ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมามีการถ่ายทอดสดงานสัมมนาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีช่วงนึงที่ ดร.วิรไท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาร่วมเสวนาแล้วให้มุมมองต่ออนาคต “เศรษฐกิจไทย” ได้อย่างน่าสนใจ พี่ทุยเลยถือโอกาสสรุปมาให้ได้อ่านกัน
ดร.วิรไท กล่าวว่าต้องบอกว่าเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันเรียกว่า “วิกฤต” ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านสาธารณสุขทั่วโลก เนื่องจากเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกเลยทำให้มีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้มากมาย เราจะเห็นได้เลยว่าเมื่อเกิดความกังวล สิ่งแรกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ก็คือ “ตลาดเงิน” ก่อนที่ทุกคนจะเทขายเพราะต้องการถือเงินสด ซึ่งถ้าปล่อยให้ตลาดเงินมีปัญหาก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจจริงตอนนี้เข้าไปอีก
ต่อมาเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงทั่วโลกต้องหยุดชะงัก จากการหยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาด หรือที่เราเรียกว่า Lockdown เมือง จนสุดท้ายเราก็สามารถควบคุมโรคนี้ได้ในระดับที่ดีจากความร่วมมือของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ แต่ต้องบอกว่าการแพร่ระบาดอาจจะกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องระวังอย่าให้ “การ์ดตก” ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยเรามีมาตรฐานที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอยู่มาก
ประเทศไทยเราได้ผ่านจุดต่ำสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าช่วงไตรมาสที่ 2 ในปี 2563 เป็นช่วงที่แย่ที่สุด เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ทั้งไตรมาส กิจกรรมทาง “เศรษฐกิจไทย” หยุดนิ่งทั้งหมด ส่งออกไม่ได้ ผลิตไม่ได้ ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ในปี 2563 เป็นต้นไป ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดกลับมาเศรษฐกิจประเทศไทยก็จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่กว่าจะกลับมาอยู่ที่เดิมก่อนเกิดการระบาดได้ เศรษฐกิจไทยเราจะน่าฟื้นตัวแบบ “เครื่องหมายถูกที่มีหางยาว” เพราะประเทศไทยพึ่งพาท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แต่กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
รวมถึงการ “ส่งออก” ต้องอาศัยผู้ซื้อจากนอกประเทศ ถ้าเศรษฐกิจของคู่ค้าเรายังไม่ฟื้นตัวหรือควบคุมการระบาดไม่ได้ ก็ยังต้องใช้เวลาประมาณนึงกว่าจะกลับมาได้เหมือนกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา
วิกฤตครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี พ.ศ. 2540 และ 2552 แต่กระทบกับเศรษฐกิจจริงที่รุนแรงกว่า
วิกฤตครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี พ.ศ. 2540 (ต้มยำกุ้ง) ที่ระบบการเงินเรามีปัญหาอย่างมากจนทำให้เกิดการอ่อนตัวของค่าเงินอย่างรุนแรง และก็ไม่เหมือนกับปี พ.ศ. 2552 (แฮมเบอร์เกอร์) ที่ผลกระทบไม่ได้กระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่กระทบกับผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าของเราทำให้เศรษฐกิจบ้านเราชะลอตัวไปด้วย
แต่วิกฤตครั้งนี้เป็นการกระทบพร้อมกันทั่วโลก ในภาคเศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบมากกว่าในปี พ.ศ. 2540 และ 2552 อย่างเห็นได้ชัด กระทบทั้งการจ้างงาน การผลิตต่าง ๆ แต่ในแง่มุมของระบบการเงินประเทศไทยเราเอง มีประสบการณ์จากปี พ.ศ. 2540 ทำให้ปัจจุบันระบบการเงินไทยมีความเข้มแข็งมาก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้จาก IMF เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ ณ ปัจจุบันมีการขอยื่นกู้ IMF กว่า 100 ประเทศ และมีแนวโน้มจะขอเพิ่มอีกเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการขอกู้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
การแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ไม่มี “ยาผีบอก” ที่สามารถแก้ได้ทั้งหมดทันที แต่ต้องเป็นยาแบบผสมที่ต้องออกมาตรการช่วยเหลืออย่างผสมผสานกับทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นนโยบายที่เข้าช่วยเหลืออย่างมากจากทางภาครัฐ ทั้งเรื่องมาตรการป้องกัน และมาตรการเยียวยาที่ช่วยดูให้ประเทศสามารถผ่านจุดต่ำสุดมาได้ ซึ่งหลังจากนี้สิ่งแรกที่ต้องเร่งจัดการก็คือ “ปรับโครงสร้างหนี้” ให้กับลูกหนี้อย่างเร่งด่วนทั้งระดับบุคคล SME หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่
ตลาดแรงงานของประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเรื่อง “การจ้างงาน” โควิด-19 กระทบ “ภาคบริการ” และ “การผลิต” อย่างมาก ซึ่ง 2 ภาคนี้เป็นภาคที่มีการจ้างงานสูง ถึงแม้โควิด-19 จะสามารถควบคุมได้แล้ว แต่แนวโน้มสภาพตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภาคบริการและการผลิตไม่สามารถจ้างงานได้เหมือนเดิม แนวโน้มต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
สำหรับกลุ่ม “แรงงานจบใหม่” มีความเสี่ยงที่เป็นกลุ่มคนว่างงานถาวรอย่างมาก เพราะกว่าการจ้างงานจะกลับมาเท่าเดิมได้ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย แล้วในช่วงเวลานั้นก็จะยิ่งมีแรงงานจบใหม่ออกมาเพิ่มอีกพร้อมกับทักษะงานที่ดีมากกว่า แรงงานกลุ่มนี้ต้องเร่งพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมพร้อมรับสภาพตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
Comment