ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เป็นอะไรที่มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะคุ้นเคยเพราะจ่ายค่าบัตรเครดิตไม่ตรงเวลา (แต่หลาย ๆ คนก็จ่ายตรงเวลา ซึ่งพี่ทุยสนับสนุนแบบนี้นะ) ซึ่งขั้นกว่าที่น่ากลัวกว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต คือบางคนไม่รู้ วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่ถูกต้อง ทำให้เข้าใจว่าตัวเองสร้างหนี้น้อยกว่าจำนวนที่แท้จริง!
การที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต จึงทำให้เกิดปัญหาหนี้สะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามมา วันนี้พี่ทุยเลยจะมาปรับทัศนคติทุกคนเสียใหม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต เพื่อที่จะได้เตือนตัวเองไว้เสมอก่อนจะก่อหนี้
ทำไมมีคนจำนวนมากมีหนี้บัตรเครดิต
พี่ทุยเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนเกิน 80% ต้องมีบัตรเครดิตพกติดกระเป๋าไว้อย่างน้อย 1-2 ใบแน่นอน เพราะเดี๋ยวนี้บัตรเครดิตแข่งกันออกโปรโมชันดึงดูดลูกค้าตามร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ กันเต็มไปหมด ทั้งส่วนลด สะสมแต้ม หรือผ่อน 0% พอเห็นโปรโมชันบัตรเครดิตมาล่อตาล่อใจซะขนาดนี้ ก็อดใจไม่ได้ที่จะสมัครเอาไว้สักใบสองใบ เท่านั้นยังไม่พอ บัตรเครดิตเองก็มีทั้งของแถมของรางวัล มีให้แลกแต้มเยอะแยะลายตายั่วกิเลสไปหมด แล้วใครจะไม่อยากมีบัตรเครดิตถือไว้สักใบจริงมั้ย
แต่การใช้บัตรเครดิตก็ต้องมาพร้อมกับความมีวินัยเสมอ”
เราจำเป็นที่จะต้องจ่ายบัตรเครดิตให้ตรงเวลา ถ้าเราเผลอใช้เงินเกินตัว พอถึงรอบวันชำระยอดหนี้บัตรเครดิต แต่ดันมีเงินสดในกระเป๋าไม่พอจ่าย เราก็ต้องกลายเป็น ‘หนี้’ และสิ่งที่ตามมาก็คือ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่จะต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แทนที่บัตรเครดิตจะช่วยให้เราได้ส่วนลด ประหยัดรายจ่ายลง กลับกลายเป็นต้องมีรายจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น แทนที่จะประโยชน์กลับกลายเป็นโทษ
วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่ถูกต้อง
อย่างที่พี่ทุยบอกไปว่าหลายคนยังเข้าใจผิด เกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยของบัตรเครดิต อาจจะคิดว่าเราชำระเงินไปส่วนหนึ่งแล้ว ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแค่ส่วนคงค้าง แต่ความเข้าใจแบบนั้น เป็นความเข้าใจผิด!
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต จะเกิดขึ้นเมื่อเราชำระค่าสินค้าและบริการไม่เต็มจำนวน ไม่ว่าจะเป็นการชำระขั้นต่ำหรือขาดไปแค่ 1 บาทก็ตาม ซึ่งการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะแยกคำนวณเป็น 2 ส่วน คือ
1. คิดจาก ‘ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด’ ตั้งแต่ วันบันทึกรายการ ถึง วันสรุปยอดค่าใช้จ่าย
2. คิดจาก ‘ยอดคงค้าง’ ตั้งแต่ วันที่ชำระขั้นต่ำ ถึง วันสรุปยอดเดือนถัดไป
สมมติ พี่ทุยรูดบัตรเครดิตซื้อหญ้าพรีเมี่ยมเมื่อวันที่ 1 มี.ค. จำนวน 10,000 บาท ธนาคารสรุปยอดค่าใช้จ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน และกำหนดชำระเงินทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ซึ่งธนาคารคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 20% ต่อปี ต่อมาในวันที่ 10 เม.ย. พี่ทุยนำเงินไปจ่ายขั้นต่ำ 10% คือ 1,000 บาท
ในรอบบิลถัดไป 25 เม.ย. พี่ทุยจะถูกคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ดังนี้
1. ยอดทั้งหมด 10,000 บาท x 20% x 25 วัน / 365 = 136.99 บาท (1 มี.ค. – 25 มี.ค.)
2. ยอดคงค้าง 9,000 บาท x 20% x 16 วัน / 365 = 78.90 บาท (10 เม.ย. – 25 เม.ย.)
ดังนั้น ยอดเงินที่พี่ทุยถูกเรียกเก็บคือ 9,000 + 136.99 + 78.90 = 9,215.89 บาท
สมมติ ต่อมาวันครบกำหนดชำระ 10 พ.ค. พี่ทุยไถนาได้มีเงินมาจ่ายเต็มจำนวนยอดเรียกเก็บของ 25 เม.ย. คือ 9,215.89 บาท
ในวันครบรอบบิล 25 พ.ค. พี่ทุยยังมียอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมค้างอีก
9,000 บาท x 20% x 14 วัน / 365 = 69.04 บาท (26 เม.ย. – 10 พ.ค.)
ซึ่งรวม ๆ แล้วพี่ทุยต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด 284.93 บาท
จะเห็นได้ว่าการคิดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตเรียกได้ว่าเอาทุกเม็ดเลยทีเดียว”
แล้วถ้าพี่ทุยยังคงจ่ายบัตรเครดิตยอดขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ พี่ทุยก็จะต้องเสียดอกเบี้ยของดอกเบี้ยวนไปเรื่อย ๆ พอเห็นวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบนี้แล้ว คงไม่อยากเป็นหนี้บัตรเครดิตกันเลยใช่มั้ยล่ะ
พี่ทุยบอกเสมอว่า ทุกครั้งที่รูดบัตรเครดิต เราต้องมีสติ มั่นใจว่าเงินในกระเป๋าเรามีพอจ่ายตอนนั้นเดี๋ยวนั้น ห้ามไปหวังว่าจะมีเงินก้อนตรงนู้นตรงนี้มา บัตรเครดิตเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกให้เราไม่ต้องพกเงินสดเท่านั้น ไม่ใช่ที่กู้เงิน ! ห้ามเอาเงินในอนาคตมาใช้ถ้าไม่จำเป็น
พี่ทุยมีทิปส์ง่าย ๆ ให้ไม่รูดบัตรเครดิตเกินตัว คือ ถ้าเรารูดบัตร 1,000 บาท ก็ให้หักเงินสด 1,000 บาทไปใส่ไว้ในบัญชีที่ไม่มี ATM และเอาไว้สำหรับจ่ายยอดบัตรเครดิตอย่างเดียว แต่ถ้ารู้ตัวเองว่าไม่มีวินัย เผลอไม่ได้เป็นรูดปรื๊ด ๆ ก็เลิกใช้บัตรเครดิตไปเลยจะดีที่สุด
อ่านเพิ่ม