ยุคนี้ใคร ๆ ก็ใส่ใจสุขภาพ ทำให้ธุรกิจ สบช่องให้ธุรกิจเข้ามาหาโอกาสสร้างรายได้จากเทรนด์รักสุขภาพ วันนี้พี่ทุยเลยชวนทุกคน ไปส่องในหนึ่งธุรกิจสุขภาพที่มาแรงและทำรายได้สูง ก็คือ อาหารเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันเทรนด์นี้แรงแค่ไหน และมีธุรกิจอะไรที่มาพร้อมเทรนด์นี้บ้าง
ทำไมเทรนด์ อาหารเพื่อสุขภาพ มาแรง
พี่ทุยต้องบอกว่า นับตั้งแต่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิดมา ก็ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมาก หันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการเพื่อสุขภาพ และการป้องกันกันมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า โดยจากข้อมูลวิจัยจากหลาย ๆ สถาบัน ที่ระบุว่าการรับประทานอาหารแปรรูปที่มากเกินไป นำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพ ก็ทำให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และนำมาสู่เทรนด์การรับประทานอาหารที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
จากข้อมูลของ databridgemarketresearch.com พบว่า ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 878,840 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่า ตลาดจะเติบโตต่อเนื่องได้ปีละ 9.50% ในช่วงปี 2024-2031 ส่งผลให้มูลค่าตลาดขยับขึ้นไปเป็นประมาณ 1.82 ล้านล้าน ดอลลาร์ ภายในปี 2031
เทรนด์ อาหารเพื่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง
ขณะที่ mintel.com แหล่งรวบรวมข้อมูลการตลาด ระบุถึง 3 เทรนด์อาหารสุขภาพสำคัญที่มาแรง ดังนี้
1. อาหารที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด
ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติมากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป อย่างเช่น ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เห็นด้วยว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานอยู่ในเวลานี้เป็นอาหารที่แปรรูปน้อยลง
ด้วยเทรนด์นี้เอง จึงนำมาซึ่งกระแสความต้องการติดตามฉลากอาหารที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส และความเป็นธรรมชาติของอาหารที่รับประทาน รวมถึงการแสดงวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจสอบได้มากขึ้นด้วย ขณะที่ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนเกือบครึ่งหนึ่งเห็นด้วยว่า วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่พวกเขาพิจารณาในการเลือกซื้ออาหาร
อย่างไรก็ตาม แม้ความตระหนักที่เกี่ยวกับอาหารแปรรูปจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น ถึงแม้ว่า ผู้บริโภคจะพยายามมองหาอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุดแต่ก็ไม่สามารถจ่ายได้มากขึ้นเพื่ออาหารเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของแบรนด์อาหารจากธรรมชาติ
โดยรวมก็คือ ผู้บริโภคต้องการอาหารที่แปรรูปน้อยที่สุด วัตถุดิบมาจากธรรมชาติมากที่สุด แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องอร่อย และมีราคาไม่แพงด้วย
2. การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม
ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) สุขภาพ คือ ภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ในสังคม ไม่ใช่เพียงการไม่มีโรคหรือความเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งคำนี้มีผลต่อผู้บริโภคจำนวนมาก ในการปรับใช้กับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมองว่าอาหารที่ดี คือส่วนสำคัญของสุขภาพที่ดี อย่างเช่น ผู้บริโภคชาวเยอรมัน 2 ใน 3 ที่ระบุว่า สิ่งที่รับประทานเข้าไปส่งผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์ของคุณ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการมุ่งเน้นการควบคุมอาหารเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม เป็นการรับประทานที่ไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพกาย และการควบคุมน้ำหนักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ทางสังคมด้วย โดยผู้บริโภคไม่ได้มองหาแค่อาหารสุขภาพตามความเข้าใจทั่วไป เช่น อาหารที่แคลอรี่ต่ำ หรือไม่ใส่น้ำตาล แต่มองครอบคลุมไปถึงอาหารที่ช่วยบำรุงอารมณ์และจิตใจด้วย
จากกระแสนี้ ได้สะท้อนออกมาผ่านฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ทั่วโลก (Global New Products Database : GNPD) ของ Mintel โดยพบว่า 22% ของอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพทั่วโลก มีการกล่าวอ้างว่า มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่แบรนด์ต่างๆ มีแนวโน้มจะขยายขอบเขตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และระบุข้อความบนบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนถึงแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพแบบองค์รวมอื่นๆ เช่น เป็นอาหารที่ต้านการอักเสบ หรือเชื่อมโยงกับสุขภาพทางปัญญา
ขณะเดียวกันแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพแบบองค์รวม ก็ทำให้อาหารมีแนวโน้มตอบสนองความกังวลที่เพิ่มขึ้นในประเด็นความยั่งยืนของการผลิตอาหาร และผลกระทบของอาหารที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และของโลก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เน้นสนับสนุนการลดบริโภคเนื้อสัตว์และเนื้อปลา แต่ครอบคลุมถึงจัดหาผลิตภัณฑ์มาจากแหล่งต้นทางที่คำนึงถึงความยั่งยืน
3. มาตรการป้องกัน
จากการที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็มาพร้อมความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร ทำให้เกิดการปรับใช้รูปแบบการรับประทานอาหารที่สนับสนุนสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว โดยผู้บริโภคจำนวนมาก ต่างก็มองหาอาหารที่เป็นเหมือนยา มุ่งเน้นให้อาหารและโภชนาการมีบทบาทในการป้องกันภาวะด้านสุขภาพ ซึ่งเทรนด์นี้นำไปสู่การพัฒนาอาหารและรูปแบบการรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เพียงสนับสนุนให้อายุยืนยาวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเรื่องคุณภาพชีวิต เน้นเรื่องการรับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันสุขภาพ รวมถึงอาหารสำเร็จรูปที่ออกมาเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ทั้งนี้ นวัตกรรมการรับประทานอาหารเพื่ออายุที่ยืนยาว พร้อมกับการช่วยจัดการควบคุมน้ำหนัก นำไปสู่การพัฒนาตัวช่วยระงับความอยากอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีไฟเบอร์และโครเมียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมความอยากอาหาร และมีการวิจัยที่เกี่ยวกับอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปเพิ่มขึ้น
คราวนี้ มาดูกันดีกว่าว่า อาหารตามเทรนด์สุขภาพที่มีแนวโน้มมาแรงในปี 2024-2025 มีอะไรบ้าง
10 อาหารมาแรงรับเทรนด์สุขภาพปี 2024-2025
- นมทางเลือก ที่ไม่ได้มาจากสัตว์ แต่ผลิตจากพืช เช่น นมอัลมอนด์ นมโอ้ต นมมะพร้าว นมถั่วเหลือง นมฮาร์เซลนัท และนมข้าว
- สารให้ความหวานจากธรรมชาติ เนื่องจากผู้บริโภคใส่ใจเรื่องการควบคุมน้ำตาล มองหาเครื่องดื่มที่ไม่ใส่น้ำตาล หรือมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยที่สุด
- เห็ดชนิดพิเศษ สำหรับทดแทนการรับประทานเนื้อสัตว์
- กาแฟสกัดเย็น ที่รับประทานเองที่บ้าน หรือในร้านขายของชำ
- การนำเครื่องเทศมาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่คาดคิด เช่น พริกไทยในเครื่องดื่ม หรือหมาล่าในขนมหวาน
- ช็อคโกแลต ที่ผลิตจากวัตถุดิบทำจากพืช (Plant-Based)
- การผสมเมล็ดบักวีต ลงในขนมปัง คุกกี้ และแครกเกอร์ (หลายคนเชื่อว่า บักวีต ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิน ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้)
- การใส่ผักดองในทุกสิ่ง
- เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
- การบริโภคอาหารทะเลทางเลือกที่ทำจากพืช (Plant-Based) เนื่องจากผู้บริโภคคำนึงถึงความยั่งยืน
ที่มา : explodingtopics.com
พี่ทุยต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศเท่านั้น ที่เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมาแรง เพราะในไทยเอง เทรนด์นี้ก็มาเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังเกิดโควิด-19 โดยผู้บริโภคชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพร่างกายและการบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัสโควิด และยังต้องการรับประทานเพื่อรักษาหุ่นให้ฟิตแอนด์เฟิร์มด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีเทรนด์การทำคลิปดูแลตัวเองและออกกำลังกายบนโซเชียลมีเดียออกมาอย่างแพร่หลายนั่นเอง นอกจากนี้ คนไทยก็มีกระแสความต้องการบริโภคอาหารออร์แกนิก โปรตีนทางเลือก รวมถึงมองหาตัวเลือกอาหารที่มีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูลของ Statista มูลค่าตลาดอาหาร Plant-Based ในไทย ปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45,000 ล้านบาท ในปี 2024 ซึ่งก็มาจากความนิยมในการมองหาโปรตีนทางเลือกที่เติบโต โดยที่มีผู้ประกอบการทั้งระดับสากลและผู้ประกอบการไทย ที่เห็นโอกาสและพยายามขยายตลาดนี้
ขณะที่ Euromoitor เผยผลสำรวจในปี 2023 เกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทย โดยระบุว่า
- 1 ใน 4 ของคนไทย กำลังควบคุมอาหารอยู่
- คนไทย 65% มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการประกอบอาหารที่มีวัตถุดิบซึ่งดีต่อสุขภาพมากขึ้น
- 41% จะใส่ใจพิจารณาฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ก่อนเลือกซื้อสินค้า
- 58% ยังบริโภคอาหารเสริม หรือวิตามินเพื่อเพื่อสุขภาพเป็นประจำด้วย
ด้วยความใส่ใจสุขภาพของคนไทยนี่เอง จึงเป็นที่มา ที่ทำให้มีธุรกิจอาหารคลีนเกิดขึ้นเต็มไปหมด ทั้งรูปแบบที่มีหน้าร้าน และแบบไม่มีหน้าร้าน แต่จัดส่งเดลิเวอรี่ถึงหน้าบ้าน โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ที่คนไทยคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านออนไลน์ ให้มาส่งที่บ้านมากขึ้น
อาหารคลีน หรือ กินคลีน คืออะไร
สำหรับนิยามของคำว่า อาหารคลีน หรือ Clean Food หรืออาหารคลีน ก็คือ อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด มีการปรุงอย่างเหมาะสม พยายามปรุงเพิ่มให้น้อยที่สุด เพื่อ ไม่ให้มีรสชาติจัดจ้านเกินไป รวมทั้งไม่ใส่น้ำตาล แต่เน้นให้อาหารมีรสชาติหวานที่มาจากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังต้องมีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของผู้รับประทาน ซึ่งต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมคอเลสเตอรอล และควบคุมน้ำตาล
สำหรับวัตถุดิบที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารคลีน ได้แก่ อกไก่ ปลา ข้าวกล้องไม่ขัดสี ขนมปังธัญพืช และ อะโวคาโด เป็นต้น
คราวนี้ พี่ทุยจะลองชวนมาดู 5 ตัวอย่างธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สุ่มค้นหามาจากโลกโซเชียล ว่าแต่ละราย ขายผ่านช่องทางไหน แล้วแนวทางการขายอาหารสุขภาพเป็นอย่างไร
1. นับ kcal
เป็นธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ จำหน่ายทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ ขนมเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีการเปิดสาขาหน้าร้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งยังมีบริการเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพทั่วประเทศด้วย
2. 350cleanfood
ธุรกิจจำหน่ายอาหารคลีน Homemade ที่มีวัตถุดิบหลักเป็น ไก่ ปลา และหมู ปรุงด้วยการผัด ต้ม นึ่ง ย่าง แบบปราศจากน้ำมัน พร้อมใช้เครื่องปรุงที่มีโซเดียมต่ำ ไม่ใช้ผงชูรส และเน้นจัดสัดส่วนอาหารให้อยู่ในปริมาณที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม มาพร้อมบริการเดลิเวอรี่ทั่วประเทศแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยจะใส่ในบรรจุภัณฑ์เป็นถุงสุญญากาศ เพื่อให้ผู้ซื้อเก็บรักษาในช่องฟรีซไว้ได้นาน
3. Pure Organic Farm
ทำฟาร์มผักสุขภาพ พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมฟาร์ม ทั้งยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์สำหรับให้นำไปปลูกรับประทานเอง จำหน่ายผักออร์แกนิค อาหาร ขนม และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รับจัดอาหารเบรกสุขภาพสำหรับงานสัมมนา และจำหน่ายคอร์สอาหารคลีน ควบคุมแคลอรี่ ส่งเดลิเวอรี่ทั่วประเทศ ด้วยการขนส่งแบบควบคุณอุณหภูมิ
4. ดี-มายด์ คลีน คลีน
จำหน่ายอาหารคลีน ที่ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่ผงปรุงรส เน้นตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก รักษาสุขภาพ ชะลอวัย โดยมีบริการจัดส่งทั่วประเทศ โดยจะจัดส่งอาหารเป็นรอบ แต่ละรอบจะจัดส่งอาหารหลาย ๆ มื้อ ให้ผู้ซื้อเก็บไว้บริโภคได้หลายวัน ซึ่งก็จะมีให้เลือกจำนวนอาหารจัดส่งหลายแบบ โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะจัดส่งฟรีกรณีที่ซื้อตามจำนวนที่กำหนด ส่วนในต่างจังหวัดมีค่าจัดส่ง
ขณะที่อาหารจะมีเมนูให้เลือกหลากหลาย สามารถเลือกซื้อเป็นข้าวพร้อมกับข้าว หรือกับข้าวอย่างเดียวก็ได้ โดยมีวัตถุดิบหลัก ได้แก่ อกไก่ ปลา กุ้ง นอกจากนี้ยังมีบริการสอนทำอาหารคลีน มีครัวเครือข่ายอยู่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด
5. Cleanfit Delivery
จำหน่ายอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ อาหารลดน้ำหนัก โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงไร้น้ำมัน ตอบโจทย์กลุ่มที่เล่นฟิตเนส รวมถึงนำเสนอเมนูหลากหลาย โดยมีการควบคุมแคลอรี่ของอาหารแต่ละแพ็คเอาไว้ อาหารจะถูกใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้สามารถเก็บรักษาในช่องฟรีซได้นาน โดยจะเสนอขายเป็นแพ็กเกจสำหรับเก็บไว้ทยอยรับประทานได้หลาย ๆ วัน
พี่ทุยต้องบอกว่า นี่แค่เศษเสี้ยวหนึ่งของตัวอย่างร้านอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น ถ้าใครลองไปค้นหาร้านอาหารสุขภาพบนช่องทางโซเชียลมีเดีย รับรองว่า เจอเพจ เว็บไซต์ ร้านอาหารสุขภาพอีกเพียบแน่ ๆ ทั้งที่เป็นร้านค้าแบบออฟไลน์ และออนไลน์ จะเห็นได้ว่าเทรนด์นี้มาแรงจริง ๆ และนอกจากร้านอาหารสุขภาพแล้ว
ถ้าสังเกตกันดี ๆ เดี๋ยวนี้ แบรนด์เครื่องปรุงรส รวมถึงเครือร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศจำนวนมาก ก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ โดยปราศจากผงชูรส และน้ำตาล รวมถึงการนำเสนอให้ผู้บริโภคเห็นว่า อาหารแต่ละเมนูที่เสนอขายอยู่มีแคลอรี่เท่าไหร่
ขณะที่บางร้านก็มีการนำจัดทำเมนูที่ใช้เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช หรือ Plant-based ประกอบอาหารเอาใสสายรักโลก รักสุขภาพที่ต้องการรับประทานโปรตีนทางเลือกที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
อ่านเพิ่ม