ช่วงนี้อ่านข่าวประเทศไหน ก็มีแค่คำว่า ขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนั้น วันนี้พี่ทุยก็เลยจะชวนทุกคนมาอัปเดตกันว่า เดือน มิ.ย. 2022 มีประเทศไหนออกมาประกาศ “ขึ้นดอกเบี้ย” บ้าง แล้วขึ้นกันไปแค่ไหน และขึ้นแล้ว ตกลงมันดี หรือไม่ดีกันแน่
15 ธนาคารกลางที่เดือน มิ.ย. 2022 “ขึ้นดอกเบี้ย”
จะเห็นได้ว่ารอบเดือน มิ.ย. 2022 นี้ มีธนาคารกลางหลายประเทศที่ปรับดอกเบี้ยกันโหดทีเดียว จากปกติที่จะขยับทีละแค่ 0.25% ก็ขยับกันในระดับ 0.50% ขึ้นไป ซึ่งถ้าไปดูเหตุผลของทุกที่ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ คล้าย ๆ กันคือ เพราะเงินเฟ้อขึ้นมาแรง ชนิดที่หลายประเทศเงินเฟ้อทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 30-40 ปี ก็มี ก็เลยต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเอาเงินเฟ้อลงมา
พอได้ยินคำว่าดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ผู้ฝากเงินอาจจะเฮล่วงหน้า เพราะฝากเงินแล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
แต่ถ้าหันไปมองอีกฝั่ง คือฝั่งที่กู้เงินมา ก็คงจะหน้าซีดหน่อย ๆ เพราะสัมผัสได้ว่ากำลังจะถูกขูดรีดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และผลของการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากมีผลโดยตรงกับคนฝากและกู้ยืมเงินแล้ว ยังมีผลทางอ้อมไปยังกิจกรรมเศรษฐกิจด้วย
พี่ทุยขอยกตัวอย่างสหรัฐฯ หนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ที่เป็นผู้นำการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ถ้าจะนับดูตั้งแต่ต้นปี 2022 สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2022
หลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ย 2022 มีผลยังไงบ้าง
- ถ้ามีหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต ก็เตรียมจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นได้เลย
ก่อนอื่นพี่ทุยต้องเล่าว่า Fed Funds Rate หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายตัวที่ Fed ปรับขึ้น เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับให้สถาบันการเงินใช้กู้ยืมระยะสั้นระหว่างกัน ซึ่งหลังจากธนาคารยืมเงินมาแล้วจ่ายเงินกู้ในอัตราอ้างอิงนี้แล้ว ก็จะเอามาเทียบเคียงเป็นอัตราดอกเบี้ยเพื่อใช้ปล่อยกู้บุคคลและสถาบันต่าง ๆ ต่อ
ดังนั้นพอ Fed Funds Rate ขึ้น ก็จะทำให้สินเชื่อต่างๆ มีแนวโน้มคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และอื่น ๆ
- ตลาดหุ้นร่วงและราคาหุ้นก็มีความผันผวน
พอ Fed ขึ้นดอกเบี้ย แล้วมันไปมีผลทำให้ดอกเบี้ยสินเชื่อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็หมายความว่า ผู้บริโภคที่มีหนี้พวกนี้ต้องจ่าย ก็จะต้องปรับแผนการใช้จ่ายของตัวเอง ลดการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ
ผลที่ตามมาก็คือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจก็จะมีรายได้ลดลงไปด้วย ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อความเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นลดลง เลยเป็นเหตุผลทำให้หุ้นตกไปด้วย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลงไปเกิน 20% ซึ่งเป็นความหมายว่า เข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อยแล้ว
- หางานยากขึ้น
เมื่อราคาของมีแต่เพิ่ม ส่วนความต้องการซื้อก็ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ผลพวงต่อมาคือ บริษัทก็จะต้องลดต้นทุน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือลดการจ้างงาน
ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดสุดคือ ในตลาดที่อยู่อาศัย พอต้องกู้เงินซื้อบ้านแพงขึ้น ความต้องการซื้อบ้านก็ลดลง ทำให้ราคาบ้านนต้องปรับลดลงมา ซึ่งในภาวะแบบนี้ ผู้สร้างบ้านก็ไม่อยากจะสร้างบ้านจำนวนมากนัก ดังนั้นการจ้างแรงงานเพื่อสร้างบ้านในช่วงเวลานี้ก็จะลดลง
- เป็นกังวลกับแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
เหตุผลที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ก็เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 2% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ แต่นักวิจารณ์ในตลาดก็มองว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อาจจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 – 2024
จริง ๆ แล้วตอนนี้คนก็มีความกลัวที่ผสมผสานกัน ทั้งกลัวเศรษฐกิจถดถอย แล้วก็กลัวเจอภาวะ stagflation ด้วย ซึ่งก็คือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินลดลง เพราะว่าเป็นกังวลในประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ขยายวงกว้าง ซึ่งเรื่องนี้เกินขอบเขตการดูแลด้วยนโยบายการเงินของ Fed
สิ่งที่คนกลัวก็คือ สงครามในยูเครน ที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้น ปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ที่เกิดจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และความแออัดที่ท่าเรือ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกไปด้วย
- ประเทศมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
ช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 0% นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่เป็นห่วงเท่าไหร่กับการที่รัฐบาลกลางจะใช้งบประมาณขาดดุล แต่พอดอกเบี้ยปรับขึ้นก็ห่วงเรื่องนี้ขึ้นมาทันที เพราะถ้ารัฐบาลกลางต้องหาเงินมาใช้หนี้ของชาติมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งบประมาณขาดดุล ก็แปลว่า รัฐบาลต้องการเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น
แล้วอัตราดอกเบี้ยของไทยเป็นยังไง
กลับมาดูที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทย ก็พบว่า ปีนี้เรายังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเลยสักครั้ง หลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินมา 3 ครั้ง ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เหมือนเดิม เพราะยังเชื่อว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการจับตาใกล้ชิดอยู่
แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ในการประชุมรอบล่าสุด วันที่ 8 มิ.ย. 2022 เพราะในคณะกรรมการ 7 คนที่เข้าร่วมประชุม มีถึง 3 คนที่มองว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่าเห็นความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อชัดเจนขึ้น แปลว่า ในการประชุมรอบถัดไปที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. เราก็ต้องมาจับตากันว่า รอบนี้เสียงข้างที่อยากจะให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะเพิ่มขึ้นจนปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ได้ในครั้งต่อไปรึเปล่า
พี่ทุยต้องบอกว่า ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยตามพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ไป เพราะก็ยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียด้วยกัน ที่มองว่าเงินเฟ้อยังไม่ได้ขึ้นแรงจนน่าห่วง เลยยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เผลอ ๆ บางประเทศก็ยังมีช่องให้ลดดอกเบี้ยได้ด้วยซ้ำ เช่น จีน
อ่านเพิ่ม
ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ลงทุนในตราสารหนี้ยังไง
สุดท้ายพี่ทุยคิดว่า นักลงทุนหลายคนก็มีคำถามในใจว่า ขึ้นดอกเบี้ยกันรัว ๆ แบบนี้ แล้วคนลงทุนในตราสารหนี้ล่ะจะเป็นยังไงบ้าง
พี่ทุยก็ต้องอธิบายก่อนว่า ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้จากการลงทุนตราสารหนี้มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนต่างราคาที่ซื้อมา บวกกับอัตราผลตอบแทนที่ตราสารหนี้นั้นจะให้เมื่อถือครบอายุ ซึ่งโดยปกติ ราคาตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกัน และพอไปดูที่อัตราผลตอบแทน หรือ yield ตราสารหนี้ก็จะขยับขึ้นหรือลงในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย
ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้ก็จะปรับลดลง เพราะคนที่ซื้อตราสารหนี้ก็คาดหวังได้ผลตอบแทนจากการถือตราสารหนี้มากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งถ้าจะซื้อตราสารหนี้อายุยาว ๆ ก็ยิ่งคาดหวังผลตอบแทนมากขึ้น เพราะคิดเผื่อดอกเบี้ยขึ้นอีกในอนาคตไปแล้ว ดังนั้นเวลาไปซื้อตราสารหนี้ต่อจากผู้ถือเดิมมา ก็อยากซื้อในราคาที่ถูกลง แปลว่า ผู้ถือเดิมที่ขายตราสารหนี้ต่อ ก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง
หรือถ้าเราเป็นนักลงทุนที่รอซื้อตราสารหนี้ออกใหม่ ก็อยากซื้อตราสารหนี้ที่ให้ yield สูงขึ้น ดังนั้นก็ทำให้ รัฐบาลรวมถึงบริษัทที่จะออกตราสารหนี้ ต้องเสนอขายตราสารหนี้ที่ให้ yield เพิ่มขึ้น ต้นทุนการทำธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย และเมื่อต้องจ่ายแพงขึ้นในการออกตราสารหนี้ ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้
ในภาวะแบบนี้ ถ้าเพื่อน ๆ เป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย เจอความผันผวนนิดหน่อยก็หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะแล้ว ถ้าจะลงทุนตราสารหนี้เอง พี่ทุยมองว่า อาจจะต้องเลือกลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ๆ หรือตราสารหนี้ที่ใกล้ครบอายุไปก่อน
ส่วนถ้าจะลงทุนกองทุนรวม ก็อาจเลือก กองทุนตลาดเงิน หรือ money market fund ที่ไปลงทุนในเงินฝากธนาคารต่างประเทศก็ได้ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ก็คงไม่มากเท่าไหร่เวลาเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ความเสี่ยง ความผันผวน ก็น้อยกว่า เรียกว่าเป็นพื้นที่เอาไว้พักเงินลงทุน และพักใจชั่วคราว หรือถ้าเลือกกองทุนตราสารหนี้ ที่ดูไส้ในแล้วส่วนใหญ่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่ใกล้ครบอายุนั่นเอง
โดยรวมแล้ว พี่ทุยมองว่า ปี 2022 นี้พวกเราก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า อัตราดอกเบี้ยประเทศต่าง ๆ จะขยับขึ้นกันไปถึงไหน เพราะในเวลานี้การขยับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศยังแค่เริ่มต้นเท่านั้น เรายังเห็นการขยับได้อีกหลายรอบ welcome ดอกเบี้ยขาขึ้นกันยาว ๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะลง