25% กำไรสุทธิ 17,327 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิปีที่แล้ว 54.2% 

จากรายงานผลประกอบการของไตรมาส 4 ปี 2020 ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชิปขนาด 5 นาโนเมตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก สะท้อนผ่านรายได้จากชิปขนาด 5 นาโนเมตร ที่คิดเป็น 20% ของรายได้ของทั้งไตรมาส เป็นรองเพียงรายได้จากชิปขนาด 7 นาโนเมตร เท่านั้น

การขาดแคลนชิปที่เกิดจากปัญหาคอขวดไม่ได้มีอยู่แต่เพียงส่วนการผลิตเท่านั้น แต่มีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องติดตามแ ละอาจก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ASML ที่ผูกขาดด้านเครื่องผลิตชิปขั้นสูง ด้านวัตถุดิบ และสารเคมีที่ใช้ผลิตชิปก็ต้องพึ่งพา Shin-Etsu และ Sumco สองบริษัทจากญี่ปุ่น และซอฟต์แวร์ที่ใช้ออกแบบชิปเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากซึ่งถูกมองข้ามมาโดยตลอด แต่ส่วนนี้แหละที่ทำให้สหรัฐฯ ยังเป็นต่อจีนในด้าน semiconductor อยู่มาก ซึ่งในโลกนี้มี Cadence และ Synopsys จากสหรัฐฯ และ Mentor Graphics จากเยอรมนีเท่านั้นที่ขายซอฟต์แวร์ให้อุตสาหกรรม semiconductor ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์

การมาของ COVID-19 เปิดเผยความสำคัญของ semiconductor ต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งแท้จริงแล้วมีความเปราะบางอย่างมากอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่พึ่งพาทรัพยากรหรือกำลังการผลิตจากบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น มากไปกว่านั้นจะเห็นว่าบริษัทเหล่านั้นยังตั้งอยู่ในประเทศที่มีความสำคัญหรือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกด้วย ดังนั้นพี่ทุยมองว่าถึงแม้ semiconductor จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือของใช้ประจำวันกำลังเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธสาสตร์ที่ประเทศมหาอำนาจจะก้าวเข้ามาแข่งขันชิงความได้เปรียบ ซึ่งนั่นจะหมายถึงการมีอำนาจคุมทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย