ซื้อบ้าน ทำไมต้องซื้อประกันอัคคีภัยบ้าน

ทำไม “ซื้อบ้าน” ถึงบังคับซื้อประกันอัคคีภัย ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ประกันสำหรับที่อยู่อาศัยหลัก ๆ มีอยู่ 2 แบบ คือ ประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ 
  • คนที่กู้เงินกับแบงก์เพื่อที่อยู่อาศัย กฎหมายกำหนดให้ทำประกันอัคคีภัยจนกว่าจะผ่อนจนหมดสัญญา ซึ่งควรซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่มีทุนประกันอย่างน้อย 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน
  • คนที่อยู่คอนโดก็ควรทำประกันอัคคีภัยสำหรับห้องพักของตัวเอง เพราะประกันของคอนโดคุ้มครองเฉพาะตัวอาคารและพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ใคร ๆ ก็รู้ว่าการ “ซื้อบ้าน” สักหลังหรือคอนโดสักห้องเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ บางคนถึงขนาดเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อความฝันที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองก็มี และการซ่อมแซมบ้านแต่ละทีก็ใช้เงินจำนวนไม่น้อยเลยด้วย เลยไม่แปลกที่เราจะภาวนาให้บ้าน หรือ คอนโดที่เราซื้อ มีปัญหาให้น้อยที่สุด

แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะการเกิดเพลิงไหม้ หรือภัยพิบัติจนบ้านเรือนเสียหายอย่างที่เห็นกันในข่าว เหมือนที่เราเคยได้ยินว่า

โจรขึ้นบ้าน 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว

ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท วันนี้พี่ทุยเลยอยากชวนมารู้จักกับประกันบ้านที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการจ่ายค่าเสียหายต่าง ๆ ให้เบาลง ถ้าโชคไม่ดีเกิดความเสียหายกับที่อยู่อาศัยของเรา

รูปแบบของประกัน เมื่อ “ซื้อบ้าน”

ประกันอัคคีภัย 

ประกันที่ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างไม่รวมรากฐาน หรือทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้างอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากว่าประกันอัคคีภัยเป็นประกันแบบระบุภัย (Named Peril) คือคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์เท่านั้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสอบถามให้ชัดเจนว่าคุ้มครองกรณีไหนบ้าง

ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเบื้องต้นจะชดเชยกรณีสูญเสียหรือเสียหายจาก 6 ภัยหลัก ได้แก่

  1. ภัยไฟไหม้
  2. ภัยจากฟ้าผ่า
  3. ภัยจากการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย
  4. ภัยจากการเฉี่ยวหรือชนจากยานพาหนะของบุคคลอื่น
  5. ภัยจากอากาศยาน
  6. ภัยจากน้ำ เช่น ท่อประปาภายในอาคารรั่ว หรือน้ำฝนไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากหลังคารั่ว หรือช่องทางที่เสียหายอื่น ๆ 

ส่วนใหญ่แล้ว เงื่อนไขกรมธรรม์จะคุ้มครองต่อเมื่อสาเหตุของภัยทั้งหมดไม่ได้เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ง่าย ๆ คือถ้าไฟไหม้บ้านข้าง ๆ ลามมาบ้านเรา แล้วถังแก๊สในบ้านเราเสียหายจนระเบิดลุกลาม เราก็จะได้รับการคุ้มครองตามวงเงินเอาประกันหรือทุนประกันภัย แต่ถ้าแผ่นดินไหวแล้วถังแก๊สเสียหายจนระเบิด กรณีนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองนั่นเอง

แต่พี่ทุยก็เห็นกรมธรรม์ของผู้ให้ประกันหลายรายมีเงื่อนไขคุ้มครองภัยธรรมชาติ แม้รัฐไม่ได้ประกาศว่าเป็นภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ลมพายุ ภัยจากลูกเห็บ และแผ่นดินไหว รวมเข้าไว้ในกรมธรรม์เดียวกันเลย ดังนั้นทางที่ดีก็อย่าลืมถามเงื่อนไขต่าง ๆ ของผู้ให้ประกันแต่ละรายให้ละเอียดก่อนตัดสินใจนะ

ประกันภัยพิบัติ 

เพราะประกันอัคคีภัยบางกรมธรรม์ไม่ครอบคลุมภัยทางธรรมชาติขั้นรุนแรง เราจึงมีประกันชนิดนี้ขึ้นมาเสริมความคุ้มครองสำหรับภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ และภัยแผ่นดินไหว ที่อยู่ในเงื่อนไขว่า 

  1. คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง
  2. ภายใน 60 วันตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เดียวกัน จะต้องมีผู้เรียกร้องค่าสินไหมหรือการคุ้มครอง 2 รายขึ้นไป และมีจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติรวมทั้งหมดมากกว่า 5,000 ล้านบาท
  3. กรณีแผ่นดินไหวต้องมีความรุนแรง 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือเกิดลมพายุที่มีความเร็วมากกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือระดับพายุไต้ฝุ่น กับพายุเฮอร์ริเคน

  ส่วนน้ำท่วมจะให้ค่าสินไหมชดเชยตามระดับน้ำ คือ

  • น้ำท่วมพื้นอาคารจะได้รับการชดเชย 30% ของวงเงิน Sublimit
  • น้ำท่วมสูง 50 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับการชดเชย 50% ของวงเงิน Sublimit
  • น้ำท่วมสูง 75 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับการชดเชย 75% ของวงเงิน Sublimit
  • น้ำท่วมสูง 100 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับการชดเชย 100% ของวงเงิน Sublimit

กรมธรรม์ภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยจะจำกัดความรับผิดชอบ (Sublimit) โดยจะให้ความคุ้มครองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น โดยมีอัตราเบี้ยประกัน 0.5% ต่อปี หรือคำนวณง่าย ๆ ก็คือไม่เกิน 100,000 x 0.5% = 500 บาทอย่างแน่นอน หรือถ้าเลือกความคุ้มครองต่ำกว่านั้น เช่น 70,000 บาท ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกัน 350 บาทนั่นเอง  

สมมติพี่ทุยเลือกซื้อความคุ้มครอง 70,000 บาท หากบ้านได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ผู้ให้ประกันหรือบริษัทประกันจะชดเชยตามการเสียหายที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่เกินวงเงิน Sublimit ซึ่งก็คือ 70,000 บาท หรือถ้าน้ำท่วมบ้าน 50 ซม. พี่ทุยก็จะได้รับการชดเชยตามเกณฑ์ 50% คือ 70,000 x 50% = 35,000 บาท

“ซื้อบ้าน” แต่ไม่ทำประกันได้ไหม ? 

คำตอบก็คือ… มีทั้งได้และไม่ได้ ประกันที่เราเลือกจะไม่ทำก็ได้คือประกันภัยพิบัติ ส่วนประกันอัคคีภัยนั้นจะไม่ทำก็ได้เช่นกันถ้าเรา “ซื้อบ้าน” ด้วยเงินสด แต่ถ้าไม่ใช่… ‘กฎหมาย’ กำหนดให้ผู้ที่ ‘กู้เงิน’ กับแบงก์เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจนกว่าจะผ่อนสินเชื่อจนหมดสัญญา 

ซึ่งแง่นี้พี่ทุยก็เข้าใจนะ เพราะตราบใดที่เรายังผ่อนบ้านไม่หมด บ้านก็ยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้มาจากการจ่ายเงินของแบงก์อยู่ แบงก์ก็ย่อมต้องการหลักประกันหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับสินทรัพย์ที่เราจำนองไว้  ดังนั้นเวลาเราไปยื่นกู้กับแบงก์ไหนเขาก็มักจะเสนอกรมธรรม์ของแบงก์เอง หรือบริษัทพันธมิตร แต่ถ้าเราจะซื้อกรมธรรม์กับบริษัทประกันอื่นที่ให้การคุ้มครองมากกว่าก็ได้เหมือนกัน

มนุษย์คอนโดต้องทำประกันไหม

เท่าที่อ่านมาทั้งประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติก็ดูเหมาะกับคนที่ “ซื้อบ้าน” เพราะเราคงไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม พายุพัดจนทรัพย์สินเสียหาย แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคอนโดแบ่งเป็น ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ และ ‘พื้นที่ห้องพัก’ ซึ่งเวลาเราได้โฉนดแสดงกรรมสิทธิ์มาจะนับ ‘เฉพาะพื้นที่ภายในห้องพัก’ ว่ามีความยาวความกว้างเท่าไหร่ ขนาดกี่ตารางเมตร หรือบางแห่งอาจรวมที่จอดรถด้วย

เท่ากับว่าห้องพักจะเป็น ‘กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล’ ส่วนพื้นที่ส่วนกลางเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนกลางที่มีนิติบุคคลดูแลอยู่

ปกติแล้ว Developer หรือผู้พัฒนาโครงการจะทำ ‘ประกันความเสี่ยงภัยทุกกรณี’ สำหรับอาคารและพื้นที่ส่วนกลางอยู่แล้ว แต่หลังจากโอนกรรมสิทธิ์จนครบทุกยูนิต หน้าที่ดูแลโครงการหรืองานนิติบุคคลจะตกเป็นของเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องทุกคนว่าจะตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลหรือจ้างบริษัทไหนเข้ามาดูแลงานส่วนนี้อีกที ซึ่งในที่นี้หมายถึงการดูแลเรื่องประกันอัคคีภัย และประกันภัยต่าง ๆ ของโครงการด้วย

แต่ยังไงก็อย่าลืมว่าประกันอัคคีภัยส่วนกลางของคอนโดที่ทางนิติบุคคลดูแลนั้นเป็นการคุ้มครองอาคารและพื้นที่ส่วนกลางเท่านั้น ไม่รวมถึงในตัวห้องพักของเรา ที่เป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล หากเกิดเหตุไฟไหม้ในห้องพักเราจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากประกันอัคคีภัยส่วนกลางของคอนโด

เว้นแต่ว่าทั้งอาคารจะได้รับความเสียหายเราถึงได้รับค่าชดเชยความเสียหายของห้อง แต่ก็ยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นภายในห้องอยู่ดี

ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงในจุดนี้ คนที่อยู่คอนโดก็ควรมองหาประกันอัคคีภัยไว้ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วอย่างที่พี่ทุยบอกไปก่อนหน้าว่าระหว่างขั้นตอนการยื่นขอสินเชื่อกับแบงก์ เจ้าหน้าที่ก็มักแนะนำให้ทำประกันอัคคีภัยอยู่แล้ว ก็อยากให้ลองถามรายละเอียดเพื่อมาศึกษาเปรียบเทียบการคุ้มครองกันก่อน ซึ่งบางบริษัทก็มี ‘ประกันอัคคีภัยสำหรับคอนโด’ โดยเฉพาะด้วยนะ

เลือกประกันอัคคีภัยยังไง ให้เหมาะกับตัวเอง

ถึงจะรู้แล้วว่าประกันที่อยู่อาศัยสำคัญยังไง แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือควรซื้อกรมธรรม์แบบถึงเหมาะกับตัวเอง นอกจากอัตราเบี้ยประกันที่เราจ่ายไหวแล้ว เรายังต้องคำนึกถึงผลประโยชน์ของการคุ้มครองด้วย ซึ่งพี่ทุยแนะนำว่าควรซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่คุ้มครองไม่ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน 

ยกตัวอย่าง บ้านและทรัพย์สินในบ้านพี่ทุยมีมูลค่ารวมกัน 3 ล้านบาท ก็ควรเลือกแผนคุ้มครองที่มีทุนประกัน 3,000,000 x 70% = 2,100,000 บาท เป็นขั้นต่ำ เพราะถ้ามาคำนวณดูดี ๆ แล้ว อัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยมักอยู่ที่ 0.1% ของทุนประกันภัย ก็จะเสียเบี้ยประกันปีละ 2,100,000 x 0.1% = 2,100 บาท รวมกับค่าอากรและอาจมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เล็กน้อยตามลักษณะหรือวัสดุของสิ่งปลูกสร้าง 

แล้วยิ่งเราทำประกันระยะยาวแบบ 2 ปีหรือ 3 ปี บริษัทประกันก็จะยิ่งเสนอเบี้ยประกันที่ถูกลงไปอีก เช่น ในวงเงินคุ้มครอง 2.1 ล้านบาท พี่ทุยต้องจ่ายเบี้ยประกันบวกภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ปีละ 2,500 บาท รวมซื้อประกัน 2 ปี เท่ากับว่าพี่ทุยต้องจ่าย 2,500 x 2 = 5,000 บาท

แต่ถ้าเลือกซื้อกรมธรรม์ที่คุ้มครองยาว 2 ปี แล้วบริษัทเสนอเบี้ยประกัน 175% ของเบี้ยประกัน 1 ปี คิดง่าย ๆ คือ ปีแรกคิด 100% + ปีที่สองคิด 75% หรือลดค่าเบี้ยลง 25% นั่นเอง แบบนี้พี่ทุยต้องจ่าย 4,375 บาท ถูกกว่า 625 บาท และยิ่งถูกลงไปอีกถ้าเราซื้อแผนคุ้มครอง 3 ปี ซึ่งเราอาจจะได้ข้อเสนอจ่ายค่าเบี้ยประกัน 250% ของเบี้ยประกัน 1 ปี คือ 2,500 x 250% = 6,250 บาท ถูกกว่าจ่ายรายปี 1,250 บาท 

เบื้ยประกันจริงแพงไหม?

ก่อนที่จะดูอัตราเบี้ยประกันของแต่ละบริษัท เราต้องรู้ก่อนว่าทุกแผนการคุ้มครองจะต้องมีความคุ้มครองมาตรฐานของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คือ

  1. คุ้มครองสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในที่ได้รับความเสียหายหรือสูญเสียจาก 6 ภัยหลัก ตามจำนวนทุนประกันภัย 
  2. คุ้มครองสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในที่ได้รับความเสียหายหรือสูญเสียจากภัยธรรมชาติพื้นฐาน ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นใต้น้ำ สึนามิ ลูกเห็บ ทุกภัยรวมกันปีละ 20,000 บาท
  3. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าเช่าที่อยู่ชั่วคราว จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 1,000 บาท และรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย

ส่วนอัตราเบี้ยประกันที่พี่ทุยเอามาให้ดูครั้งนี้จะเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านราคา 3 ล้านบาทที่เป็นผนังคอนกรีตล้วน ซึ่งต้องการทุนประกันภัย 2.5 ล้านบาท โดยพี่ทุยจะเลือกเฉพาะแผนคุ้มครองเบื้องต้นราย 1 ปีของแต่ละบริษัทนะ

  • ทิพยประกันภัย
    • ทุนประกันภัย 2.5 ล้านบาท + ทุนประกันเฟอร์นิเจอร์ขั้นต่ำ 10,000 บาท
    • เบี่ยประกัน (รวมภาษี) 3,236.75 บาท

ความคุ้มครองเพิ่มเติม

  1. ภัยน้ำท่วม (คุ้มครองหลังวันเริ่ม 7 วัน) ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ ภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำหรือสึนามิ จ่าย 30% ของทุนประกันภัยต่อภัย
  2. ภัยจากการจลาจล และการกระทำด้วยเจตนาร้าย จ่าย 30% ของทุนประกันภัย
  3. ความเสียหายต่อเครื่องไฟฟ้า จ่าย 5% ของทุนประกันภัย
  4. ค่ารื้อถอน ขนย้ายซากทรัพย์ ค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง จ่าย 10% ของทุนประกันภัย
  • เมืองไทยประกันภัย
    • ทุนประกันภัย 2.5 ล้านบาท
    • เบี่ยประกัน (รวมภาษี) 2,498.45 บาท
  • สินมั่นคงประกันภัย
    • ทุนประกันภัย 2.5 ล้านบาท
    • เบี่ยประกัน (รวมภาษี) 2,551.95 บาท

จากที่พี่ทุยยกตัวอย่างมาก็คงจะพอประมาณค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยกันได้บ้างแล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ พี่ทุยมั่นใจว่าต่อให้ทรัพย์สินเสียหายเพียงบางส่วน เราก็คงเสียเงินมากกว่าค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่จ่ายไปแต่ละปีแน่นอน..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย