GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

4 min read  

ฉบับย่อ

  • กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75%
  • ธปท. ประกาศคาดการณ์ GDP ในปี 2563 มีโอกาสติดลบสูงถึง  -5.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง ปี 2008 – 2009 ช่วงที่เกิด Subprime ติดลบเพียง -0.7% เท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติที่เรารู้จักกันดีได้มีการประชุม กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) เพื่อตัดสินใจว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไหร่ ตามที่พี่ทุยได้เคยมาสรุปไว้ก็คือ คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% แต่ที่น่าเป็นห่วงสำหรับพี่ทุยคงจะเป็น ประมาณการ GDP หรือภาวะ “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทยในปี 2563 แบงก์ชาติเค้ามองว่าจะติดลบถึง 5.3% เลยทีเดียว ซึ่งพี่ทุยบอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาซะแล้วปีนี้ วันนี้พี่ทุยจะเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงได้น่าตกใจ และ -5.3% เนี่ยมันน่ากลัวขนาดไหน

GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

เริ่มแรกเลยอยากบอกว่าตัวเลขประมาณการติดลบสำหรับประเทศไทย พี่ทุยไม่ได้เห็นมานานแล้ว ครั้งสุดท้ายที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบเนี่ยมันก็ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนพอดีเลย คือในปี 2009 สมัยช่วงวิกฤต Subprime ซึ่งหลายคนก็บ่นกันเยอะแล้วว่าตอนนั้น “เศรษฐกิจ” เงียบ บอกเลยตอนนั้นแค่ -0.7 เองนะ จิ๊บๆ เลยหากเทียบกับครั้งนี้ที่ -5.3 ดังนั้นครั้งที่พอจะเทียบกับเหตุการณ์ตอนนี้ได้ก็คงจะเป็นในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งเท่านั้นแหละ เห็นกันหรือยังว่าครั้งนี้มันรุนแรงมากจริง ๆ

GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

และอีกจุดนึงที่พี่ทุยอยากจะชี้ให้ดู การปรับประมาณการครั้งนี้ลดลงจากครั้งที่แล้วค่อนข้างเยอะ จากเท่าที่ได้ติดตามประมาณการของแบงก์ชาติมาโดยตลอด ปกติปรับลดลง 0.5 นี่ก็เยอะมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ แล้ว ครั้งนี้ปรับลดจากครั้งที่แล้วถึง 7.5% จากที่เคยคิดว่าจะโต กลายเป็นติดลบเลยจ้า ถือว่าเยอะมาก ๆ ซึ่งเท่าที่ตามตอนนี้ยังไม่มีใครประเมินว่าจะลบเยอะมากเท่านี้เลย ดังนั้นในครั้งนี้พี่ทุยคิดว่าแบงก์ชาติต้องเห็นอะไรเป็นแน่แท้เลยกล้าให้เลขลบมากขนาดนี้ พี่ทุยก็เลยเอ๊ะว่า แบงก์ชาติอาจจะส่งสัญญาณอะไรหรือเปล่า

ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนที่แบงก์ชาติแถลงเนี่ยมันมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายอย่างเลย พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังกัน

GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

พาไปดูสถานการณ์ของโลกกันหน่อย ตอนนี้ไม่ต้องบอกทุกคนก็น่าจะรู้กันดีว่า Covid-19 ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้ว บางประเทศหนักกว่าเราเสียอีกอย่างพวกอิตาลี อังกฤษ นี่ต้องบอกว่าหนักจริง เจ้าฟ้าชายชาร์ลก็ติดไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ “เศรษฐกิจ” ในหลายประเทศจะแย่เหมือน ๆ ของไทย จะเห็นว่าตอนนี้นักวิเคราะห์จากทั่วโลกได้มองว่า “เศรษฐกิจ” โลกในปีหน้าจะโตแค่เพียง 0.7 % เท่านั้นเอง ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ ก็พากันติดลบหรือไม่โตแทบทั้งสิ้น อย่างกลุ่มยูโรให้ -1.9% ญี่ปุ่น -1.3% สหรัฐฯ โต 0% หรือไม่โตนั่นแหละ จะมีก็เพียงแค่จีนละมั้งที่ยังคงโตได้อยู่ อาจเป็นเพราะว่าเริ่มควบคุมโรคได้แล้ว

มาถึงตรงนี้หลายคนก็คงสงสัยว่า ต่างชาติก็แย่แหละ แต่ก็ยังลบไม่เกิน 2% เอง ทำไมไทยถึงลดลงไปถึง 5% ขนาดนี้ พี่ทุยคิดว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเราลบเยอะแบบนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ท่องเที่ยว” อย่างแน่นอน

ซึ่งพี่ทุยคิดว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะไม่ได้เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของ “เศรษฐกิจ” ไทย แต่ก็นับว่าเป็นตัวที่เติบโตได้ดีในขณะที่ตัวใหญ่ ๆ อย่างการบริโภคและการส่งออกโตไม่ค่อยดีจึงทำให้อาจพูดได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ตามไปอ่านกันที่บทความนี้ได้เลย คลิก  อาจบอกได้ว่าเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้น โควิด-19 ครั้งนี้มันกระทบต่อภาคท่องเที่ยวโดยตรงเลยหล่ะ จึงไม่ค่อยแปลกที่เราจะลงหนักกว่าคนอื่น

GDP -5.3% กับ “เศรษฐกิจ” ไทยที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

ซึ่งแบงก์ชาติเอารูปมาให้ดู 2 รูปด้วยกันบอกเลยว่าน่ากลัวมาก รูปแรกเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวรายวันจากปกติที่เคยเข้ามาวันละประมาณ 100,000 คน ในเส้นสีน้ำเงิน แต่ในปีนี้เส้นสีแดง มันลดลงเรื่อย ๆ อย่างน่ากลัวจนแทบจะติดศูนย์อยู่แล้ว ยิ่งมีประกาศ พรก. ฉุกเฉิน พี่ทุยว่านักท่องเที่ยวหายหมดแน่ ๆ

รูปที่ 2 ก็น่ากลัวไม่แพ้กัน เป็นรูปที่แสดงการจองที่พักล่วงหน้า กราฟมันตกได้ใจพี่ทุยมากจริง ๆ จากข้อมูล 2 อย่างนี้ไม่แปลกเลยที่แบงก์ชาติจะให้ประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้อยู่แค่ที่ 15 ล้านคน จากที่เคยให้ประมาณ 40 ล้านคน เรียกว่าลดไป 60% เลยทีเดียว ทำให้พี่ทุยคิดว่ามันแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะถ้านักท่องเที่ยวลดลงไปขนาดนี้ GDP มันน่าจะลดลงเยอะกว่านี้ แต่ก็เอาเถอะเพราะว่านี่ก็ลบมากสุดในตลาดแล้ว

แต่พอฟังแถลงการณ์ของแบงก์ชาติไปซักพักก็เริ่มหายข้องใจ เนื่องจากประมาณการชุดนี้ของแบงก์ชาติได้ให้ตัวหลัก ๆ เป็นลบในทุกองค์ประกอบหลักเลย ไม่ว่าจะการบริโภคหรือการส่งออก มีเพียงแค่ภาครัฐเท่านั้นแหละที่ยังเป็นบวกได้อยู่ ดังนั้นประมาณการชุดนี้น่าจะรวมมาตรการหลายอย่างของทั้งตัวแบงก์ชาติเองและของรัฐบาลที่เพิ่งออกไปแล้วจึงทำให้ไม่ลบแรงกว่านี้ แค่เห็นการบริโภคเป็นลบนี่ก็ถือว่าแบงก์ชาติกล้าให้แล้วแหละ เพราะปกติแล้วการบริโภคจะเป็นลบยากมากอย่างตอน Subprime ยังเป็นลบไม่ถึง 1% เลยด้วยซ้ำ อันนี้ให้ -1.5% ก็ถือว่าแรงอยู่ ซึ่งพี่ทุยอยากบอกว่าการที่เห็นการบริโภคเป็นลบถือว่าค่อนข้างน่ากลัวเหมือนกันนะ

นอกจากนี้แบงก์ชาติยังบอกอีกว่าสถานการณ์ข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง อาจจะแย่ได้กว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับ 3 ประเด็นก็คือ

1. เราจะควบคุมโรคได้เร็วแค่ไหน เราในทีนี้อาจไม่ได้หมายถึงประเทศไทยประเทศเดียวแต่อาจจะรวมทั้งโลกเลยก็ได้ เพราะเศรษฐกิจบ้านเราก็ขึ้นอยู่กับทั่วโลกเหมือนกัน เราก็คงได้แต่ลุ้นนะว่าจะมีวัคซีนออกมาได้โดยเร็ว หรือให้โรคหายไปอย่างรวดเร็ว

2. ความสามารถในการรองรับ shock และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเวลาที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจผู้คนจะยังสามารถอยู่รอดได้ ยังมีรายได้อยู่ ทนได้ 3 – 4 เดือน ธุรกิจยังดำเนินการต่อได้ ไม่ล้มหายตายจากไป ไม่เกิดหนี้เสียเยอะ ๆ จนเศรษฐกิจล่ม อะไรแบบนี้

ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ก็มีหลายวิธีเช่น ประชาชนมีการออมที่ดี พอเกิดปัญหารายได้หาย 3 – 4 เดือนก็ยังอยู่ได้ หรือ ธุรกิจมีเงินทุนมีการทำงบที่ดี เงินที่ใช้หมุนเวียนไม่ได้มาจากหนี้ หรือกระทั่งประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพหลายอย่าง สมมุติโรงงานส่งออกไม่ได้ ก็ย้ายไปภาคบริการได้ อะไรแบบนี้ หากทำแบบนี้มันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วมาก ๆ เหมือนเล่นเกมส์แล้วกดหยุดไว้ ก็ไม่ต้องเก็บเลเวลไม่ต้องสร้างอาวุธใหม่นั่นแหละ แต่ถ้ารองรับไม่ได้ธุรกิจตายไปการฟื้นตัวก็จะช้ามาก เพราะเหมือนเราต้องเริ่มเล่นเกมส์ใหม่ต้องสร้างตัวใหม่ลงทุนใหม่

ถ้าในระดับภาพใหญ่ระดับโลก พี่ทุยคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับประเทศไทย เพราะโดยปกติแล้วเวลาที่เศรษฐกิจแย่ลูกจ้างต้องหยุดงาน พักงาน ลดเงินเดือน ไล่ออก ลูกจ้างส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกกลับบ้านไปทำเกษตรก่อนดีกว่า ยังไงก็มีงานทำแน่ ๆ มีรายได้ แต่ปีนี้ประเทศไทยเราต้องบอกว่าโชคร้ายในโชคร้ายจริง ๆ เพราะว่ามีปัญหาภัยแล้งทำให้ภาคเกษตรปลูกอะไรได้น้อยมากจึงต้องการแรงงานน้อยตามลงไป แต่ก็ยังดีที่ตอนนี้พอมีลู่ทางอย่างอื่นให้ทำบ้าง เช่น การขับรถซื้ออาหารส่งตามบ้าน ทำให้พี่ทุยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการรองรับได้มากแค่ไหน ประเด็นนี้เลยค่อนข้างน่าเป็นห่วง

3. มาตรการการคลังของประเทศ โดยปกติในช่วงที่เกิดวิกฤตนี่แหละที่มาตรการการคลังจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ที่มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากใช้ได้ตรงจุดกว่านโยบายการเงินเยอะ เรียกว่าใช้ปุ๊ปถึงมือประชาชนปั๊บ แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้อีก

ซึ่งแบงก์ชาติได้บอกว่าประมาณการชุดนี้ยังไม่รวมมาตรการที่จะออกเพิ่ม และจากข้างบนที่พี่ทุยเล่าไป ก็สื่อได้กลาย ๆ ว่า ตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนประมาณการคือ “มาตรการการคลัง” พี่ทุยว่าแบงก์ชาติก็คงไม่ต่างจากเราหรอกที่กำลังรอและส่งสัญญาณหาภาครัฐว่าถึงคราวจำเป็นแล้วนะ ออกมาตรการมาช่วยกันหน่อย ทางแบงก์ชาติเองก็ใช้นโยบายการเงินเยอะแล้ว อันนี้แบงก์ชาติไม่ได้กล่าวแต่พี่ทุยกล่าวเอง (ฮ่า)

โดยสรุปแล้ว ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 แบงก์ชาติให้ GDP -5.3% ถือว่าเยอะมากและเป็นผู้นำตลาดในตอนนี้เลยที่ให้ลบขนาดนี้ โดยปกติแบงก์ชาติไม่ได้ปรับลดลงมากแบบนี้ แสดงว่ามันต้องมีอะไรแน่นอน ซึ่งปัญหาของการติดลบครั้งนี้มาจากภาคท่องเที่ยวที่ดูน่ากลัวมาก เรียกว่านักท่องเที่ยวแทบจะเหลือศูนย์ รวมถึงการบริโภคที่เป็นลบไปเรียบร้อยอันนี้ก็น่ากลัวเช่นกัน แต่ยังไงก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ติดลบมันเป็นกันแทบทั้งจะโลกเลยล่ะ

ดังนั้นเหตุการณ์จะดีขึ้นหรือแย่ลงมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับปัญหา โควิด-19 นี้ได้เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความอึดของแต่ละประเทศว่าจะทนกับเศรษฐกิจแย่ ๆ แบบนี้ได้นานขนาดไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ลบเยอะกว่านี้แน่นอน และสุดท้ายขึ้นอยู่กับมาตรการการคลังจากภาครัฐที่ทุกคนรอคอยด้วย

พี่ทุยอยากแนะนำว่าตอนนี้แค่เริ่มต้นเท่านั้น อยากให้ทุกคนเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่แย่แบบนี้ไปอีกนาน ธุรกิจหลายอย่างต้องรู้จักปรับตัวให้เร็ว และเริ่มลดรายจ่ายทีไม่จำเป็นออก พวกเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน จริง ๆ แล้วประมาณการนี้ยังมีแสงสว่างอยู่ที่ปีหน้า ไว้ถ้ามีโอกาสพี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่า ปีหน้าแบงก์ชาติเห็นอะไรจึงอยากให้โตกลับมาได้ถึง 3%

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply