ทำไมการจัด "โอลิมปิก" คือมหกรรมสร้างหนี้ครั้งใหญ่ ?

ทำไมการจัด “โอลิมปิก” คือมหกรรมสร้างหนี้ครั้งใหญ่ ?

   Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • “ญี่ปุ่น” ถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาโอลิมปิกขึ้นในปี 1964 โดยโอลิมปิก 2020 ถือเป็นครั้งที่ 4 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกมากที่สุดในเอเชีย
  • จากสถิติการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมักจะทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินในประเทศเจ้าภาพผู้จัดงานในระยะยาวหลังจากการแข่งขันสิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างสูงและต้องมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย
  • “ญี่ปุ่น” ยังคงเชื่อมั่นว่าการจัดงานจะยังคงทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะสามารถทำให้อัตราการเติบโตของ GDP รายปีขยับขึ้นไปอีก 0.2-0.3%

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังจากที่เมื่อวานนี้เราได้ดีใจกับเหรียญทองแรกของไทยใน “โอลิมปิก” 2020 กับ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสาวไทยที่ประสบความสำเร็จ หลังจากเคยได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิก รีโอ 2016 ที่ประเทศบราซิล เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

พอมาในครั้งนี้ ประเทศเจ้าภาพก็กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่ตั้งใจจะจัดตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ด้วยโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป

แม้ว่าหัวหน้าคณะผู้จัดงานอย่าง “Toshiro Muto” จะเกิดความลังเลในในวินาทีสุดท้าย และแถลงต่อสาธารณะว่าจะไม่ปิดโอกาสในการยกเลิกการจัดงานการแข่งขัน หลังจากผู้ติดโควิด-19 ที่ยังคงพุ่งสูงในประเทศ รวมถึงในหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งพบนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วกว่า 70 ราย

ในวันนี้พี่ทุยจะมาเล่าถึงสาเหตุที่ทำไมคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นถึงมีท่าทีแบบนั้น การยกเลิกการจัดงานจะส่งผลกระทบอย่างไร และการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ในปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไรต่อจากนี้

ความเป็นมาของญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก

  • เจ้าภาพครั้งที่ 1 โอลิมปิก ฤดูร้อน ปี 1964 ที่โตเกียว (10-24 ตุลาคม 1964)
  • เจ้าภาพครั้งที่ 2 โอลิมปิก ฤดูหนาว ปี 1972 ที่ฮอกไกโด (3-13 กุมภาพันธ์ 1972)
  • เจ้าภาพครั้งที่ 3 โอลิมปิก ฤดูหนาว ปี 1998 ที่นากาโน่ (7-22 กุมภาพันธ์ 1998)
  • เจ้าภาพครั้งที่ 4 โอลิมปิก ฤดูร้อน ปี 2020 ที่โตเกียว (23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2021)

ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจในฝั่งเอเชียมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่และมีเสถียรภาพทั้งในด้านของการเงินและการเมือง ทำให้ญี่ปุ่นได้มีโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Olympics เป็นประเทศแรกในฝั่งเอเชียในปี 1964 และภายหลังจากนั้น ก็ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานอีก 2 ครั้ง ซึ่งถ้ารวมกับ Tokyo Olympics 2020 จะถือว่าญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานรวมทั้งสิ้นถึง 4 ครั้งด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นประเทศในฝั่งเอเชียที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Olympics มากที่สุด

ทำไมมหกรรมกีฬา “โอลิมปิก” (Olympics) คือ มหกรรมสร้างหนี้ครั้งใหญ่ ?

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ประเทศที่มีความต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานกีฬา Olympics ส่วนมากมีความต้องการที่จะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ในความเป็นจริงนั้น แม้จะได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวจริง ๆ แต่ก็เทียบไม่ได้กับ “ต้นทุน” ในการจัดงานเลยแม้แต่น้อย จึงถือได้ว่าการลงทุนในการจัดงานกีฬาเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ซึ่งก็ได้มีตัวอย่างมาให้เห็นกันแล้วในอดีต

Olympics 1976 ที่ประเทศแคนาดา เมืองมอนทรีออน

แคนาดากำลังเติบโตและมีชื่อเสียงจากการจัดงาน “Expo 67” ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงสินค้าระดับนานาชาติฉลองครบรอบ 100 ปี ของแคนาดา ในปี 1967 แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินระยะยาวกว่า 30 ปี หลังจากจัดงานแข่งขัน

Olympics 2004 ที่ประเทศกรีซ เมืองเอเธนส์

กรีซถือเป็นประเทศแรกของโลกที่จัดงานแข่งขันกีฬา Olympics ขึ้น ก็ยังต้องประสบกับปัญหาทางด้านการเงินอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่บานปลายถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ สำหรับสร้างสนามการแข่งขันและระบบการรักษาความปลอดภัย (เนื่องจากช่วงก่อนหน้านั้นเกิดเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย) แต่หลังจากจบงานกีฬา สถานที่หลาย ๆ แห่งก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง พร้อมกับหนี้ครัวเรือนจำนวนมหาศาล

Olympics 2016 ที่ประเทศบราซิล เมืองรีโอเดจาเนโร

ในปี 2016 เป็นช่วงจังหวะที่ไวรัสซิกากำลังระบาด ทำให้ผู้ชมและนักกีฬาถอนตัวออกไปจำนวนมาก รวมถึงการเสื่อมเสียภาพลักษณ์จากการที่พบสารปนเปื้อนในกีฬาทางน้ำอย่าง “ซูเปอร์แบคทีเรีย” ทำให้โดยภาพรวมแล้วการจัดงานในครั้งนั้นสูญสิ้นเงินไปจำนวนมหาศาลเกือบ 2 เท่าของเงินที่ได้ โดยเสียไปเพื่อพัฒนาระบบสาธารณะสุข และมีสถิติตัวเลขอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เป็นปัญหาในเวลาต่อมา

จึงทำให้สามารถมองได้ว่า การลงทุนในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬา Olympics ส่วนมากถ้าไม่เท่าทุน ก็อาจจะเป็นหนี้สินระยะยาวให้กับประเทศ และอาจมีความเสี่ยงในเรื่องของภาพลักษณ์ หากประเทศเหล่านั้น ไม่มีความพร้อมในการจัดงานอย่างแท้จริง ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพจัด Olympics อาจจะไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างที่เราเห็นก็เป็นไปได้

ทำไมญี่ปุ่นจึงไม่ยกเลิกการจัดงานในปีนี้ ?

พี่ทุยมองว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้จากสถิติที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดงาน Olympics อาจทำให้ประเทศประสบกับปัญหาทางด้านการเงินในระยะยาวได้ แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงยังคงจัดงานกีฬา Olympics ต่อในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาด

เหตุผลที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่ยกเลิกการจัดงานน่าจะมาจากสาเหตุหลัก คือ

1. เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเติบโตมากกว่าไม่จัด

จากบทวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ของ Bank of Japan (BOJ), Bloomberg และ Nomura Research ทำให้พี่ทุยมองว่าหนึ่งในสาเหตุที่คณะผู้จัดงานที่ญี่ปุ่นไม่คิดจะยกเลิก เพราะหวังว่าการจัดงานกีฬาในครั้งนี้น่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าถ้ายกเลิก Olympics ในครั้งนี้ จะทำให้การเติบโตของ GDP ร่วงลงกว่า 1.7% เหลือเพียง 0.3% เท่านั้น

2. เชื่อในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดและระบบสาธารณะสุข

ถ้าการจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นการสะท้อนความสามารถในการบริหารงานของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มีมาตรการในการรองรับไว้บางส่วน อย่างเช่น มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับนักกีฬาทุกวันในช่วงการแข่งขัน และไม่ให้มีผู้เข้าชมในสนามกีฬา (แต่อาจจะมีได้ในบางพื้นที่ ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าไม่ให้มีผู้เข้าชมเกิน 50% ของความจุสนาม และไม่เกิน 10,000 คน เป็นต้น) ทำให้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเลือกที่จะเสี่ยงเพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งในระบบงานของประเทศตัวเอง

3. ลงทุนไปแล้ว ไม่จัดก็เสียหายอยู่ดี

เนื่องจากการยกเลิกการแข่งขันกีฬา Olympics ในช่วงซัมเมอร์นี้จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 17 พันล้านดอลลาร์ ทั้งเรื่องของสัญญา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้วแต่อาจจะไม่ได้ใช้ รวมถึงค่าที่เสียประโยชน์จากรายได้หลักจากการจัดงานกีฬา เช่น ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน และรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

จากข้อมูลที่ทาง Bank of Japan (BOJ) ได้วิเคราะห์คาดการณ์ว่า ถ้าจัด Tokyo Olympics 2020 ในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตของ GDP ขึ้นไปอีก 0.2-0.3% (เติบโตประมาณ 1 ล้านล้านเยน หรือ 9 พันล้านดอลลาร์)

แต่อย่างไรก็ตาม พี่ทุยมองว่าจุดสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจหลังจากนี้ของญี่ปุ่น จะไม่ได้มาจากการเป็นเจ้าภาพ Tokyo Olympics 2020 แต่เป็นความสามารถในการจัดการและการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่า เนื่องจากถ้าเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เพิ่มขึ้นอีก ก็จะมีมูลค่าความเสียหายมหาศาล เพราะจะส่งผลเป็นทอด ๆ ไปยังภาคการท่องเที่ยวและบริโภค การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนทั่วโลก เพราะถือเป็นอีกหนึ่งในการจัดงานที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile