ภายหลังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย. 2567 ก็ได้เกิดเสียงสะท้อนจากหลายมุมมองทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อโครงการ แจกเงิน 10000 ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีมุมมองที่เป็นห่วงเหมือนกัน ว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศในเชิงลบ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศตามมาได้
พี่ทุยคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าอาจลุกลามกล่ายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยูโรโซน และกลุ่มตลาดเกิดใหม่หลาย ๆ ประเทศ มาก่อนหน้านี้แล้ว เหตุปัจจัยที่จะพาไปสู่จุดดังกล่าวเป็นอย่างไรนั้น พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟัง
เครดิตประเทศสัมพันธ์กับต้นทุนการกู้ของประเทศ
ความน่าเชื่อถือ หรือ ความเชื่อมั่นทางการเงินของประเทศ ก็เปรียบได้ดั่งความน่าเชื่อถือในระดับบุคคล ซึ่งหากประเทศ หรือ บุคคลนั้น มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรงแล้วก็ย่อมได้รับความเชื่อถือตามไปด้วย ความน่าเชื่อถือตรงนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีในแง่ภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้ประเทศ หรือ บุคคลนั้น สามารถเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงินด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าประเทศ หรือ คนที่มีเครดิตน้อยกว่าด้วย
พูดง่าย ๆ คือประเทศ หรือ คนที่มีความน่าเชื่อถือย่อมกู้เงินด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ด้วยวิธีการเล่นแร่แปรธาตุทั้งการขยายกรอบงบประมาณขาดดุลในปีงบ 2568 สูงถึง 8.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.42% ต่อ GDP พร้อมด้วยการโยกงบกลางของปีงบประมาณ 2567 อีกราว ๆ 1.7 แสนล้านบาทมาใช้ ย่อมทำให้รัฐบาลเหลือพื้นที่สำหรับการนำนโยบายการคลังไปใช้ในด้านอื่น ๆ หรือ รับมือวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตลดลงไปโดยปริยาย
ล่าสุดแม้แต่ความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ยังออกมาแนะรัฐบาลว่าควรเร่งหาทางลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่า 3% ต่อ GDP ให้ได้โดยเร็ว
นั่นก็เพราะว่าผลพวงจากการดำเนินนโยบายการคลังในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กระสุนสำรองการคลังของไทยลดลงไปมาก ซึ่งหากไม่เร่งลดการขาดดุล และหารายได้มาเติม อาจส่งผลให้ไทยไม่เหลือพื้นที่การคลังมากพอในการรับมือกับวิกฤตได้
จึงไม่แปลกที่สถานะความมั่นคงของระบบการคลังไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง หากยังคงเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อไป
ในปัจจุบันอันดับเครดิตไทยในสายตานานาชาติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เห็นได้จาก Moody’s หนึ่งในสถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดังของโลกจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “Baa 1” เป็นระดับน่าลงทุน มีความเสี่ยงปานกลาง
ซึ่งมีเกณฑ์หนึ่งระบุว่าอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศไม่ควรเกิน 11% ทว่าการเลือกเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วยวิธีการในปัจจุบันจะทำให้สัดส่วนดังกล่าวเกินกว่านั้น
จึงทำให้ระดับเครดิตความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไทยเสี่ยงตกไปอยู่ในกลุ่มไม่น่าลงทุน หรือ Junk Grade ทัน ซึ่งนั่นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาล หรอ ภาคเอกชน ต้องจ่ายดอกแพงขึ้นไปจากปัจจุบัน และจะเป็นการบั่นทอนศักยภาพทางการเงินการคลังของประเทศให้ลดลง
บทเรียนวิกฤตยูโรโซน
ผลพวงจากเครดิตความน่าเชื่อถือที่ลดลงได้เคยก่อให้เกิดวิกฤตหนี้แก่กลุ่มประเทศยูโรโซนมาแล้วในช่วงปี 2008 ซึ่งหากยังจำกันได้ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และไซปรัส ต่างเผชิญกับการถูกปรับลดความน่าเชื่อถือมาแล้ว จนทำให้ต้นทุนการกู้ยืมจากการขายพันธบัตรแพงลิ่วไปสู่ระดับที่ไม่น่าลงทุน หรือ “Junk Bond” และไม่สามารถระดมเงินทุนหรือกู้จากตลาดได้ด้วยเอง
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณที่เรื้อรังได้ จนเดือดร้อนไปถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่หลายหน
ทว่าความช่วยเหลือเหล่านั้นไม่ได้มาเปล่า ๆ แต่ต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขอันสุดโหด ทั้งการตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และการลดสวัสดิการต่าง ๆ จนนำไปการการเดินขบวนประท้วงในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของกรีซที่ประชาชนจำนวนมากถึงขั้นนัดหยุดงานและก่อเหตุจลาจลกันเลยทีเดียว
ซึ่งวิกฤตยูโรโซนนั้นก็มีที่มาจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของภาครัฐในการดำเนินนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถมแบบไม่บันยะบันยังนั่นเอง
แล้วถ้าไทย แจกเงิน 10000 จะซ้ำรอยวิกฤตหนี้มั้ย?
แม้โดยภาพรวมแล้วสถานะการเงินการคลังของไทยจะยังแข็งแกร่งอยู่ ด้วยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่มีอยู่ไม่สูงนักที่ 62% ต่อ GDP และยังมีภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเบาใจนัก เพราะหากไทยไม่สามารถรักษาวินัยการเงินการคลังเอาไว้ได้ ก็อาจเดินตามรอยวิกฤตหนี้ยูโรโซนไปได้ไม่ยาก
โดยมีปัจจัยเร่งเร้าคือ “การขาดดุลงบประมาณที่เรื้อรังมาเนิ่นนานกว่า 20 ปี” นับตั้งแต่ปี 2550 แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาใช้นโยบายการคลังเแบบสมดุล หรือ เกินดุลได้ในเร็ว ๆ นี้
ดังนั้นแล้วหากการขาดดุลงบประมาณยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และภาคส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศเกิดสะดุดลง ย่อมทำให้เกิดภาวะขาดดุลบัญชีแฝด หรือ “Twin deficit” ได้
ซึ่งก็คือสัญญาณร้ายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และจะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ไปยังนักลงทุน และค่าเงินต่อไปในทันที
ดังนั้นแม้ว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ห่างไกลเมื่อเทียบกับวิกฤตยูโรโซนเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว แต่เค้าลางของอันตรายก็ไม่สามารถเบาใจได้เลย โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การเมืองและเศรษกิจรอบโลกที่ผันผวนอย่างหนัก
จึงต้องเตรียมรับมือให้ดีและจัดการกับข้อกังวลด้านเสถียรภาพการคลังในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
อ่านเพิ่ม