Aston Martin แบรนด์รถหรูจากอังกฤษที่โด่งดังจากการเป็นรถในหนังสายลับ James Bond กำลังเผชิญปัญหาหนี้สูง แถมทำธุรกิจขาดทุนติดต่อกันหลายปี เหล่านักลงทุนกำลังกังวลว่าบริษัทจะสามารถเอาตัวรอดจากหนี้ครั้งนี้ได้อย่างไร และธุรกิจจะกลับมามีกำไรได้หรือไม่?
วันนี้พี่ทุยจะพาไปดูปัญหาของแบรนด์หรูนี้กันหน่อยว่าพอมีทางรอดเหลืออยู่หรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!!!
Aston Martin กำลังเจอหนี้หนักแค่ไหน
พี่ทุยขอพาไปดูว่าเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดแล้วบริษัทจะทำอย่างไรต่อ? ปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อระดมเงินมาคืนหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนด ที่เรียกว่าการรีไฟแนนซ์ แต่จะเป็นปัญหาเมื่อมีหุ้นกู้หลายฉบับครบกำหนดในปีเดียวกัน แถมยังเป็นปีที่ดอกเบี้ยของหุ้นกู้ออกใหม่สูงกว่าดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ทำให้บริษัทมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ในปี 2025 แอสตัน มาร์ติน มีหุ้นกู้ครบกำหนด ประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์ โดยมีภาระดอกเบี้ยปีละ 120 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้ต้องชำระคืนอีก 99.8 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2026 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 121 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มีเงินสดอยู่ประมาณ 500.2 ล้านดอลลาร์ ส่วนกระแสเงินสดแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะธุรกิจขาดทุนมาหลายปี แต่ถึงแม้มีเงินสดน้อยกว่าหนี้ ก็จะไม่มีปัญหาเลยถ้ารีไฟแนนซ์ได้
อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกัน ทำให้สถานะการเงินอ่อนแอ นักลงทุนไม่กล้าซื้อหุ้นกู้ออกใหม่ เพราะกังวลว่าบริษัทจะไม่มีเงินมาคืนเมื่อครบกำหนด ปัญหาหนี้ก้อนนี้เลยน่ากังวลขึ้นมาทันที
ทำไม Aston Martin ถึงเจอวิกฤติแบบนี้
บริษัทขาดการขยายกำลังการผลิตเพื่อให้ใช้ต้นทุนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีผลขาดทุนระดับร้อยล้านดอลลาร์ติดต่อกันมาแล้ว 5 ปี แม้ปี 2023 จะทำได้ดีขึ้น มีผลขาดทุน 229 ล้านดอลลาร์ จากปี 2022 ที่ขาดทุน 580 ล้านดอลลาร์ แต่ยังไงผลขาดทุนก็ทำให้สถานะการเงินเลยย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
แถมเป้าหมายเปิดตัวรถยนต์ EV คันแรกของค่ายในปี 2025 ซึ่งรับการสนับสนุนเทคโนโลยีจาก Lucid และ Mercedes ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2026 เพราะความต้องการรถยนต์สปอร์ต EV ยังต่ำ
โดย CEO เผยว่าแม้มีความต้องการรถยนต์ EV แต่ลูกค้ายังอยากได้ความรู้สึกและเสียงเครื่องยนต์ของรถสปอร์ต เรียกว่าเลื่อนเวลาบุกตลาดใหม่ที่อาจเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจออกไปอีก 1 ปี
แต่ปัญหาหลักที่เข้ามาซ้ำเติมจนกลายเป็นวิกฤติ คือ อัตราดอกเบี้ย ก่อนหน้านี้บริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ ซึ่ง Aston Martin เป็นหนึ่งในนั้น ใช้ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ออกหุ้นกู้ประเภท High yield ระดมทุนมาใช้ดำเนินธุรกิจ
แต่แล้วอัตราดอกเบี้ยก็ถูกปรับขึ้นสูงและรวดเร็ว เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อที่สูง ถึงแม้จะหยุดยั้งอัตราเงินเฟ้อสำเร็จ แต่ก็กระทบ แอสตัน มาร์ติน เช่นกัน ทั้งในแง่ต้นทุนการเงินสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยและสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงส่งผลต่อสถานะการเงินบริษัท
แอสตัน มาร์ติน กำลังแก้ไขปัญหายังไง
บริษัทระดมเงินได้ 960 ล้านดอลลาร์ จากการออกหุ้นกู้ใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ย 10% ต่อปี และ 506 ล้านดอลลาร์ จากหุ้นกู้ใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ย 10.375% ต่อปี ซึ่งหุ้นกู้ทั้ง 2 ฉบับ จะครบกำหนดในปี 2029 ซึ่งต้นทุนการเงินไม่ต่างจากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2025 ที่จ่ายดอกเบี้ย 10.5% ต่อปี
การระดมเงินครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถต่ออายุหนี้ก้อนนี้ไปอีก 5 ปี โดยหวังว่าในระหว่างนี้ผู้บริหารจะพลิกฟื้นธุรกิจได้
แอสตัน มาร์ติน มีแผนเพิ่มรายได้ไปแตะระดับ 3,200 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า จากปี 2023 ที่มีรายได้ 2,081 ล้านดอลลาร์ และมี EBITDA ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ จากปี 2023 ซึ่งทำได้แค่ 24.6 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ แอสตัน มาร์ติน เพิ่มทุนหลายครั้ง เมื่อปี 2020 ได้ผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ที่ชื่อ Lawrence Stroll เศรษฐีชาวแคนาดา จากนั้นในปี 2022 กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียที่ถือหุ้นบริษัทรถยนต์ EV ชื่อ Lucid เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และปี 2023 Shu Fu Li เจ้าของ Geely บริษัทรถยนต์ EV จากจีนก็เข้ามาถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 แต่ยังไม่เพียงพอจะกู้สภาพการเงินของบริษัทได้ ทำให้จากนี้ แอสตัน มาร์ติน ต้องทำให้บริษัทมีกำไร มิฉะนั้นคงไม่มีโอกาสยืดหนี้ซื้อเวลาอีกต่อไป
นักวิเคราะห์มองอย่างไร ทางรอดยังมีเหลือหรือไม่?
นับตั้งแต่ปี 2010 ตลาดรถหรูระดับบนเติบโต 15-25% ต่อปี ด้วยจำนวนผู้มีรายได้สูงและเศรษฐีที่เพิ่มขึ้น สถาบัน Fitch Ratings คาดว่าอัตราการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นไปอีก และมองว่า Aston Martin มีความได้เปรียบจากการได้เทคโนโลยีรถยนต์ EV จาก Mercedes และ Lucid พร้อมผู้ถือหุ้นเงินทุนหนาอย่างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียและ Shu Fu Li
ด้าน HSBC มองว่า แอสตัน มาร์ติน มีอนาคตค่อนข้างดี แต่แผนธุรกิจที่ยังมองไม่เห็นจุดที่บริษัทจะไม่ต้องพึ่งพาการใช้เงินทุนจากภายนอกได้ ส่วน Berstein Research เป็นอีกเสียงที่มองเห็นพัฒนาการของ แอสตัน มาร์ติน แต่ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะพลิกกระแสเงินสดอิสระให้เป็นบวก ซึ่งมีโอกาสทำได้จากการเปิดตัวรถใหม่ในปีนี้
พี่ทุยมองว่า แอสตัน มาร์ติน มีทางรอดที่เปิดกว้างจากตลาดที่ทำธุรกิจอยู่ค่อนข้างเป็นใจ แถมมีทรัพยากรทั้งเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่ไม่เป็นรองใคร เพียงแต่จะคว้าโอกาสได้หรือไม่
อ่านเพิ่ม