จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566 พี่ทุยเลยขอสรุปข้อมูลต่าง ๆ ให้ฟัง ทั้งซื้ออะไรเเล้วได้ลดหย่อนบ้างเเละที่สำคัญเลย “ใบเสร็จ/ ใบกำกับภาษีต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง” ถึงจะสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ไปฟังกัน
เงื่อนไข ช้อปดีมีคืน
ปี 2566 มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นมาทั้งการจำกัดวงเงิน และรายการสินค้าใหม่ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ พี่ทุยรวบรวม เงื่อนไขทุกอย่างมาแล้ว ดังนี้
1. ใครสามารถเข้าร่วมโครงการ ช้อปดีมีคืน 2566 ได้บ้าง ?
- บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้เสียภาษีปี 2566 หมายถึง ผู้ที่มีรายได้ของปี 2566 เเละเข้าข่ายการเสียภาษีแบบขั้นบันได 5-35 % ซึ่งจะยื่นรายได้ของปี 2566 ให้แก่สรรพกรในปี 2567 (อ่านเพิ่มเติมของ ค่าลดหย่อนภาษีปี 2565 เพื่อทำความเข้าใจก่อนได้ที่นี่ เน้นว่าของปี 2565 นะ)
- ไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. ต้องลงทะเบียนหรือไม่ ?
- ไม่ต้องลงทะเบียน เเต่ต้องมีหลักฐานการชำระค่าสินค้าเเละบริการอย่าง “ใบกำกับภาษี” ในช่วงเวลาที่กำหนด รวมถึงเป็นสินค้าเเละบริการที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (อาจมีการเปลี่ยนเเปลง)
3. ต้องซื้อสินค้าเเละบริการช่วงไหน และซื้ออะไรได้บ้าง
- ระยะเวลาการใช้จ่าย วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 ทั้งหมด 46 วัน
- สินค้าเเละบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- หนังสือ รวมถึงหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
4. หลายคนถามพี่ทุย “สามารถซื้ออะไรก็ขอเเค่เป็นสินค้าหรือบริการจด VAT” หรอ ?
- คำตอบคือไม่ใช่ เพราะจะมีสินค้าเเละบริการที่อยู่ในกลุ่มยกเว้น ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีกับโครงการช้อปดีมีคืนได้
5. สินค้าและบริการที่ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน 2566 มีอะไรบ้าง ?
- สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- สินค้าท้องถิ่น
- หนังสือ รวมถึง e-Book
- น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยจะต้องมาจากสถานบริการน้ำมัน ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีได้ ซึ่งแตกต่างจากมาตรการในปี 2564-2565 ที่ผ่านมา เพราะตอนนั้นส่วนนี้ไม่เข้าร่วม ใครมีรถเติมน้ำมันกันปีหน้าอย่าลืมขอใบกำกับภาษีนะครับ
6. สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีกับ โครงการ ช้อปดีมีคืน 2566 มีอะไรบ้าง ?
- สุรา เบียร์ ไวน์ เเละยาสูบ หรือง่าย ๆ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่
- รถยนต์ รถจักยานยนต์ และเรือ
- สาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลง
- หนังสือพิมพ์และนิตยสาร รวมถึงค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการนำเที่ยวหรือทัวร์ โรงเเรมที่พัก บัตรโดยสารเครื่องบิน
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย (ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์)
นอกจากนี้ ยังมีทองคำแท่ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม ผักผลไม้สด เเละเนื้อสัตว์สดอีกด้วย // ดูกันดีๆ นะ
7. ใบเสร็จ/ ใบกำกับภาษี ต้องตรวจข้อมูลอะไรบ้าง ?
สิ่งสำคัญเลยของการใช้สิทธิโครงการช้อปดีมีคืน คือ ใบเสร็จ/ ใบกำกับภาษี ต้องระบุข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ดังนี้
- ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขาย
- ชื่อนามสกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชนของผู้ซื้อ “ตามบัตรประชาชน”
- วันที่ซื้อสินค้าเเละบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2566 เท่านั้น
- เลขที่ใบเสร็จชัดเจน
- รายละเอียดสินค้าเเละบริการครบถ้วน
- มูลค่าสินค้าเเละบริการที่มีทั้ง 1) ราคาสินค้าเเละบริการก่อนรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2) ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และ 3) ยอดรวมราคาสินค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ถูกต้องและชัดเจน
8. จำกัดวงเงินลดหย่อนภาษีหรือไม่
ช้อปดีมีคืน 2566 เเม้ว่าจะลดหย่อนภาษีได่สูงสุด 40,000 บาท เเต่รอบนี้ได้แบ่งสิทธิลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการเป็น 2 ส่วนโดยมีการจำกัดวงเงิน ดังนี้
- วงเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วไป (ใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- การซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มอีกไม่เกิน 10,000 บาท
ตัวอย่างการใช้ช้อปดีมีคืน 2566
- ซื้อมือถือราคา 40,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ = ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- ซื้อมือถือราคา 40,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ = ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของสินค้าเเละบริการอาจมีการเปลี่ยนเเปลงได้ ต้องรอทางโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ประกาศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพี่ทุยจะมาอัปเดตอย่างต่อเนื่องเเน่นอน
จุดประสงค์โครงการ ช้อปดีมีคืน 2566
เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังให้มีกระเเสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 56,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดดารขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.1-0.2% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากขึ้น
กลุ่มเป้าหมาย
- กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้และบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP