วันที่ 31 ก.ค. 2565 เกิดเหตุคานปูนร่วงทับรถยนต์ 3 คัน จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่โครงการซ่อมสะพานกลับรถ ถนนพระราม 2 ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักสู่ภาคใต้ ผู้ที่สัญจรไปมาต่างมีภาพจำว่าเป็นถนนที่มีการก่อสร้างไม่สิ้นสุด บทความนี้พี่ทุยขอพาไปรู้จักกับ “ถนนพระราม 2” พร้อมย้อนประวัติอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น และการเรียกร้องค่าเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง
รู้จักกับ “ถนนพระราม 2”
ถนน พระราม 2 มีชื่อเรียกว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว ตัดผ่านกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และราชบุรี เป็นเส้นทางหลักสู่ภาคใต้ของชาวกรุงเทพฯ ถนนสายนี้ผ่านกรุงเทพฯ ระยะทาง 14.66 กิโลเมตร จังหวัดสมุทรสาคร 26.951 กิโลเมตร และจังหวัดราชบุรี 3.215 กิโลเมตร เป็นถนนที่ใช้ชื่อว่าพระรามเพียงเส้นเดียวที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพฯ
ถนน พระราม 2 รู้จักกันทั่วไปในนาม “ถนน 7 ชั่วโคตร” เพราะเป็นถนนที่ก่อสร้างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 50 ปี เริ่มก่อสร้างครั้งแรกในปี 2513 แล้วเสร็จปี 2516 เริ่มต้นเป็นถนน 2 เลน
จนถึงปี 2532-2537 มีโครงการขยายช่องทางจาก 2 เลน เป็น 4 เลน และก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ระหว่างปี 2539-2543 ขยายช่องทางช่วงถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเป็น 14 เลน
จากนั้นปี 2544-2546 ขยายทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จาก 4 เลน เป็น 8 เลน และ 10 เลน จนถึงปี 2549-2552 โครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จาก 4 เลน เป็น 6-8 เลน ในช่วงปี 2561-2563 ขยายถนนพระราม 2 แยกต่างระดับบางขุนเทียนถึงแยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน
ปัญหา “ถนนพระราม 2” ต่อประชาชนจากการก่อสร้างไม่สิ้นสุด
จนถึงตอนนี้ยังมีโครงการที่ยังก่อสร้างอีกหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย, โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว, โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
ผู้ที่สัญจรผ่านถนนพระราม 2 จึงเห็นภาพการก่อสร้างจนถนนเส้นนี้กลายเป็นถนนที่มีการก่อสร้างไม่จบไม่สิ้น การก่อสร้างที่ยาวนานทำให้ประชาชนเผชิญปัญหาจราจรติดขัด เกิดปัญหาฝุ่นละออง และยังมีเครื่องจักรส่งเสียงดัง จนมีการเรียกร้องและเป็นข่าวเมื่อปี 2562
รายละเอียดอุบัติเหตุคานปูนร่วงครั้งล่าสุด
ล่าสุดเกิดเหตุคานปูนหนัก 5 ตัน โครงการซ่อมสะพานกลับรถ กม.34 ถนนพระราม 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ ร่วงทับรถ 3 คัน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย สะพานกลับรถแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 จึงจำเป็นต้องซ่อมแซมทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ ขณะกำลังเตรียมเทพื้นสะพานใหม่ก็เกิดเหตุคานตัวริมร่วงลงมา สร้างความเสียหายต่อรถที่สัญจรผ่านบริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม
โครงการซ่อมแซมนี้เป็นโครงการของกรมทางหลวงโดยใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ควบคุมงานเป็นกรมทางหลวง และจ้างคนงาน สำหรับสาเหตุทางกรมทางหลวงและวิศวกรรมสถานได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 14 วัน
ประวัติอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2
การก่อสร้างที่ยาวนานเช่นนี้ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ไล่เรียงตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2563 รถยนต์ 2 คัน เป็นรถเก๋งและรถกระบะ ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง บริเวณหน้าบริษัทโลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนน พระราม 2 ขาเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดจากไม่มีป้ายเตือน
วันที่ 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัทอิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางยกระดับพระราม 2 กม.19 ระหว่างติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่าเกิดจากถอดเข็มขัดนิรภัยออกเนื่องจากต้องมุดเข้าใต้ท้องสะพาน
วันที่ 17 ก.ค. 2565 เกิดเหตุอุปกรณ์ก่อสร้างชิ้นส่วนนั่งร้านหล่นทำให้รถยนต์เสียหาย 3 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน เหตุเกิดระหว่างการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้ากรุงเทพฯ)
การเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ
หากเกิดอุบัติเหตุจากการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการก่อสร้างของบริษัทรับเหมาซ่อมถนน เช่น ไม่มีการวางป้ายเตือน สัญญาณไฟให้ระวังการก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้สัญจรไปมาประสบอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือญาติผู้เสียชีวิตต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและฟ้องร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบให้รับผิดชอบความเสียหายได้
โดยศาลจะตัดสินว่าต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเท่าใด เช่น ค่าทรัพย์สินเสียหาย ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอื่นไม่ว่าจะเป็นค่าเสียเวลา ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล แต่หากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่แล้วพบว่าผู้ประสบอุบัติเหตุมีส่วนประมาทจนเกิดอุบัติเหตุก็ส่งผลให้การชดเชยค่าเสียหายลดลงได้
พี่ทุยก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ นำไปปรับปรุงแก้ไข หาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุความสูญเสียซ้ำรอยแบบนี้อีก
อ่านเพิ่ม