เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแพ้อาเซียน

ทำไมการฟื้นตัว “เศรษฐกิจไทย” ถึงแพ้อาเซียน ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นรองก็เพียงเมียนมาที่เผชิญวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ โดยธนาคารโลกอธิบายสาเหตุที่แต่ละประเทศฟื้นตัวไม่เท่ากัน มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย 1) ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 2) ความสามารถในการส่งออก รวมไปถึงการท่องเที่ยว และ 3) ขีดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่
  • สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี แต่เนื่องจากการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าประเทศอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น นำมาซึ่งการหดตัวอย่างและน่าจะหดตัวไปอีกในปีนี้ด้วย ขณะที่การส่งออกที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าและทยอยฟื้นตัวในปีนี้ก็ไม่มีทางชะเชยพอ จึงไม่แปลกใจที่เศรษฐกิจไทยจะรั้งท้ายในอาเซียนต่อไปอีกปี 
  • ความเสี่ยงที่อาจจะต้องจับตากันต่อไปคงหนี้ไม่พ้นเรื่องการกระจายวัคซีนว่าจะคืบหน้าได้เร็วแค่ไหน รวมถึงว่าจะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในไทยหรือไม่ในระหว่างนั้น การฟื้นตัวของภาคส่งออกและการปรับโครงสร้างของภาคการท่องเที่ยว และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกที่ถูกเวลาของรัฐบาลไทย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ผ่านไปแล้วสำหรับไตรมาสแรกของปี 2021 หลายคนคงเริ่มคิดว่าแล้วปีนี้ “เศรษฐกิจไทย” จะเป็นยังไงบ้าง จะดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา สัปดาห์ที่ผ่านมาพี่ทุยได้อ่านรายงานล่าสุดของธนาคารโลกที่สรุปภาพภาวะเศรษฐกิจของปีนี้ได้ค่อนข้างน่าสนใจ Uneven Recovery หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างไม่เท่ากัน

สำหรับเศรษฐกิจไทย น่าตกใจที่การฟื้นตัวเป็นรองบ๊วยจากอาเซียน 8 ประเทศ โดยเติบโตสูงกว่าเพียงเมียนมาที่มีวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่

การฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจไทย” และอาเซียน

GDP (%) ปี 2020 / 2021 ตามลำดับ

  • เวียดนาม 2.9 / 6.6
  • มาเลเซีย -5.6 / 6.0
  • ฟิลิปปินส์ -9.5 / 5.5
  • อาเซียน-5 -3.8 / 4.8
  • อินโดนีเซีย -2.1 / 4.4
  • กัมพูชา -3.1 / 4.0
  • ลาว 0.4 / 4.0
  • ไทย -6.1 /3.4
  • เมียนมา 1.7 / -10.0

อ่านต่อเรื่อง อนาคต “เศรษฐกิจไทย” เมื่อ GDP หดตัวหนักสุดในรอบ 22 ปี ! คลิกที่นี่

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ธนาคารโลกอธิบายว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโควิด-19
  2. ความสามารถในการส่งออกรวมไปถึงขนาดของภาคท่องเที่ยว ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากที่สุด
  3. ขีดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่

และจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว พี่ทุยสรุปได้ว่าที่เศรษฐกิจไทยแพ้อาเซียน เป็นเพราะ 2 สาเหตุนี้..

1) “เศรษฐกิจไทย” พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าเพื่อนบ้าน 3 เท่า

ขนาดของภาคการท่องเที่ยวไทย ขนาดของภาคการท่องเที่ยวไทย, Source: Worldbank

สำหรับ “เศรษฐกิจไทย” แม้ว่าจะควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าดูโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มอาเซียนแบบไม่เห็นฝุ่นที่ 15% ของ GDP (เทียบกับเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซียที่ประมาณ 5-6%, ฟิลิปปินส์ที่ประมาณ 3% หรืออินโดนีเซียที่ไม่ถึง 3% เป็นต้น)

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมในปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้ที่การท่องเที่ยวยังคงไม่ฟื้นตัวกลับมา ภาคการท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้จึงเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยเอาไว้ในอันดับเกือบรั้งท้าย

2) ภาคส่งออกไทยไม่ได้เข้มแข็งกว่าภูมิภาค

การเติบโตของภาคส่งออกเทียบกับสินค้าส่งออกหลักของประเทศ การเติบโตของภาคส่งออกเทียบกับสินค้าส่งออกหลักของประเทศ, Source: Worldbank

ตรงข้ามกับการท่องเที่ยว ภาคส่งออกสินค้าในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะหดตัว แต่ถือว่าหดตัวน้อยกว่า GDP ค่อนข้างมาก และปีนี้ธนาคารโลกมองว่าภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเชียจะกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่สามารถผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้ แต่น่าเสียดายที่ในกรณีนี้เศรษฐกิจกลับทำได้กลาง ๆ ไม่แตกต่างจากภูมิภาคอย่างชัดเจน

รัฐบาลไทยยังมีโอกาสแก้ตัว

แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เพราะว่าถ้าดูในประเด็นสุดท้ายเรื่องขีดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่ เศรษฐกิจไทยและรัฐบาลไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเม็ดเงินเหลือในมือค่อนข้างมากที่สุดแห่งหนึ่ง 

จากการขาดทุนงบประมาณที่ประมาณ 5% ของ GDP ในปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค และระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ประมาณ 50% น้อยสุดเป็นอันดับสองรองจากกัมพูชา

ดังนั้นถ้ามองไปข้างหน้าพี่ทุยเห็นว่า สิ่งที่ต้องจับตากันต่อ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะถูกใช้อย่างไรให้ดีที่สุด โดยเฉพาะประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้รองรับกับโลกในอนาคตว่าจะส่งออกอะไร หรือจะพึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูงขนาดนี้ต่อไปดีหรือไม่

สุดท้ายความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่หลายคนกำลังมองข้ามไปคือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นช่องโหว่ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย

ถ้าดูจำนวนการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาจนถึง 17 มี.ค. 63 ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปได้เพียง 54,000 โดสเท่านั้น หรือคิดเป็น 0.08% ของประชากรเท่านั้น เทียบกับสิงคโปร์ที่ 13.5% อินโดนีเซียที่ 2.4% มาเลเซียที่ 1.1% กัมพูชาที่ 1% ลาวที่ 0.56% และฟิลิปปินส์ที่ 0.2%

ถือว่าประเทศไทย มีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยอย่างน่าตกใจ..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย