วิกฤตต้มกบ คืออะไร ? - ไทยกำลังถอยหลังลงคลองจริงหรือ

วิกฤตต้มกบ คืออะไร ? – ไทยกำลังถอยหลังลงคลองจริงหรือ

3 min read  

ฉบับย่อ

  • วิกฤตต้มกบ คือภาวะที่สภาพเศรษฐกิจซบเซาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ประชาชนในประเทศจะไม่รู้ตัวว่าในระยะยาวเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวหรือแม้กระทั่งหดตัว เหมือนกบในหม้อต้มที่น้ำค่อย ๆ ร้อนโดยที่กบไม่รู้ตัว และเมื่อน้ำเดือดก็หนีไม่ทันแล้ว
  • ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ Old Economy เช่น ปิโตรเลียม, อุตสาหกรรม, ค้าปลีก และท่องเที่ยว สะท้อนผลของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
  • ไทยขาดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกร และด้าน IT ในแง่จำนวนและคุณภาพ ปี 2015-2019 เงินสำหรับ R&D คิดเป็นเพียง 0.8% ของ GDP ตัวเลข Foreign Direct Investment (FDI) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่ม Startup ที่เป็นความหวังขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ประเทศก็ต้องเจอกับข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ความยุ่งยากในการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และเสียเปรียบด้านภาษี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองเห็นตัวเลข GDP เติบโตระดับ 10% จนชินตา แต่แล้วการเติบโตเหล่านั้นก็โดนเวลาพรากไป ทุกวันนี้เศรษฐกิจเติบโตเพียง 3-4% สำหรับปี 2565 นักวิเคราะห์เริ่มปรับลดประมาณการการเติบโตลงมาต่ำกว่า 3% ท่ามกลางอนาคตที่ยังไร้ทิศทาง มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะซบเซามากกว่านี้ วิกฤตเช่นนี้เรียกว่า วิกฤตต้มกบ และบทความนี้พี่ทุยจะพาไปเจาะลึกวิกฤตต้มกบที่ไทยกำลังเผชิญอยู่…

วิกฤตต้มกบ คืออะไร

สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ประชาชนในประเทศจะไม่รู้ตัวว่าในระยะยาวเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวหรือแม้กระทั่งหดตัวด้วยซ้ำ เหมือนกบในหม้อต้มที่น้ำค่อย ๆ ร้อนโดยที่กบไม่รู้ตัว และเมื่อน้ำเดือดก็หนีไม่ทันเสียแล้ว

วิกฤตต้มกบมักเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการวางแผนพัฒนาในระยะยาว ส่วนวิกฤตฟองสบู่เกิดจากปัญหากลไกตลาด นโยบายการเงินการคลัง การเก็งกำไร ซึ่งล้วนแล้วแต่แก้ได้ด้วยการออกมาตรการหรือการปรับเปลี่ยนนโยบาย ด้านวิกฤตต้มกบต้องใช้ทั้งเวลาและการวางแผนพัฒนาที่ถูกต้องจึงเป็นวิกฤตที่แก้ยากกว่าฟองสบู่มาก

เมียนมาร์ตัวอย่างที่ชัดเจนภาวะต้มกบ

วันที่ 2 มี.ค. 1962 นายพลเนวินนำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดำเนินนโยบายปฏิรูปแบบสังคมนิยม และโดดเดี่ยวตนเองจากสังคมโลก นับแต่นั้นมาเศรษฐกิจก็ถดถอยจากที่เคยส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกก็กลายเป็นผลิตได้แค่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ไม่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ ส่งให้เมียนมาร์เป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกช่วงยุค 1980

ปี 1980 เมียนมาร์มี GDP ต่อหัวประชากรที่ 166 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยมี GDP ต่อหัวประชากรที่ 682.93 ดอลลาร์ ถึงปี 2000 เมียนมาร์มี GDP ต่อหัวที่ 99.74 ดอลลาร์ ส่วน GDP ต่อหัวประชากรของไทยเพิ่มขึ้นมาที่ 2007.74 ดอลลาร์ นับเป็นสองทศวรรษที่เห็นความแตกต่างระหว่างการปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการที่เต็มไปด้วยการคอรัปชันกับการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทยในยุค Eastern seaboard และเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ในกรณีนี้ต้องบอกว่าเป็นวิกฤตต้มกบที่เมื่อน้ำเดือดก็ลากเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงเวลามืดมนที่เรียกว่า Lost Decade

ไทยกำลังอยู่ในวิกฤตต้มกบ

ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาแล้ว 30 ปี ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เหมือนเดิมจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางต่อไปอีกนาน เมื่อไม่พัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ทันโลก ก็ส่งผลให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาการ Lockdown และไม่มีนักท่องเที่ยวส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันหลังรายได้ขาดหายไป ส่งให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งขึ้นมาที่ 90.1% รั้งอันดับ 2 ของโลก ส่วนหนี้สาธารณะก็พุ่งเกินระดับเพดานเก่าที่ 60% ต่อ GDP ไปเรียบร้อย รัฐบาลจึงเห็นชอบเพิ่มเพดานไปที่ 70% ต่อ GDP แต่ด้วยการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันแล้ว 2 ปี มาตรการกระตุ้นต่อจากนี้จึงอาจหวังพึ่งพาได้น้อยลง

มองไปข้างหน้าวิกฤตเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มซบเซาต่อไป เข้าหลักเกณฑ์วิกฤตต้มกบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านเพิ่ม

สาเหตุที่นำมาสู่ วิกฤตต้มกบ ในทุกวันนี้

บริษัทขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในกลุ่ม FAANG แต่ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ Old Economy เช่น ปิโตรเลียม, อุตสาหกรรม, ค้าปลีก และท่องเที่ยว สะท้อนผลของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ไทยจึงสูญเสียศักยภาพการแข่งขันในยุคดิจิทัล ประเทศที่เคยอยู่ในกลุ่มเสือแห่งเอเชียร่วมกับไทยอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ต่างขยับไปสู่การเป็นผู้นำด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามยุคสมัยของโลก เช่น Samsung, Taiwan Semiconductor เป็นต้น ส่วนเวียดนามก็มียุทธศาสตร์เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติที่ชัดเจนพร้อมค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่แพง นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปและอาจเข้าร่วม CPTPP ในอนาคต จึงเป็นจุดหมายปลายทางในอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ เรียกได้ว่านับวันรอแซงไทยได้เลย

รากเหง้าปัญหาเรื้อรังอายุ 30 ปี

แม้จะอยากพัฒนาประเทศในด้านเทคโนโลยีแต่ยังต้องพบอุปสรรคขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกร และด้าน IT ในแง่จำนวนก็น้อยกว่าประเทศผู้นำในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และสิงคโปร์ ในแง่คุณภาพการเรียนการสอนของไทยก็รั้งอันดับท้าย ๆ สอดคล้องกับคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยที่ต่ำลง

เม็ดเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยดึงดูดทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาคุณภาพ แต่พบว่าไม่เพียงพอจะแก้ปัญหานี้ในระยะสั้นอย่างแน่นอน ปี 2015-2019 เงินสำหรับ R&D คิดเป็นเพียง 0.8% ของ GDP ขณะที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 1.4% และ 2.1% ของ GDP ตามลำดับ

ในเมื่อไม่สามารถวิจัยและพัฒนาเองได้ก็ต้องรับการถ่ายทอดจากต่างชาติ แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเลข Foreign Direct Investment (FDI) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่นับเม็ดเงินที่เข้าภาคการเงินและอสังหาฯ ระหว่างปี 2010-2014 มีเม็ดเงินไหลเข้า 5,912 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2015-2019 ลดลงมาที่ 3,662.4 ล้านดอลลาร์ สวนทางตัวเลข FDI ของประเทศเวียดนามที่เพิ่มขึ้น

มากไปกว่านั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยมีหลายอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้นอกจากจะมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสูงมากแล้ว บริษัทที่ผูกขาดตลาดยังเน้นดำเนินธุรกิจด้วยการสะสมและปกป้องอำนาจตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการมุ่งวิจัยและพัฒนาซึ่งมีโอกาสล้มเหลวและสูญเสียเม็ดเงินลงทุนมากกว่า

นอกจากนี้กลุ่ม Startup ที่เป็นความหวังขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ไทยก็ต้องเจอกับข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ความยุ่งยากในการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และเสียเปรียบด้านภาษี

ถ้าหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น ปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้เล่นรายเล็ก ส่งเสริมการศึกษาที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ ส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูง มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยคงนับถอยหลังเดินเข้าสู่ Lost Decade แม้อาจไม่เลวร้ายเหมือนเมียนมาร์ แต่อย่างน้อยก็คงมีหนึ่งช่วงอายุคน (Generation) ที่สูญเสียโอกาสไปมากมายจนไม่อาจประเมินมูลค่าได้

วิกฤตต้มกบ คืออไร

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย