รู้จัก Virginia Company แชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

รู้จัก Virginia Company แชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • บริษัทเวอร์จิเนีย คือบริษัทร่วมทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริษัทมีเป้าหมาย คือ การแสวงหาความมั่งคั่งและก่อตั้งอาณานิคมในอเมริกา 
  • เวอร์จิเนียขายฝันว่าโลกใหม่เต็มไปด้วยทองคำและแร่เงิน ชาวอังกฤษจึงพากันร่วมลงทุนกับบริษัท รวมถึงอพยพไปตั้งรกรากในโลกใหม่ แต่ก็ต้องขาดทุนหนักเพราะไม่พบทั้งเงินและทอง ผู้ถือหุ้นและชาวอาณานิคมต่างเดือดร้อน 
  • จนกระทั่งบริษัทนำยาสูบมาทดลองปลูกในไร่ นำผลผลิตที่ได้ไปส่งขาย สร้างกำไรมหาศาลให้บริษัทนำมาให้อาณานิคมต่อไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน’ ประโยคที่นักลงทุนคุ้นชิน วันนี้พี่ทุยจะพาไปย้อนอดีต ฝันร้ายของนักลงทุนชาวอังกฤษที่ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทเวอร์จิเนีย (Virginia Company) บริษัทร่วมทุนผู้บุกเบิกการสำรวจโลกใหม่ ฟังเหมือนจะดูดี แต่เป็นการขายฝัน เรื่องราวจะเป็นยังไง พี่ทุยสรุปมาให้แล้ว ไปฟังกัน

บริษัทเวอร์จิเนีย (Virginia Company) คือใคร 

บริษัทเวอร์จิเนียเป็นบริษัทร่วมทุนสัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 1606 ณ กรุงลอนดอน ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่คือพ่อค้าและขุนนางชาวอังกฤษ

บริษัทเวอร์จิเนียได้รับพระราชทานตราตั้งจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงสนับสนุนบริษัทแทบทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นกองเรือ เสบียงอาหาร หรือแม้แต่ทหารคุ้มกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดทางการจึงต้องให้ความสำคัญกับบริษัทเวอร์จิเนียขนาดนี้

คำตอบที่ว่าต้องย้อนกลับไปในศตวรรษก่อนหน้า ในรัชสมัยราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 1 (Elizabeth I) เอลิซาเบธเป็นผู้นำประเทศที่ทะเยอทะยาน ความฝันของพระนางคือการครองโลก และในศตวรรษที่ 16 ที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ก็มีการค้นพบทวีปอเมริกาโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส 

ซึ่งจักรวรรดิสเปนก็เข้าครอบครองดินแดนใหม่ ถือเป็นความโชคดีได้ยึดครองดินแดนที่เป็นทั้งอู่ข่าวอู่น้ำและแหล่งรวมสินแร่ ตั้งแต่ ค.ศ. 1518 เป็นต้นมา สเปนจึงกลายเป็นเจ้าของเหมืองทองและเงินในอเมริกากลางและใต้ ขุมทรัพย์ที่ค้นพบนำความมั่งคั่งมายังจักรวรรดิจนทำให้สเปนกลายเป็นผู้นำโลกตะวันตกในเวลาต่อมา

เมื่อเอลิซาเบธเห็นดังนั้น พระนางก็ต้องการตั้งอาณานิคมอังกฤษในโลกใหม่เพื่อแสวงหาความมั่งคั่งและถ่วงดุลอำนาจกับสเปน ระหว่างปี 1584 ถึง 1590 เอลิซาเบธส่งกองเรือไปยังอเมริกาหลายครั้ง

ทว่าความพยายามเหล่านั้นกลับล้มเหลว อังกฤษไม่อาจก่อตั้งอาณานิคมในโลกใหม่จนกระทั่งราชินีสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1603 ถือเป็นความอัปยศของประเทศที่อ้างตนว่าเป็นมหาอำนาจขณะนั้น

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามา พระเจ้าเจมส์จึงปฏิญาณว่าจะครอบครองโลกใหม่ให้จงได้ เมื่อบริษัทเวอร์จิเนียประกาศว่าต้องการแสวงหาขุมทรัพย์ในโลกใหม่ กษัตริย์อังกฤษจึงอาสาเป็นผู้สนับสนุนเวอร์จิเนียอยู่เบื้องหลัง

ทว่าบริษัทกลับต้องการยิ่งกว่านั้น เวอร์จิเนียเริ่มขายฝันให้กับชาวลอนดอนโดยอ้างว่าดินแดนโลกใหม่เต็มไปด้วยความมั่งคั่ง มีแม้กระทั่งต้นไม้ที่ออกผลเป็นเงินทอง แน่นอนว่าสรรพคุณดังกล่าวฟังดูน่าขัน ทว่าสำหรับสามัญชนที่หาเลี้ยงปากท้องไปวัน ๆ แผ่นดินอีกฟากฝั่งกลายมาเป็นความหวังหนึ่งเดียวของพวกเขา

โฆษณาดังกล่าวดึงดูดนักลงทุนทั่วประเทศมาร่วมหุ้น ยิ่งไปกว่านั้น ชาวลอนดอนจำนวนมากยังต้องการตั้งรกรากในโลกใหม่ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีอะไรรอคอยตน และในเดือน ธ.ค 1606 เรือ 3 ลำของบริษัทเวอร์จิเนียก็ออกจากท่าพร้อมกับผู้อพยพกว่า 150 คนเพื่อเดินทางข้ามแอตแลนติก ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจอเมริกาของบริษัทอย่างเป็นทางการ

ความสำเร็จของ Virginia Company

กองเรือจากลอนดอนเดินทางมาถึงโลกใหม่ในวันที่ 26 เม.ย. 1607 เหล่าผู้อพยพขึ้นฝั่งที่ปากแม่น้ำเจมส์ (James River) ในรัฐเวอร์จิเนียทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ไม่นานหลังจากนั้น เจมส์ทาวน์ (Jamestown) อาณานิคมอังกฤษแห่งแรกในทวีปอเมริกาก็ถูกสถาปนาโดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าเจมส์

แม้จะก่อตั้งอาณานิคมสำเร็จ แต่ผู้อพยพระลอกแรกกลับเผชิญปัญหาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเสบียงที่ขาดแคลน สภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น หรือแม้แต่การสู้รบกับชนพื้นเมือง

ในตอนนั้น จอห์น สมิธ (John Smith) ผู้นำอาณานิคมแห่งใหม่ได้สอนวิธีเอาตัวรอดให้แก่ชาวอังกฤษทั้งหลาย เขาสอนวิธีเพาะปลูกและจับปลา ยิ่งไปกว่านั้น สมิธยังได้สานสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับเผ่าโพฮาทัน (Powhatan) หลังได้รับการช่วยเหลือจากโมตาโอกา (Motaoka) บุตรีหัวหน้าเผ่า หรือที่รู้จักกันดีกว่าในชื่อว่า โพคาฮอนทัส (Pocahontas)

นอกจากทักษาการเอาตัวรอด สมิธยังสร้างชื่อในฐานะนักสำรวจในโลกใหม่ ระหว่างปี 1608 ถึง 1609 สมิธนำการสำรวจพื้นที่รอบอ่าวเชซาพีก (Chesapeake Bay) บริเวณชายฝั่งตะวันออกรัฐเวอร์จิเนียและแมรีแลนด์

สมิธเป็นคนแรกที่ทำแผนที่ชายฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ อย่างละเอียด และในเวลาต่อมา หนังสือที่เขาเขียนยังมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรียกได้ว่าจอห์น สมิธเป็นตัวแทนความสำเร็จในการสำรวจของบริษัทเวอร์จิเนียอย่างแท้จริง

การหลอกลงทุนที่มามาตั้งแต่ปี 1607 

แน่นอนว่าบริษัทเวอร์จิเนียบรรลุเป้าหมายในการตั้งอาณานิคมและสำรวจโลกใหม่ แต่สิ่งที่นักลงทุนในอังกฤษต้องการไม่ใช่แผนที่อเมริกา แต่เป็นผลกำไรที่ได้จากการร่วมหุ้นในครั้งนี้

ทว่าหลังก่อตั้งเจมส์ทาวน์ได้ไม่นาน ผู้อพยพก็พบว่า ทุกอย่างที่บริษัทพูดไว้เป็นเรื่องโกหก ไม่ว่าพวกเขาจะขุดดินลึกเท่าใดก็ไม่เจอแร่ล้ำค่า เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อไม่มีอยู่จริง 

บริษัทจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ ค้าของป่า หรือแม้กระทั่งต้มกลั่นเบียร์เพื่อส่งขายดินแดนข้างเคียง ทว่าเงินน้อยนิดที่ได้จากกิจการไม่อาจประคองธุรกิจได้ 

ตั้งแต่ปี 1608 เป็นต้นมา บริษัทเวอร์จิเนียจึงอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย ในขณะที่คนของสำนักงานใหญ่ยังคงโกหกชาวลอนดอนต่อไปเพื่อหาเงินมาหมุนในระบบ

แม้จะหันมาทำการค้า ทว่าบริษัทก็ยังเสียเปรียบนักธุรกิจสเปนที่ครองตลาดอยู่แต่เดิม สเปนครอบครองอาณานิคมในอเมริกากลางและใต้ รวมถึงหมู่เกาะแคริบเบียน ดินแดนเหล่านี้มีอากาศอบอุ่นและผืนดินอุดมสมบูรณ์ พืชผลที่สเปนส่งขายจึงมีคุณภาพชนิดที่ผลผลิตจากเวอร์จิเนียเทียบไม่ติด

จักรวรรดิสเปนจึงเฟื่องฟูขึ้นทุกวันด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่รัฐสภาอังกฤษยังคงหารือว่าควรยกเลิกการสนับสนุนบริษัทในโลกใหม่ดีหรือไม่ หลังไม่ได้รับผลกำไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ยาสูบ จุดพลิกฟื้นของบริษัท

ระหว่างปี 1608 ถึง 1610 อาณานิคมประสบปัญหาต่าง ๆ นานา ทว่าบริษัทเวอร์จิเนียยังคงอยู่ได้เพราะเงินหมุนดังจากผู้ร่วมลงทุนใหม่ ๆ และแล้วในปี 1610 ผู้กอบกู้สถานการณ์ก็มาถึงเจมส์ทาวน์ คนคนนี้คือจอห์น รอล์ฟ (John Rolfe)

แรกเริ่มเดิมที รอล์ฟเองก็เป็นลูกจ้างบริษัทที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทว่าเมื่อมาถึงโลกใหม่ รอล์ฟก็ต้องตกใจเมื่อเห็นว่าชาวอาณานิคมกำลังจะอดตาย ขณะนั้นเวอร์จิเนียประสบทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ เรือเสบียงจากอังกฤษไม่มาส่งอาหารตามที่หวัง ไร่นาของชาวบ้านก็ถูกชนพื้นเมืองโจมตีอย่างหนัก

เมื่อเห็นปัญหาเช่นนั้น รอล์ฟจึงคิดทางแก้ไว้ 2 ทาง หนึ่งคือการเชื่อมสัมพันธ์กับเผ่าต่าง ๆ สองคือการสร้างผลกำไรให้บริษัทเพื่อนำเงินมาจุนเจืออาณานิคมต่อไป

ครั้นคิดได้ดังนั้น รอล์ฟก็ไม่รอช้า เขาตระหนักว่ายาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคนั้น รอล์ฟจึงลักลอบนำเมล็ดพันธุ์ยาสูบจากตรินิแดดมาทดลองปลูกในไร่ของตน การลองผิดลองถูกประสบผลสำเร็จ

รอล์ฟกลายเป็นเจ้าของไร่ยาสูบแห่งแรกในเวอร์จิเนีย เขาส่งขายผลผลิตในลอนดอนในปี 1614 เป็นการสร้างกำไรครั้งแรกในรอบหลายปีของบริษัท ผลกำไรครั้งนั้นดึงดูดผู้อพยพให้หันมาปลูกยาสูบตาม ๆ กัน

ชาวอังกฤษเริ่มนำเข้ายาสูบจากเวอร์จิเนียแทนอาณานิคมสเปนที่ครองตลาดก่อนหน้านั้น ความพยายามของรอล์ฟจึงทำให้อังกฤษกลับมาถ่วงดุลการค้าได้อีกครั้งหลังเสียเปรียบสเปนมาเป็นเวลานาน

นอกจากความสำเร็จในฐานะเกษตรกร รอล์ฟยังเป็นนักการทูตที่มีทักษะ ในปี 1614 เขาแต่งงานกับโพคาฮอนทัสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับเผ่าโพฮาทัน การครองคู่ในครั้งนั้นนำพาสันติสุขมาสู่เจมส์ทาวน์ บริษัทจึงใช้เขาเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตา และในปี 1616 รอล์ฟและภรรยาก็เดินทางมายังอังกฤษเพื่อชักชวนนักลงทุนใหม่ ๆ บริษัทได้ผู้ร่วมทุนมากมายจากการปรากฏตัวในครั้งนั้น

หลังกลับถึงอเมริกาในปี 1617 รอล์ฟได้ส่งขายยาสูบไปยังลอนดอนกว่า 2 หมื่นปอนด์ และในปีถัดมา ชาวอาณานิคมก็ผลิตยาสูบกว่า 4 หมื่นปอนด์เพื่อส่งออกโดยเฉพาะ ยาสูบกลายมาเป็นสินค้าออกหลักของเวอร์จิเนียนับแต่นั้น แม้กระทั่งปัจจุบัน รัฐเวอร์จิเนียยังคงเป็นแหล่งผลิตยาสูบที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยคิดเป็น 28% ของผลผลิตในประเทศทั้งหมด

จุดจบของบริษัทเวอร์จิเนีย

ความสำเร็จของรอล์ฟนำความรุ่งโรจน์มาสู่อาณานิคมและบริษัท ครั้นพระเจ้าเจมส์เห็นดังนั้น พระองค์ก็ต้องการครอบครองดินแดนที่เฟื่องฟู แรกเริ่มเดิมที บริษัทมีสิทธิ์ขาดในการปกครองอาณานิคมทั้งหมด ทว่ากษัตริย์อังกฤษได้หาเหตุจากการสังหารหมู่เจมส์ทาวน์ (Jamestown massacre) ในปี 1622 โดยอ้างว่าการปกครองตนเองของอาณานิคมมีปัญหา ทำให้เกิดการปะทะระหว่างชนพื้นเมืองและคนขาวในครั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้ในปี 1624 พระเจ้าเจมส์จึงถอดถอนสิทธิ์บริษัทและถือว่าอำนาจปกครองเจมส์ทาวน์เป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว บริษัทเวอร์จิเนียจึงปิดตัวลงในปีเดียวกัน ถือเป็นการปิดฉากตำนานการสำรวจโลกใหม่ของอังกฤษ

ดังที่พี่ทุยเกริ่นเอาไว้ในข้างต้น การลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้ไม่ต่างอะไรจากการพนัน นับเป็นความโชคดีของผู้ถือหุ้นชาวอังกฤษที่บริษัทเวอร์จิเนียได้กำไรจากพืชเศรษฐกิจแทนสินแร่ มิเช่นนั้นหากบริษัทปิดตัวลงเพราะถูกฟ้องล้มละลาย คงมีนักธุรกิจอีกมากมายที่ต้องใจสลาย

ความสำเร็จและล้มเหลวของบริษัทเวอร์จิเนียถือเป็นบทเรียนชั้นดีจากประวัติศาสตร์การลงทุนยุคแรกเริ่มว่าอย่าทุ่มเดิมพันหมดหน้าตักหากไม่รู้ว่าผลลัพธ์คืออะไร พี่ทุยจึงอยากฝากอุทาหรณ์จากเรื่องนี้เอาไว้สำหรับใครกำลังคิดวางแผนการลงทุน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile