การฟอกเงิน คืออะไร - เคยมีเหตุการณ์ฟอกเงินครั้งใหญ่ที่ไหนบ้าง ?

การฟอกเงิน คืออะไร – เคยมีเหตุการณ์ฟอกเงินครั้งใหญ่ที่ไหนบ้าง ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • อัลคาโปน (Al Capone) เป็นชายที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักคำว่า “ฟอกเงิน” เพราะเอาเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายของตัวเองไปลงบัญชีร้านซักรีดที่เปิดบังหน้าเอาไว้เพื่อปิดบังกลบเกลื่อนที่มาของเงินไม่ให้ตำรวจจับได้
  • อัตราการฟอกเงินในปัจจุบันอยู่ที่ 2-5% ของ GDP โลก และในแต่ละปีอาจมีเงินที่ถูกฟอกกว่า 8 แสนถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์
  • การฟอกเงินแทรกซึมอยู่ในระบบเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศ และในอดีตมีกรณีการฟอกเงินครั้งใหญ่อยู่หลายเคสที่เกี่ยวข้องกับอาชญากร สถาบันการเงิน รัฐบาล และผู้นำประเทศ เช่น นาอูรู, BCCI, ตระกูลมาร์กอส, Wachovia, ปาโบล เอสโคบาร์

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลาย ๆ คน อาจเคยดูภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ที่เกี่ยวกับอาชญากรรม และมักเจอเรื่องราว “การฟอกเงิน” อยู่ในพล็อตเรื่องด้วย ซึ่งการฟอกเงินที่ว่าถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาชญากรรมเกี่ยวกับเงินที่แต่ละประเทศต่อต้านอย่างหนักเพราะมีผลกระทบแทบทุกด้านทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปเจาะว่าการฟอกเงินคืออะไร มีรูปแบบยังไง ทำไมอาชญากรถึงต้องฟอกเงิน และมีเหตุการณ์การฟอกเงินไหนบ้างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ 

การฟอกเงิน คืออะไร ทำไปทำไม?

เริ่มแรกเรามารู้จักกับความหมายการฟอกเงินกันก่อน

การฟอกเงินหรือ Money Laundering คือทำให้เงินที่ได้มาแบบผิดกฎหมายกลายเป็นเงินที่ถูกกฎหมายจนสามารถเอาไปใช้ได้โดยที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือถูกจับ ซึ่งเหมือนทำเงินสกปรกให้กลายเป็นเงินที่ขาวสะอาด เลยใช้คำว่า “ฟอก” นั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น พี่ทุยขอยกตัวอย่าง เช่น มีมาเฟียที่สร้างโรงงานผลิตยาเสพติดแล้วส่งออกไปขายล็อตใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจสีดำสนิทแบบนี้ลูกค้าคงไม่จ่ายด้วยพร้อมเพย์ สแกน QR-Code โอนเข้าบัญชีธนาคารหรือเขียนเช็คให้เด็ดขาด เพราะเงินที่ได้จากการค้ายาล็อตใหญ่ย่อมเป็นเงินก้อนมหาศาลที่หากโอนจ่ายเข้าบัญชี ธนาคารคงตั้งคำถามว่าเงินที่ไหลเข้ามาขนาดนี้มีที่มาจากอะไร 

ดังนั้น เงินที่ได้จากธุรกิจแบบนี้คือเงินสดล้วน ๆ แบบเต็มกระเป๋า แต่เงินสดที่ได้มาก็อาจโดนตรวจสอบเหมือนกัน เลยต้องเปลี่ยนเงินสดนั้นให้เป็นสินทรัพย์อย่างอื่นก่อน เช่น เอาไปซื้อทองคำ เพชร อัญมณี ฯลฯ แล้วเอาของที่ซื้อไปขายต่ออีกที ก็จะได้เงินสดที่ขาวสะอาดถูกต้องตามกฎหมายกลับมาในที่สุด

หรืออีกวิธีคือสร้างธุรกิจถูกกฎหมายบังหน้า แล้วเอาเงินสดเข้าระบบบัญชีของธุรกิจนั้น ๆ เพื่อสร้างที่มาใหม่ว่า “เงินสดนี้ได้จากการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย” ซึ่งส่วนมากอาชญากรมักฟอกเงินโดยใช้หลาย ๆ วิธีผสมกัน

ยิ่งเงินที่ได้มามีมากขนาดไหน รูปแบบการฟอกเงินยิ่งต้องมากตามไปด้วยเพื่อให้ที่มาของเงินสมเหตุสมผล ซึ่งมีหลายเคสเหมือนกันที่ถูกจับได้เพราะธุรกิจบังหน้ามีรายได้มากผิดปกติ เช่น เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ แต่มีรายได้หลักสิบล้านต่อเดือน ก็อาจโดนตรวจสอบจนสาวไปพบที่มาของเงินได้เหมือนกัน

สรุปแล้ว เงินก้อนขนาดใหญ่ที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมายทั้งหลายแหล่ หากไม่มีการฟอกก่อนก็เอาไปใช้ไม่ได้เพราะเสี่ยงถูกตรวจสอบ ยิ่งก้อนใหญ่ก็ยิ่งต้องแบ่งหลาย ๆ กอง แล้วเอาไปฟอกหลาย ๆ ที่ ซึ่งในบางเคสเงินที่อยู่ในระบบการฟอก มีเครือข่ายโยงใยซับซ้อนที่สร้างความปวดหัวให้กับตำรวจพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งพี่ทุยจะพาไปดูเคสเหล่านี้ต่อไป 

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นเรามาดูกันก่อนว่า การฟอกเงินเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนไหนและทำไมถึงต้องเรียกว่าฟอกเงิน                      

จุดกำเนิด การฟอกเงิน

จริง ๆ แล้ว ไม่มีหลักฐานที่รู้แน่ชัดว่าจุดกำเนิดของการฟอกเงินอยู่ที่ไหน แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์เริ่มค้าขายโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้ไม่นาน และเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว

ซึ่งตรงกับราชวงศ์ฮั่นของจีนที่เริ่มสร้างระบบราชการรวมศูนย์ไว้ โดยส่งคนจากส่วนกลางไปปกครองตามที่ต่าง ๆ และด้วยสเกลพื้นที่ของจีนที่ใหญ่โตมาก ทำให้ส่วนกลางดูแลไม่ทั่วถึง คนที่ถูกส่งไปปกครองบางครั้งก็รับใต้โต๊ะหรือไม่ก็ค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย แล้วทำธุรกิจหลาย ๆ อย่าง กลบเกลื่อนปิดบังแหล่งที่มาของเงินเพื่อไม่ให้ส่วนกลางจับได้

ในเวลาต่อมาก็พบกระบวนการคล้าย ๆ แบบนี้ ในหลายที่ทั่วโลก แต่พี่ทุยบอกไว้ก่อนว่าตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักคำว่าฟอกเงินหรือ Money Laundering 

แล้วคราวนี้มนุษย์เริ่มให้ความหมายคำว่า  “ฟอกเงิน” ตอนไหน?

จริง ๆ แล้ว มนุษย์รู้จักคำว่า ”ฟอกเงิน” ไม่ถึง 100 ปี และคนที่ทำให้ทั่วทั้งโลกรู้จักคำว่าฟอกเงินคือชายที่ชื่อว่า “อัลคาโปน (Al Capone)” ผู้ถูกขนานนามว่าก็อดฟาเธอร์และหัวหน้าแก๊งมาเฟียที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐฯ

โดยอัลคาโปนที่ว่าเป็นเจ้าพ่อแก๊งมาเฟียขนาดใหญ่ในชิคาโกเมื่อปี 1925 คุมธุรกิจผิดกฎหมายแบบครบวงจรทั้งคาสิโน บ่อนใต้ดิน ค้าประเวณี ส่งออกเหล้าเถื่อน ฯลฯ และธุรกิจพวกนี้ทำเงินให้อัลคาโปนและแก๊งแบบถล่มทลาย 

ซึ่งเงินมหาศาลนี้อัลคาโปนใช้วิธีไหนปกปิดเพื่อหลบเลี่ยงการตามรอยของตำรวจ?

คำตอบคือ อัลคาโปนสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา และธุรกิจที่ว่าคือร้านซักรีดนั่นเอง!

อัลคาโปนขนเงินที่ได้จากธุรกิจสีดำทั้งหลายแหล่ไปเข้าบัญชีร้านซักรีดของตัวเองที่เปิดบังหน้าเอาไว้ แต่ก็ปกปิดไปได้ประมาณ 6 ปี อัลคาโปนก็ดันถูกจับในข้อหาหนีภาษี เลยโดนสาวไปถึงธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ จนตามรอยเงินทั้งหมดไปถึงร้านซักรีดในที่สุด

ซึ่งพอเปิดรายได้ออกมาตำรวจก็รู้ทันทีว่าเงินจากธุรกิจสีดำของอัลคาโปนทั้งหมดอยู่ที่ร้านซักรีด เพราะมีเงินหมุนอยู่ในบัญชีกว่าพันล้านดอลลาร์ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ที่ร้านซักรีดจะทำเงินได้ขนาดนี้ 

การพยายามปกปิดที่มาของเงินโดยร้านซักรีดของอัลคาโปนก็เลยถูกเรียกว่า “การฟอกเงิน (Money Laundering)” ในที่สุด ซึ่งตามความเป็นจริงการฟอกเงินมีมาก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว แต่อัลคาโปนถือเป็นคนที่ทำให้เกิดคำว่าฟอกเงินขึ้นมานั่นเอง

และพี่ทุยคิดว่าเราอาจนับอัลคาโปนให้เป็นบิดาแห่งการฟอกเงินได้เลยทีเดียว

เหตุการณ์ฟอกเงินครั้งใหญ่

คราวนี้ หลังจากที่เกิดคำว่าฟอกเงินขึ้นมา รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เลยออกกฎหมายต่อต้านแบบจริงจัง และเริ่มเห็นว่าการฟอกเงินเป็นสิ่งที่อาชญากรมักทำคู่กับธุรกิจผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจ ข้าราชการชั้นสูง สถาบันการเงิน จนไปถึงผู้นำประเทศก็มีการฟอกเงินด้วยเหมือนกัน

และพี่ทุยจะยกเคสการฟอกเงินเด็ด ๆ ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์มาให้ทุกคนได้เรียนรู้กันทั้งหมด 5 เคส เพื่อให้เห็นว่า การฟอกเงินเกิดขึ้นได้ยังไงและเครือข่ายการฟอกเงินขนาดใหญ่มีความซับซ้อนแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้ว ตามพี่ทุยไปชำแหละทีละเหตุการณ์กันได้เลย!

นาอูรู ประเทศที่หารายได้จาก การฟอกเงิน

เคสแรกเป็นเรื่องราวของประเทศเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกชื่อว่า “นาอูรู (Nauru)” ซึ่งมีประชากรแค่ 10,800 คน และมีพื้นที่แค่ 21 ตารางกิโลเมตร (สเกลเทียบได้ประมาณอำเภอเล็ก ๆ ในไทย)

โดยในอดีตนาอูรูเป็นเกาะที่น่าสนใจเลยทีเดียว เพราะมีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ แต่ในเวลาต่อมาชาวยุโรปเดินเรือจนพบเกาะนี้และดันเจอขุมทรัพย์อันล้ำค่าที่เรียกว่าฟอสเฟต ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีและเป็นสารสารพัดประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร

คราวนี้บริษัทต่างชาติทั้งจากอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ก็แห่เข้ามาระเบิดเกาะสร้างเหมืองขุดฟอสเฟตจนสภาพเกาะบางส่วนเละตุ้มเป๊ะแทบอยู่ไม่ได้ ซึ่งออสเตรเลียก็เสนอย้ายประชากรชาวนาอูรูออกจากเกาะแล้วยกสัญชาติออสเตรเลียให้ แต่ชาวนาอูรูปฏิเสธหัวชนฝาและเรียกร้องอิสรภาพของตัวเอง จนนานาชาติยอมรับรองอิสรภาพของนาอูรูในปี 1968 

หลังจากตั้งประเทศได้แล้ว รัฐบาลและชาวนาอูรูก็ร่วมกันกว้านซื้อบริษัทขุดฟอสเฟต แล้วเริ่มส่งออกฟอสเฟตเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งพี่ทุยบอกได้เลยว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ฟอสเฟตทำให้ชาวนาอูรูรวยเละแบบไม่ทันตั้งตัว มีเม็ดเงินเข้าประเทศรวม ๆ แล้ว ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์! ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่รวยที่สุดในโลกอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว 

ชาวนาอูรูที่รวยแบบฉับพลัน ก็ซื้อของหรูหราและอัดอาหารแบบจังก์ฟู้ดจนพากันอ้วนแบบไม่รู้ตัว แต่ภายในเวลาแค่ 20 ปี ฟอสเฟตก็เริ่มร่อยหรอและหมดลง แถมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะแทบปลูกอะไรไม่ได้เลยเพราะการทำเหมืองอย่างหนักหน่วง และแล้วนาอูรูก็พลิกจากประเทศที่รวยที่สุดกลายเป็นประเทศที่จนที่สุด แถมยังเจอปัญหาโรคอ้วนจากพฤติกรรมการกิน กลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนอ้วนเยอะที่สุดอีกด้วย!

คราวนี้ ชาวนาอูรูเลยแก้ปัญหาโดยการเปิดธนาคาร และแน่นอนว่าไม่ใช่ธนาคารธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่เป็นธนาคารที่เปิดช่องให้ฟอกเงินโดยเฉพาะ ซึ่งธนาคารในนาอูรูมีนโยบายหลัก ๆ ทั้งการไม่ตรวจสอบประวัติส่วนตัวของลูกค้าและไม่บันทึกแหล่งที่มาของเงินฝาก เรียกได้ว่า เป็นที่ที่เหมาะให้อาชญากรหอบเงินมาฟอกกันจนหนำใจ 

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ชาวนาอูรูยังประกาศขายที่ดินราคาถูกให้ชาวต่างชาติ ซึ่งดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาซื้อจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่แน่นอนว่าประเทศที่แทบล้มละลายและไม่มีทรัพยากร คงไม่ได้ชวนให้น่ามาลงทุนเท่าไหร่ ดังนั้นจุดประสงค์ของนักธุรกิจพวกนี้คือเข้ามาซื้อที่ดินแล้วเปิดบริษัทเพื่อฟอกเงินนั่นเอง โดยประมาณการกันว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีเงินไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ฟอกในระบบเศรษฐกิจของนาอูรู 

จากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกลายเป็นสรวงสวรรค์ของการฟอกเงินอย่างแท้จริง!

ตระกูลมาร์กอส การฟอกเงินของผู้นำระดับประเทศ

เคสที่สองพี่ทุยขอยกผู้นำระดับประเทศและตระกูลที่มีอิทธิพลในฟิลิปปินส์อย่างตระกูลมาร์กอสโดยมีผู้นำคือ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ซึ่งมีชื่อพอสมควรในเรื่องการคอร์รัปชัน

ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐฯ จนได้รับอิสรภาพเมื่อปี 1946 ซึ่งเฟอร์ดินาน มาร์กอสเป็นนักกฎหมายที่กระโดดมาเล่นการเมืองจนชนะเลือกตั้งในปี 1965 ได้รับความนิยมจนถูกเลือกเป็นประธานาธิบดีถึง 2 วาระ แต่พอในปี 1972 ที่ต้องลงจากตำแหน่ง มาร์กอสกลับเลือกชัตดาวน์ประเทศประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป 

จนในปี 1986 คนฟิลิปปินส์ก็ทนการปกครองของมาร์กอสไม่ไหว รวมตัวประท้วงโค่นล้ม                       เฟอร์ดินาน มาร์กอสลงในที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบตระกูลมาร์กอสย้อนหลังและพบทรัพย์สินจำนวนมาก

เช่น คฤหาสน์ 50 หลังในฟิลิปปินส์, ที่ดินหลายร้อยผืนในอังกฤษ ออสเตรีย อิตาลี, ตึกในนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี ซีแอตเทิล,  ธนาคารและโรงแรมในอิสราเอล, รวมถึงเครื่องเพชรและคอลเลกชั่น  รองเท้าหรูกว่า 2,000 คู่ ซึ่งตระกูลมาร์กอสก็มีการแบ่งเงินหลาย ๆ กองไปฟอกกับธุรกิจของตัวเองที่อยู่ในแต่ละประเทศ

ตลอด 21 ปีที่ตระกูลมาร์กอสคุมฟิลิปปินส์ ไม่มีใครรู้แบบชัดเจนว่าจริง ๆ แล้ว ตระกูลนี้ได้เงินไปมากขนาดไหน แต่ก็มีบางแหล่งที่ประเมินไว้ว่าอาจแตะถึงระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เลยก็ได้

อ่านเพิ่ม

BCCI การฟอกเงินของธนาคารยักษ์ใหญ่ในยุค 1980

เคสที่สามคือธนาคารที่ชื่อว่า BCCI หรือ Bank of Credit and Commerce International ซึ่งสร้างในปี 1972 โดย “อัคฮา ฮาซัน อเบดี (Agha Hasan Abedi)” นักธุรกิจชาวปากีสถาน มีสำนักงานใหญ่ของ BCCI อยู่ในการาจีและลอนดอน แถมมีสาขากระจายใน 78 ประเทศทั่วโลก มีฐานลูกค้าระดับ 1.3 ล้านคน มีทรัพย์สินรวมกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกในตอนนั้น

ทั้งเครดิตและโปรไฟล์ที่เลิศหรูขนาดนี้ หากมองแค่ผิวเผินเหมือนว่า BCCI เป็นธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก แต่หากเจาะลึกไปถึงเบื้องหลังจะพบลับลมคมในหลายอย่างเลยทีเดียว ทั้งการที่โตเร็วผิดปกติ แถมโครงสร้างหน่วยงานยังซับซ้อน เพราะ BCCI มีแผนกแยกย่อยกระจายออกไปกว่า 400 แผนก แถมมีแผนกที่ทำงานซ้ำ ๆ กัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องเปิดถึง 400 แผนก

คราวนี้ทั้งทนาย อัยการ และนักสืบก็เห็นความผิดปกติของ BCCI และเริ่มขุดคุ้ยแบบจริงจังว่าแต่ละแผนกแอบทำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ โดยส่งสายลับแทรกซึมเข้าไปตามสาขาต่าง ๆ ของ BCCI จนไปพบเงินไร้แหล่งที่มาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

แถมยังขุดคุ้ยต่อไปจนเจอรายชื่อลูกค้าของ BCCI ที่แต่ละรายไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เช่น นักการเมืองระดับสูงของหลาย ๆ ประเทศ ผู้ทรงอิทธิพลที่มีประวัติไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ และกลุ่มอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างแก๊งเมเดยิน (Medellin Cartel) ซึ่งเป็นแก๊งโคลอมเบียของราชาโคเคนปาโบล เอสโคบาร์ ทำให้รู้เลยว่า BCCI เป็นศูนย์กลางการฟอกเงินขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก 

และแล้วในปี 1991 ธนาคารก็ถูกสั่งให้ปิดกิจการแบบฉับพลัน ทำให้ลูกค้ากว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเลยเดือดร้อนจนต้องฟ้องร้องกันใหญ่โต และถึงแม้จะปิดตัวลง แต่เรื่องราวของ BCCI ก็ยืดเยื้อยาวนานไปอีก 20 ปี  ถึงกับมีคนขนานนามเคสของ BCCI ว่า “เป็นการฉ้อโกงของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลก”

Wachovia การฟอกเงินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

เคสที่สี่คือ Wachovia ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทด้านการเงินและธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีสำนักงานกระจายอยู่ใน 21 มลรัฐ และยังมีความเก่าแก่เปิดมาตั้งแต่ปี 1879 เคสนี้จะแตกต่างจาก BCCI ตรงที่ Wachovia ไม่ได้ต้องการฟอกเงินเอง แต่ดันกลายเป็นสถานที่ฟอกเงินแบบไม่รู้ตัว

พี่ทุยย้อนก่อนว่าปัญหาหนักใจลำดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกาคือเรื่องยาเสพติด เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นลูกค้าชั้นดีของเจ้าพ่อยาเสพติดทั้งในเม็กซิโกและโคลอมเบีย เรียกได้ว่า หากเจ้าพ่อหรือแก๊งไหนตีตลาดสหรัฐฯ จะสามารถทำเงินจนรวยเละระดับพันล้านได้เลย ซึ่งการลักลอบขนยาเสพติดข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกไปสหรัฐฯ เริ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 

แล้ว Wachovia ไปเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของแก๊งค้ายาได้ยังไง? 

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อลักลอบขนยาเข้าสหรัฐฯ ได้แล้ว ยาก็จะถูกซื้อแล้วเอาไปปล่อยตามรัฐต่าง ๆ ส่วนเงินที่ได้จากการค้ายา (แน่นอนว่าเป็นเงินสด) ก็จะถูกลักลอบขนข้ามไปเม็กซิโก เข้าร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา แล้วก็จะถูกฝากเข้าบัญชีธนาคารในเม็กซิโก

จากนั้นเงินก็จะถูกโอนไปที่สหรัฐฯ อีกที ซึ่งบัญชีในสหรัฐฯ ที่ว่า คือบัญชีของ Wachovia นั่นเอง สุดท้ายเงินใน Wachovia ก็จะถูกโอนกลับไปที่บัญชีของแก๊งค้ายา กลบร่องรอยที่มาของเงินได้อย่างสมบูรณ์

แต่เรื่องก็เริ่มแดงในปี 2006 เมื่อทางการเม็กซิโกดักจับเครื่องบินต้องสงสัยลำหนึ่งที่เกาะซิวอูดัด เดล การ์เมน และพบโคเคนเกือบ 6 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสาวไปถึงแก๊งค้ายาที่ชื่อว่า “ซินาลัว (Sinaloa)” แต่ประเด็นคือพอตรวจสอบก็พบว่าเครื่องบินที่ใช้ขนโคเคนลำนี้ ซินาลัวซื้อมาโดยใช้บัญชีของ Wachovia บัญชีหนึ่ง เลยมีการตรวจสอบบัญชีนั้นตามรอยที่มาของเงินจนพบต้นตอจริงๆ

เมื่อพบการฟอกเงินในบัญชี Wachovia ของแก๊งซินาลัว ก็มีการตั้งข้อสงสัยไปถึงบัญชีอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายา และปูพรมตรวจสอบจนพบว่ามีหลายบัญชีที่กำลังฟอกเงินอยู่ เลยมีการฟ้องร้อง Wachovia ในคดีอาญา ซึ่งศาลตัดสินว่ามีความผิดเพราะหละหลวมไม่ตรวจสอบบัญชีจนทำให้เกิดการฟอกเงินขึ้นมา และถูกปรับไป 160 ล้านดอลลาร์

แต่ทางอัยการชื่อว่า “โฮเซ่ ลูอิส มาร์โมเรโจ (Jose Luis Marmolejo)” ก็ออกมาเสริมอีกว่า Wachovia อาจรู้เห็นกับการฟอกเงินครั้งนี้ด้วย เพราะมันเป็นไปได้ยากมากที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับประเทศขนาดนี้จะไม่ตรวจสอบเงินที่โอนจากต่างประเทศในหลักล้านถึงร้อยล้านดอลลาร์ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการตรวจสอบหรือสอบสวนต่อ 

และจำนวนเงินที่พบว่าถูกฟอกโดยแก๊งค้ายาผ่านบัญชีของ Wachovia ตั้งแต่ปี 2004-2007 นั้น มีมากถึง 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการฟอกเงินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

ปาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อแห่งการฟอกเงิน

หากอัลคาโปน เป็นคนที่ทำให้เรารู้จักการฟอกเงินแบบจริง ๆ จัง ๆ ปาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) ก็อาจนับว่าเป็นคนที่ฟอกเงินได้เยอะที่สุด 

และในเคสสุดท้ายพี่ทุยจะพาทุกคนมารู้จักกับอาชญากรที่รวยที่สุดในโลก โดยปาโบล เอสโคบาร์ ไต่เต้าจากเด็กธรรมดาในโคลอมเบียขึ้นมาเป็นหัวหน้าแก๊งเมเดยินและเริ่มทำธุรกิจผลิตโคเคน ในเคสของ Wachovia เราคงเห็นแล้วว่าตลาดใหญ่ของยาเสพติดคือสหรัฐฯ ซึ่งคนที่บุกเบิกเส้นทางนั้นคือ ปาโบล เอสโคบาร์ ที่พี่ทุยกำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้นั่นเอง

โคเคนที่เป็นของใหม่ถูกขนเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งถูกอกถูกใจลูกค้าจนต้องขนเข้าไปเดือนละ 70-80 ตัน! การตีตลาดโคเคนในสหรัฐฯ สร้างเม็ดเงินให้ปาโบลในระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

โดยในช่วงแรก ๆ นั้น ทางการสหรัฐฯ ไม่รู้ต้นตอของโคเคนเลยว่ามาจากไหน พร้อม ๆ กับเงินสดที่ไหลออกนอกประเทศแล้วไปฟอกตามธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในธนาคาร BCCI ซึ่งพี่ทุยได้เล่าไปแล้วว่ามีเงินของแก๊งเมเดยินเข้าไปเอี่ยวด้วย รวมถึงธุรกิจในโคลอมเบียและเกาะแถบทะเลแคริบเบียน 

โดยเงินที่ไหลเข้ากระเป๋าของแก๊ง หากตีเป็นวันจะได้วันละ 70 ล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าฟอกจนหัวหมุนเลยทีเดียว โดยปาโบลสร้างโกดังขนาดยักษ์ไว้เก็บเงินโดยเฉพาะเพื่อทยอยขนเงินไปฟอกตามที่ต่าง ๆ และมีการเปิดเผยออกมาภายหลังด้วยว่า “ปาโบลต้องเสียเงิน 4,000 ดอลลาร์ต่อเดือน(ประมาณ 120,000 บาท) เพื่อซื้อหนังยางมารัดเงินในโกดัง!” 

แต่แน่นอนว่าจำนวนเงินเยอะขนาดนี้ ก็มีหลายครั้งที่ถูกจับได้โดยทางการโคลอมเบีย แต่ปาโบลก็เอาเงินแก้ปัญหาทั้งการติดสินบนเจ้าหน้าที่และจ่ายใต้โต๊ะธนาคาร หรือใครรักความถูกต้องไม่รับเงินของปาโบลก็จะโดนสั่งเก็บไปตาม ๆ กัน ทำให้ในช่วงนั้นไม่มีใครที่จัดการปาโบลและแก๊งเมเดยินได้เลย การฟอกเงินเพื่อตบตาโลกภายนอกก็ยังดำเนินต่อไป

ในระยะเวลาแค่ 2-3 ปี นิตยสาร Forbes ก็จัดอันดับให้ปาโบลเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีพันล้านของโลก โดยปาโบลเปิดเผยทรัพย์สินของตัวเองว่ามีอยู่ 3 พันล้านดอลลาร์  จากการทำธุรกิจหลายอย่างทั้งโรงแรม รีสอร์ท อพาร์ตเมนต์ สวนสัตว์ เกาะท่องเที่ยว และสโมสรฟุตบอลในโคลอมเบีย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครือข่ายธุรกิจ (สำหรับฟอกเงิน) เท่าที่เปิดเผยออกมา 

เรียกได้ว่า ชีวิตของปาโบล เอสโคบาร์ค่อนข้างน่าทึ่งและโลดโผนพอสมควร เพราะในเวลาต่อมารัฐบาลและตำรวจโคลอมเบียก็จับปาโบลแบบจริงจัง แต่ปาโบลก็จ่ายใต้โต๊ะทำเงื่อนไขให้ศาลและตำรวจส่งปาโบลไปเรือนจำที่เขาสร้างขึ้นมาเอง! 

แต่ในเวลาต่อมาปาโบลก็ไม่พ้นถูกส่งไปเรือนจำของรัฐ ซึ่งก็ติดสินบนผู้คุมแหกคุกออกมา จนถูกตำรวจไล่ล่า และสุดท้ายโดนยิงตายในปี 1993 จบตำนานราชาโคเคนผู้ร่ำรวยที่สุดในวัย 44 ปี

จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้จำนวนเงินที่ปาโบลฟอกเอาไว้อย่างชัดเจน แต่หากลองเทียบสัดส่วนกับเงินที่ทำได้จากโคเคนซึ่งกินส่วนแบ่งตลาด 80% ทั่วโลก เครือข่ายการฟอกเงินของปาโบล เอสโคบาร์อาจแตะถึงระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

การฟอกเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจขนาดไหน

จากทั้ง 5 เคส เราจะเห็นได้ว่าการฟอกเงินในอดีตนั้นมีแพทเทิร์นที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งหากเป็นอาชญากร องค์กร หรือผู้มีอิทธิพลก็มักเอาเงินไปฟอกในธุรกิจหลากหลายรูปแบบ หากเป็นสถาบันการเงินธนาคาร หรือรัฐบาลก็อาจสร้างเครือข่ายการฟอกเงินของตัวเองขึ้นมารองรับอาชญากรที่ต้องการฟอกเงินอีกที

หากมองแค่ภายนอก เราอาจเห็นว่าการฟอกเงินไม่ได้ส่งผลอะไรโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วไป แต่หากมองลึกลงไปการฟอกเงินเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่กัดกินการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกอยู่ไม่น้อย

อย่างแรกเลยการฟอกเงินถือเป็นอาชญากรรมรองที่ซัพพอร์ตอาชญากรรมหลักอย่างค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน ฉ้อโกง และคอร์รัปชั่น ซึ่งหากฟอกเงินได้สำเร็จมากเท่าไหร่ อาชญากรรมหลักก็จะยิ่งทวีมากขึ้นตามไปด้วย

ต่อมาคือเงินที่ฟอกก็จะถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นก้อนเงินไร้ที่มาไม่ได้สร้างผลผลิตหรือการจ้างงานในประเทศ อัตราเงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้น ทำให้หลาย ๆ ประเทศมองการฟอกเงินเป็นปัญหาหลักที่ต้องจัดการให้เด็ดขาด

แน่นอนว่าเราไม่รู้จำนวนเงินที่ฟอกในระบบเศรษฐกิจโลกแบบชัดเจนในปัจจุบัน แต่สหประชาชาติได้คาดการณ์ไว้คร่าว ๆ ว่า “อัตราการฟอกเงินในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 2-5% ของ GDP โลก และในแต่ละปีอาจมีเงินที่ถูกฟอกกว่า 8 แสนถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์”

เรียกได้ว่า เม็ดเงินที่คาดการณ์เอาไว้สูงกว่าเงินในระบบเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศด้วยซ้ำ และเม็ดเงินที่ว่าก็เป็นทุนใช้หนุนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอีกที

สุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีการฟอกเงินอีกหลากหลายรูปแบบที่อาชญากรพลิกแพลงไปมาตามสถานการณ์และยุคสมัย นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ เคส ที่มูลค่าการฟอกเงินก็สูงไม่น้อยหน้า 5 เคสที่พี่ทุยยกมา หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันก็อาจมีเคสที่กำลังฟอกเงินก้อนโตอยู่ซึ่งเรายังไม่รู้และยังจับไม่ได้ 

แต่พี่ทุยก็หวังว่าในอนาคตอาชญากรรมทางการเงินทั้งหลายแหล่จะลดลงไป เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ตรวจสอบที่มาของเงินก้าวหน้ามากขึ้น อีกทั้งยังมีตัวเลขที่ทั้งโลกกำลังทุ่มงบประมาณ 1.77 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 เพื่อพัฒนาระบบป้องกันและตรวจจับการฟอกเงิน ที่หากพัฒนาได้จริงอัตราการฟอกเงินคงลดลงไปไม่น้อยเลยทีเดียว

อ้างอิง

Adams, James. A Full Service Bank: How BCCI Stole Billions Around the World. New York : Pocket Books, 1992. 

Attwood, Shaun. Pablo Escobar: Beyond Narcos. Gadfly Press, 2016.

Biar, Deirdre. Al Capone: His Life, Legacy, and Legend. New York : Nan A. Talese, 2016. 

Ehrenfled, Rachael. Evil Money: The Inside Story of Money Laundering & Corruption in Government, Banks & Business. New York : S.P.I. Books, 1994.

Gross, Richard. Money Laundering: A Guide for Criminal Investigators. London : Routledge, 2011. 

Isaac, Mark. The Undesirables: Inside Nauru. Richmond : Hardie Grant Books, 2014.

Kushnir, Ivan. Economy of Nauru. Chicago : Independently published, 2019.

Marley, F. David. Mexican Cartels: An Encyclopedia of Mexico’s Crime and Drug WarsSanta Barbara : ABC-CLIO, 2019.

Truell, Peter. BCCI: The inside story of the world’s most corrupt financial empire. London : Bloomsbury, 1992. 

Walsh, Bob. Money Laundering Case Studies: How to Avoid Making the Same MistakesScott Valley : CreateSpace Independent Publishing Platform, 2017.

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย