กองทุน Active vs Passive แตกต่างกันยังไง

กองทุน Active vs Passive แตกต่างกันยังไง แบบไหนดีกว่ากัน ?

2 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • กองทุนแบบ Active หรือ Passive มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ไม่มีกองทุนแบบไหนที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดการลงทุนเป็นแบบไหนมากกว่า
  • สุดท้ายแล้วเราจะเลือกลงทุนแบบไหน เราจำเป็นที่จะต้อง คิด วิเคราะห์ ด้วยตัวเอง แล้วเตรียมรับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่มันจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง วิธีการแบบนี้แหละคือวิธีที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการลงทุนในระยะยาว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อเราเริ่มศึกษาเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม กองทุน Active และ Passive สองคำนี้ต้องเป็นอะไรที่เราคุ้นเคยแน่นอน วันนี้พี่ทุยเลยจะมาพูดถึงความแตกต่างของกองทุนสองแบบนี้กันซะหน่อยว่ามีข้อดีและเสียแตกต่างกันยังไงบ้าง ?

พี่ทุยขอพูดถึงกรณีของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลักก่อนละกัน เพราะจะเห็นความแตกต่างของกองทุนแบบ Active (Active Fund) และแบบ Passive (Passive Fund) กันค่อนข้างชัดเจนเลยล่ะ

มาเริ่มที่เจ้า Active Fund กันก่อนเลย ตามชื่อกองทุนก็จะมีการบริการแบบ Active คือ ผู้บริหารกองทุนต้องพยายามเอาชนะ มาตรฐาน (Benchmark) ที่ตั้งไว้ เช่น Set 100 , Set 50 เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือเล่นหุ้นยังไงก็ได้ ให้ได้ผลตอบแทน ‘ชนะ’ ดัชนีพวกนี้แหละ ยิ่งทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดเท่าไหร่ ยิ่งเป็นกองทุน Active ที่ดีเท่านั้น

ส่วนกองทุนเป็น Passive Fund อันนี้เข้าใจง่ายมาก ผู้บริหารกองทุนไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ลงทุนตาม Benchmark เลย งานง่าย ๆ ส่วนใหญ่จะใช้แค่โปรแกรมหรือ Robot คอยปรับพอร์ต กองทุน Passive ที่ดีต้องเป็นกองทุนที่ผลตอบแทนเหมือนตลาดให้มากที่สุดหรือมาตรฐาน (Benchmark) ของกองทุนนั้น ๆ

กองทุนแบบ Active (Active Fund) ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน

แน่นอนว่ากองทุนแต่ละประเภทก็มีข้อจำกัดอยู่ ไม่ได้มีแต่ข้อดี เรามาเริ่มกันที่ Active Fund กันก่อน ข้อจำกัดของกองทุนประเภทนี้ก็คือ ถ้าผู้บริหารกองทุนเกิดเลือกหุ้นพลาดหรือทำผลตอบแทนแย่กว่าตลาดขึ้นมา คนที่จะขาดทุนจริง ๆ ก็คือตัวเราเอง

เพราะกองทุน Active เค้าจะมีค่าบริหารกองทุนที่ค่อนข้างสูง เวลาซื้อก็เสียค่าธรรมเนียม แล้วก็ยังเสียค่าบริหารรายปีอีก นั่นแปลว่าอย่างน้อยที่สุดกองทุนแบบ Active ก็ควรทำผลตอบแทนให้ชนะตลาดได้ อย่างน้อย ๆ ก็เท่ากับค่าบริหารจัดการที่ตัวเองเรียกเก็บ ซึ่งอันนี้เราในสถานะนักลงทุนก็ต้องเลือกกองทุนให้เป็นด้วยเช่นกัน

กองทุนแบบ Passive (Passive Fund) ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี

ทีนี้เรามาดูที่กองทุนแบบ Passive ข้อดีของเขาเลยก็คือค่าธรรมเนียมต่ำมาก !! แทบจะไม่คิดค่าธรรมเนียมเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะเท่าไหร่ แค่ทำตัวเหมือนตลาดหรือลอกตลาดเป็นอันใช้ได้

แต่ข้อจำกัดของกองทุนแบบ Passive ก็คือเวลาที่ดัชนีไม่วิ่งไปไหน เราไม่ต้องหวังกำไรจากกองทุนแบบ Passive เลย ตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างตลาดหุ้นไทย ถ้าใครซื้อตอนปี 2019 ช่วง SET Index 1,600 ผ่านมาเกือบ 3 ปี กว่าจะเห็นกองทุนตัวเองกำไร เพราะว่าช่วงนี้ SET บ้านเราทะลุ 1,600 ขึ้นมาได้ ถ้าในสภาวะที่ดัชนีไม่วิ่งไปไหน การที่เราใช้กองทุนแบบ Active ก็ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า 

แต่ถ้าเราไปอ่านตำราโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ มักจะแนะนำให้ลงทุนกองทุนแบบ Passive มากกว่า Active เพราะตลาดหุ้นของสหรัฐฯ มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และหุ้นเยอะ การที่ผู้จัดการกองทุนจะทำผลตอบแทนให้ชนะตลาดตลอดเวลาในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ดังนั้นการลงทุนที่ดีคือ “เลียนแบบ” ตลาดไปเลยง่ายที่สุด

แล้วพอมามองที่ ตลาดหุ้นของไทย ตลาดยังถือว่า “เล็กมาก” เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอเมริกา เหมือน “ขี้เล็บ” เลยก็ว่าได้ เพราะว่ามูลค่าตลาดหุ้นของไทยเล็กมาก

ทำให้การหาหุ้นยังสามารถทำได้ไม่ยากมาก เพราะหุ้นทั้งตลาดของไทยตอนนี้ยังแค่หลักร้อยตัวเอง แล้วพอดูผลตอบแทนย้อนหลังผลตอบแทนของกอง Active ค่อนข้างดีกว่า (เอากองผลตอบแทนอันดับต้น ๆ มาเทียบ) ถ้าให้ตอบตอนนี้คงตอบว่ากอง Active ยังดีกว่า แต่ต้องเลือกกองทุนให้เป็นด้วยนะ ไม่ใช่ปิดตาแล้วจิ้มเลือก แบบนี้พี่ทุยจะจิ้มตาให้

แล้วควรเลือกแบบไหน กองทุน Active หรือ Passive

แต่ยังไงพี่ทุยก็แนะนำว่า ซื้อมันทั้ง 2 แบบนั่นแหละ ฮ่า การกระจายการลงทุน เป็นสิ่งที่ควรทำอันดับแรก ๆ และกองทุนทั้งสองแบบก็ถือว่าน่าสะสมเก็บไว้ไม่ใช่เล่น ในระยะยาวพี่ทุยเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปอีกไกล การเก็บสะสมไว้ในระยะยาว พี่ทุยว่าสบายนะ แต่กองทุนแบบ Active ต้องอาศัยผู้จัดการกองทุน ซึ่งในระยะยาวไม่มีใครบอกได้ว่า จะทำได้ดีตลอดหรือเปล่า ?

สุดท้ายแล้วเราจะเลือกลงทุนแบบไหน เราจำเป็นที่จะต้อง คิด วิเคราะห์ ด้วยตัวเอง แล้วเตรียมรับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่มันจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจด้วยตัวเอง วิธีการแบบนี้แหละคือวิธีที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการลงทุนในระยะยาว

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile