ประกันสังคมมาตรา 39 หรือ ม.39 เป็นประกันสังคมอีกมาตราหนึ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ อย่างยิ่ง เพราะ ถึงแม้ว่าเราจะลาออกจากงานแล้ว “เรายังสามารถได้รับสิทธิต่าง ๆ ได้ ด้วยการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง” แล้วสิทธิประโยชน์จะมีอะไรบ้างพี่ทุยสรุปมาให้แล้วไปฟังกัน
ประกันสังคมมาตรา 39 คืออะไร
ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานและเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน แล้วออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมให้ต่อเนื่อง หรือผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก
โดยมีเงื่อนไขคือต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน รวมถึงไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
ประกันสังคมมาตรา 39 สมัคร ได้ทางไหน
ยื่นใบสมัครที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ต้องยื่น ใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) และ บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกจากงาน ได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ จังหวัด และสาขา ใกล้บ้าน
ประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายเท่าไหร่ 2566
จริง ๆ แล้วการจ่ายเงินของผู้ประกัยตนมาตรา 39 ง่ายมาก ๆ สามารถหักได้ผ่านบริการหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ และจ่ายผ่านเคาน์เตอร์ รวมถึงเกณฑ์การจ่ายเงิน พี่ทุยสรุปมาให้แล้ว
ต้องจ่ายเท่าไหร่ ต่อเดือน
ปี 2566 นี้ จะต้องจ่ายในอัตราเดือนละ 432 บาท และต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงตามนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐในบางเดือน
จ่ายที่ไหนได้บ้าง
ผู้ประกันตน ม.39 สามารถจ่ายเงินชำระค่าประกัน ผ่านเคาเตอร์ที่ร่วมรายการ ดังนี้
- เคาน์เตอร์เซอร์วิส
- ไปรษณีย์ไทย
- เทสโก้ โลตัส
- เคาน์เตอร์ CenPay Powered by บุญเติม
- เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย และ กรุงศรีอยุธยา
และผู้ประกันตน ม.39 สามารถสมัครหักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคารได้ โดยธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ดังนี้
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารทหารไทยธนชาต
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารกรุงเทพ
เอกสารที่ต้องใช้ สมัครบริการหักเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารอัตโนมัติ
- หนังสือยินยอมให้หักเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตน และ แบบคำขอส่งเงินสมทบ มาตรา 39
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ จากนั้นยื่นเอกสารได้ที่ สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน
ผู้ประกันตน ม. 39 ที่ชำระเงินสมทบโดยวิธีหักบัญชีธนาคาร สามารถพิมพ์และดาวน์โหลดใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้ใน 2 วันทำการ นับถัดจากวันที่หักบัญชี จากเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม (https://www.sso.go.th/erc)
ประกันสังคมมาตรา 39 ขาดส่ง จะเกิดอะไรขึ้น
- ต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตรา 2% ต่อเดือน
- หากขาดส่ง เงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก็หมดสิทธิ์ในการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทันที แล้วมีเหตุอะไรอีกบ้างที่ทำให้สิ้นสภาพ
เหตุที่ทำให้ผู้ประกันมาตรา 39 สิ้นสภาพ
- ผู้ประกันตนตาย
- ลาออก
- กลับเข้ามาเป็นลูกจ้าง มาตรา 33
- ขาดส่งเงินสมสบ 3 เดือนติดต่อกัน
- ภายใน 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน
ประกันสังคมมาตรา 39 สิทธิประโยชน์ 2566
แล้วรู้หรือไม่ว่าหากเรายังคงอยู่ในระบบประกันสังคม แม้ว่าจะลาออกมาแล้ว จะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
สรุปประกันสังคมมาตรา 39 คุ้มครองอะไรบ้าง
1. การรักษาพยาบาล และ เจ็บป่วย
กรณีเจ็บป่วยปกติ
มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุ ทางประกันสังคมเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เท่าที่จ่ายจริง แบ่งเป็นกรณีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งเบิกได้ต่างกัน
กรณีทันตกรรม
ผู้ประกันตนสามารถทำฟันได้ในสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิประกันสังคม โดยได้รับสิทธิประโยชน์คือ
- ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาทต่อครั้งต่อปี
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย ดังนั้น หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะไม่ต้องนำเอกสารต่าง ๆ มายื่นขอรับเงินคืนอีก ซึ่งสามารถตรวจสอบรายได้สถานพยาบาลทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม
เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย
เงินทดแทนการขาดรายได้สำหรับการหยุดงาน เพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ในรอบปี ถ้าผู้ประกันตนลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน
ตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ต่อไปอีก สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินเรียกว่า “เงินทดแทนการขาดรายได้” ซึ่งผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ในรอบปีหนึ่ง ๆ ก็จะจ่ายให้ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
โรคเรื้อรังไว้ 6 ชนิด ดังนี้
- โรคมะเร็ง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเอดส์
- โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมองหรือกระดูกสันหลังอันเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต
- ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน
- โรคหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ต้องรักษาตัวนานติดต่อกันเกินกว่า 180 วัน ระหว่างการรักษาทำงานไม่ได้ให้ยื่นเรื่องขอมติคณะกรรมการการแพทย์
2. คลอดบุตร
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่จะคลอด โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายไม่จำกัดจำนวนครั้ง เบิกได้ 13,000 บาทต่อครั้ง
- ผู้ประกันตนฝ่ายหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
- ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
3. สงเคราะห์บุตร หรือ ค่าเลี้ยงดูลูก
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบ 12 เดือนภายใน 36 เดือนก่อนมีบุตรจะคลอด โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินสงเคราะห์บุตร คือ บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 600 บาทต่อเดือนต่อคน ครั้งละไม่เกิน 3 คน
4. พิการ หรือ ทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนจะทุพพลภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ทุพพลภาพ ทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นจำนวนไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย
- ค่าอวัยวะเทียม + อุปกรณ์
- ค่าพาหนะรับ – ส่งผู้ทุพพลภาพ 500 บาทต่อเดือน
5.ชราภาพ
ผู้ประกันตนจะได้รับก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินชราภาพ ดังนี้
- อายุครบ 55 ปี สมทบไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) ได้บำเหน็จ
- อายุครบ 55 ปี สมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป (15 ปี) ได้บำนาญ
- ถ้าค่าจ้างเกินกว่าเดือนละ 15,000 บาท สมทบไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้บำนาญเดือนละ 3,000 บาท หากส่งเกิน 180 เดือน (15 ปี) จะได้เพิ่มปีละ 225 บาท
6. เสียชีวิต
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 1 เดือนภายใน 6 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าทำศพ 50,000 บาท
- เงินสงเคราะห์
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
- เงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายให้แก่ทายาทตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
เช็คยอดประกันสังคม มาตรา 39
การเช็คสิทธิประกันสังคมในปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชนได้แล้ว คือ
1. เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน หลังจากนั้นคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ” หน้าเว็บไซต์ประกันสังคมจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตนว่าเป็นผู้ประกันตนมาตราอะไร เลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกดูข้อมูลต่าง ๆ ได้เลย
2. แอปพลิเคชัน SSO Connect
ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประชาชนพร้อมรหัสผ่าน และคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ (Login)
แอปพลิเคชันประกันสังคม SSO Connect จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน เช่น ชื่อและนามสกุล โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ยอดเงินสมทบชราภาพ และสิทธิทำฟันประกันสังคม โดยด้านล่างผู้ประกันสามารถเลือกเช็คสิทธิประกันสังคมที่ต้องการทราบได้เลย
3. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง