เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวอินฟลูเอนเซอร์คนดัง ซื้อทัวร์ส่วนตัวไปเที่ยว แต่ปรากฏว่ามัคคุเทศก์ที่นำเที่ยวนั้น เป็นไกด์ปลอม ไม่มีใบอนุญาต แถมบริษัททัวร์ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวหมดอายุ วันนี้ พี่ทุยก็เลยจะพามาล้วงลึกเกี่ยวกับ อาชีพไกด์ กันหน่อย ไกด์จริงต้องมีใบอนุญาตอะไรบ้าง แล้วรายได้ที่เกิดขึ้นในอาชีพไกด์มันเยอะแค่ไหน
คนทำอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยวเยอะแค่ไหน
ก่อนอื่น พี่ทุยขอพาไปดูภาพกว้างกันก่อนว่า ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก มีคนทำงานกันเยอะแค่ไหน โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ Statista.com พบว่า ในปี 2019 ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 มีคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 334 ล้านคน แต่หลังจากนั้นก็ลดลงไป
โดยในปี 2022 จำนวนคนทำงานในภาคท่องเที่ยวทั่วโลก อยู่ที่ 295 ล้านคน คาดการณ์ว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา จำนวนคนทำงานในภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับก่อนโควิดแล้วที่ 320 ล้านคน ขณะที่ในปี 2033 หรือ 10 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า จะมีคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก 430 ล้านคน
ขณะที่ เว็บไซต์ gitnux.org ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลสถิติ การตลาดต่าง ๆ เปิดเผยสถิติอุตสาหกรรมไกด์ทัวร์ทั่วโลก ปี 2019 ในช่วงก่อนโควิด-19 พบว่า มีมูลค่า 783.5 ล้านดอลลาร์ โดยจากข้อมูลการสำรวจนักท่องเที่ยวในปีเดียวกัน พบว่า 85% ของนักท่องเที่ยว ระบุว่า ไกด์ทัวร์มีความสำคัญต่อคุณภาพของทัวร์ ขณะเดียวกัน คาดว่า หลังผ่านพ้นโควิด-19 แล้ว ในช่วงปี 2021-2026 อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ที่ 12.1% ต่อปี โดยมียุโรป ที่ครองส่วนแบ่งตลาดบริการไกด์ทัวร์สูงสุด คิดเป็น 38% ของทั่วโลก
เมื่อกลับมาดูในไทย จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด ประเทศไทย มีการจ้างงานในด้านการท่องเที่ยว 4,366,392 คน คิดเป็น 11.61% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยสัดส่วนที่มากที่สุดจะเป็นการจ้างงานด้านการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีอยู่ 52.3% รองลงมาคือ การบริการโรงแรมและที่พัก 13% ขณะที่ การบริการด้านตัวแทนบริษัทนำเที่ยว อยู่ที่ 71,674 คน หรือ 1.6%
เมื่อไปดูสถิติล่าสุดที่เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว (บริษัททัวร์) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ และการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยวของไทยล่าสุดถึงวันที่ 31 มี.ค.2024 มีดังนี้
- ธุรกิจนำเที่ยว ที่ได้รับใบอนุญาต 13,736 ราย
- มัคคุเทศก์ ที่ได้รับใบอนุญาต 54,876 คน
- ผู้นำเที่ยว 38,676 คน
ที่มา : กรมการท่องเที่ยว
เห็นตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า เป็นไกด์ รายได้มันดีมั้ย พี่ทุยก็ต้องบอกว่า รายได้ของคนทำอาชีพไกด์แต่ละคนนั้น ก็มากหรือน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินที่สะสมมา เครือข่ายพันธมิตรที่มี
สำหรับไกด์ ที่เป็นพนักงานประจำของบริษัททัวร์ก็จะมีรายได้คล้ายคลึงกับพนักงานบริษัททั่ว ๆ ไป ที่ได้เป็นเงินเดือนประจำ ซึ่งก็จะเริ่มต้นตั้งแต่อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท จากนั้นก็ปรับขึ้นตามประสบการณ์ที่สั่งสมมา
โดยอาจมาพร้อมสวัสดิการต่าง ๆ ที่บริษัทมอบให้ รวมถึงอาจจะได้ค่าจ้างพิเศษเพิ่มเติม ตามจำนวนรอบการนำเที่ยวแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าตอนว่าจ้าง ตกลงกันไว้อย่างไร นอกจากนี้ ก็อาจจะได้ค่านายหน้าเพิ่มเติม จากบริษัท หรือร้านค้า ที่พานักท่องเที่ยวไปซื้อของ ทำกิจกรรม ชมการแสดง หรือท่องเที่ยวด้วย
ส่วนไกด์อิสระ ที่บริษัททัวร์อาจจะไม่ได้จ้างเป็นพนักงานประจำ แต่ว่าจ้างเป็นครั้งคราวตามงานที่มีเข้ามา ก็จะได้ค่าจ้างเป็นรายครั้ง รวมทั้งค่านายหน้าในการพานักท่องเที่ยวไปใช้จ่ายกับบริษัทหรือร้านค้าต่าง ๆ
พี่ทุยต้องบอกว่า ในช่วงที่เกิดโควิด-19 อาชีพไกด์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบสาหัสทีเดียว เพราะเมื่อคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ได้ คนต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยก็ไม่ได้ ไกด์ก็เลยไม่มีงานทำ มีหลายคนที่ตกงานในช่วงเวลานั้น หรือต้องเอาตัวรอดด้วยการไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อหารายได้ประทังชีวิตแทน
คนไทยอยากทำ อาชีพไกด์ ต้องเริ่มยังไง
สำหรับใครที่คิดจะทำบริษัททัวร์ รวมถึงเป็นไกด์ ไม่ใช่อยู่ ๆ นึกจะทำนึกจะเป็น ก็ทำได้เลย เพราะต้องมีใบอนุญาตก่อน โดยที่การขอใบอนุญาตนั้น ก็จะมีกฎเกณฑ์ที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ ทั้งในแง่การวางเงินหลักประกัน การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น ต้องมีใบสั่งงานไกด์ (Job Order) และส่งให้นายทะเบียนตรวจสอบทุกครั้งก่อนจัดการนำเที่ยว โดยที่ไกด์เอง ก็จะต้องมีใบ Job Order ไว้พร้อมให้นายทะเบียนตรวจสอบได้ด้วย
ในส่วนของใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยว จะมี 4 แบบ โดยแต่ละแบบก็จะต้องมีการวางเงินหลักประกันเอาไว้ ดังนี้
1.แบบทั่วไป ที่นำเที่ยวได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ต้องวางเงินหลักประกัน 60,000 บาท
2.แบบนำเที่ยวจากต่างประเทศ ที่สามารถนำเที่ยวได้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้ามาเที่ยวในไทยเท่านั้น
ต้องวางเงินหลักประกัน 30,000 บาท
3.แบบในประเทศ ที่นำเที่ยวได้เฉพาะในไทยเท่านั้น
ต้องวางเงินหลักประกัน 15,000 บาท
4.แบบเฉพาะพื้นที่ ที่นำเที่ยวในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดนั้นได้เท่านั้น
ต้องวางเงินหลักประกัน 3,000 บาท
ทั้งนี้ ในการทำทัวร์ เวลาที่โฆษณาขายทัวร์ทุกครั้ง ไม่ว่าจะช่องทางไหน ผู้ประกอบการต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ชื่อ สถานที่ตั้ง ให้นักท่องเที่ยวทราบ ทั้งยังต้องใช้ไกด์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องเท่านั้น
อาชีพไกด์ มีใบอนุญาตแบบไหนบ้าง
คราวนี้ ถ้ามาดูเงื่อนไขของการทำอาชีพไกด์ในไทยกันบ้าง โดยพี่ทุยต้องบอกก่อนว่า คนที่ทำอาชีพนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวด้วย โดยในไทย จะแบ่งใบอนุญาตไกด์เป็น 3 ประเภทคือ
1. มัคคุเทศก์ทั่วไป – นำเที่ยวได้ทั่วประเทศ
คุณสมบัติ – ต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวครอบคลุมทุกสาขา และนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร
2. มัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค – นำเที่ยวได้เฉพาะในภูมิภาคที่ระบุในใบอนุญาต
คุณสมบัติ – มีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวเฉพาะภายในภูมิภาคในใบอนุญาต และนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ได้เฉพาะภายในภูมิภาคตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น
3. มัคคุเทศก์ท้องถิ่น – นำเที่ยวได้เฉฑาะในท้องถิ่น หรือชุมชนที่กำหนด
คุณสมบัติ – มีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวเฉพาะภายในเขตพื้นที่ท้องถิ่น หรือชุมชน ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 12(4) และนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ได้เฉพาะภายในเขตพื้นที่ท้องถิ่น หรือชุมชนตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น
ก่อนที่จะขอใบอนุญาตเป็นไกด์แต่ละแบบได้นั้น ก็ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่กำหนดและสอบผ่านเสียก่อน ขณะที่การปฏิบัติงานก็จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งก็รวมถึงต้องแสดงใบอนุญาต หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า บัตรไกด์ ให้เห็นชัดเจนด้วย
ทั้งนี้ ทั้งใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ ล้วนแต่มีวันหมดอายุ ที่จะต้องมีการต่ออายุด้วย ในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ หากดำเนินการในช่วงดังกล่าว ก็จะถือว่ามีความผิดทันที เช่นเดียวกับการดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาต ในฐานะที่ทำบริษัททัวร์เเถื่อน และเป็นไกด์เถื่อน
- หาก ทำทัวร์เถื่อน จะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณี เป็นไกด์เถื่อน ก็มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ทุยขอให้ข้อสังเกตไว้ว่า มีอีกอาชีพหนึ่งที่คนมักสับสนกับอาชีพไกด์ และมักถูกเรียกเหมารวมว่าไกด์ในบางครั้ง นั่นก็คือ ผู้นำเที่ยว หรือหัวหน้าทัวร์ (Tour Leader) ซึ่งจะเป็นคนที่รับผิดชอบดูแลและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกอาชีพงานที่ต้องได้รับใบอนุญาตเช่นเดียวกับไกด์ จึงจะทำงานนี้ได้
วิธีตรวจสอบว่า ไกด์จริง vs ไกด์ปลอม
จะเห็นได้ว่า คิดอยากจะทำทัวร์ อยากจะเป็นไกด์ หรืออยากจะนำคนไทยเที่ยวต่างประเทศ ล้วนต้องผ่านด่านเรื่องใบอนุญาตทั้งสิ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ก็ยังมีคนที่ทำทัวร์เถื่อน ไกด์เถื่อนให้เห็นอยู่เกลื่อนกลาด ฉะนั้น ในฐานะที่เราจะไปใช้บริการบริษัททัวร์ หรือใช้บริการไกด์ เพื่อความแน่ใจว่าไม่เจอของเถื่อน ก็ต้องเช็คให้ชัวร์ก่อน
โดยที่สามารถตรวจเช็คได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว คือ www.dot.go.th ซึ่งพอเปิดหน้าเว็บไซต์มา ก็จะมีหัวข้อตรงมุมด้านขวา License Check ให้เราสามารถตรวจสอบใบอนุญาตทัวร์ ไกด์ และหัวหน้าทัวร์ได้ จะได้มั่นใจว่า ไม่เจอ “ทัวร์ทิพย์” ซื้อแล้วไม่ได้ไปจริง ไปแล้วไม่โดนหลอกไปเชือด ฟันค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหัวแบะ เป็นต้น
วิธีการตรวจสอบธุรกิจนำเที่ยวนั้น ก็จะกรอก เลขที่ใบอนุญาต ชื่อธุรกิจนำเที่ยว หรือชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพื่อค้นหา
ส่วนการตรวจสอบใบอนุญาตมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ก็จะใช้เลขที่ใบอนุญาต หรือชื่อ-นามสกุล ค้นหา
สำหรับปัญหา ทัวร์เถื่อน และไกด์เถื่อนนั้น เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมายาวนาน ยิ่งการท่องเที่ยวขยายตัว ปัญหานี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย เพราะใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว
ในส่วนของทัวร์เถื่อน ก็มีทั้งที่เป็นคนไทยทำเอง และคนต่างชาติเข้ามาทำ โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์เถื่อน ไกด์เถื่อนจากจีน รัสเซีย ที่เป็นปัญหาหนักมายาวนาน ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมาพร้อมกับ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” คือ ทำแพ็กเกจราคาถูกขายผ่านตัวแทนขายในประเทศต้นทาง หรือบางครั้งอาจจะให้ค่าหัวที่ขายได้กับตัวแทนขายต้นทาง จนแทบไม่ได้กำไรอะไรเลยจากแพ็กเกจทัวร์นั้น เพื่อหวังจะมาตักตวงเงินจากค่าใช้จ่ายที่จะบังคับขู่เข็น ดึงคนที่หลวมตัวมาเที่ยวด้วยต้องจ่ายตลอดการเดินทาง
โดยบังคับพาไปใช้บริการ ท่องเที่ยว ใช้จ่ายเบ็ดเสร็จครบวงจร ในสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถานที่ช้อปปิงที่เป็นเครือข่ายของตัวเอง ซึ่งก็เป็นธุรกิจของคนในชาติด้วยกันที่มาเปิดในไทย โดยที่ก็อาจจะคิดราคาสินค้าและบริการสูงลิ่วเพื่อเอากำไร ในขณะที่สินค้าก็ไม่ได้มีคุณภาพนัก
ส่วนไกด์ที่ใช้ก็เป็นไกด์จากประเทศตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไกด์เถื่อน เพราะอาชีพไกด์ เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย แต่ในบางครั้ง ก็มีการบังหน้าด้วยการจ้างไกด์ไทยราคาถูกๆ ทำหน้าที่แค่นั่งในรถบัส พอเป็นพิธี เสมือนว่า มีไกด์ถูกกฎหมายให้บริการแล้ว ทั้งที่จริงไม่ได้ทำหน้าที่แนะนำ ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์เลยแม้แต่น้อย
ส่วนปัญหาไกด์เถื่อนที่เจอกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือในแหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ ของประเทศ ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปมาก ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา หรือ ภูเก็ต ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากปัญหาเหล่านี้ คือ การท่องเที่ยวไทยก็เสียภาพลักษณ์ไปด้วย เพราะหลายๆ ครั้ง การที่คนกลุ่มนี้เข้ามาประกอบอาชีพโดยไม่ถูกต้อง หากินกับนักท่องเที่ยว ก็มีการเผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นไทยแบบไม่ถูกต้อง หลายครั้งเลยเถิดไปถึงขั้นต้มตุ๋น ทิ้งนักท่องเที่ยว ซ้ำยังพาลมาข่มขู่ทำร้ายร่างกายไกด์จริงอีกต่างหาก
อ่านเพิ่ม