อย่างที่รู้กันว่าช่วงนี้ไวรัสโคโรนาหรือที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า COVID-19 กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 80,000 ทั่วโลก ซึ่งเเซงหน้าผู้ติดเชื้อ SARS ที่เป็นไวรัสตระกูลเดียวกันไปเกือบสิบเท่า (ผู้ติดเชื้อ SARS มีประมาณ8,000 คน) เลยทำให้หลายประเทศหวั่นวิตกเลยทีเดียว เกริ่นมาหลายประโยคอย่างนี้ พี่ทุยไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องสาธารณสุขโดยตรงนะ แต่จะมาพูดถึงภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของ COVID-19 โดยตรงอย่างธุรกิจสายการบิน
อย่างที่รู้กันว่าการท่องเที่ยวเป็นรายได้ส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อ GDP ของเราประมาณ 12% พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น การท่องเที่ยวทั่วโลกก็คงหดตัวลงอย่างไม่ต้องสงสัย ธุรกิจทัวร์ โรงแรม ธุรกิจท้องถิ่น เช่น ร้านค้า ร้านอาหารท้องถิ่นตามแหล่งท่องเที่ยวก็คงโดนไปตาม ๆ กันและอีกธุรกิจหนึ่งที่โดนไปเต็ม ๆ เลยคือสายการบินทั้งหลาย ที่รายได้หดทั้งจากการลดลงของผู้โดยสารต่างชาติและการเดินทางภายในประเทศเอง จากการสังเกตส่วนตัวของพี่ทุย ส่วนหนึ่งเเล้วการเดินทางภายในประเทศก็เกิดจากพวกนักท่องเที่ยวเนี่ยแหละ เพราะชาวต่างชาติเค้านิยมมาท่องเที่ยวประเทศแถบแถวบ้านเราแบบ Backpack คือเดินทางมาเองและอยู่นานเป็นเดือนหรือหลาย ๆ เดือนเลย เนื่องจากต้นทุนค่าครองชีพที่นี่ไม่สูง เพราะฉะนั้นระหว่างที่เค้ามาอยู่เป็นเดือนก็คงไม่ได้อยู่กับที่ เช่น อยู่กรุงเทพอาทิตย์นึง บินไปเที่ยวภูเก็ต 2 อาทิตย์แล้วไปเที่ยวเหนือต่อ เป็นต้น
โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัดส่วนเป็นผู้โดยสารของประเทศต้นเรื่องอย่างจีน AirAsia หรือที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในนามของหุ้น AAV ซึ่งมีสัดส่วนผู้โดยสารจีนคิดเป็นประมาณ 30% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด ก่อนจะไปต่อในประเด็นที่จะเป็นพระเอกของวันนี้ มาดูที่งบการเงินและโครงสร้างรายได้คร่าว ๆ ของ AAV เค้าหน่อยดีกว่า
AAV ยังไม่ได้รายงานงบการเงินในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์ แต่เราก็คงเห็นภาพแนวโน้มรายได้และกำไร ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอยู่เหมือนกันเพราะธุรกิจการบินมีต้นทุนคงที่ค่อนข้างมากแต่รายได้ดันไม่คงที่ แถมยังต้องเจอกับคู่เเข่งอีกต่างหาก AAV จึงเริ่มเน้นสร้างรายได้จากธุรกิจอีกส่วนหนึ่ง โดยปัจจุบันนี้รายได้จากส่วนนี้ยังคงเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ก็ไม่แน่นะว่าต่อไปจะขยายขึ้นได้มากแค่ไหน
ถ้าคิดเป็น 100% ตอนนี้รายได้ของ AAV มีสัดส่วนอย่างนี้
รายได้ 3% มาจากค่าโดยสาร
รายได้ 5% มาจากค่าน้ำหนักสัมภาระและอื่น ๆ
รายได้ 7% มาจากเครื่องบินเช่าเหมาลำ
รายได้ 5% มาจากการขายสินค้าบนเครื่อง
รายได้ 7% มาจากค่าระวางขนส่ง
รายได้ 1% มาจากการโฆษณา
รายได้ 6% มาจากกำไรในอัตราแลกเปลี่ยน
รายได้อื่น ๆ 6%
และวันนี้พี่ทุยจะมาพูดถึงส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ 1.5% ให้กับ AAV ซึ่งก็คือการขายสินค้าบนเครื่อง ซึ่งมีหลายหมวดทั้งเครื่องสำอาง ของใช้ต่าง ๆ เครื่องเขียน ของที่ระลึกและในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มที่ AAV เค้ามีเเบรนด์ของตัวเองในชื่อว่า “Santan”
“Santan” คืออะไร ?
“Santan” เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินของ AirAsia เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า “กะทิ” โดยจะมีเมนูยืนพื้นและมีเมนูพิเศษสับเปลี่ยนกันไปในทุกไตรมาสไม่ให้ผู้โดยสารเกิดการจำเจ แต่ถ้าเมนูไหนได้รับความนิยมเป็นพิเศษก็จะได้ไปต่อในไตรมาสหน้าและเมนูก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเส้นทางบิน เช่น ถ้าบินไปลาวก็อาจจะมีเมนูเฝอที่เป็นอาหารของชาติเค้า ถ้าบินไปฟิลิปปินส์ก็จะมีเมนูอาหารที่ส่วนมากจะมีส่วนประกอบเป็นกะทิ (อาหารฟิลิปปินส์มักมีส่วนประกอบกะทิเป็นหลัก แบรนด์ถึงมีชื่อว่า Santan หรือกะทิยังไงล่ะ)
ส่วนเรื่องราคาก็เป็นมิตรต่อผู้บริโภคนะ เพราะราคาอยู่ในช่วงไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทดีถึง 200 กว่าบาท เช่น เมนูข้าวกระเพราไก่ของไทยซึ่งมีราคาประมาณ 60 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าสูสีกับร้านอาหารข้างล่างทั่วไปเลยแหละ
ที่พี่ทุยหยิบเอาเรื่อง “Santan” มาเล่าก็เพราะว่าถึงแม้เค้าจะสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นในวันนี้ แต่ผู้บริหารมีการกำหนดทิศทางใหม่ของบริษัทว่าในปี 2020 นี้ AAV จะลดสัดส่วนการพึ่งพาธุรกิจการบินซึ่งเป็นรายได้หลักกว่า 70% ของเค้าลงเหลือประมาณ 40% และกระจายสัดส่วนรายได้ไปส่วนอื่น ๆ แทน ซึ่งที่น่าสนใจสุดก็คือรายได้จากแบรนด์อาหาร “Santan” เนี่ยแหละ ลองเลื่อนขึ้นไปดูสัดส่วนรายได้ เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้รายได้ส่วนอื่นจะไม่ใช่เรื่องของค่าโดยสารโดยตรง ล้วนเเล้วแต่พึ่งพาการมีอยู่ของผู้โดยสาร เช่น รายได้จากการซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเถียงขึ้นมาทันทีว่า “ก็ใช่ยังไงล่ะ รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มเนี่ยก็พึ่งพาในส่วนของผู้โดยสารบนเครื่องอยู่ดี ในเมื่อจะสั่งอาหารได้ก็ต้องขึ้นเครื่องมากินเท่านั้น ไม่ซื้อตั๋วขึ้นเครื่องมา จะกินได้ไง”
ขอตอบเลยว่า ได้! ถึงเราจะไม่ขึ้นเครื่องก็สามารถอิ่มอร่อยกับ Santan ได้ เพราะล่าสุด Santan ได้เปิดภัตตาคารภาคพื้นดินแห่งแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีราคาเดียวกับบนเครื่องบิน แต่มีรายการเมนูอาหารยาวเหยียดกว่าบนเครื่องมากเพราะไม่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบก็ไม่ต้องเป็นกังวลเลย ในเมื่อเค้าเป็นสายการบินก็ย่อมสามารถเอาวัตถุดิบจากประเทศนั้น ๆ ได้โดยตรง เพราะฉะนั้นอาหารที่ได้จะมาจากแหล่งผลิตแท้ไม่ใช่เกรดมิลเลอร์นะ แถมยังสดใหม่ด้วย เพราะมากับเครื่องบิน นอกจากนี้แล้วถ้าอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เค้าก็มีบริการส่ง delivery ถึงหน้าประตูบ้านด้วยนะ
ก่อนหน้านี้แม่ทัพใหญ่แห่ง AirAsia ก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่า 2019 ก็คือ แผนขยายร้านอาหารและเครื่องดื่ม Santan ที่ลงทุนโดยบริษัทจำนวน 5 แห่ง และร้านแฟรนไชส์มากกว่า 100 แห่ง ในตลาดต่างประเทศ โดยกำหนดกรอบเวลาหลวม ๆ ก็คือปี 2025
ที่ผ่านมา อาหารบนเครื่องบินมักโดนเสียงบ่นว่าเค็มเกินไป เรื่องนี้นักวิเคราะห์ของ Bloomberg ได้ออกมาอธิบายเเล้วนะว่าเป็นเพราะต่อมรับรสของเราเอง เนื่องจากต่อมรับรสของคนเราจะมีประสิทธิภาพต่ำลงประมาณ 30% ในระดับความสูงของเครื่องบิน จากผลของความดันอากาศและความชื้น จึงมักทำให้อาหารมีรสชาติไม่อร่อย
นับว่าแบรนด์ “Santan” แห่ง AirAsia เค้ามั่นใจในรสชาติอาหารมากเลยนะ ว่าจะอร่อยถูกปากทั้งตอนกินบนเครื่องและกินข้างล่าง เขียน ๆ ไปพี่ทุยก็ชักอยากชิมซ่ะแล้วสิ เดี๋ยวไปจองตั๋วแป็ปนึงนะ ใครมีเมนูไหนอร่อยก็มากระซิบบอกพี่ทุยบ้างนะ ฮ่า ๆ
Comment