Ray Dalio มองการเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจโลกยังไงในรอบ 500 ปี

Ray Dalio มองการเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจโลกยังไงในรอบ 500 ปี

5 min read  

ฉบับย่อ

  • “The Big Cycle” เริ่มต้นขึ้น หลังจากเกิดสงครามจะกำหนดอำนาจผู้นำใหม่และระเบียบโลกใหม่ ความเจริญรุ่งเรืองตามมา จากนั้นจะเกิดการกู้ยืมเงินมากขึ้น เนื่องจากความได้เปรียบในการที่สกุลเงินของตนเป็นสกุลเงินสำรอง ทำให้หนี้มากกว่าเงินที่มี นำไปสู่การพิมพ์เงิน ส่งผลให้มีฟองสบู่ทางการเงินในที่สุด
  • ความเจริญที่เพิ่มขึ้น ทำให้กระจายความมั่งคั่งไม่สม่ำเสมอ นำไปสู่ความขัดแย้งภายใน ที่ไปเพิ่มอำนาจของผู้ท้าชิงประเทศมหาอำนาจใหม่ และทำให้เกิดปัญหาภายนอกได้
  • สงครามภายในและภายนอกเหล่านี้ ทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ จากนั้นผู้ชนะจะรวมตัวกันเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่ วนเป็นวงจรอีกครั้ง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยได้สรุปหนังสือ “Principles for Dealing with the Changing World Order” ของ Ray Dalio ที่เชื่อว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบที่คล้ายกัน มาตลอด 500 ปี

ดังนั้น เขาจึงต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และช่วยให้สามารถนำไปคาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

วันนี้พี่ทุยลองไปสรุปใจความสำคัญมาให้แล้ว ซึ่งสิ่งเขาต้องการแสดงให้เห็น คือ สิ่งที่ขับเคลื่อน “The Big Cycle” ที่พูดถึงการเติบโต ในช่วงเวลารุ่งเรือง และการถดถอยของประเทศต่าง ๆ ผ่านกาลเวลา ในขณะที่เราทุกคนก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง หรือร่วมอยู่ในวัฏจักรนั้น 

อีกทั้งยังต้องการแสดงให้เห็นว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาระเบียบโลกและการเปลี่ยนผ่านทำงานสอดคล้องกันอย่างไร และสิ่งที่ผู้นำโลกในปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อคงความแข็งแกร่งของประเทศมหาอำนาจไว้ จะน่าติดตามขนาดไหน ไปฟังกัน

จุดเริ่มต้นของ “The Big Cycle”

เหตุการณ์การเปลี่ยนผ่าน’ The Big Cycle จะฉายซ้ำ ๆ ในทุกยุคสมัยเป็นวัฎจักร ดังนี้ 

1. เมื่อใดก็ตามที่ “รัฐใช้จ่ายมากกว่าเงินที่มี” ประเทศจะมีเงินไม่พอเพื่อชำระหนี้ของพวกเขา แม้จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นศูนย์แล้วก็ตาม

จากนั้นธนาคารกลางจึงเริ่ม “พิมพ์เงิน” จำนวนมาก แล้วนำเอาไปซื้อหุ้น ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์มากมาย ส่งผลให้ราคาของสิ่งต่าง ๆ สูงขึ้นในเวลาต่อมา 

การพิมพ์เงินสกุลตัวเองเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ได้มีทองคำมากขึ้น เพื่อมารองรับ หรือกล่าวคือ ไม่ได้ทำให้ภาค Real Sector หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้น และไม่ได้เพิ่มความมั่งคั่งของประเทศเลยนั่น ทำให้มูลค่าของเงินกระดาษลดลง เหตุการณ์เหล่านี้นี่เองที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตในหลาย ๆ ครั้ง ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ ประเทศอื่นที่ผ่าน ๆ มา ก็เช่นกัน

เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1971 ซึ่งถือว่าเป็นการล้มของระบบการเงินโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกกําหนดขึ้นจากการประชุมที่แบรตตันวูด (Bretton Woods) เหตุการณ์เหมือนกับในปี 1933 นั่นคือ สหรัฐฯ ผิดสัญญาของการแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำ

รวมไปถึงการพิมพ์เงินขึ้นมามากมายในปี 2008 เพื่อบรรเทาวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime) และ ในปี 2020 เพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดโควิด-19 (COVID-19)

2. จากนั้นความขัดแย้งภายในครั้งใหญ่จะเกิดตามมา เนื่องจากช่องว่างที่เพิ่มขึ้นในความมั่งคั่ง และค่านิยม จะปรากฏอยู่ในขั้วทางการเมือง ระหว่างฝั่งเสรีนิยมที่ต้องการกระจายความมั่งคั่ง และฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ต้องการปกป้องผู้ที่ถือครองความมั่งคั่ง

3. ความขัดแย้งภายนอกที่เพิ่มขึ้นหลังจากเกิดความขัดแย้งภายใน คือ ขั้วอำนาจใหม่ที่เพิ่มขึ้นและปะทะกับประเทศขั้วอำนาจเดิม อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับ “จีนและสหรัฐฯ” จากนั้นความขัดแย้งเหล่านี้ ก็จะนำพาสงครามมาสู่ประเทศคู่ขัดแย้ง ผู้ชนะเท่านั้นที่จะมีสิทธิเขียน “ระเบียบโลกฉบับใหม่” ขึ้นมา

การเปลี่ยนแปลงของ “World Order หรือ ระเบียบโลก”

“ระเบียบโลก หรือ World Order” เป็นระบบการปกครองสำหรับคนที่มีการติดต่อทำกิจกรรมระหว่างกัน มีทั้งสำหรับการปกครองภายในประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญ และสำหรับการปกครองระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญา คำสั่งเหล่านี้มักจะเปลี่ยนแปลงหลังสงครามเกิดขึ้น เมื่อประเทศขั้วอำนาจใหม่ เอาชนะมหาอำนาจเก่าที่อ่อนแอได้

ระเบียบโลกในปัจจุบัน ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระเบียบโลกของสหรัฐฯ” เกิดขึ้นหลังจากชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจโลก ระเบียบก็ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงและสนธิสัญญา สำหรับการทำงานของกฏระเบียบและระบบการเงินทั่วโลก 

ซึ่งระบบการเงินโลกใหม่ ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลง Bretton Woods ซึ่งเป็นการก่อตั้งดอลลาร์ เป็นสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลก ในปี 1944 

สกุลเงินสำรอง ที่เป็นสกุลเงินที่ยอมรับกันทั่วโลก คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ประเทศนั้น ๆ กลายเป็นมหาอำนาจที่ร่ำรวย และมีอำนาจมากที่สุด ด้วยอำนาจเหนือประเทศอื่น และระบบการเงินที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบของแต่ละประเทศ และของโลกเกือบตลอดเวลา เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรซ้ำ ๆ กัน ซึ่ง Ray Dalio เรียกว่า “The Big Cycle” 

The Big Cycle ของมหาอำนาจโลกในแต่ละยุค

The Big Cycle เกิดขึ้นในวงจรที่ทับซ้อนกัน กินเวลาประมาณ 250 ปี โดยมีช่วงการเปลี่ยนผ่าน 10 – 20 ปี โดยทั่วไป การเปลี่ยนผ่านจะเป็นช่วงที่เกิด “ความขัดแย้งครั้งใหญ่ หรือ สงคราม” เพราะอำนาจของผู้นำนั้น จะไม่เสื่อมถอย หากปราศจากการต่อสู้ 

ซึ่งการที่จะวัดว่าประเทศยังเป็นมหาอำนาจอยู่หรือไม่ เกิดจากการหาค่าเฉลี่ยจาก 8 ข้อสำคัญนี้ ว่าแต่ละประเทศแข็งแกร่งเพียงใดในอดีต และเติบโตหรือถดถอยอย่างไร ดูได้จากลำดับจากการหาค่าเฉลี่ยในหลายประเทศ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน โดยมีหัวข้อดังนี้

1. การศึกษา (Education)

2. ความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาเทคโนโลยี (Inventiveness and Technology Development)

3. ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก (Competitiveness in Global Markets)

4. ผลผลิตทางเศรษฐกิจ (Economic Output)

5. ส่วนแบ่งการค้าโลก (Share of World Trade)

6. กำลังทหาร (Military Strength)

7. ความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (The Power of their Financial Center for Capital Markets)

8. ความแข็งแกร่งของสกุลเงิน ที่ใช้เป็นสกุลเงินสำรอง (The Strength of their Reserve Currency)

The Big Cycle  มักเริ่มต้นขึ้นหลังจากเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ มักจะเกิดสงคราม เพื่อเป็นตัวกำหนดอำนาจผู้นำ และระเบียบโลกครั้งใหม่ 

Ray Dalio มองการเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจโลกยังไงในรอบ 500 ปี

สู่จุดสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ

หลังจากชนะการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจไม่นาน จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้น เพราะ ผู้นำการปฏิวัติมีอำนาจอย่างมาก และไม่มีใครอยากต่อสู้ด้วย ระเบียบใหม่จะประสบความสำเร็จทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมไปถึงจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง มหาอำนาจจะต้องเริ่มสร้างอาณาจักรด้วย 4 อย่าง ดังนี้

1. พวกเขาต้องได้รับอำนาจ และการสนับสนุนมากกว่าฝ่ายค้าน

2. ต้องทำการเปลี่ยนใจ หรือ ชักจูงคนที่อยู่ฝ่ายต่อต้าน ให้หันมาเลื่อมใส 

3. สร้างระบบและสถาบัน ที่ทำให้ประเทศทำงานได้ดี เช่น รัฐธรรมนูญ หรือ กฎระเบียบต่าง ๆ 

4. เลือกผู้สืบทอด – ผู้นำที่ดี หรือสร้างระบบการสืบทอดที่ดี เพื่อให้อำนาจและอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่คงอยู่หลายชั่วอายุคน

ในช่วงนี้ผู้นำภายในประเทศ ต้องออกแบบระบบที่ยอดเยี่ยม เพื่อยกระดับความมั่งคั่งและอำนาจของประเทศ พวกเขาต้องมี “การศึกษา” ที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่ใช่แค่การสอนความรู้และทักษะ แต่ยังต้องมีบุคลิกที่เข้มแข็ง ความสุภาพ และจรรยาบรรณในการทำงานที่ดี รวมถึงต้องให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์และกฎหมาย ระเบียบภายในสังคม ส่งผลให้การคอรัปชันต่ำ และช่วยให้พวกเขารวมตัวกันอยู่เบื้องหลังวัตถุประสงค์เดียวกัน และทำงานร่วมกันได้ดี 

เมื่อการเติบโตผ่านไประยะหนึ่ง พวกเขาจะเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและบริการแบบพื้นฐาน ไปสู่สินค้าและบริการที่ต้องคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น “การประดิษฐ์เรือ” ของชาวดัตช์ที่สามารถเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสะสมความมั่งคั่ง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบทุนนิยม” เพื่อเป็นเงินทุนในการเดินทางเหล่านั้น ผลที่ตามมา คือ คนในประเทศมีประสิทธิผลมากขึ้น และแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นในผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของพวกเขา และส่วนแบ่งการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น พวกเขาต้องปกป้องเส้นทางการค้าของตน และผลประโยชน์ของตนจากการถูกโจมตี ดังนั้น พวกเขาจึงพัฒนาความแข็งแกร่งทางทหารอย่างมาก 

ถ้าประสบความสำเร็จ สิ่งต่าง ๆ จะนำไปสู่การเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อยอดด้านการลงทุนในด้านการศึกษา, โครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนา 

รวมไปถึงการสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนี้ต้อง ”พัฒนาตลาดทุน” ของตนให้ดียิ่งขึ้น 

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การให้กู้ยืม, พันธบัตร, ตราสารหนี้ และตลาดหุ้น ที่ช่วยให้คนทั่วไป แปลงเงินออมเป็นเงินลงทุน เพื่อเป็นทุนและแบ่งปันเงินในการประดิษฐ์และพัฒนาให้กับธุรกิจต่าง ๆ เพื่อนำไปขยายธุรกิจได้ เช่น ตลาดหุ้น และตลาด IPO ซึ่งถูกริเริ่มโดยยุคของอาณาจักรดัชต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบ ที่สร้างความมั่งคั่งและอำนาจมหาศาล 

อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้พัฒนาศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก เพื่อดึงดูดและกระจายการลงทุนไปยังที่ต่าง ๆ ของโลก เช่น อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ตลาดหุ้นนิวยอร์ก, และจีนที่กำลังพัฒนาศูนย์กลางทางการเงิน ด้วยการเปิดตลาดหุ้นใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

และที่สำคัญที่สุดที่เราหลายคนอาจจะมองข้ามไปของระบบทุนนิยม คือ “นายทุน รัฐบาล และกองทัพ” ต้องร่วมมือกัน หรือกล่าวคือ ธุรกิจจะได้รับการผูกขาดการค้าจากรัฐบาล และมีกำลังทหารอย่างเป็นทางการ เพื่อออกไปสู่ตลาดโลก และสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ เช่น British East India ของอังกฤษ

เมื่อประเทศกลายเป็นอาณาจักรการค้าระหว่างประเทศ เริ่มเติบโตและขยายใหญ่ขึ้น การทำธุรกรรมสามารถชำระด้วยสกุลเงินของตัวเองในประเทศที่ทำการค้าด้วย จะทำให้สกุลเงินของตนเป็นที่ยอมรับ และใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ทั่วโลกต้องการมาก จะนำไปสู่ “การเป็นสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลก” อย่างดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือ หยวน ที่กำลังถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประเทศที่กำลังก้าวขึ้นท้าชิงกับประเทศมหาอำนาจของโลกนั่นเอง

การรักษาจุดสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ

ตามกฎแล้ว ในขณะที่ผู้คนในประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจเหล่านี้ มีรายได้มากขึ้น ก็ทำให้พวกเขามีค่าจ้างแพงขึ้น และมีการแข่งขันน้อยลง เมื่อเทียบกับคนต่างประเทศ 

ในขณะเดียวกัน คนในประเทศอื่นก็ลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของผู้นำ เช่น ช่างต่อเรืออังกฤษ มีแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำกว่าช่างต่อเรือชาวดัตช์ ดังนั้นพวกเขาจึงจ้างนักออกแบบชาวดัตช์เพื่อออกแบบเรือที่ดีกว่า ที่สร้างขึ้นโดยคนงานชาวอังกฤษที่มีราคาไม่แพง ทำให้พวกเขาแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งทำให้อังกฤษมาแทนที่ดัตช์ได้ในอดีต

อีกทั้งเมื่อคนร่ำรวยขึ้น จะเพิ่มเวลาพักผ่อนมากขึ้นและลดเวลาการทำงานลง ค่านิยมเปลี่ยนจากผู้ที่ต้องต่อสู้เพื่อบรรลุความมั่งคั่งและอำนาจ กลายเป็นผู้ที่ได้รับมรดก และคุ้นเคยกับชีวิตที่สบาย ไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งทำให้ประเทศอ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยของขั้วอำนาจที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน

พร้อมกันนี้ความเจริญที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่ “การกระจายความมั่งคั่งที่ไม่สม่ำเสมอ” ดังนั้นช่องว่างความมั่งคั่งมักจะเพิ่มขึ้น ระหว่างคนที่มีความมั่งคั่ง “มาก” กับคนจนที่มี “น้อย” ช่องว่างความมั่งคั่งนี้จะเป็นเหมือนตอไม้ที่อยู่ใต้น้ำ เพราะคนที่มีมากจะใช้ทรัพยากรมากขึ้น เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่พรรคพวกของตนเองมากขึ้น เช่น การศึกษาที่ดีขึ้น และมีอิทธิพลต่อระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนซะส่วนใหญ่ ทำให้เกิดช่องว่างในค่านิยม การเมือง และโอกาสในการเติบโตระหว่างกัน

ผู้ที่มีความมั่งคั่งน้อย จะรู้สึกว่าระบบไม่ยุติธรรม ความขุ่นเคืองจึงเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม “หากมาตรฐานการครองชีพของคนส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น” ช่องว่างในความขัดแย้งเหล่านี้ จะไม่ได้เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากนัก

หากจะกล่าวถึงภาคการเงิน การที่ประเทศมหาอำนาจสามารถนำสกุลเงินของตัวเองไปเป็นสกุลเงินสำรองของโลก ย่อมนำไปสู่การนำสกุลเงินของตัวเองไปวางเป็นหลักประกันเพื่อการกู้ยืมที่มากขึ้น หนี้ของประเทศที่ก็มีจำนวนมากขึ้น แม้ว่าจะช่วยเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายในระยะสั้น ทำให้ประเทศจะแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ในระยะยาวกลับทำให้สุขภาพทางการเงินของประเทศอ่อนแอลง และทำให้ค่าเงินอ่อนตัวในระยะยาว 

รวมไปถึงการมี “รายจ่ายทางทหารในการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศ” ย่อมต้องเสียเงินเพื่อปกป้องอาณาจักรของประเทศ มากกว่ารายได้ที่ได้มา ดังนั้น การมีอาณาจักรจึงไม่มีประโยชน์ และอาจจะทำให้สถานะตัวเองถังแตกได้ในที่สุด 

เช่น สหรัฐฯ ที่ใช้เงินไปแล้วมากมายเกี่ยวกับสงครามในต่างประเทศและการปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ การควบคุมผลที่เกิดตามมา รวมไปถึงเพื่อรองรับฐานทัพทหารในอีก 70 ประเทศ และเพื่อรองรับการแข่งขันทางทหารกับจีน ในพื้นที่รอบประเทศจีนอีกด้วย

ในที่สุดประเทศที่ร่ำรวยกว่า ก็กลายเป็นหนี้ที่มากขึ้น โดยการกู้ยืมจากประเทศยากจน แต่มีเงินออมมากกว่า เป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งและอำนาจ

ดูได้จาก ในสหรัฐฯ ปี 1980 เมื่อมี GDP ต่อหัวมีมูลค่าเป็น 40 เท่า ของจีน และเริ่มกู้ยืมเงินจากจีน ที่ต้องเก็บออมเงินเป็นดอลลาร์ เพราะดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองของโลก 

อย่างไรก็ตามหากประเทศมหาอำนาจ เริ่มหมดผู้ให้กู้รายใหม่ ผู้ที่ถือสกุลเงินของตน จะเริ่มหาทางขายเงินออก แทนที่จะซื้อ ความแข็งแกร่งของประเทศมหาอำนาจก็จะเริ่มลดลง เป็นสาเหตุแรก ๆ ที่แสดงให้เห็น “การถดถอยของอำนาจ”

การถดถอยของประเทศมหาอำนาจ

ความขัดแย้งภายในที่เพิ่มขึ้น ระหว่างคนมั่งคั่งมากกับคนมั่งคั่งน้อย อันนำไปสู่การปฏิวัติบางรูปแบบ เพื่อกระจายความมั่งคั่ง สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยสันติหรือเกิดในสงครามกลางเมือง 

การเสื่อมของอำนาจมาจาก “ความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ” พร้อมกับการต่อสู้ภายใน หรือการต่อสู้ภายนอกที่มีต้นทุนสูงหรือเกิดขึ้นทั้งสองอย่าง ซึ่งจะเป็นการเสื่อมของอำนาจจะเกิดแบบค่อย ๆ ลดลง (Diminishing Return) จากนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว 

เมื่อหนี้มีมาก และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจ ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้อีกต่อไป จากนั้นจะไม่มีเงินมารองรับหนี้ที่มี หรือหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ ในที่สุดฟองสบู่ทางการเงินก็แตก 

สิ่งนี้สร้างความยากลำบากให้ในประเทศอย่างมาก และบังคับให้ประเทศต้องเลือกระหว่าง “ผิดนัดชำระหนี้หรือพิมพ์เงินใหม่” เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกพิมพ์เงินใหม่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินลดลง และเกิดเงินเฟ้อในที่สุด

วัฎจักรภาคการเงินของประเทศมหาอำนาจ

เช่น สหรัฐฯ ที่ผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปถึง 3 รอบแล้ว ทั้งยุคของหนี้สิน การเงินที่เฟื่องฟู และพังทลายตั้งแต่ยุค 90 และในทุกครั้ง ๆ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะก้าวเข้ามาด้วยมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลอยู่ในสภาวะที่มีหนี้ท่วมหัว ส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพของคนส่วนใหญ่ลดลง ความมั่งคั่ง ค่านิยม และช่องว่างทางการเมืองเพิ่มจำนวนขึ้น ความขัดแย้งภายในระหว่างคนมีความมั่งคั่งมากกับน้อย รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และเชื้อชาติต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สิ่งนี้นำไปสู่ความคลั่งไคล้ทางการเมือง ที่แสดงออกมาเป็นฝ่ายซ้าย ที่พยายามกระจายความมั่งคั่ง และฝ่ายขวา ที่พยายามรักษาความั่งคั่งไว้

โดยปกติในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐจะหารายได้จาก จากการจัดเก็บภาษีของคนมีความมั่งคั่งมาก และเมื่อคนมั่งคั่งกลัวทรัพย์สมบัติและสวัสดิภาพของตนจะหายไป พวกเขาจะย้ายไปยังสถานที่ สินทรัพย์ และสกุลเงิน ไปยังประเทศอื่น ที่เรียกว่า “Tax Heaven” 

การไหลออกเหล่านี้ จะนำไปสู่การลดลงของรายได้จากภาษีที่รัฐจัดเก็บ สภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ GDP ลดลง ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจหดตัว และทำให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น มันนำไปสู่การปฏิวัติบางรูปแบบหรือสงครามกลางเมือง เพื่อกระจายความมั่งคั่ง และบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

ในขณะที่เกิดความขัดแย้งภายในประเทศนี้ อำนาจของประเทศจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเทียบกับอำนาจภายนอกของคู่แข่งเพิ่มขึ้น เมื่อขั้วประเทศใหม่แข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันกับขั้วอำนาจเดิม ก็จะนำไปสู่การเกิดสงคราม

ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติรูสเวลต์ที่ค่อนข้างสงบ ในขณะที่การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย และการปฏิวัติของจีนก็รุนแรงขึ้นมากเรื่อย ๆ  และนำไปสู่คำสั่งภายในใหม่ 

ความขัดแย้งภายในทำให้ประเทศมหาอำนาจที่กำลังอ่อนแอ สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งใหญ่ เนื่องจากไม่มีระบบที่ตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติได้ 

ความขัดแย้งเหล่านี้มักจะได้รับการแก้ไขผ่านการทำสงครามเพื่อความมั่งคั่งและอำนาจที่มากขึ้น จะเกิดการสูญเสีย ซึ่งเป็นผลที่แย่ที่สุด หรือ การถอยกลับ ซึ่งก็แย่ไม่ต่างกัน เพราะเป็นการเสียความก้าวหน้าและอำนาจให้กับคู่ต่อสู้ และส่งสัญญาณว่าอาณาจักรกำลังอ่อนแอ ถดถอย และสิ้นสุดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สงครามที่เกิดมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก ในขณะเดียวกันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงของโลก การปรับเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ สู่ประเทศขั้วอำนาจใหม่ของโลกที่ก้าวขึ้นมาแทนอำนาจเดิม “ผู้ชนะจะรวมตัวกันเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่” กลายเป็นวงจรที่เราอาจจะอยู่ในเหตุการณ์ หรือ กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียนกันมา สิ่งใหม่เริ่มต้นขึ้น และวนเป็น The Big Cycle อีกครั้ง 

Ray Dalio มองการเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจโลกยังไงในรอบ 500 ปี

การดูตัวชี้วัด 8 อย่างที่พี่ทุยได้บอกไป ก็ค่อนข้างจะเป็นประโยชน์และมองเห็นได้ง่าย ว่าประเทศอยู่ในช่วงไหนของวัฎจักรแล้ว และยังสามารถช่วยประเมินได้ว่าประเทศมหาอำนาจจะยังคงอยู่อีกกี่ปี

แต่การประมาณการเหล่านี้ก็ยังไม่แม่นยำ และสามารถพลิกเพื่อขยายวงจรให้ยาวขึ้นได้ เปรียบเสมือนผู้ดูแลใส่ใจกับสุขภาพของตัวเอง และตรวจเช็คตัวเองอยู่เสมอ เช่น การรู้ว่าคนอายุ 60 ปี สุขภาพดีแค่ไหน ดูได้เบื้องต้น จากการที่เขาสูบบุหรี่หรือไม่ รวมไปถึงสังเกตพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพพื้นฐานอื่น ๆ ก็จะสามารถประเมินอายุขัยของบุคคลนั้นได้ 

ดังนั้น เราก็สามารถทำเช่นนั้นกับอาณาจักรและสัญญาณชีพของประเทศมหาอำนาจได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่แม่นยำ แต่ก็สามารถบ่งบอกได้ในภาพกว้างอย่างคร่าว ๆ 

การรักษาอาณาจักรของประเทศมหาอำนาจไว้

แนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อเพิ่มอายุขัยหรือรักษาอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ที่สำคัญที่สุดที่สุดต้องทำคือ

1. หารายได้ของประเทศให้มากกว่าที่ใช้จ่าย และปฏิบัติต่อประเทศอื่นอย่างดีที่สุด เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

2. การศึกษาที่แข็งแกร่ง, ความคิดสร้างสรรค์, การมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาอำนาจของตนเองอย่างยั่งยืน

เป็นยังไงบ้างกับการสรุปคลิปของ หนังสือ Principles for Dealing with the Changing World Order ของ Ray Dalio เล่มนี้ ไม่เพียงแต่การนำตัวชี้วัด หรือ วัฏจักรไปเทียบเคียงกับมหาอำนาจว่าเขาอยู่ในระดับไหนแล้ว 

แต่พี่ทุยว่าเราก็สามารถนำตัวชี้วัดและแนวทางต่าง ๆ มาปรับใช้ได้กับทุกประเทศเพื่อให้เราได้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในระดับใด เพื่อรักษาและหาแนวทางในการพัฒนาให้ประเทศเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยไม่เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสื่อมถอยอย่างไม่มีวันกู้คืนกลับมานั่นเอง 

อีกทั้งทุกคนยังสามารถนำ The Big Cycle ไปดูได้อีกว่าตอนนี้สหรัฐฯ จะสามาถรักษาอำนาจของตัวเองไว้ได้หรือไม่ หรือจะโดนจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกอย่างที่ Mega Trend ได้วิเคราะห์ว่าไม่กี่ปีเราจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจใหม่นั่นเอง

Ray Dalio มองการเปลี่ยนแปลงมหาอำนาจโลกยังไงในรอบ 500 ปี

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย