ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแม้จะมีการคลายล็อคดาวน์ไปแล้วบางส่วน ธุรกิจหนึ่งที่กำลังสะดุดขาตัวเองล้มลงไปในหลุมที่ชื่อว่า “วิกฤตโควิด” ก็คือ “ธุรกิจประกัน” จากสินค้าที่คิดขึ้นมาเองอย่าง “เจอ จ่าย จบ”
ถ้าใครยังจำกันได้ ข่าวใหญ่เมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา มีข่าวว่า “สินมั่งคง” หนึ่งในธุรกิจประกันได้ร่อนหนังสือขอยกเลิกประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ที่ผู้ทำประกันจะได้รับเงินชดเชยตามแผนที่ตัวเองทำไว้หากพบติดเชื้อโควิด-19 โดยข่าวใหญ่ในตอนนั้น เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ดังลั่นในแวดวงธุรกิจประกัน
ครั้งนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีคำสั่งไม่ให้สินมั่งคงยกเลิกประกันโควิดดังกล่าว ทำให้ทางสินมั่งคงต้องออกมาขออภัยต่อลูกค้า พร้อมยืนยันจะคุ้มครองตามเดิมต่อไป ซึ่งเรื่องก็เหมือนจะจบลงแล้ว
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง หลายบริษัทออกประกาศยืนยันความคุ้มครองทุกกรมธรรม์โควิด-19 ต่อไป ขณะที่บางบริษัทขอยุติการขาย เช่น นวกิจประกันภัย หรือบางบริษัทเลือกวิธียกเลิกต่อสัญญาประกันโควิดอย่างที่วิริยะประกันภัยประกาศไว้ เพราะยอดเคลมประกันสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
พี่ทุยว่ากรณีของสินมั่งคงเป็นแค่ปฐมบทเท่านั้นเอง
ปิด “เอเชียประกันภัย”
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2021 ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยมีเหตุว่า ทางเอเชียประกันภัยมีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง มีหนี้สิ้นมากกว่าทรัพย์สิน และมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายเมื่อมีการเคลมประกัน
ในการรายงานของประชาชาติธุรกิจพบว่า ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. – 14 ต.ค. 2021 ทางเอเชียประกันภัยจ่ายค่าเคลมประกันกับลูกค้ากว่า 13,000 คน คิดเป็นเงินสูงถึง 800 ล้านบาท และยังมียอดเคลมสะสมอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้จ่าย
อย่างไรก็ตามเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกค้าเอเชียประกันภัย จึงได้แบ่งประกันต่าง ๆ ออกเป็น
1. ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ 2 แสนฉบับ
2. ประกันรถยนต์ภาคบังคับกว่า 1 ล้านฉบับ
3. ประกันโควิดอีก 8 แสนฉบับ
ในกรณีประกันแบบข้อ (1) , (2) ซึ่งทางคปภ.ได้วางมาตรการให้โอนลูกค้าไปยังบริษัทประกันอื่น ๆ โดยลูกค้าของเอเชียประกันภัย สามารถนำไปบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ไปยื่นแก่บริษัทประกันที่สนใจรับลูกค้าของเอเชียประกันภัยซึ่งมีทั้งสิ้น 13 บริษัท*
สำหรับประกันโควิดจำนวน 8 แสนฉบับในข้อ (3) ทางทิพยประกันภัยที่มีกิจการของภาครัฐถือหุ้นใหญ่ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับกรมธรรม์โควิดไปทั้งหมด
แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องยอมเปลี่ยนแผนคุ้มครองเป็นภาวะโคม่า ที่ไม่ใช่ “เจอ จ่าย จบ” แทน โดยผู้ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแผนการคุ้มครอง สามารถยื่นขอคืนเงินส่วนต่างจากกองทุนประกันวินาศภัยได้**
หมายเหตุ
- * รายชื่อบริษัทประกันที่สนใจรับลูกค้าของเอเชียประกันภัย จำนวน 13 บริษัท l 1. กรุงเทพประกันภัย 2. กรุงไทยพานิชประกันภัย 3. ทิพยประกันภัย 4. เทเวศประกันภัย 5. ธนชาติประกันภัย 6. นวกิจประกันภัย 7. ประกันภัยไทยวิวัฒน์ 8. มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ 9 มิตรแท้ประกันภัย 10. วิริยะประกันภัย 11. เอไอเอ 12. ไทยศรีประกันภัย และ 13. ซมโปะ ประกันภัย
- ** อาจมีการเปลี่ยนเเปลง ตามประกาศของทางบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ในภายหลัง
สินค้าประกัน “เจอ จ่าย จบ” กับการประเมินความเสี่ยงผิดพลาด
การที่บริษัทประกันพร้อมใจกันบอกว่า “ยอดเคลมประกันโควิดสูงกว่าที่คาดไว้” ก็เป็นตัวบ่งชี้สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจประกันกำลังประสบปัญหาในขณะนี้แล้ว นั่นคือ การประเมินความเสี่ยงผิดพลาดอย่างมหันต์
ในช่วงการระบาดระลอกแรกที่ทำให้ต้องล็อคดาวน์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน เม.ย. 2020 ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในไทยอยู่ที่หลักร้อยและลดลงมาเหลือหลักสิบอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลของ Our World Data ที่รวบรวมยอดการติดเชื้อเฉลี่ยในช่วง 7 วันเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2020
โดยในช่วงวันที่ 1 เม.ย. 2020 ยอดติดเชื้อของไทยอยู่ที่ 1.7 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เท่ากับว่าโอกาสเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มากสุดแค่ 2 คนต่อ 1 ล้านคน จึงไม่แปลกที่เบี้ยกรมธรรม์จะแสนถูก เช่น เบี้ยประกัน 500 บาท และรับ 100,000 บาททันทีที่พบติดเชื้อโควิด
พี่ทุยจำได้ว่าตอนนั้นมีคอนเทนต์ชิงโชคโควิดมีโอกาสถูกมากกว่าล็อตเตอรีเสียอีก
แต่พอปี 2021 สถานการณ์กลับย่ำแย่ลงอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน ส.ค. ที่มียอดผู้ติดเชื้อเกือบ 20,000 คนติดต่อกันหลายวัน ทำให้ยอดติดเชื้อของไทยอยู่ที่ 300 กว่าคนต่อประชากร 1 ล้านคน หรือเท่ากับว่าโอกาสเจอผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากอยู่ที่ 1 ใน 3,333 คนเลยทีเดียว ขณะที่โอกาสเสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าอีกด้วย
พี่ทุยว่า ผู้ทำประกันส่วนใหญ่คือมีความเสี่ยงระดับหนึ่งที่ต้องออกไปผจญเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่เมื่อประกอบกับโอกาสการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว จะทำให้ยอดเคลมประกันสูงขึ้นตามไปด้วย
ในช่วงที่เกิดเรื่องกับทาง “สินมั่นคงประกันภัย” ทางประชาชาติธุรกิจเคยรายงานข้อมูลจากทาง คปภ.พบว่า เมื่อนับถึงเดือน มิ.ย. 2021 มีกรมธรรม์โควิดรวมทั้งหมดเกือบ 27 ล้านกรมธรรม์ มีเบี้ยประกันรวมกว่า 9,221 ล้านบาท และจ่ายเคลมสะสมไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2020 ถึง 645%
ล่าสุดข้อมูลเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2021 พบว่า กรมธรรม์โควิดมีเกือบ 40 ล้านฉบับเข้าไปแล้ว คิดเป็นเบี้ยรวมสะสมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดเคลมสะสมสูงถึง 9,428 ล้านบาท เห็นได้ว่า “ยอดเคลมใกล้เคียงกับยอดเบี้ยสะสมเข้าไปทุกที”
ผู้เชี่ยวชาญเตือนวิกฤตประกัน
หาก “สินมั่นคง” ขอยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 เป็นแค่ปฐมบทแล้ว การสั่งปิด “เอเชียประกันภัย” ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อเรื่องหลัก
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวกับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ว่า เอเชียประกันภัยอาจไม่ได้เป็นรายเดียวที่โดนปิด เนื่องจากบริษัทประกันหลายแห่งมีสถานะการเงินไม่สู้ดีนัก
“กรณีของบริษัทเอเชียประกันภัยนั้นเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารสภาพคล่องของบริษัทมากกว่าเป็นผลจากธุรกิจอุตสาหกรรมประกันและเศรษฐกิจโดยรวม” นายอนุสรณ์กล่าวกับอินโฟเควสท์
หากธุรกิจประกันต้องล้มลงคงทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน ลามไปถึงการลดการจับจ่ายใช้สอยแก่ธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งทาง คปภ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามช่วยเหลือธุรกิจประกันอยู่ในขณะนี้
เราอาจได้เห็นการควบรวมกิจการธุรกิจประกันมากขึ้น หรือมาตรการช่วยเหลือด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้
พี่ทุยเอาใจช่วยทุกฝ่ายให้ผ่านวิกฤตในตอนนี้ไปได้