ลงทุน S&P500 ทำยังไง ? เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน

5 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

ฉบับย่อ

  • ดัชนี S&P 500 คือ ดัชนีที่จัดทำโดย Standard & Poor เมื่อปี 1957 คิดจากหุ้นขนาดใหญ่ 500 บริษัท รวบรวมจากบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น New York Stock Exchange (NYSE) และตลาดหุ้น Nasdaq
  • บริษัท 10 อันดับแรกในดัชนี มีเพียง Berkshire Hathaway ของปู่บัฟเฟตต์เท่านั้นที่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี นอกนั้นแทบจะคุ้นหูทุกคนอยู่แล้ว เช่น Alphabet เจ้าของ Google, Meta ก็เป็นเจ้าของ Facebook และ Instagram, Amazon ที่นอกจากจะทำ e-Commerce แล้วยังครองอันดับ 1 วงการ Cloud
  • มีเครื่องมือทางการเงินสำหรับลงทุนดัชนี S&P 500 หลายอย่างให้เลือกตามความสะดวก ทั้งกองทุนรวม Passive, Depositary Receipt: DR และกองทุน ETF

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ใครที่กำลังเล็ง ๆ อยากลงทุนหุ้นสหรัฐฯ แล้วกำลังมีคำว่า S&P500 เด้งเข้ามาในหัว แต่ยังเอ๊ะ ๆ ไม่รู้ว่า S&P 500 เกี่ยวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไง ? ต่างจาก Nasdaq และ Dow Jones เยอะมั้ย ? แล้วถ้าอยาก ลงทุน S&P500 เลือกลงทุนผ่านอะไรดี ?

วันนี้พี่ทุยจะมาตอบทุกคำถาม ครบจบในที่เดียว รับรองอ่านจบทั้งรู้ทั้งเลือกได้ว่าจะ ลงทุน S&P500 ด้วยอะไรแน่นอน

รู้จักกับดัชนี S&P500 ลงทุนเติบโตไปกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ดัชนี S&P 500 คือ ดัชนีที่จัดทำโดย Standard & Poor เมื่อปี 1957 โดยหยิบมาจากหุ้นขนาดใหญ่จำนวน 500 บริษัท ที่อยู่ในตลาดหุ้น New York Stock Exchange (NYSE) และตลาดหุ้น Nasdaq

หุ้นที่ถูกเอามาคิดในดัชนี S&P 500 ต้องผ่านเกณฑ์หลายอย่าง เช่น มีมูลค่าบริษัท (Market Capitalization) อย่างน้อย 2,000 ล้านดอลลาร์, มีจำนวนหุ้นถูกซื้อขายถึงเกณฑ์ในระยะเวลาที่กำหนด, กำไรสุทธิไตรมาสล่าสุดเป็นบวก และรวมย้อนหลัง 1 ปีก็ต้องออกมามีกำไร

ด้วยเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มเลย เชื่อถือได้ไม่หลอกกัน ใน S&P 500 จึงคัดเอาไว้แค่หุ้นตัวใหญ่ที่มีคุณภาพ แถมครอบคลุมถึงประมาณ 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนทั้งตลาดหุ้นและเศรษฐกิจสหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ S&P 500 จึงเป็นดัชนีหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก จนใคร ๆ ต่างก็พูดถึงโดยเฉพาะใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

ดัชนี S&P500 คิดยังไง ? ต้องเข้าใจก่อนลงทุน S&P500

แน่นอนว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตาม “หุ้น” หรือบริษัทที่เอามาคิดในดัชนี แต่ก็ใช่ว่าหุ้นทุกตัวจะสามารถส่งผลต่อดัชนีได้เท่า ๆ กัน  ทาง Standard & Poor จึงได้ออกแบบวิธีเวทน้ำหนักดังนี้

ดัชนี S&P 500 เลือกวิธีถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Cap) พูดง่าย ๆ คือ บริษัทไหนมีขนาดใหญ่ก็จะถูกให้น้ำหนักคิดในดัชนีเยอะ บริษัทไหนมีขนาดเล็กก็ได้น้ำหนักน้อยลงไป
ซึ่งจริง ๆ ก็มีอีกหลายดัชนีทั่วโลกที่ใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้นะ เช่น ดัชนี SET ของไทย, ดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่น, ดัชนี STOXX ของยุโรป หรือแม้กระทั่งดัชนี Nasdaq ของสหรัฐฯ

มีบริษัทอะไรบ้างในดัชนี S&P500

แล้วที่บอกว่าดัชนีนี้แทบจะเป็นตัวแทนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีหุ้นดัง ๆ ของบริษัทอะไรบ้าง บริษัทไหนขึ้นเป็นอันดับ 1 ของดัชนี แล้วมีแต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจริงหรือไม่ ?
พี่ทุยไปหาข้อมูลมาแล้ว บริษัทที่มีน้ำหนักอันดับ 1 ของดัชนี S&P 500 คือ Apple เจ้าแห่งวงการ Smartphone ด้วยสัดส่วน 7.37% ของดัชนี ตามด้วย Microsoft เจ้าของระบบ Windows ที่เราใช้กันมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ แล้วค่อยเป็น Nvidia บริษัทการ์ดจอที่ผันตัวจากวงการประกอบคอมไปรันวงการ AI

บริษัท Top 10 ของดัชนี S&P500 (as of Mar 2025)

SP500 Top Holdings 2025

สำหรับบริษัท 10 อันดับแรก มีเพียง Berkshire Hathaway ของปู่บัฟเฟตต์เท่านั้นที่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี นอกนั้นแทบจะคุ้นหูทุกคนอยู่แล้ว เช่น Alphabet เจ้าของ Google, Meta ก็เป็นเจ้าของ Facebook และ Instagram, Amazon ที่นอกจากจะทำ e-Commerce แล้วยังครองอันดับ 1 วงการ Cloud ด้วย และอันนี้แทบไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมสำหรับ Tesla ของ Elon Musk

สัดส่วนอุตสาหกรรมในดัชนี S&P500 (as of Mar 2025)

SP500 Industry 2025

ถ้ามองภาพรวมทั้งดัชนีก็คงบอกได้ว่าดัชนี S&P500 ไม่ได้มีแต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Infomation Technology) แต่เป็นอุตสาหกรรมมีน้ำหนักเยอะสุด แต่บอกเลยว่าอาจเยอะกว่าที่เห็นอีก

เพราะมีหุ้นหลายตัวที่มองยังไงก็เป็นหุ้นเทคโนโลยี แต่กลับไม่ได้ถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น Amazon ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Consumer Discretionary, Meta ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Communication Services, Alphabet ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Communication Services

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมและบริษัทชื่อดังอื่นอีกมากมายด้วย เช่น JPMorgan Chase & Co, Visa, Mastercard, Coca-Cola, Exxon, Chevron, Pfizer, Lockheed Martin

พอดูแบบนี้แล้ว อาจบอกว่าดัชนี S&P 500 เป็นตัวแทนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกไปแล้วก็ว่าได้

เทียบกับดัชนี Nasdaq และ Dow Jones ต่างกันยังไง ? ก่อนตัดสินใจลงทุน S&P500

ในสหรัฐฯ ไม่ได้มีแค่ดัชนี S&P500 อย่างเดียว ยังมีดัชนีชื่อดังทั้ง Nasdaq และ Dow Jones เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนที่งง ๆ ว่ามันเหมือนหรือต่างกับดัชนี S&P 500 ยังไงบ้าง ?

ย้อนไปช่วงปี 1971 ยุคที่การลงทุนยังยุ่งยาก จะส่งออเดอร์แต่ละครั้งก็ต้องใช้ส่งเป็นเอกสาร เรื่องข้อมูลข่าวสารไม่ต้องคิดเลยว่ายุ่งยากขนาดไหน ตลาดหุ้น Nasdaq ก็เลยเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เปิดให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แล้วก็ยังลดกฎระเบียบลง เปิดรับให้บริษัทที่ยังเล็กไม่ค่อยมีกำไร ได้เอาบริษัทเข้าจดทะเบียนระดมทุน เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทได้เงินทุนไปขยายธุรกิจ ทำให้หลายไอเดียเจ๋ง ๆ ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง ทำให้ในระยะยาวก็ส่งผลดีให้กับเศรษฐดิจ และสหรัฐฯ ก็ได้กลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยบริษัทนวัตกรรมครองโลกมากมาย

สัดส่วนอุตสาหกรรมในดัชนี NASDAQ (as of Mar 2025)

สัดส่ว

ดัชนี Nasdaq Composite หรือเรียกสั้น ๆ ว่าดัชนี Nasdaq เลือกวิธีถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Cap) แบบเดียวกับดัชนี S&P 500 แต่ดัชนี Nasdaq จะมีบริษัทเทคโนโลยีมากกว่าดัชนี S&P 500 แบบเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน

บริษัท Top 10 ของดัชนี NASDAQ (as of Mar 2025)

หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องเป็นบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้นถึงจะอยู่ในดัชนี Nasdaq ได้ ในความจริงแล้วถ้าถึงเกณฑ์ก็เข้ามาอยู่ในดัชนีได้ โดยสามารถดูง่าย ๆ จากการที่ในบริษัท 10 อันดับแรก ก็ยังมี Costco ห้างค้าส่ง (เหมือน Makro ในประเทศไทย) รวมอยู่ด้วย

ส่วนดัชนี Dow Jones เป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เชื่อว่าคุ้นหูใครหลายคนมาตั้งแต่เด็กแน่นอน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1883 ประกอบด้วยหุ้นของ 30 บริษัทขนาดใหญ่จากตลาดหุ้น NYSE และ Nasdaq ซึ่งถูกคัดเลือกเข้ามาคำนวณในดัชนีโดยดูว่าบริษัทต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำและตัวแทนของอุตสาหกรรม

สัดส่วนอุตสาหกรรมในดัขนี  Dow Jones (as of Mar 2025)

สัดส่วนอุตสาหกรรมใน Dow Jones

เรียกได้ว่าใน ดัชนี Dow Jones นั้นหยิบบริษัทมาจากแต่ละอุตสาหกรรมอย่างละนิดอย่างละหน่อย เลยทำให้มีความหลากหลายมากกว่าทั้งดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ซึ่งชื่อของบริษัท 10 อันดับแรกก็ต่างแบบชัดสุด ๆ

บริษัท Top 10 ของดัชนี Dow Jones (as of Mar 2025)

Top 10 Holdings Dow Jones

ดัชนี Dow Jones ใช้วิธีคิดแบบถ่วงน้ำหนักตามราคาหุ้น (Priced Weighted) ไม่ต้องเอ๊ะแล้วเลื่อนไปข้างบนนะ เพราะใช่เลย เป็นวิธีที่ต่างจากดัชนี S&P 500 และ Nasdaq โดยวิธีนี้หุ้นที่มีราคาสูงก็จะได้น้ำหนักในดัชนีมากกว่าหุ้นที่มีราคาต่ำ ก็เลยเป็นคำตอบว่าทำไมทั้งชื่อกับน้ำหนักของบริษัท 10 อันดับแรกถึงแตกต่างขนาดนี้

สรุปง่ายๆ ดัชนี S&P 500 กับ Nasdaq คล้ายกันมาก แต่ดัชนี Nasdaq จะมีหุ้นเทคโนโลยีมากกว่า จะเหมาะกับนักลงทุนสายซิ่ง อยากได้ผลตอบแทนในระยะยาวสูง แต่ก็รับความเสี่ยงความผันผวนได้สูง

ส่วนดัชนี Dow Jones เหมือนเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่มองหาบริษัทชั้นนำ ต้องการความหลากหลายนอกเหนือจากหุ้นเทคโนโลยี มีลงทุนในดัชนี Nasdaq หรือ S&P 500 อยู่แล้ว และกำลังมองหาดัชนีที่มาช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลง

ถ้าอยาก ลงทุน S&P500 ซื้ออะไรได้บ้าง ?

เห็นหุ้นในดัชนี S&P 500 ที่แทบจะครองโลกแล้วสนใจอยากลงทุนบ้าง แต่ไม่รู้จะลงทุนผ่านอะไร เลือกยังไงดี ?

เครื่องมือการลงทุนที่คุ้นเคยกันดี จะมีกองทุนรวมที่เรียกว่ากองทุน Passive เน้นทำผลตอบแทนให้ออกมาเหมือนกับดัชนีที่กองทุนอ้างอิงด้วย ถ้าดัชนี S&P 500 ขึ้น 10% กองทุนก็จะทำผลตอบแทนได้ประมาณ 10% อาจน้อยกว่านิดหน่อย เพราะโดนค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมนี่แหละเป็นสิ่งที่เอาไว้ตัดสินใจว่าจะเลือกกองทุนไหนดี

เพราะเป็นกองทุน Passive อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนไหนยังไงก็ต้องทำผลตอบแทนใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ทีนี้ก็ควรเลือกกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมรวมทั้งค่าธรรมเนียมซื้อขายและค่าธรรมเนียมบริหารรายปีต่ำที่สุด และทำผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

ข้อดี คือ ไม่ต้องยุ่งยากจัดการภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ, มีให้เลือกป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน, มีเงินไม่เยอะก็ลงทุนได้

ข้อเสีย คือ ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี, ไม่เห็นผลตอบแทนแบบเรียลไทม์ต้องรอสิ้นวันทำการ

ตัวอย่างกองทุนรวม Passive เช่น K-US500X-A(A), SCBS&P500, KFUSINDX-A

  • ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt: DR) ลงทุน S&P500

สำหรับใครที่อยากลงทุนระยะยาว ซื้อแล้วถือไปเลย มีพอร์ตหุ้นไทย แล้วรู้สึกว่าทำไมต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีด้วย ตลาดหุ้นไทยมีออกเครื่องมือลงทุนที่เรียกว่า DR เพื่อให้เข้าถึงการลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้นไปอีก (เริ่มมีกระแสความฮิตในหมู่นักลงทุนหุ้นต่างประเทศ)

พี่ทุยอธิบายง่าย ๆ ว่า DR เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายเหมือนหุ้น โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ออก DR จะไปซื้อหุ้นต่างประเทศมาเก็บไว้ แล้วออกหลักทรัพย์ DR มาให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยซื้อในสกุลเงินบาท

สำหรับ DR ที่อิงกับดัชนี S&P 500 ก็จะทำผลตอบแทนตามดัชนี S&P500 ใครที่ลงทุนผ่าน DR ก็เหมือนได้ลงทุนตามดัชนี S&P500 ทีนี้การซื้อขายเหมือนหุ้น ก็เท่ากับว่าจะเสียแค่ค่าธรรมเนียมซื้อขาย จะถือไว้กี่ปีก็ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปี

เรื่องค่าธรรมเนียมซื้อขายขึ้นอยู่กับเปิดพอร์ตหุ้นกับโบรกเกอร์ไหน การเลือก DR ก็ต้องเลือก DR ที่ทำผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

ข้อดี คือ ไม่ต้องยุ่งยากจัดการภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ, ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี, ใช้เงินไม่เยอะก็ลงทุนได้

ข้อเสีย คือ ซื้อขายเป็นสกุลเงินบาททำให้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน, ไม่เห็นผลตอบแทนเรียลไทม์ (Time zone แตกต่างกัน), ความผันผวนจากแรงซื้อขาย DR อาจทำให้ราคา DR ไม่เคลื่อนไหวตามดัชนี S&P 500 ในบางช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างวันทำการ

ตัวอย่าง DR เช่น SP50001

  • กองทุน ETF ลงทุน S&P500

อีกเครื่องมือการเงินยอดฮิตเหมาะกับคนที่มีพอร์ตหุ้นต่างประเทศ กองทุน ETF มีความเหมือนกองทุนรวม Passive ตรงที่จะเน้นทำผลตอบแทนให้ใกล้กับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด แต่เพิ่มความพิเศษลงไปอีกให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น ได้เห็นราคาแบบเรียลไทม์ที่เคลื่อนไหวขึ้นลงตามดัชนีอ้างอิง แต่ในเมื่อไปลงทุนในต่างประเทศแล้วก็ต้องรับกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยนะ

กองทุน ETF จะเก็บเสียค่าธรรมเนียมบริหารรายปี ส่วนค่าธรรมเนียมซื้อขายขึ้นอยู่กับเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ไหนเหมือน DR

การเลือกลงทุนกองทุน ETF คล้ายกับเลือกกองทุนรวม Passive เลย คือ ควรเลือกที่มีค่าธรรมเนียมบริหารรายปีต่ำที่สุด และทำผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

ข้อดี คือ ได้เห็นผลตอบแทนแบบเรียลไทม์, ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก

ข้อเสีย คือ ต้องจัดการภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ, ต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ตัวอย่างกองทุน ETF เช่น iShares Core S&P 500 ETF, Vanguard S&P 500 ETF, SPDR S&P 500 ETF Trust

สรุปว่า..

ถ้าใครนึกถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ต้องนึกถึงดัชนี S&P 500 ครบจบในดัชนีเดียว แถมมีเครื่องมือลงทุนให้เลือกหลากหลายทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม Passive, DR หรือกองทุน ETF สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของแต่ละคน แต่สิ่งที่สำคัญให้เลือกอันที่เสียค่าธรรมเนียมรวมน้อยที่สุด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile