รู้จัก กาตาร์ ทำไมได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

รู้จัก กาตาร์ ทำไมได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • กาตาร์เป็นประเทศเล็กมีพื้นที่ 11,581 ตร.กม. และประชากร 2,800,000 คน แต่มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเยอะ ทำให้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัว (GDP per Capita) สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
  • กาตาร์ลงทุนกับฟุตบอลโลก 2022 ประมาณ 220,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์เจ้าภาพ เพื่อสร้างสนามกีฬาสมัยใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ติดอันดับโลก
  • ก่อนฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์ถูกโจมตีทั้งเรื่องทุจริตติดสินบนคณะกรรมการ FIFA, ละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงาน และสภาพอากาศไม่เหมาะกับการจัดฟุตบอลโลก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ครั้งนี้ พี่ทุยจะพาทุกคนไปรู้จักกับเจ้าภาพบอลโลก 2022 จากตะวันออกกลางที่ชื่อว่า “กาตาร์ (Qatar)” เป็นเจ้าภาพที่ใจป้ำมากเพราะทุ่มทุนไปถึง 220,000 ล้านดอลลาร์ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ รองรับงานนี้มาตั้งเเต่ 10 ปีที่เเล้ว อาจทำให้ฟุตบอลโลก 2022 เป็นครั้งที่คนจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ได้

นอกจากนี้ ฟุตบอลโลกครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเดือน พ.ย. – ธ.ค. จากครั้งก่อน ๆ ที่จัดขึ้นในเดือน มิ.ย. – ก.ค. อีกด้วย ว่าเเล้วก็เริ่มทำความรู้จัก กาตาร์ กันดีกว่า

กาตาร์ (Qatar) 1 ใน 4 ของเศรษฐีน้ำมันกลางทะเลทราย

เริ่มแรกพี่ทุยอยากให้ทุกคนมองภาพในมุมกว้างกันก่อน แล้วโฟกัสไปบนแผ่นดินที่อยู่ใจกลางของทั้งทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และมหาสมุทรอินเดีย โดยเราจะเรียกแผ่นดินตรงนี้ว่าคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งเป็นคาบสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพื้นที่ของ 7 ประเทศ

โดยมีซาอุดิอาระเบียใหญ่ที่สุดอยู่ใจกลาง หากมองไปทางใต้ก็จะมี 2 ประเทศคือเยเมนกับโอมาน  และเมื่อมองไปทางขวาหรือตะวันออกก็จะพบอีก 4 ประเทศ คือ คูเวต บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ของเราอย่างกาตาร์นั่นเอง

ทั้ง 7 ประเทศในคาบสมุทรอาระเบียนั้นมีสภาพเหมือน ๆ กันเลย คือมองไปทางไหนก็เจอแต่ทะเลทรายร้อนระอุระดับ 40-50 องศา และไม่มีแม่น้ำสักเส้นเดียว คนในสมัยก่อนก็เลยจะต้องเร่ร่อนตามล่าหาแหล่งอุดมสมบูรณ์ชื่อว่าโอเอซิส และใช้ชีวิตเป็นพ่อค้าทั้งทางบกและทางทะเล

คาบสมุทรอาระเบีย

เรียกได้ว่าทั้งสภาพอากาศที่โหดร้ายและพื้นที่สุดแห้งแล้ง เลยทำให้คาบสมุทรอาระเบียมีคนอยู่เบาบางมากและมีบทบาททางเศรษฐกิจในยุคโบราณค่อนข้างน้อย

แต่เมื่อตัดภาพมาปัจจุบันนั้น ผู้เล่นที่มีบทบาททางเศรษฐกิจของโลกลำดับต้น ๆ พี่ทุยเชื่อว่าต้องมีชื่อของเหล่าบรรดาประเทศในคาบสมุทรอาระเบียแน่นอน เพราะเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกทั้งใบ และสิ่งที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรอีกทีคือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเผอิญว่าบ่อน้ำมันขนาดยักษ์ดันอยู่ใต้แผ่นดินกันดารแห้งแล้งอย่างคาบสมุทรอาระเบียนี้เอง

คราวนี้ เลยทำให้เหล่าบรรดาประเทศในคาบสมุทรอาระเบียกลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ค้าน้ำมันในเวลาไม่กี่สิบปี โดยเฉพาะ 4 ประเทศ ได้แก่

1) ซาอุดิอาระเบีย

– พื้นที่ 2,149,690 ตร.กม.          

– น้ำมันสำรอง 297,500 ล้านบาเรลส์ (อันดับ 2 ของโลก)

2) คูเวต

– พื้นที่ 17,818 ตร.กม.

– น้ำมันสำรอง 101,500 ล้านบาเรลส์ (อันดับ 7 ของโลก)

3) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

– พื้นที่ 83,600 ตร.กม.

– น้ำมันสำรอง 97,800 ล้านบาเรลส์ (อันดับ 8 ของโลก)

4) กาตาร์

– พื้นที่ 11,581 ตร.กม.

– น้ำมันสำรอง 25,240 ล้านบาเรลส์ (อันดับ 13 ของโลก)

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงมองเห็นภาพรวมคร่าว ๆ ทั้งสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และบทบาทของประเทศในคาบสมุทรอาระเบียไปบ้างแล้ว ต่อไปพี่ทุยจะเริ่มพาทุกคนเดินทางเข้าสู่พรมแดนของกาตาร์กัน

รู้จัก กาตาร์ ประเทศนี้มีดีอะไรบ้าง ?

อย่างที่เราได้เห็นไปในตอนแรก กาตาร์มีสภาพโดยรอบเป็นทะเลทรายไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในคาบสมุทรอาระเบีย แต่จะมีพื้นที่ค่อนข้างเล็กคือประมาณ 11,581 ตร.กม.

ถ้าให้พี่ทุยเทียบง่าย ๆ กาตาร์มีพื้นที่พอ ๆ กับจังหวัดขนาดกลางในไทย เช่น อุดรธานี เชียงราย น่าน เลย และมีประชากรประมาณ 2,800,000 คน แต่ว่ามีแค่ประมาณ 400,000 คนเท่านั้นที่เป็นชาวกาตาร์จริง ๆ ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติล้วน ๆ

คราวนี้เรามาดูจุดเด่นกันบ้าง อย่างที่เห็นไปว่าจำนวนน้ำมันสำรองของกาตาร์ค่อนข้างรั้งท้ายประเทศ รอบ ๆ ข้างพอสมควร แต่สิ่งที่เข้ามาทดแทนและเป็นจุดขายของกาตาร์คือก๊าซธรรมชาติ ถึงแม้จะมีน้ำมันสำรองอยู่อันดับ 13 ของโลก แต่ในเรื่องก๊าซธรรมชาติ กาตาร์อยู่ในอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว ทำให้แม้ประเทศจะเล็กขนาดไหน ประชากรจะมีน้อยเพียงใด แค่มีขุมทรัพย์คือก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในกำมือก็ทำให้ประเทศเล็กจิ๋วอย่างกาตาร์นี้ร่ำรวยติด Top ของโลกอย่างรวดเร็ว 

โดยในปี 2021 กาตาร์มี GDP อยู่ที่ 180,833 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 57 ของโลก และมีรายได้ต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ 93,508 ดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากลักเซมเบิร์ก สิงคโปร์ และไอร์แลนด์

จุดเด่นของกาตาร์อีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือสายการบิน Qatar Airways ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่และดีที่สุดในตะวันออกกลาง มีจุดหมายปลายทาง 150 ที่ทั่วโลก กระจายไปทั้งออสเตรเลีย ยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เรียกได้ว่าคือหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการบินของโลกเลยทีเดียว 

นอกจากสายการบินแล้ว พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “อัลจาซีรา (Al Jazeera)” ซึ่งเป็นสำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง โดยอัลจาซีราขับเคลื่อนด้วยเงินทุนของรัฐบาลกาตาร์ แถมมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่โดฮา เมืองหลวงของกาตาร์นี้เอง

สุดท้าย ด้วยความร่ำรวย ทำให้ประชากรในกาตาร์ค่อนข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลยทีเดียว รวมถึงเป็นประเทศที่มีดัชนีอาชญากรรมค่อนข้างต่ำและมีดัชนีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์หรือญี่ปุ่น

หลังจากที่พาสำรวจรอบ ๆ แล้ว พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มพอเข้าใจหน่อย ๆ แล้วว่าทำไมกาตาร์ถึงถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 แต่พอลองมองย้อนกลับไป กาตาร์กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลาย ๆ เรื่องว่าไม่เหมาะกับการเป็นเจ้าภาพ คราวนี้พี่ทุยจะพาย้อนไปดูว่ากาตาร์ถูกเลือกขึ้นมาได้ยังไง และมีเสียงตอบรับหลังจากนั้นในด้านไหนบ้าง

ย้อนรอยช่วงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง จะมีสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA เป็นผู้เลือก ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือก 2 รอบ โดยรอบแรกจะให้ประเทศที่สนใจส่งข้อมูลเชิงลึกของตัวเองทั้งสภาพการเมือง สังคม เศรษฐกิจ แนวโน้ม จุดเด่น งบประมาณ แผนการจัดงาน ระบบสุขภาพ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ มาตรฐานแรงงาน รวมถึงแผนที่และผังเมืองที่มีโครงร่างของสนามกีฬา โรงแรม และโรงพยาบาลให้กับ FIFA

ซึ่ง FIFA ก็จะมีการประเมินให้คะแนนและเลือกประเทศที่ได้คะแนนเยอะสุดผ่านเข้าไปเลือกรอบที่สอง โดยจะมีคณะกรรมการ FIFA 22 คน เป็นคนออกเสียงโหวต ซึ่งการเลือกเจ้าภาพในปี 2022 มีการโหวตถึง 4 รอบด้วยกัน ดังนี้

การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก

จะเห็นได้ว่า สุดท้ายกาตาร์ก็ได้รับเสียงโหวตมากที่สุด และ FIFA ก็ประกาศในปี 2010 ว่า เจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีกเกือบ 12 ปีข้างหน้าคือกาตาร์

หลัง กาตาร์ ถูกเลือกเป็นเจ้าภาพ

เมื่อรู้ว่าได้เป็นเจ้าภาพแล้ว ช่วงเวลาในการเตรียมตัวก็จะเริ่มขึ้น โดยเจ้าภาพจะต้องทำตามแผนการจัดงานที่ส่งไป และตัวของ FIFA ก็จะกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ออกมา ซึ่งหลัก ๆ เลยคือเรื่องสนามกีฬาสมัยใหม่ที่เจ้าภาพจะต้องมี ดังนี้

สนามฝึกซ้อม FIFA

โดยสนามกีฬาแต่ละที่ก็ต้องเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งการคมนาคม ขนส่งสาธารณะ โรงแรมที่พัก โรงพยาบาล สนามฝึกซ้อม ฯลฯ และ FIFA ก็จะประเมินอยู่ตลอดเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้

ซึ่งทุกเจ้าภาพที่ผ่านมาต่างก็ใช้งบลงทุนแตกต่างกัน และเจ้าภาพอย่างกาตาร์ก็มีความพิเศษกว่าเจ้าภาพอื่น ๆ คือใช้งบไปกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทิ้งห่างเจ้าภาพอื่น ๆ ประมาณ 20-30 เท่า

คราวนี้เรามาดูกันว่า งานในครั้งนี้กาตาร์ลงทุนไปกับอะไรบ้าง?

1. สนามกีฬา ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์

สนามกีฬาที่กาตาร์ได้ลงทุนสร้างเรียกได้ว่าตรงตามมาตรฐานที่ FIFA ตั้งเอาไว้

สนามกีฬาที่กาตาร์ได้ลงทุนสร้างเรียกได้ว่าตรงตามมาตรฐานที่ FIFA ตั้งเอาไว้ โดยรวมประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งพี่ทุยเห็นข้อมูลนี้ครั้งแรกก็ค่อนข้างตกใจเลยทีเดียว เพราะตามปกติแล้ว งบที่ลงทุนสูงเป็นอันดับต้นๆ  ของเจ้าภาพครั้งก่อน ๆ คือการสร้างและปรับปรุงสนามกีฬา ซึ่งกาตาร์ลงทุนในส่วนนี้แค่ประมาณ 2% เท่านั้น

แล้วที่เหลือกาตาร์เอาไปลงทุนกับอะไร คำตอบคือ การสร้างเมืองขึ้นมาใหม่นั่นเอง!

2. Lusail City ประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอภิมหาโปรเจกต์ที่ใหญ่และมีมูลค่ามากที่สุดในโลกปัจจุบันกับ Lusail City ซึ่งสร้างเพื่อรองรับสนามกีฬาหลักอย่าง Lusail Stadium

โดยกินพื้นที่ 38 ตร.กม. แบ่งเป็น 19 เขต โดยมีโรงแรมหรูกระจายอยู่ทั่วเมือง 22 แห่ง มีสนามกอล์ฟขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ท่าเรือ 2 แห่ง รวมถึงสวนสนุกกับทะเลสาบ และมีไฮท์ไลท์คือ “ตึกคาตารา (Katara Towers)” ที่เป็นตึกโค้งสองหลังริมทะเล

อีกทั้งภายในเมืองมีการวางเครือข่ายรถไฟเชื่อมโยงกัน และรองรับประชากรอยู่อาศัย 200,000 คน เริ่มโปรเจกต์ในปี 2013 ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่กาตาร์เอาไว้อวดโฉมสำหรับฟุตบอลโลก 2022 โดยเฉพาะ

3. The Pearl ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ

เป็นเกาะเทียมรูปม้าน้ำที่สร้างโดยการถมทะเล ซึ่งสร้างขึ้นก่อนที่กาตาร์จะรู้ว่าได้เป็นเจ้าภาพ ทำให้หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา การปรับปรุงและพัฒนา The Pearl ก็กลายเป็นหนึ่งในโปรเจกต์รองรับฟุตบอลโลก 2022 ด้วยเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นโซนโรงแรมและที่พักเพื่อรองรับแฟนบอลจากทั่วทุกสารทิศ

4. เครือข่ายรถไฟใต้ดินโดฮา 36,000 ล้านดอลลาร์

เป็นขนส่งสาธารณะที่จะเชื่อมสนามกีฬา โรงแรม โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวทั่วกาตาร์เข้าด้วยกัน ซึ่งมีความยาวรวมกันกว่า 76 กม. และมี 37 สถานีกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ

ยังคงมีอีกหลายโปรเจกต์ที่พี่ทุยไม่สามารถยกมาอธิบายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงใจกลางเมืองหลวงโดฮารวมถึงโรงแรมหรูและที่พักอีกหลายร้อยแห่งซึ่งโปรเจกต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าที่แน่นอน

ซึ่งการทุ่มทุนสร้างแต่ละโปรเจกต์ในระดับเหนือจินตนาการขนาดนี้ ทุกคนคงเริ่มมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นกับคำพูดที่พี่ทุยบอกไว้ในตอนต้นว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ  

แต่ทว่า การเดินโปรเจกต์ต่าง ๆ ตลอด 10 กว่าปีเพื่อฟุตบอลโลกนั้น กาตาร์ก็ถูกโจมตีอย่างหนักในหลายเรื่องและกลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงแบบไม่ให้พักเลยทีเดียว

กว่าจะมาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

1. ถูกโจมตีว่ามีการทุจริตและติดสินบนระหว่างกาตาร์กับคณะกรรมการ FIFA

เริ่มแรกเลยคือหลัง FIFA ประกาศว่ากาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ก็เกิดการตั้งคำถามถึงศักยภาพและความเหมาะสมทันที ทั้งเรื่องขนาดประเทศที่เล็กเกินไปและอากาศที่ร้อนจนไม่เหมาะกับการแข่งขัน ความไม่พอใจของหลาย ๆ ฝ่าย

เรียกได้ว่าครุกรุ่นจนโจมตีว่ากาตาร์กับคณะกรรมการของ FIFA ว่ามีการทุจริตในเรื่องผลโหวต การเลือกเจ้าภาพอย่างกาตาร์มีเรื่องผลประโยชน์และการติดสินบนกับคณะกรรมการบางคนของ FIFA ซึ่งเรื่องราวลากยาวไป 6-7 ปี และสุดท้ายจบลงด้วยการขาดหลักฐานที่ชัดเจน

2. ถูกโจมตีว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ

อย่างที่พี่ทุยให้ดูกันก่อนหน้าว่าประชากรในกาตาร์มีประมาณ 2,800,000 คน  และเป็นคนกาตาร์แค่ประมาณ 400,000 คน ที่เหลือเป็นคนต่างชาติซึ่งมีเงินและฐานะในระดับหนึ่ง ทำให้มีแรงงานเกือบ 90% ถูกนำเข้ามาจากเอเชียใต้เพื่อก่อสร้างโปรเจกต์ต่าง ๆ

และด้วยขนาดแต่ละโปรเจกต์นั้น ทำให้แรงงานที่นำเข้ามาต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งก็มีการโจมตีจากทั้งแอมเนสตี้และองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าอาจมีแรงงานนับร้อยคนเสียชีวิตจากโปรเจกต์ก่อสร้างที่เกี่ยวกับฟุตบอลโลก

ซึ่งทางการกาตาร์ก็ออกมาปฏิเสธว่าตัวเลขเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ฟุตบอลโลก แต่เป็นการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น สุดท้ายนั้นก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง ๆ ว่ามีแรงงานกี่คนที่เสียชีวิตไปจากการก่อสร้างโปรเจกต์ฟุตบอลโลก

3. ดราม่าฟุตบอลโลกฤดูหนาว

ตามปกติฟุตบอลโลกแต่ละครั้งนั้นจะจัดในเดือน มิ.ย – ก.ค. แต่สำหรับกาตาร์นั้นช่วงเดือนที่ว่าดันตรงกับฤดูร้อนที่อุณหภูมิระดับ 40-50 องศา ซึ่งไม่เหมาะกับการแข่งฟุตบอลกลางแจ้งแน่นอน ทำให้ฟุตบอลโลก 2022 ต้องเลื่อนไปจัดเดือน พ.ย. – ธ.ค. ซึ่งตรงกับฤดูหนาวของกาตาร์

แต่การเลื่อนครั้งนี้ก็ดันกระทบกับบรรดาลีกฟุตบอลในยุโรปที่ต้องเลื่อนฤดูกาลให้เร็วกว่าปกติเพื่อให้นักกีฬาได้พักก่อนไปแข่งฟุตบอลโลก รวมถึงระบบตลาดซื้อขายนักเตะก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน

เรียกได้ว่า มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในแต่ละปีหลังจากที่รู้ว่ากาตาร์เป็นเจ้าภาพในปี 2022 ทั้งเรื่องความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพ ปัญหาทุจริต ปัญหาสภาพอากาศ โปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องแรงงาน

แต่ในท้ายที่สุดฟุตบอลโลก 2022 ก็เกิดขึ้นในกาตาร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจากเอเชียครั้งที่ 2 และเป็นเจ้าภาพจากตะวันออกกลางครั้งแรก แต่การลงทุนในฟุตบอลโลกของกาตาร์จะคุ้มค่าแค่ไหน และกาตาร์ต้องการอะไรจากการจัดงานในครั้งนี้กันแน่?

ฟุตบอลโลก 2022 การลงทุนเพื่ออนาคตของ กาตาร์

ความพร้อมของกาตาร์ในหลาย ๆ ด้านทั้งเงินทุน ที่ตั้ง คุณภาพของสนามบินและสายการบิน ทำให้ก่อนหน้านี้กาตาร์เคยเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลกอยู่หลายครั้ง ทั้งเอเชียนเกมส์ 2006, กีฬาในร่มชิงแชมป์โลก 2010, แฮนด์บอลชิงแชมป์โลก 2015, แพนอาหรับเกมส์ 2015, พาราลิมปิก 2015 และยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2018

ซึ่งพี่ทุยคิดว่าการจัดงานกีฬาต่าง ๆ เป็นเหมือนเครื่องมือหลักของกาตาร์ในการยกระดับและแสดงศักยภาพในระดับสากลของตัวเอง และเหมือนเป็นการซักซ้อมเพื่องานใหญ่ที่แท้จริงอย่างฟุตบอลโลก 2022 

แต่ความกังวลของหลาย ๆ ฝ่ายคือการลงทุนกับงานในระดับ 220,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนที่ลงทุนไปมากมายมหาศาลขนาดนี้ ทิ้งห่างจากอันดับ 2 อย่างบราซิลที่ลงทุนไปประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ขึ้นมามากมายว่ากาตาร์อาจซ้ำรอยกับบราซิลในปี 2014 ที่ลงทุนไปกับฟุตบอลโลกเกินตัวจนเศรษฐกิจย่ำแย่ในเวลาต่อมา 

การ์ตา จะกลายเป็นเหมือนบราซิลหรือไม่?

ตามความคิดของพี่ทุยนั้น โครงสร้างหลายอย่างของทั้งสองประเทศค่อนข้างแตกต่างกัน รวมถึงเป้าหมายการลงทุนกับฟุตบอลโลกของสองเจ้าภาพก็ไม่เหมือนกัน ตัวของบราซิลอาจลงทุนโดยมีเป้าหมายเพียงแค่รองรับฟุตบอลโลกเท่านั้น เพราะสุดท้ายทั้งสนามกีฬาและโครงสร้างพื้นฐานที่บราซิลสร้างเพื่อรองรับฟุตบอลโลกหลายแห่งไม่มีการใช้งานต่อแถมยังต้องเสียค่าบำรุงรักษาต่อปีไปอย่างเปล่าประโยชน์

กลับกันพี่ทุยคิดว่าตัวของกาตาร์นั้นมีแนวโน้มสูงมากที่โปรเจกต์มากมายระดับ 220,000 ล้านดอลลาร์ นี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าไปที่ฟุตบอลโลก 2022 เพียงอย่างเดียว แต่เหมือนว่ากาตาร์ต้องการใช้ฟุตบอลโลก เป็นสื่อกลางยกระดับและแสดงศักยภาพในระดับสากลไม่ต่างจากงานอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดทั้งเม็ดเงินลงทุน เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว และสื่อกลางชิ้นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อสายตานับล้านดวงจับจ้องมาที่ผลงาน 220,000 ล้านดอลลาร์ ของกาตาร์ ที่อาจกลายเป็นการลงทุนราคาแพงแต่คุ้มค่ากับอนาคตก็เป็นได้

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 อย่างกาตาร์ ที่หากเรารู้พื้นหลังอะไรหลาย ๆ อย่างแล้ว อาจจะทำให้การเชียร์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้อรรถรสมากขึ้นตามไปด้วยก็ได้ ว่าแล้วพี่ทุยก็ขอตัวไปนั่งลุ้นคู่ต่อไปก่อนดีกว่า

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile