"หนี้ครัวเรือน" ไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้น เกี่ยวอะไรกับเรา ?

“หนี้ครัวเรือน” ไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้น เกี่ยวอะไรกับเรา ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงถึง 80.1% ในไตรมาสแรกของปี 2563  และวิกฤตโควิด-19 ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ความสามารถในการชำระหนี้ใหม่และหนี้เก่าก็ลดลง
  • ในไตรมาสแรกของปี 2563 ยอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น โดยการกู้ยืม 3 อันดับแรก คือ กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์, กู้เพื่อประกอบอาชีพ และกู้เพื่อซื้อหรือเช่ายานยนต์
  • หนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ไม่สามารถใช้คืนได้ ถือว่าเป็นหนี้ที่ส่งผลเสียต่อผู้กู้และเศรษฐกิจ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ล่าสุดผลการประชุม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อไป หนึ่งในเหตุผลที่ทาง กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำก็เพราะว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และความสามารถในการชำระ “หนี้ครัวเรือน” ลดลง (ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 80.1%) หรือพูดง่าย ๆ ว่า คนแบบเรา ๆ สามารถจ่ายหนี้ได้ยากขึ้นนั่นเอง

ใครที่อยากอ่านสรุปผลการประชุม กนง.  วันที่ 23 กันยายน 63 ว่าทำไมต้องคงดอกเบี้ย ได้ที่นี่

พอเป็นแบบนี้พี่ทุยเลยจะมาพูดถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกันหน่อย ว่าส่งผลอันตรายกับเศรษฐกิจยังไงบ้าง พี่ทุยพามาเริ่มกันที่ ข้อมูลจากสถิติของศูนย์วิจัยกสิกรไทยกันก่อน

หนี้ครัวเรือนของไทย
ปี 2562 อยู่ที่ 79.8%
ปี 2563 (ไตรมาสที่ 1) อยู่ที่ 80.1%
คาดกันว่าสิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ 88-90%

เหตุผลที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูง เป็นเพราะว่าเศรษฐกิจหดตัว ธุรกิจขาดรายได้ แรงงานก็ไม่ถูกจ้างงานเพราะธุรกิจมีปัญหา และแน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ก็ยังกระทบกับการท่องเที่ยวและการส่งออกอีก เมื่อคนขาดสภาพคล่อง ทางออกที่หลายคนทำ คือ กู้ยืมสินเชื่อ ซึ่งหนี้เก่าที่มีก็ไม่ได้ถูกใช้คืน ความสามารถในการชำระหนี้เดิมก็เลยลดลง

หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 80.1% คืออะไร ?

ถ้าจะให้พี่ทุยอธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าประเทศเรามีหนี้ครัวเรือน > GDP แปลว่า ประเทศมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญากู้ยืม

จากงานศึกษาของ World Bank ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 77% ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงในระยะยาว ตัวอย่าง กรณีวิกฤติการเงินโลก ในปี 2008 ซึ่งช่วงนั้นหนี้ครัวเรือนสูงราว ๆ 100% ของ GDP (โดยเฉพาะหนี้จากการกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์) ถึงแม้ว่าต้นตอของปัญหาจะต่างจากวิกฤติที่เราเจอในตอนนี้ แต่วิกฤติในครั้งนั้นเกิดหนี้สูญมหาศาล เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถตามเก็บหนี้ได้จึงสูญเสียความน่าเชื่อถือและเป็นจุดเปลี่ยนของการกำกับนโยบายการเงินทั่วโลก

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 การกู้เงินของไทยอยู่ในเกณฑ์สูง ยอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 12,829,199 ล้านบาท พอเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ก็เพิ่มขึ้นเป็น  13,479,197 ล้านบาท

สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนประกอบด้วย
กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 44%
กู้เพื่อซื้อหรือเช่ายานยนต์ 17%
กู้เพื่อการศึกษา 4%
บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 9%
กู้เพื่อประกอบอาชีพ 24%
และเงินกู้เพื่ออื่น ๆ 2% 

สิ่งที่น่ากังวล คือ ‘คุณภาพหนี้’ ที่จะกลายเป็นหนี้สูญ (NPL) ที่ไม่สามารถใช้คืนได้ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ภาครัฐมีโครงการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งแบงก์ชาติพบว่า ผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีภาระหนี้สูง และมีคุณภาพหนี้ด้อยกว่าคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

ซึ่งคนที่แบงก์ชาติมองว่า น่าจะมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) คือ

1.  ผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนหนี้สูงและเข้าร่วมมาตรการหนี้เสีย
2. ผู้กู้ที่เข้าร่วมมาตรการลดอัตราการชำระหนี้ มีการเปิดหลายบัญชีแต่ใช้บริการสถาบันการเงินแค่ 1-2 แห่ง
3. ผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการมีประวัติการชำระหนี้ในระยะเวลา 12 เดือน ด้อยกว่าผู้กู้ในระบบสินเชื่อที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยทั้งหมดของผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 70.5% เป็นการขอเลื่อนชำระซึ่งอาจสะท้อนถึงการมีปัญหาในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ความสามารถในการชำระ “หนี้ครัวเรือน” สูงลดลง มีผลกระทบอะไรบ้าง ?

ในมุมของคนที่ต้องการกู้เงินเพื่อรักษาสภาพคล่องในตอนนี้ พี่ทุยมองว่าก่อนตัดสินใจกู้ต้องคิดให้ดีก่อน เช่น ถ้าคิดจะหู้เงินเพื่อบริโภคระยะสั้น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นแทน หรือเลือกกู้ระยะยาวจะดีกว่า แม้ว่าสถาบันการเงินจะออกสินเชื่อที่ดึงดูดใจแต่ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ ผลเสีย คือ เครดิตทางการเงินจะไม่ดี เมื่อจำเป็นต้องกู้เรื่องใหญ่ ๆ ในอนาคตก็อาจถูกปฏิเสธไม่ให้กู้ได้ เป็นแบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ 

สำหรับใครที่มีหนี้ ต้องบริหารจัดการหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เมื่อเกิดภาวะหนี้สูงกว่ารายได้ต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่ม ถ้าจำเป็นต้องใช้สินเชื่อ ในช่วงเวลาที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น การเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับระยะเวลาผ่อนและดอกเบี้ยก็เป็นทางออกเพื่อรักษาสภาพคล่อง

ถ้าคิดจะกู้เงินเพิ่มเพื่อชดใช้หนี้เก่า โดยไม่ได้ดูเงื่อนไขอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงเด็ดขาด ถ้าภาระหนี้ที่แบกรับเกินจะทนไหว พี่ทุยแนะนำว่าควรเลือกไปเจรจาต่อรองและหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ให้น้อยลง

ถ้าคนหันไปกู้เงินในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว จนผิดนัดชำระหนี้แล้วกลายเป็นหนี้เสีย ธนาคารก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ต้องปรับเพิ่มเงินสำรองมากขึ้น กำไรของธนาคารก็จะลดลง สิ่งที่ตามมา คือ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

แล้วการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เป็นการบอกว่า กำลังซื้อของครัวเรือนเริ่มมีปัญหา การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยก็จะทำได้ยากขึ้น เมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคไม่ได้ พี่ทุยว่าก็เหมือนกับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับไป 1 ตัว การหวังในเศรษฐฟื้นตัวได้แบบรวดเร็วก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าอยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วต้องให้เครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัวที่ค่อยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำงานได้อย่างเต็มที่พร้อม ๆ กัน

สถานการณ์ของเศรษฐกิจที่หดตัวและแนวโน้มฟื้นตัวช้าแบบนี้ หลายคนอาจจะเน้นเรื่องรักษาสภาพคล่องในระยะสั้น แต่พี่ทุยมองว่าในระยะกลาง-ยาว ก็สำคัญเหมือนกัน ดังนั้น การเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมทั้งระยะเวลาการจ่ายคืนและดอกเบี้ยจึงต้องศึกษาให้ดี ๆ ไม่ให้ภาระหนี้เป็นภาระที่หนักเกินไปในอนาคต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply