วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

[สรุปโพสต์เดียวจบ] วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ศรีลังกาประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ เพราะว่าไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอจะใช้นำเข้าสินค้าจำเป็นแล้ว พร้อมขอความช่วยเหลือกู้เงินจาก IMF รวมถึงขอความช่วยเหลือจีนกับอินเดียสนับสนุนสิ่งของจำเป็นและเงินกู้
  • กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ มาจากความผิดพลาดที่สะสมต่อเนื่องจากการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ใช้จ่ายไปมากกว่าที่หามาได้ มีการลดภาษีไปมาก ทำให้รายได้หายไป บวกกับช่วงโควิด-19 รายได้หลักจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าเกษตร และการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติหายไป

 


รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงสงกรานต์ที่คนไทยกำลังเดินทางกลับบ้าน พักผ่อนวันหยุดยาวอยู่นั้น มีข่าวระดับโลกที่ดังไม่แพ้สงครามรัสเซียยูเครน ก็คือ “วิกฤตหนี้ศรีลังกา” ที่ธนาคารกลางศรีลังกาออกมาประกาศว่า ประเทศกำลังเจอความท้าทายครั้งสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ต่างประเทศที่กำลังจะครบกำหนดชำระได้ เพราะจำเป็นต้องเก็บทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีจำกัดไว้นำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น เชื้อเพลิง

และเวลานี้ศรีลังกากำลังพยายามเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขอกู้ยืมฉุกเฉิน รวมถึงขอความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างจีนและอินเดีย ในการสนับสนุนสิ่งจำเป็น และเงินกู้

แน่นอนว่า พอศรีลังกาประกาศว่าจะชำระหนี้ไม่ได้ ก็ต้องโดนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หั่นเครดิตลงมาอีก ซึ่งก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤติหนักเข้าไปอีก เพราะเครดิตที่แย่ลงย่อมหมายถึงแนวโน้มที่ประเทศต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แพงขึ้นในอนาคต แถมจะหาคนปล่อยกู้ให้ก็ยากขึ้น

และถ้าต้องไปพึ่งพา IMF ก็ต้องเจอเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะย้อนกลับมากระทบกับประชาชนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการมักเกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เช่น เก็บภาษีเพิ่ม  ลดงบประมาณ การใช้จ่ายต่าง ๆ ลง

แล้วศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้ยังไง จุดที่ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ทำอะไรไม่ได้ เฝ้ารอความช่วยเหลือจากภายนอก วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟัง

เปิด Timeline วิกฤตหนี้ศรีลังกา

วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

ย้อนประวัติศาสตร์การสั่งสมปัญหาหนี้

ถ้าเราดูย้อนไปตั้งแต่ศรีลังกาเป็นอิสระจากการอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษในปี 1948 จะพบว่า เศรษฐกิจศรีลังกาขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตรเป็นหลัก รายได้สำคัญมาจากการส่งออกชา กาแฟ ยาง และพริก ซึ่งเงินที่ได้จากการส่งออกสินค้าเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้นำเข้าสินค้าจำเป็นนั่นเอง

พอเวลาผ่านไป รายได้การส่งออกเสื้อผ้า การท่องเที่ยว และการส่งเงินกลับของแรงงานข้ามชาติ ก็เริ่มมีความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่การส่งออกลดลงก็จะมีผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดได้

จากเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ศรีลังกามักประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงิน โดยนับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา ศรีลังกาขอรับเงินกู้จาก IMF มาแล้ว 16 ครั้ง โดยทุกครั้งที่ได้รับเงินกู้มา ก็มาพร้อมเงื่อนไขว่าศรีลังกาต้องลดการขาดดุลงบประมาณ รักษานโยบายการเงินที่เข้มงวด พร้อมกับตัดงบภาครัฐที่ใช้อุดหนุนค่าอาหารกับประชาชนศรีลังกา และต้องลดค่าเงินด้วย

แต่ตามธรรมชาติแล้ว เวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาลง นโยบายการคลังที่ควรใช้ก็คือการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำตามเงื่อนไขของ IMF สถานการณ์ของศรีลังกาก็เลยดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ แบบนี้ คือ พอมีปัญหาก็ขอกู้เงินจาก IMF รวมถึงขอกู้ยืมจากประเทศต่าง ๆ เศรษฐกิจศรีลังกาก็เลยอยู่บนพื้นฐานการมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

และปัญหาก็พอกพูนมากขึ้นหลังรัฐบาล Rajapaksa ใช้นโยบายการลดภาษี ก็คือมีการใช้จ่ายเกินตัว ในขณะเดียวกันก็ทำให้รายได้ของประเทศลดลง

จากนั้นปัญหาก็หนักข้อขึ้น เมื่อได้ตัวเร่งอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไปปิดล็อคทำให้ช่องทางทำมาหากินของประเทศได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ด้านการท่องเที่ยว รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ชาซีลอน ยาง และที่สำคัญที่สุดก็คือ การส่งกลับรายได้จากแรงงานศรีลังกาที่ไปทำงานในต่างประเทศก็หายไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก  

ขณะที่สงครามรัสเซียยูเครน กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ปัญหาที่หมักหมมมานานระเบิดออกมา เพราะนอกจากรายได้ที่ลดฮวบไปแล้ว ยังมาเจอราคาน้ำมันที่พุ่งพรวด กดดันต้นทุนสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมหาศาล ในขณะที่เงินตราต่างประเทศที่เก็บสำรองไว้ก็น้อยลงเต็มทน จนในที่สุดก็มาถึงจุดที่ออกมาประกาศตัวว่า มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่พอจะจ่ายหนี้ ไม่พอจะจ่ายค่านำเข้าสิ่งจำเป็น เรียกง่าย ๆ ก็คือ “ถึงทางตัน”

สรุปตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของศรีลังกา 

เล่ามาขนาดนี้แล้ว ถ้ายังไม่เห็นภาพชัด พี่ทุยขอหยิบตัวเลขมากางให้เห็นชัดมากขึ้น สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นในด้านรายได้ รายจ่าย การก่อหนี้ รวมถึงด้านเงินเฟ้อ

รายได้และหนี้ศรีลังกา

เปรียบเทียบรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลศรีลังกา

[สรุปโพสต์เดียวจบ] วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

พัฒนาการเงินเฟ้อของศรีลังกา จุดแตกหัก วิกฤตหนี้ศรีลังกา

[สรุปโพสต์เดียวจบ] วิกฤตหนี้ศรีลังกา มาถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ได้ยังไง ?

และนี่ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่ก่อหนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ศรีลังกาก็คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าจะกู้สถานะของประเทศให้กลับมาดีได้

แน่นอนว่า วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่แค่ประเทศเท่านั้นที่เสียหายเรื่องเครดิต เพราะถ้ามองไปลึก ๆ ถึงประชาชนตาดำ ๆ ในประเทศ ทุกคนก็ต้องร่วมรับกรรมจากวิกฤตินี้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงมากขึ้น ในขณะที่รายได้ของตัวเองอาจจะมีอยู่เท่าเดิมหรือลดลง แต่ด้วยเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และค่าเงินที่ลดลง ก็ทำให้ มูลค่าเงินในมือลดลงไปโดยปริยาย

พูดง่าย ๆ ก็คือ ประชาชนแค่อยู่เฉย ๆ ก็จนลงแล้ว

จะเห็นได้ว่า การบริหารรายได้กับรายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนแต่ละคนยังไง การบริหารรายได้กับรายจ่ายขององค์กร แล้วก็ของประเทศ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ได้แตกต่างกันเลย

ก็ได้แต่หวังว่า ประเทศไทยจะไม่เดินตามรอยจนถึงจุดวิกฤตเหมือนศรีลังกา

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย