รู้จัก เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่งให้จีน

รู้จัก เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่งให้จีน

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เส้นทางสายไหม คือ ชื่อเรียกเครือข่ายการค้าโบราณที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน การค้าบนเส้นทางสายไหมเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และดำเนินต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตลอดระยะเวลากว่าพันปี 
  • เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลได้นำความมั่งคั่งมาสู่แผ่นดินจีน รวมถึงอาณาจักรน้อยใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง ในขณะเดียวกัน ศูนย์กลางของโลกยุคโบราณอย่างจักรวรรดิโรมันกลับได้รับผลกระทบจากการค้ากับโลกตะวันออกจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญ 
  • หลังจากคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียนค้นพบทวีปอเมริกาใน คริสต์ศตวรรษที่ 15 ความสำคัญของการค้าบนเส้นทางสายไหมก็ค่อย ๆ ลดลง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยเชื่อว่า หากใครเป็นคอข่าวเศรษฐกิจโลก คงคุ้นเคยกับคำว่า เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road Economic Belt) หรือ แถบเศรษฐกิจ เส้นทางสายไหม (One Belt, One Road: OBOR) กันเป็นอย่างดี โดยเส้นทางสายไหมใหม่เป็นยุทธศาสตร์ที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวถึงเป็นครั้งแรกระหว่างการมาเยือนคาซัคสถานในปี 2013

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการค้าสิ่งทอเลย แต่เป็นการสร้างเครือข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อเชื่อมต่อประเทศจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก อันได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกัน

ทางการจีนคาดหวังว่านโยบายดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของสากลโลก มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วยุทธศาสตร์ใหม่มาเกี่ยวอะไรกับการค้าผ้าไหมได้ละนี่ 

ในวันนี้ พี่ทุยเลยจะมาบอกเล่าเรื่องราวของเส้นทางสายไหม (เก่า) ที่เกิดขึ้นตั้งเเต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล (200 BC) และดำเนินต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตลอดระยะเวลากว่าพันปี ทำหน้าที่เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน จนนำพาความมั่งคั่งมาสู่แผ่นดินจีน ความเป็นมาที่ยาวนานขนาดนี้เป็นยังไง พี่ทุยจะเล่าให้ฟัง

เส้นทางสายไหม (Silk Road) คืออะไร?

เส้นทางสายไหม (Silk Road) ไม่ใช่ถนนสายใดสายหนึ่ง แต่เป็นเครือข่ายการค้าโบราณที่เชื่อมต่อชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผ่านกองคาราวานพ่อค้าที่เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนไปค้าขายยังต่างแดน เส้นทางสายไหมมีระยะทางยาวกว่า 4 พันไมล์ เริ่มต้นจากเมืองฉางอัน (Chang’an) ทางตอนกลางของประเทศจีน ข้ามผ่านทะเลทรายในเอเชียกลางไปสิ้นสุดที่เมืองแอนติออค (Antioch) ในประเทศตุรกี

ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมไม่ได้มีแค่ถนนทางบกเท่านั้น เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเส้นทางสายไหมทางทะเลได้เชื่อมต่อแผ่นดินจีนกับเมืองท่าต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภาคใต้ของไทยในสมัยโบราณ ก่อนข้ามผ่านมหาสมุทรอินเดียและทะเลแดงไปบรรจบที่กรุงโรม ศูนย์กลางของโลกในขณะนั้น

แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการค้า แต่เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลก็มีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ศาสนา  หรือวัฒนธรรม ถือเป็นเส้นทางเชื่อมต่อโลกโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้

ที่มาของ เส้นทางสายไหม

แต่เดิมในสมัยอดีต มนุษย์นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำ เกิดเป็นชุมชนที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน คนเหล่านั้นแทบไม่เคยเดินทางออกนอกถิ่นฐานเลย อย่างดีก็แค่เกิดและตายในหมู่บ้านเท่านั้น

ทว่าในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีกผู้ทะเยอทะยานได้รุกรานดินแดนต่าง ๆ กว่าครึ่งโลก การเดินทัพจากยุโรปมาเอเชียในครั้งนั้นทำให้โลกตะวันตกและตะวันออกเชื่อมถึงกันเป็นครั้งแรก

ผู้คนต่างกระหายใคร่รู้ข่าวสารจากต่างแดน ยังผลให้เส้นทางใหม่ ๆ ทั้งในกรีก เปอร์เซีย และอินเดียถือกำเนิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นหลัก

แม้ว่าการค้าขายกับต่างแดนจะเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ทว่าจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกกลับเกิดขึ้นราว 130 ปีก่อนคริสตกาล ในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ (Emperor Wu of Han) จักรพรรดิจีนราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty)

ฮั่นอู่ตี้เป็นฮ่องเต้ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล พระองค์เห็นว่าแผ่นดินจีนมีของดีมากมาย โดยเฉพาะผ้าไหมที่ไม่มีดินแดนใดในโลกล่วงรู้กรรมวิธีการผลิตในครั้งนั้น ฮั่นอู่ตี้จึงส่งราชทูตนามว่า จางเชียน (Zhang Qian) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยในทะเลทรายมณฑลกานซู่ (Gansu Province) ในปีดังกล่าว

แรกเริ่มเดิมที ฮ่องเต้เพียงแต่ต้องการแลกเปลี่ยนหยกและผ้าไหมกับอาวุธและม้าเร็วเพื่อใช้ในการศึก ทว่าในเวลาต่อมา เมื่อชนเผ่าต่าง ๆ ได้รู้จักผ้าไหมเป็นครั้งแรก ชื่อเสียงของผืนผ้าเรียบลื่นเนื้อละเอียดก็ร่ำลือระบือไกล ทำให้ความต้องการผ้าไหมในดินแดนตะวันตกเพิ่มมากขึ้นประหนึ่งเงาตามตัว

เส้นทางการค้าผ้าไหมจึงเริ่มต้นขึ้นที่ฉางอัน เมืองหลวงราชวงศ์ฮั่นในครั้งนั้น ก่อนเชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าต่าง ๆ จนกลายเป็นเครือข่ายเส้นทางสายไหมทางบกในเวลาต่อมา

ราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล จีนได้ขยายเส้นทางการค้าจากทางบกออกสู่ทางทะเล โดยมีรากฐานมาจากเส้นทางการค้าหยกทางทะเล (Maritime Jade Road) ที่มีอยู่แต่เดิม ก่อเกิดเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เชื่อมโยงประเทศจีนกับเมืองท่าในคาบสมุทรมลายู มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าด้วยกัน จุดสิ้นสุดของเส้นทางสายไหมทางทะเลคือกรุงโรม เมืองหลวงจักรวรรดิโรมันที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น

เมื่อชาวโรมันได้สัมผัสผ้าไหมจีนเป็นครั้งแรก พวกเขาก็ต้องการครอบครองสินค้าจากต่างแดน ชนชั้นสูงในกรุงโรมจึงกลายมาเป็นคู่ค้าสำคัญของจักรพรรดิจีนในอีกซีกฟากโลก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการค้า เส้นทางสายไหม

เส้นทางสายไหมไม่ได้นำพาความมั่งคั่งมาสู่แผ่นดินจีนเท่านั้น แต่ยังนำความเจริญมาสู่ถิ่นทุรกันดาร ชนเผ่าเร่ร่อนต่างผันตัวมาเป็นพ่อค้า พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งเมืองในทะเลทรายที่ตั้งเรียงรายตั้งแต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนต่อไปยังเอเชียกลาง

เมืองเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นจุดแวะพักและขนถ่ายสินค้าจากกองคาราวานเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง แม้กระทั่งเมื่อครั้งที่ชนเผ่ามองโกลรุกรานแผ่นดินจีนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 พวกเขายังไม่กล้าทำลายเส้นทางการค้าที่ว่า ด้วยตระหนักว่าเส้นทางสายไหมคือแหล่งรายได้สำคัญของทั้งจักรวรรดิและประชาชน

ไม่เพียงแต่เส้นทางการค้าทางบกเท่านั้น แต่เส้นทางสายไหมทางทะเลก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไม่ต่างกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล เมืองท่ามากมายถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่คาบสมุทรมลายูไปจนถึงชายฝั่งทะเลแดง

เมืองท่าที่สำคัญได้แก่ อะดูริส (Aduris) ในชายฝั่งประเทศเอริเทรีย มุซิริส (Muziris) และอริกเมฑุ (Arikamedu) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เป็นต้น เมืองท่าเหล่านี้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของอาณาจักรโบราณต่าง ๆ นำไปสู่การสู้รบหลายครั้งในเอเชียใต้เพื่อแย่งชิงศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ

แม้ว่าเส้นทางสายไหมจะนำความรุ่งโรจน์มาสู่แผ่นดินจีนและอาณาจักรน้อยใหญ่ที่เกี่ยวข้อง แต่คู่ค้าสำคัญอย่างโรมกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการค้าที่เฟื่องฟูในโลกตะวันออก

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา ทางการโรมันได้ประกาศห้ามการนำเข้าผ้าไหมจีน รวมถึงของฟุ่มเฟือยจากโลกตะวันออกอย่างเครื่องเทศอินเดียอยู่หลายครั้ง เนื่องจากในปีหนึ่ง ๆ ชนชั้นสูงโรมันสูญเสียทองนับล้านเหรียญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวของเหล่านี้

แน่นอนว่าโรมเองก็ส่งออกภาชนะและงานศิลปะไปขายยังโลกตะวันออกเช่นกัน แต่รายได้จากการส่งออกกลับเทียบไม่ได้กับการนำเข้าสินค้าราคาแพงที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โรมประสบปัญหาขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ที่ส่งผลให้จักรวรรดิโรมันล่มสลายในเวลาต่อมา

นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว เส้นทางสายไหมยังทำหน้าที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมจากดินแดนต่าง ๆ ทำให้ผู้คนได้รู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 วัฒนธรรมชุมชนต่างได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับต่างแดนทั้งสิ้น

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนได้แก่ การเข้ามาของศาสนาอิสลามในเอเชียใต้ การเผยแพร่ความเชื่อพุทธไปยังเอเชียตะวันออกไกล ภาษาและเครื่องแต่งกายของผู้คนที่ได้รับอิทธิพลจากคนต่างถิ่น เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เส้นทางสายไหมมีความสำคัญทั้งในด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น

จุดสิ้นสุดของเส้นทางสายไหม

ตลอดระยะเวลากว่าพันปี การค้าขายบนเส้นทางสายไหมได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โลกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกใน ค.ศ. 476 การรุกรานของชนเผ่ามองโกลในสมัยราชวงศ์จิน (Jin Dynasty) รวมถึงนโยบายจักรวรรดิออตโตมันที่ห้ามการค้าขายกับต่างแดนในค.ศ. 1453 เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การหยุดชะงักของการค้าบนเส้นทางสายไหม เมืองต่าง ๆ ที่มีรายได้หลักจากการค้ากับต่างแดนจึงพากันล่มสลายไปตาม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสายไหมถูกลดบทบาทอย่างแท้จริงเมื่อครั้งที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียนค้นพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ. 1492 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวตะวันตกต่างหันมาแสวงหาความมั่งคั่งจากทวีปโลกใหม่ เกิดเป็นเส้นทางการค้ามหาสมุทรแอตแลนติกที่เชื่อมต่อยุโรป แอฟริกา และอเมริกาเข้าด้วยกัน เส้นทางสายไหมที่มีมาแต่โบราณจึงหมดความสำคัญลงในที่สุด

เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวของเส้นทางสายไหม เครือข่ายการค้าที่เชื่อมโยงโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจความสำคัญของเส้นทางเศรษฐกิจในอดีตหลังได้อ่านบทความไม่มากก็น้อย

จะเห็นได้ว่าแผ่นดินจีนโบราณรุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าบนเส้นทางสายไหม ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเท่านั้น แต่วัฒนธรรมจีนยังเผยแพร่ไปยังดินแดนต่าง ๆ ดังที่เห็นคำจีนปรากฏในภาษาคนบ้านเรา หรือแม้แต่งานศิลปะอย่างเครื่องเคลือบยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากเครื่องเคลือบราชวงศ์หยวน

ในทางกลับกัน ชาวจีนก็ได้รับความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ จากดินแดนคู่ค้าไม่แตกต่าง ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงภูมิใจในประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งนำเอาชื่อเครือข่ายโบราณมาตั้งเป็นชื่อยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบัน แต่เส้นทางสายไหมใหม่จะนำพาความรุ่งโรจน์มาสู่จีนได้อีกครั้งหรือไม่นั้น เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ายักษ์ใหญ่อย่างพี่จีนจะมีนโยบายอะไรมาสะเทือนโลกทั้งใบเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา

อ่านเพิ่ม

อ้างอิง

Islam, Narul Md. (Editor). Silk Road to Belt Road: Reinventing the Past and Shaping the Future. Singapore: Springer, 2019.
Liu, Xinru. The Silk Road in World History. New York: Oxford University Press, 2010
Morgan, Joyce and Walters, Conrad. Journey on the Silk Road: A Desert Explorer, Buddha’s Secret Library, and the Unearthing of the World’s Oldest Printed Book. Connecticut: Lyons Press, 2011.

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย