ธุรกิจโรงพยาบาลได้รับความนิยมจากนักลงทุนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อทุกคน จึงทำให้มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ พร้อมรับกับทุกสภาพเศรษฐกิจ แถมทุกวันนี้ยังได้กระแสสังคมผู้สูงอายุและคนยุคใหม่หันมารักสุขภาพ พี่ทุยเลยขอพาทุกคนไปดูหลักการค้นหา หุ้นโรงพยาบาล 2567 พร้อมส่องหุ้นที่น่าสนใจ และแถมกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นโรงพยาบาลไทย
หลักการดู หุ้นโรงพยาบาล ฉบับเข้าใจง่าย
หุ้นโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ทุกคนเข้าใจได้ ตรงไปตรงมา แต่การหาหุ้นโรงพยาบาลที่น่าสนใจอาจไม่ได้ง่ายถึงขนาดจิ้มชื่อไหนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ยากซับซ้อนจนเกินไป แต่ละโรงพยาบาลมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกครั้งที่หาหุ้นไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องโฟกัสเลยก็คือ การเติบโตระยะยาว
โรงพยาบาลสามารถเติบโตด้วย 4 กลยุทธ์
กลยุทธ์ที่ 1 เปิดคลีนิคหรือศูนย์เฉพาะทาง: โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงมักเลือกกลยุทธ์นี้ เพราะเป็นทั้งการนำจุดแข็งมาขยายฐานลูกค้าและสร้างกำไรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการรักษาเฉพาะทางมักทำอัตรากำไรได้ดีกว่าการรักษาโรคทั่วไป มากกว่านั้นกลยุทธ์ยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แบรนด์ของโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งเป็นผลดีทางอ้อมในระยะยาว
กลยุทธ์ที่ 2 ขยายสาขา: จะเห็นว่ามีบางโรงพยาบาลที่โด่งดังในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วใช้แบรนด์ไปเปิดสาขาตามหัวเมืองหรือต่างประเทศ เพิ่มฐานลูกค้าในแต่ละพื้นที่ และเพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการรับรู้แบรนด์ไปพร้อมกันด้วย
แนวทางที่ 3 ซื้อกิจการ: เป็นกลยุทธ์ยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกวงการ โดยเฉพาะวงการที่มีบริษัทขนาดใหญ่ มีเงินทุนเหลือเฟือ และยิ่งดีถ้าหากซื้อกิจการที่สามารถทำกำไรได้อยู่แล้ว เพราะจะเข้ามาเพิ่มการเติบโตให้บริษัทที่ซื้อได้ทันที
กลยุทธ์ที่ 4 รับจ้างบริหาร: หลายโรงพยาบาลเมื่อมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งแล้ว ก็เอาไปใช้ประโยชน์รับจ้างบริหารหรือรับจ้างวางระบบให้โรงพยาบาลอื่น ถึงแม้อาจไม่เติบโตแรงเหมือนกลยุทธ์อื่น แต่ก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านต้นทุนไว้เองทั้งหมด
ประเภทโรงพยาบาล
ต่อมาต้องรู้ว่าเป็นหุ้นโรงพยาบาลประเภทไหน เพื่อจะได้รู้แหล่งรายได้และติดตามทิศทางกลยุทธ์การเติบโตอย่างถูกต้อง
- โรงพยาบาลสาขาเดียว (Single Hospital): โรงพยาบาลที่มีเพียงแห่งเดียว ไม่มีการเปิดสาขาเพิ่ม มักเป็นโรงพยาบาลที่มีจุดเด่นโดยเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- โรงพยาบาลหลายสาขา (Chain Hospital): โรงพยาบาลที่เน้นการขยายสาขา เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า เพิ่มฐานรายได้ในพื้นที่ที่มีกำลังซื้อ
สัดส่วนรายได้
เรื่องที่มาและสัดส่วนรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ เพราะจะช่วยให้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตหรืออุปสรรคได้ถูกต้องและชัดเจน ซึ่งจัดรูปแบบการแบ่งสัดส่วนรายได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
ผู้ป่วยเงินสดและผู้ป่วยประกัน: กลุ่มแรกจะเป็นผู้ป่วยที่จ่ายค่าบริการเป็นเงินสดซึ่งโรงพยาบาลจะได้เงินสดทันที ไม่ต้องแบกความเสี่ยงลูกหนี้การค้าเหมือนกับที่เจอในกลุ่มที่สอง คือ ผู้ป่วยใช้สิทธิ เช่น ประกันสังคม บัตรทอง 30 บาท ประกันสุขภาพ โรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายก่อน แล้วรอเก็บค่าบริการจากบริษัทหรือหน่วยงานที่ผู้ป่วยใช้สิทธิ ซึ่งจะกลายเป็นลูกหนี้การค้า ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกความเสี่ยงและใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นตามไปด้วย
ผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติ: แต่ละโรงพยาบาลมีนโยบายเจาะกลุ่มผู้ป่วยต่างกัน ดังนั้นการรู้สัดส่วนรายได้จากในประเทศและต่างชาติช่วยให้วิเคราะห์แม่นยำขึ้น เช่น โรงพยาบาลเน้นผู้ป่วยต่างชาติก็ต้องวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจต่างประเทศ ประเมินความเสี่ยงการกระจุกตัวของที่มาแหล่งรายได้
และสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องติดตาม คือ อัตราการครองเตียง เป็นการชี้ว่ามีผู้ป่วยใช้ห้องพักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหุ้นโรงพยาบาลที่น่าสนใจควรมีอัตราการครองเตียงสูงอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนว่ามีสามารถทำรายได้สม่ำเสมอ และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างอาคารผู้ป่วยได้ดี
ช่วงแรกที่เริ่มขยายอาคารใหม่มักขาดทุน เพราะผู้ป่วยยังเข้าไม่เยอะ รายได้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แต่โดยปกติหลังจากนั้นประมาณ 2-4 ปี อัตราครองเตียงมักเพิ่มขึ้น เริ่มทำกำไรได้ และถ้าอัตราการครองเตียงสูงอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งถือว่าดีมาก
หุ้นโรงพยาบาล เสือนอนกินจริงหรือ? มีอะไรต้องระวัง
ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะดูเหมือนเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ยังไงก็ต้องมีคนป่วยอยู่ตลอดเวลา แต่ในตวามจริงอาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มีสิ่งที่ต้องติดตามเพื่อเฝ้าระวังหาสัญญาณความเสี่ยงอยู่
- ความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงหรือบางปีถึงขั้นซบเซา อาจทำให้กำลังซื้อและค่าใช้จ่ายการรักษาสุขภาพลดลง ผู้ป่วยอาจเลือกรักษาในกรณีที่จำเป็นมากหรือหันไปซื้อยาบริโภคเอง และถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ ต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้ป่วยต่างชาติด้วย
- การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ด้วยธุรกิจโรงพยาบาลที่อยู่ในเทรนด์สังคมผู้สูงวัยและรักสุขภาพชัดเจน ทำให้คู่แข่งที่มีอยู่แล้วเร่งขยายธุรกิจและดึงดูดบริษัทในธุรกิจอื่นเข้ามาลงทุนเปิดกิจการโรงพยาบาล ซึ่งหากเปิดโรงพยาบาลใหม่แบบหลายสาขา (Chain Hospital) ยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือดขึ้น เพราะได้เปรียบเรื่องต้นทุน ขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลแบบสาขาเดียว (Single Hospital)
- มนต์ขลังท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อาจเริ่มเสื่อม
เป็นเวลายาวนานที่วงการแพทย์ไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติจากประเทศร่ำรวยเดินทางมารักษาในประเทศไทย แต่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มหันมาแข่งขันด้านนี้กับประเทศไทยมากขึ้น เช่น ตุรกี, อิสราเอล และสเปน ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจไม่ต่างจากมารักษาที่ไทย แต่มีความได้เปรียบไทยทั้งในแง่ภาษาและวัฒนธรรม
ส่อง 5 หุ้นโรงพยาบาลไทยขนาดใหญ่ สุดแกร่ง
- บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) / BDMS
ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเครือข่ายทั่วประเทศไทยและในประเทศกัมพูชา มี 6 แบรนด์ คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลรอยัล และมีโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครืออีก 4 แห่ง รวมถึงธุรกิจสนับสนุนด้านการแพทย์ เช่น ผลิตยา ผลิตน้ำเกลือ
- บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) / BH
เจ้าของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล ให้บริการทางการแพทย์ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงลงทุนในธุรกิจการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีจุดเด่นด้านรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ
- บริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) / BCH
ผู้ประกอบการธุรกิจเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล และโรงพยาบาลการุญเวช มีเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่แก่ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิโครงการประกันสังคม
- บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) / CHG
ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลในเครือจุฬารัตน์ มี 15 สาขา ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดเล็ก และคลีนิก ตั้งอยู่ในทั้งกรุงเทพฯ จังหวัดในภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีรายได้จากผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยใช้สิทธิของภาครัฐ
- บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) / PR9
เจ้าของโรงพยาบาลพระรามเก้าได้เปรียบด้วยทำเลกลางเมืองย่านที่มีกำลังซื้อ มีโอกาสเติบโตได้อีก โดดเด่นด้านศูนย์แพทย์เฉพาะทาง มีศักยภาพให้บริการโรคที่ซับซ้อน
แนะนำ กองทุนที่ลงทุนอุตสาหกรรมโรงพยาบาลไทย
เชื่อหลายคนคงอาจไม่มีเวลามากพอค้นหาหรือติดตามธุรกิจโรงพยาบาล พี่ทุยเลยหา 1 กองทุนที่ลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลไทย คือ ONE-HOSPITAL
กองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. 67 มีทรัพย์สินที่ลงทุน 5 อันดับแรก ดังนี้
- บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) 35.68%
- Vanguard Health Care ETF 16.84%
- บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) 16.03%
- พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยงวดที่ 27/91/67 10.31%
- บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) 3.94%
ค่าธรรมเนียมซื้อ: 1.00% ค่าธรรมเนียมขาย: ไม่มี
พี่ทุยเชื่อไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน หุ้นโรงพยาบาลยังมีความน่าสนใจอยู่เสมอ เพียงแต่ต้องคอยมองหาหุ้นที่มีความโดดเด่น มีศักยภาพเติบโต มีรูปแบบธุรกิจพร้อมรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และที่สำคัญตัวเราเองต้องบริหารสัดส่วนลงทุนให้เหมาะสม ไม่กระจุกความเสี่ยงมากเกินไป