ทำไมท้องถนนในไทยถึงอันตราย ? - เมื่อ "ทางม้าลาย" คนข้ามไม่ได้จริง

ทำไมท้องถนนในไทยถึงอันตราย ? – เมื่อ “ทางม้าลาย” คนข้ามไม่ได้จริง

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ถนนไทยติดอันดับอันตรายที่สุดในโลกเมื่อ 7 ปีก่อน แต่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดีขึ้นนัก โดยแต่ละปีสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 5 แสนล้านบาท
  • มุมมองการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเอื้อแต่คนใช้รถบนท้องถนน จนละเลยโหมดการเดินทางในรูปแบบอื่น ๆ 
  • กฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ล้าสมัย ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ผู้คนขาดความยำเกรง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนนได้กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคมอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุเศร้าสลดเมื่อ “หมอกระต่าย” หรือ แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการถูกรถมอเตอร์ไซค์ของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก พุ่งเข้าชนในขณะที่กำลังเดินข้าม “ทางม้าลาย” บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565   

นี่ไม่ใช่ความสูญเสียบนท้องถนนที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเมื่อปี 2015 ได้รับการจัดอันดับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ถนนในประเทศไทยเป็นถนนที่น่ากลัวที่สุดในโลกมาแล้ว โดยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในอัตราส่วน 36.2 ต่อประชากร 1 แสนคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า

แม้จะผ่านมาแล้วหลายปี แต่ดูเหมือนสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนนของไทยจะยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเฉลี่ยในช่วง 5 ปีหลังสุด (2560 – 2564) มีมากถึง 18,329.8 คน 

ซึ่งถือว่าห่างไกลกับเป้าหมายของรัฐบาลและเป้าหมายในระดับสากลที่ต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายปี 2563

จำนวนเเละอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตั้งเเต่ 2554 – 2564 

จากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ทำไมท้องถนนในไทยถึงอันตราย ? - เมื่อ "ทางม้าลาย" คนข้ามไม่ได้จริง

สิ่งที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเฉลี่ยมากถึง 5 แสนล้านบาทต่อปีเพราะการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจย่อมส่งผลกระทบต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังมีผลกระทบทางอ้อมทั้งในด้านการดำเนินคดี ไปจนถึงการจราจรที่ติดขัด 

แม้อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีส่วนเชื่อมโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศด้วยที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย 

ผลพวงจากการมุ่งพัฒนา “ถนน” เป็นศูนย์กลาง 

หากมองย้อนกลับไปตลอดหลายสิบปี จะพบว่าการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยล้วนมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างถนนเป็นหลัก

ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ของการเดินทางสัญจรในโหมดอื่น ๆ มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีพื้นที่ทางเดินเท้าเพียงแค่ 5% (5.4 ตร.กม.) เมื่อเทียบกับพื้นที่ถนนทั้งหมด (113 ตร.กม.)  

ดังนั้นการพัฒนาเพื่อให้เอื้อต่อผู้สัญจรในรูปแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากรถบนถนน จึงไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า ทางจักรยาน ไปจนถึงทางสำหรับผู้พิการ

ดูได้จากสภาพของสะพานลอยข้ามถนนหลายแห่งที่มีทางขึ้นลงสูงชัน จนคนธรรมดายังรู้สึกยากลำบากเมื่อต้องใช้งาน หรือ “ทางม้าลาย” ที่ดูไม่น่าปลอดภัย เพราะรถยนต์ไม่หยุดให้คนข้าม

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ดังกล่าวยังถูกจับจองโดยร้านค้าริมทาง และบ้านเรือนประชาชนที่รุกล้ำเข้ามาจนกินพื้นที่ไปหมด   

จึงไม่แปลกที่จะได้ยินกันบ่อยว่าที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุจากยวดยานพาหนะบนท้องถนนเฉี่ยวชนคนสัญจรบนทางเท้า หรือ รถจักรยาน เพราะไม่เหลือพื้นที่เดิน เลนจักรยาน ไปจนถึงพื้นที่สำหรับรถเข็นให้ใช้

เมื่อ “ทางม้าลาย” คนข้ามไม่ได้จริง สะท้อนถึงกฎระเบียบที่ต้องเร่งปรับปรุง

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อกวดขันวินัยการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก แต่ในสายตาพี่ทุยกลับเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายยังเป็นอะไรที่น่าแคลงใจอยู่มาก

เพราะดูเหมือนว่าผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนไม่เคารพต่อกฎหมายและวินัยจราจรเลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากกฎระเบียบหลายฉบับล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การกำหนดอัตราค่าปรับที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้กระทำผิดขาดความยำเกรง

นอกจากนี้ หลายหน่วยงานต่างถือกฎหมายบังคับใช้กันคนละฉบับ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย และการจัดการแบบแยกส่วนกัน ไม่ประสานงานกัน  

แม้ว่าประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างจะไม่สามารถแก้ไขไปได้ในทันที แต่พี่ทุยคิดว่าหากทุกฝ่ายเริ่มหันมาหารือและร่วมกันหาทางออกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างจริงจัง ก็น่าที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

โดยเฉพาะสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัวนั่นคือการเคารพกฎจราจร และมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมทาง เพราะพี่ทุยเชื่อว่า ไม่มีใครอยากพบเจอหรือได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนจากผู้อื่นอีก

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย