“Sharpe Ratio” ก็คือ ผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง พอพูดแบบนี้หลายๆคนอาจจะงง พี่ทุยอยากให้ลองนึกถึงเวลาที่เราไปซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วเราเห็นผงซักฟอกที่ขายเป็นแพ็คใหญ่ๆ กับ ซองเล็กๆ ถ้าเราลองเอาปริมาณผงซักฟอกที่เราได้มาหารกับจำนวนเงินที่จ่าย เราก็จะได้ว่าเงิน 1 บาทเราได้ผงซักฟอกกี่กรัม ? ถ้าผงซักฟอกหรือไซส์สินค้าแบบไหนที่หารออกมาแล้วเยอะก็แปลว่าผงซักฟอกแบบนั้นราคาถูกที่สุด !!
การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถดูเฉพาะผลตอบแทนอย่างเดียวได้ อย่างนึงที่เราต้องดูด้วยก็คือความเสี่ยง เหมือนเวลาที่เราซื้อผงซักฟอกจะดูปริมาณอย่างเดียวไม่ได้เราต้องเทียบราคาด้วยเสมอ
แล้ว Sharpe Ratio ก็ช่วยให้เวลาจะลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวม เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่ากองทุนไหนน่าสนใจกว่ากันได้ดีมากขึ้น แต่พี่ทุยเตือนไว้ตรงนี้ก่อนว่าเราต้องใช้ Sharpe Ratio เปรียบเทียบกองทุนรวมประเภทเดียวกัน เช่น ตราสารหนี้เทียบตราสารหนี้ประเภทเดียวกัน หรือถ้าเป็นหุ้นก็ต้องเป็นหุ้นตัวใหญ่เหมือนกัน ถึงจะเปรียบเทียบแล้วเห็นผลมากที่สุด
ผลตอบแทนพี่ทุยว่าทุกคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้วล่ะว่าคืออะไร แต่พี่ทุยจะแนะนำว่า ความเสี่ยงในที่นี้ก็คือ ความผันผวนของราคา ราคามันขึ้นลง เยอะไหม ราคามันสวิงเยอะไหม ราคาเหวี่ยงเยอะมั้ย ? เนี้ยแหละที่เรียกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนเพราะถ้าใครเริ่มลงทุนจะรู้ว่า ราคากองทุนรวมไม่ “ขึ้น” เป็นอย่างเดียว มัน “ลง” เป็นด้วย แบบบางครั้งลงได้รุนแรงเหลือเกิ๊นนนนน
ถ้าใครยังพอจำได้ตอน ม.ต้นเวลาที่เรียนวิชาสถิติ ค่าความเสี่ยงอันนี้จะถูกวัดด้วย “Standard Deviation” หรือภาษาไทยแบบไทยๆ “ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน” ต้องคุ้นกันบ้างล่ะเน้าะ ถึงแม้เราจะลืมไปกันแล้วว่าคืออะไรและคำนวณมายังไง (ฮ่า) พี่ทุยว่าช่างมันก่อนละกัน
ลงมาดูตัวอย่างกันสมมติว่า
- กองทุนรวม A ให้ผลตอบแทนที่ 20% ต่อปี
- กองทุนรวม B ให้ผลตอบแทนที่ 10% ต่อปี
ถ้าเราดูแค่นี้ พี่ทุยว่ากองทุนรวม A น่าสนกว่าเห็นๆ แต่ว่าอย่างที่พี่ทุยบอกไปว่าอย่าลืมดูความเสี่ยงด้วย แล้วถ้าค่าความเสี่ยงของแต่ละกองทุนออกมาเป็นแบบนี้ คือ
- กองทุนรวม A ค่าความเสี่ยงเท่ากับ 30%
- กองทุนรวม B ค่าความเสีย่งเท่ากับ 10%
พอดูที่พระเอกของเรา “Sharpe Ratio”
- กองทุนรวม A Sharpe Ratio เท่ากับ 0.67
- กองทุนรวม B Sharpe Ratio เท่ากับ 1
พอดูแบบนี้แล้วกองทุนรวม B น่าสนกว่าเห็นๆเลยล่ะ ค่าความเสี่ยงยิ่งน้อย แสดงโอกาสที่ผลตอบแทนจะเปลี่ยนแปลงไปมีน้อย ตามไปด้วย แต่ถ้ามันมากแสดงว่า เรามีโอกาสที่ผลตอบแทน จะเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน เนี้ยแหละที่เรียกว่า “ความเสี่ยง” !!!
กองทุนรวมที่ดีไม่ใช่แค่ทำผลตอบแทนได้ดีเท่านั้น แต่จะต้องมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่เหมาะสมและที่สำคัญต้องไม่เสี่ยงจนเกินไปด้วย ไม่งั้นผู้ที่ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอย่างเราได้หัวใจวายกันพอดี หรือถ้าช่วงที่กองทุนรวมราคาตกเราเกิดเดือดร้อนใช้เงิน การเลือกลงทุนกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงๆก็อาจจะทำให้เราต้องขายให้ช่วงที่ผลตอบแทนแย่ๆก็เป็นไปได้ กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงยิ่งสูงก็จะทำให้เรามีโอกาสเจอเหตุการณ์อย่างที่พี่ทุยว่าสูงขึ้นนั่นเอง