OECD คาดการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวที่ +4.2%
นักลงทุนหลายคนคงคุ้นเคยกับองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญด้านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ออกมาคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือธนาคารโลก (World Bank) แต่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีอีกหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศสำคัญที่ออกมาให้มุมมองเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน นั่นคือ OECD
Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ เรียกสั้น ๆ ว่า OECD เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ร่วมมือกันเพื่อดำเนินนโนบายเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกจำนวน 37 ประเทศในปัจจุบัน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และคอยเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาทางการเงิน เป็นต้น
วันนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่า OECD เขามีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง
ความคืบหน้าของวัคซีนและแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากทุกประเทศทั่วโลก คือส่วนสำคัญที่ช่วยลดดีกรีความรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19
OECD คือ องค์กรระหว่างประเทศล่าสุดที่ออกมาคาดการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ในปีนี้และปีหน้า โดยมองว่า “เศรษฐกิจโลก” ในปี 2563 นี้จะติดลบที่ -4.2% นับว่าดีขึ้นจากที่เคยคาดไว้ที่ -4.5% เมื่อตอนเดือน ก.ย. 63 เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้าอย่างมาก ประกอบกับที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเลยว่าเรื่องการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้นอย่างมาก จนเริ่มเตรียมความพร้อมในการขนส่งและแจกจ่ายไปในหลายประเทศ โดยล่าสุดอังกฤษกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จากบริษัท Pfizer และ BioNTech แล้ว โดยเริ่มต้นจะฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปก่อน
ขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นนอร์เวย์ก็เตรียมจะใช้วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท Moderna, AstraZeneca, Pfizer และ BioNTech ฉีดให้กับประชาชนในประเทศ ในส่วนของจีนเองล่าสุดก็ออกมาบอกว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองขั้นสุดท้ายก่อนจะนำมาใช้กับประชาชนในประเทศ
ตรงนี้เองจะเห็นได้ว่าความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนเป็นกระแสด้านบวกมาก ๆ ซึ่งเป็นกระแสที่ทุกคนทั่วโลกต่างรอคอยและคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจโลกกลับมาหายจากอาการป่วยได้ในเร็ววัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อลดดีกรีความรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ไปบ้างแล้ว และพอได้รับข่าวดีเรื่องวัคซีนก็กลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกดูดีขึ้นมา
จีนเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลก
เมื่อมาดูการคาดการณ์เศรษฐกิจรายประเทศของ OECD พบสิ่งที่น่าสนใจว่า จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก คิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP โลก จะเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกเพียงแห่งเดียวที่สามารถยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ได้ โดยทาง OECD คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ที่ +1.8% ในปีนี้ ก่อนจะพุ่งสูงขึ้นที่ +8% ในปีหน้า สูงสุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก
ขณะเดียวกันประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของโลกยังไม่ฟื้นตัวจากอาการป่วย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ในปีนี้คาดว่าจะติดลบที่ -3.7% ญี่ปุ่นจะติดลบที่ -5.3% เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลักในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส (-9.1%) อิตาลี (-9.1%) เยอรมนี (-5.5%) และสหราชอาณาจักร (-11.1%)
เนื่องจากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง จนหลายประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์กันอีกครั้ง จนทาง IMF ต้องออกมาบอกว่าให้ทุกประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปต้องออกมาเติมกระสุน ใส่เม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจกันชุดใหญ่อีกครั้ง
“เศรษฐกิจโลก” จะกลับมาดีขึ้นในปีหน้า แต่ยังคงมีหลากหลายความเสี่ยง
แม้ว่าเรื่องวัคซีนจะมีความคืบหน้ามากขึ้นจนเริ่มถูกนำออกมาใช้กันบางประเทศแล้ว ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทาง OECD มองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้ที่ +4.2% แต่ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ +5.0% เมื่อเดือน ก.ย. 63
แต่สิ่งที่พี่ทุยคิดว่าน่าสนใจอยู่ตรงที่การเปรียบเทียบส่วนต่างระหว่างการปรับเพิ่มและปรับลดเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าครั้งล่าสุดนี้กับครั้งก่อน จะเห็นได้ว่า แม้เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะพลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ แต่คงยังไม่สามารถชดเชยมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในปีนี้จากวิกฤตโควิด-19 ไปได้ เนื่องจากปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ +0.3% แต่กลับปรับลดปีหน้าถึง -0.8%
คาดการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ปี 2563
- ครั้งก่อน (ก.ย. 63) -4.5%
- ครั้งล่าสุด (ธ.ค. 63) -4.2%
- ส่วนต่าง +0.3%
คาดการณ์ “เศรษฐกิจโลก” ปี 2564
- ครั้งก่อน (ก.ย. 63) +5.0%
- ครั้งล่าสุด (ธ.ค. 63) +4.2%
- ส่วนต่าง -0.8%
Source: OECD Economic Outlook, December 2020
โดยก่อนหน้านี้มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกหลายท่าน รวมทั้งนาย J. Powell ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาพูดเปรียบเปรยว่า วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษที่จะมาชุบชีวิต และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงที กว่าจะรักษาหายให้เป็นปกติต้องใช้เวลา แล้วไม่รู้ว่าหากได้รับวัคซีนแล้วจะหายขาดหรือไม่ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางอยู่หลายส่วนไม่ว่าจะเป็น ระดับหนี้ทั่วโลกที่สูง จำนวนคนว่างงานที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะปิดตัวลงยังมีแนวโน้มสูงอยู่ ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่ทั่วโลกต้องรับมือต่อไป
ดังนั้น พี่ทุยอยากบอกว่าวิกฤตที่เกิดจากเชื้อไวรัสครั้งนี้ แม้เราจะตั้งความหวังไว้กับการนำวัคซีนออกมาใช้ เพื่อที่จะให้ภาวะเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนกลับมาใกล้เคียงเดิมให้เร็วที่สุด แต่เราควรใส่ใจและป้องกันตนเองไม่ให้ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงด้วยเช่นกัน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวในหากวิกฤตผ่านพ้นไปก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
Comment