[ถอดบทเรียน] ทำไม “ประกันโควิด-19” ถึงกระทบประกันภัยตัวอื่นด้วย

[ถอดบทเรียน] ทำไม “ประกันโควิด-19” ถึงกระทบประกันภัยตัวอื่นด้วย ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” มีความเสี่ยงอุบัติใหม่ ขาดข้อมูลบรรทัดฐานทำให้ยากในการคำนวณเบี้ยที่เหมาะสมจดบริษัทประกันภัยขาดทุน
  • บริษัทประกันภัยไม่สามารถยกเลิกประกันโควิด-19ได้ จากคำสั่ง คปภ. เพื่อปกป้องผู้เอาประกันภัย ส่งผลให้บริษัทประกันภัยขาดทุนต่อเนื่องจากการเคลม
  • ยอดการเคลมรวมเพิ่มขึ้นสูงถึง 40,000 ล้านบาท ในขณะที่เบี้ยประกันรวมไม่ถึง 8,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ
  • หลายบริษัทใช้กำไรสะสม เพิ่มทุน กู้เงินมาเพื่อชำระค่าสินไหม แต่ก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้จนต้องเลือกปิดตัวลงเพื่อไม่ให้กระทบความคุ้มครองจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
  • ยอดการเบิกสินไหมยังมีต่อเนื่องจนกว่าจะถึงความคุ้มครองกรมธรรม์เล่มสุดท้ายเดือน มิ.ย. 2565 หรือสถานการณ์ โควิด-19 มีท่าทีที่ดีขึ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ถือเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ตั้งแต่ 13 ม.ค. 2563 ถึงแม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่อันดับต้นในการควบคุมการติดเชื้อได้ดี แต่โควิด-19 ก็สร้างผลกระทบต่อประเทศและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทประกันภัยที่ออก “ประกันโควิด-19” เอง ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบนั้น 

ประกันโควิด-19 “เจอ จ่าย จบ” ที่ตัวเลขการเคลมสูงถึง 40,000 ล้านบาท ในขณะที่เบี้ยรวมนั้นไม่ถึง 8,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ หลายฝ่ายจึงกลัวว่าผลกระทบจะลามไปยังประกันอื่น ๆ ของบริษัทประกันภัยด้วยหรือเปล่า บริษัทประกันภัยรับมืออย่างไรและจะเกิดผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้างพี่ทุยจะพาไปถอดบทเรียนครั้งใหญ่นี้

มุมมองการรับประกันของ Life (ประกันชีวิต) และ Non-Life (ประกันชีวิต)

หลายคนคงสงสัยทำไมในช่วง โควิด-19 เราถึงได้ยินแต่บริษัทประกันภัยล้ม แต่แทบไม่ได้ยินข่าวว่าบริษัทประกันชีวิตได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้สักเท่าไหร่ หากเรามองดูมุมมองของการรับประกันของ Life (ประกันชีวิต) และ Non-Life (ประกันชีวิต) แล้วจะพบว่า Life จะเน้นทำสัญญาระยะยาวและเน้นคุ้มครองค่ารักษาตามที่เกิดขึ้นจริง 

ในขณะที่ Non-Life ส่วนใหญ่จะมีสัญญาปีต่อปีและจะเน้นการรับประกันที่เมื่อเกิดเหตุจะจ่ายเป็นค่าชดเชยหรือเงินก้อน เมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าเหตุการณ์ที่รับประกันนั้นเกิดขึ้นจริง จึงไม่แปลกที่หากเรามีการเคลมในกลุ่มนี้สูงจะไม่สามารถต่อประกันหรือโดนเพิ่มเบี้ยในปีต่อไป

ด้วยความต่างนี้เราจะมักเห็นประกันโควิด-19 นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากบริษัทประกันภัยแทบทั้งหมดที่เป็นคนออกผลิตภัณฑ์มา และยิ่งขายดีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีการลดแลกแจกแถมแข่งขันกันแบบสุด ๆ แต่สถานการณ์ที่คนแห่กันซื้อประกันนั้นเกิดในช่วงที่ไทยมีอัตราการติดเชื้อไม่ได้สูงนัก ทำให้จ่ายเบี้ยเพียงนิดเดียวแต่ได้รับความคุ้มครองที่สูงมาก ๆ

ความเสี่ยงของ “ประกันโควิด-19”

สำหรับประกันโควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) ที่บริษัทประกันนั้น ไม่มีบรรทัดฐานในการคำนวณอัตราสูญเสีย (Loss Ratio) มาก่อน ทำได้เพียงหาข้อมูลที่ใกล้เคียงในการคำนวณความเสี่ยงเปรียบเทียบและคิดค่าเบี้ยออกมาเท่านั้น

ซึ่งในช่วงแรกที่มีการออกประกันโควิด-19 นั้น ตัวเลขการระบาดและการติดเชื้อในไทยนั้นยังไม่สูงนัก จะเห็นได้ว่าจ่ายเบี้ยเพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับความคุ้มครองที่สูงมาก ๆ และยิ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับและขายดี ก็ยิ่งมีการลดแลกแจกแถมแข่งขันกันแบบสุด ๆ ยิ่งมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยแล้วทำให้ยอดซื้อล้นหลาม และอาจเป็นยอดขายที่สูงเกินกว่าที่บริษัทประกันนั้น ๆ จะสามารถแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดไว้ได้อีกด้วย

เมื่อความเสี่ยงสูงขึ้นกระทันหันแต่ยกเลิกประกันไม่ได้

หากเราอ่านในสัญญาประกัน โควิด-19 แทบทุกฉบับ จะมีข้อความหนึ่งระบุในสัญญาคือ “บริษัทประกันสามารถยกเลิกกรมธรรม์ โดยต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้เอาประกันภัยทราบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ชัดเจนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน” ข้อความนี้มีไว้เพื่อกรณีที่ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนอย่างกระทัน อย่างกรณี โควิด-19 ที่เราเห็นว่ามีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั้งระลอก 2 และ ระลอก 3 ทำให้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงนั้นต่างกับความเสี่ยงตอนที่ผลิตภัณฑ์ออกมา

แต่ถึงแม้จะมีเงื่อนไขการยกเลิกระบุในสัญญาและบริษัทกำลังขาดทุนจริง แต่ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) เพื่อปกป้องประชาชนจึงมีคำสั่งห้ามบอกเลิกประกันโควิดมาตั้งแต่ต้นปี 2564

ผลที่เกิดขึ้นคือยอดเคลมประกันโควิด-19 นั้นยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ก.พ. 2565 มีบริษัทประกันภัยทั้งเล็กใหญ่ยื่นปิดกิจการไปแล้วถึง 4 บริษัท ด้วยการขาดทุนจากค่าสินไหมของประกัน โควิด-19

การรับมือของบริษัทประกันภัย เมื่อเกิดการเคลมจนขาดทุน

ในมุมของบริษัทประกันภัยก็คงไม่อยากมีใครที่จะล้มหรือขาดทุน จนต้องตายจากไปจากธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยเหล่านี้ก็ใช้เวลาหลายสิบปีในการสร้างความเชื่อมั่น จนได้รับการยอมรับจากลูกค้า ดังนั้นทางออกในการหนีหรือปิดตัวลงคงไม่ใช่ทางเลือกอันดับต้น ๆ ของบริษัทแน่นอน

ปัญหาสำคัญที่บริษัทประกันภัยต้องรับมือในช่วงวิกฤตเหล่านี้คือการจัดการสภาพคล่อง ถ้าให้มองเห็นง่าย ๆ ก็ไม่ต่างจากบริษัทหรือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ 

และถึงแม้บริษัทประกันภัยจะได้รับรายได้จากเบี้ยคนซื้อประกันโควิด-19 รวม ๆ เกือบ 8 พันล้านบาท แต่จากตัวเลขการเคลมทำให้บริษัทมีรายจ่ายที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ในช่วงปลายปี 2564 และยังมียอดเคลมสูงขึ้นเรื่อย ๆไปจนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์หรือสถานการณ์จะดีขึ้น นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดสัญญาหรือสถานการณ์ดีขึ้น

ตัวเลขหนึ่งที่บริษัทประกันต้องรักษาไว้คือความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR (Capital Adequacy Ratio) เป็นตัวเลขที่ใช้วัดฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระสินไหมของบริษัท ซึ่งก็มีหลาย ๆ บริษัทที่ได้รับความเสียหายจากประกัน โควิด-19 จนกระทบ CAR ratio 

โดยการรับมือเบื้องต้นอย่างการเพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่น เพิ่มทุนบริษัทเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง นำกำไรสะสมมาชำระ หรือบางบริษัทถึงขั้นกู้เงินมาชำระสินไหมก็มีและหลาย ๆ บริษัทก็ยังมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ

อีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทประกันภัยหลาย ๆ บริษัทที่อยู่รอดจนทุกวันนี้ ทำเพื่อลดความเสี่ยงในครั้งนี้คือ การทำประกันภัยต่อ (Reinsurance) เป็นการแบ่งความเสี่ยงออกไปให้บริษัทรับประกันภัยต่อ รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยบริษัทประกันภัยใหญ่มีสัดส่วนการทำประกันภัยต่อในบริษัทต่างประเทศ สูงถึง 80-90% 

ทำให้บริษัทประกันภัยเหล่านี้แม้อาจจะขาดทุนจากผลิตภัณฑ์แต่ก็ยังสามารถบริหารความเสี่ยงและดูแลสภาพคล่องของบริษัทให้แข็งแรงอยู่ได้ ส่วนบริษัทที่รับความเสี่ยงเกินตัว บริหารจัดการไม่ดี เพิ่มทุนก็ไม่ได้ กำไรสะสมไม่เหลือ

[ถอดบทเรียน] ทำไม “ประกันโควิด-19” ถึงกระทบประกันภัยตัวอื่นด้วย ?

ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัย

ปกติแล้ว CAR ที่กฎหมายกำหนดไว้ของไทยจะอยู่ที่ 120% จะเห็นได้ว่า CAR ของหลายบริษัทที่ยื่นปิดกิจการนั้น บางบริษัทยังมีตัวเลขที่ดีอยู่ ซึ่งสาเหตุที่บริษัทเหล่านี้เลือกที่จะออกจากตลาดประกันวินาศภัยออกไปนั้น เพื่อที่จะปกป้องความคุ้มครองของประกันภัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประกันโควิด-19 

เพื่อไม่ให้ส่วนที่ขาดทุนนั้นไปกระทบส่วนอื่น ๆ เหมือนตัดเนื้อร้ายไม่ให้พังไปทั้งระบบ โดยกิจการและกลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะถูกโอนย้ายไปกองทุนประกันภัยดูแลเรื่องสินไหมต่อ เพื่อให้ประชาชนไม่เสียประโยชน์และลดผลต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

เปรียบเทียบการออก “ประกันโควิด-19” ในต่างประเทศ

อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงแรกประกันโควิด-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ และยากในการเปรียบเทียบบรรทัดฐานอัตราการสูญเสีย บริษัทประกันภัยในต่างประเทศรวมถึงบริษัทประกันภัยต่างประเทศในไทย แทบจะไม่มีบริษัทไหน ออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ “เจอ จ่าย จบ” เลย

โดยประกันที่ใกล้เคียงมีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ต่างกันคือในญี่ปุ่นนั้นจะเป็นสัญญาระยะสั้น อย่างระยะ 3 เดือน เพราะบริษัทรู้ว่ามีความเสี่ยงที่สูงและมีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้เยอะ ดังนั้นเพื่อจำกัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ในญี่ปุ่นจึงเลือกทำผลิตภัณฑ์ที่มีสัญญาสั้นกว่า 

ดีกว่าสร้างคาดหวังเป็นประกันระยะเวลาที่ยาว แล้วมาใช้สิทธิยกเลิกความคุ้มครองทีหลังเมื่อควบคุมความเสี่ยงไม่อยู่ ซึ่งหากผ่านไป 3 เดือนแล้ว ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่ในระยะที่เหมาะสมก็อาจจะตกลงต่อสัญญากันต่อ แต่หากเกิดมีความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ก็สามารถมาคำนวณความเสี่ยงใหม่ให้สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบันได้

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

สิ่งที่ต้องระวังต่อจากนี้เลยคือวิกฤตประกันภัย กรมธรรม์ประกันโควิด-19 เล่มสุดท้ายที่มีการออกนั้นอยู่ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 โดยมีระยะเวลาสัญญา 1 ปี นั่นหมายความว่า หากสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น ตัวเลขการเคลมอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเงินกองทุนประกันวินาศภัยไม่พอก็เป็นได้

แต่หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจนผ่านเดือน มิ.ย. 2565 ไปได้ ก็จะถือว่าปลอดภัย สิ่งที่ปัจจุบันทำได้นั้นคือลดความเสียหาย และหาวิธีเยียวยาให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้

เพื่อความสบายใจก่อนทำการซื้อประกันภัยในช่วงนี้ ก็อย่าลืมตรวจสอบความแข็งแรงทางการเงินของบริษัท รวมถึงเช็ค CAR ขอบริษัทที่สนใจว่ามีตัวเลขที่มั่นคงปลอดภัยพอหรือไม่ จะได้เลือกซื้อประกันภัยได้โดยไม่ต้องกังวลผลกระทบ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย