เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ลิ้มลองความอร่อยของขนมขบเคี้ยวข้าวตังหมูหยอง ที่มีชื่อแบรนด์ว่า “เจ้าสัว” ซึ่งขายดิบขายดี มีขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป จนตอนนี้บริษัทเจ้าของกำลังเปลี่ยนร่างเป็นบริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่ามกลางโอกาสจากตลาดขนมขบเคี้ยวที่กำลังเติบโตแรง แล้ว IPO เจ้าสัว คราวนี้ มีอะไรน่าสนใจ โอกาสเติบโต และส่องรายได้กำไรเป็นยังไง ไปฟังกัน
ความเป็นมา IPO เจ้าสัว บริษัทขนมขบเคี้ยว
บริษัท เตีย หงี่ เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เจ้าของขนมขบเคี้ยวแบรนด์ “เจ้าสัว” ที่ส่งมอบความอร่อยสู่ชาวไทยมานานกว่า 66 ปี มีจุดเริ่มต้นจากอากงเพิ่ม แซ่เตีย ชาวจีนที่อพยพเข้ามาหาโอกาสในเมืองไทย
เริ่มทำกิจการขายของชำ เมื่อเวลาผ่านไปการแข่งขันสูงขึ้นจึงต้องปิดกิจการ จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปจังหวัดนครราชสีมา ได้เห็นว่าชาวบ้านนิยมเลี้ยงหมูและมีราคาสูง ในปี 2501 จึงเริ่มกิจการแปรรูปเนื้อหมูเป็นหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ส่งขายตลาดกรุงเทพฯ ต่อมาเปลี่ยนมาขายในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น
ปี 2516 ขยายกิจการสร้างอาคารพาณิชย์เป็นร้านขายของฝากพร้อมสร้างโรงงาน และจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เตีย หงี่ เฮียง กิจการเติบโตมาจนถึงปี 2539 เปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนสู่บริษัท เตีย หงี่ เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด
ปี 2541 เปิดตัวผลิตภัณฑ์ข้าวตังเจ้าสัว พร้อมเติบโตสวนกระแสแม้ประเทศไทยต้องเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังได้ขนมข้าวตังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวฮ่องกง ซึ่งต่อมาบริษัทได้ส่งออกทั้งข้าวตัง หมูหยอง และหมูแผ่นไปจำหน่ายที่ฮ่องกง
และปี 2551 หลังขยายสาขาจำหน่ายสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และนครราชสีมา บริษัทเริ่มมีเฟรนไชส์ตามปั๊ม ปตท. และในปี 2552 ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและหรูหรา พร้อมได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวตัง หมูหยอง หมูแผ่น และกุนเชียง พร้อมมีสาขา Stand Alone 5 สาขา สาขาในห้างสรรพสินค้าและปั๊ม ปตท. 11 สาขา และมีสินค้าจำหน่ายทั่วประเทศไทยผ่านห้างค้าปลีก ค้าส่ง และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
และแล้วไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทเจ้าของแบรนด์ “เจ้าสัว” และ “โฮลซัม” กำลังเดินหน้าไปอีกขั้น เตรียมเสนอขายหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยชื่อ บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO
เปิดจุดเด่นของบริษัทเจ้าสัว
ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
- ขนมขบเคี้ยว เช่น ข้าวตัง หมูแท่ง ผลิตภัณฑ์หนังปลา และแครกเกอร์ธัญพืช ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ในไตรมาส 1 ปี 2567 สร้างรายได้ให้บริษัทคิดเป็น 80.8% ของรายได้ทั้งหมด
- ผลิตภัณฑ์อาหาร คือ อาหารพร้อมปรุง เช่น กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอกอีสาน แหนม และอาหารพร้อมทาน เช่น หมูหยอง หมูสวรรค์ หมูเส้นฝอย และหมูทุบ
เจ้าสัวมีจุดเด่นคือ การเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีรสชาติหลากหลาย และปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค
ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวตังซึ่งเป็นสินค้าชูโรงที่มี 5 รสชาติมาตรฐานยืนพื้น แล้วยังมีการออกรสชาติใหม่เพื่อสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้เข้ามาลองของใหม่ ที่สำคัญด้วยความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนานทำให้มีรสชาติที่ลอกเลียนแบบยาก
นอกจากนี้ยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลากหลายช่องทาง ช่วยทั้งสร้างโอกาสเติบโตและกระจายความเสี่ยงไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
1. ร้านค้าปลีกและส่งสมัยใหม่กว่า 24,000 สาขาทั่วประเทศ
2. ร้านค้าปลีกดั้งเดิม 10,000 สาขา
3. ส่งออกต่างประเทศกว่า 12 ประเทศ
และ 4. ช่องทางออนไลน์
IPO เจ้าสัว เอาเงินไปทำอะไรบ้าง ? เริ่ม IPO เมื่อไหร่
การเข้า IPO ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้จะขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 87.68 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.2% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว โดยแบ่งการเสนอขายครั้งนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 46.94 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 40.74 ล้านหุ้น
เงินจากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับการเปิดตลาดต่างประเทศโดยก่อสร้างใหม่ผลิตสินค้ากลุ่ม Non-Pork และติดตั้งตู้อบสายพาน พัฒนาระบบอัตโนมัติ และปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ คาดว่าปี 2568 จะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 9,600 ตันต่อปี จากเดิมในปี 2566 มีกำลังการผลิตที่ 5,900 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงคืนเงินกู้สถาบันการเงิน
การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการยกระดับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคตซึ่งอาจมาในรูปแบบการร่วมทุนหรือเปิดตลาดในต่างประเทศง่ายขึ้น อีกทั้งมีโอกาสได้บุคลากรระดับมืออาชีพมาร่วมงานมากขึ้น
โดย บมจ. เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 9 ก.ค. 2567 มีทุนจดทะเบียน 304 ล้านบาท บริษัทเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 87,684,100 หุ้น ราคา IPO หุ้นละ 11.80 บาท โดยเปิดการเสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค. 2567
โอกาสเติบโตของแบรนด์เจ้าสัว
ปี 2565 ตลาดขนมขบเคี้ยวมีมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งแบรนด์ “เจ้าสัว” ครองอันดับ 1 ตลาดข้าวตัง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 78.5% เช่นเดียวกับตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากหมูด้วยส่วนแบ่งตลาด 57.2% แม้จะครองความเป็นผู้นำตลาดแต่บริษัทสามารถคว้าโอกาสเติบโตจากตลาดในประเทศได้อีก ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Frost & Sullivan ที่คาดว่าระหว่างปี 2565-2570 ตลาดข้าวตังจะเติบโตเฉลี่ย 14.6% และตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากหมูอยู่ที่ 23%
นอกจากนี้ปริมาณการบริโภคขนมขบเคี้ยวของประเทศไทยอยู่ที่ 2.2 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วและประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ซึ่งบริโภคที่ 32.2 กิโลกรัมต่อปี ออสเตรเลียที่ 10.4 กิโลกรัมต่อปี เกาหลีใต้ 7.4 กิโลกรัมต่อปี หรือจีน 3.8 กิโลกรัมต่อปี
ด้วยข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าตลาดขนมขบเคี้ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ในอีกด้านด้วยขนาดการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่สูงในต่างประเทศ แถมข้าวตังยังเป็นขนมขบเคี้ยวที่แปลกใหม่สำหรับต่างชาติ ถือเป็นโอกาสให้บริษัทคว้าโอกาสเติบโตได้อีกมากมายจากการบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสินค้าส่งออกไม่กี่รายการ
ส่วนช่องทางออนไลน์ เช่น Tiktok Shop, Shopee, Lazada, Facebook Live ช่วยให้บริษัทคว้าโอกาสการเติบโตจากเทรนด์พฤติกรรมการใช้จ่ายและบริโภคที่เปลี่ยนไปจากหน้าร้านสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
ส่องรายได้และกำไรก่อนเข้า IPO
ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้ 336.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% จากไตรมาส 1 ปี 2566 กำไรสุทธิ 26.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% (YoY) จากไตรมาส 1 ปี 2566 มีสัดส่วนรายได้จากร้านค้าปลีกและส่งสมัยใหม่ 37% ร้านค้าปลีกดั้งเดิม 30% ส่งออกต่างประเทศ 27% และช่องทางออนไลน์ 6%
ผลประกอบการระหว่างปี 2564-2566 รายได้เติบโตเฉลี่ย 9.57% ต่อปี และกำไรเติบโตเฉลี่ย 35.89% ต่อปี โดยแต่ละปีมีรายได้และกำไรดังนี้
- ปี 2566 มีรายได้ 1,493.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 161.6 ล้านบาท
- ปี 2565 มีรายได้ 1,413.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 86.6 ล้านบาท
- ส่วนปี 2564 มีรายได้ 1,135.1 ล้านบาท กำไรสุทธิ 64.4 ล้านบาท
- ปี 2563 มีรายได้ 1,088.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 113.8 ล้านบาท
ต่อจากนี้ต้องติดตามการเติบโตของบริษัทนี้ท่ามกลางโอกาสอีกมากมาย รวมไปถึงการผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่ซบเซามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าบริษัทมีพื้นฐานดี สตอรี่น่าสนใจ พี่ทุยเชื่อว่าจะคว้าโอกาสและเติบโตผ่านความผันผวนไปได้