ทำไม Craft Beer เกาหลีใต้ กำลังจะเป็นเบียร์กระเเสหลัก ?

ทำไม Craft Beer เกาหลีใต้ กำลังจะเป็นเบียร์กระแสหลัก ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • คราฟต์เบียร์ หมายถึงผู้ผลิตเบียร์ขนาดเล็ก ดำเนินธุรกิจอย่างอิสระและใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิตทุกขั้นตอน
  • ตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้นั้นเติ่มโตเป็น 118 พันล้านวอน (3.3 พันล้านบาท) ในปี 2020 เติบโตเกือบสองเท่าจากปี 2018 โดยทางสมาคมคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตเป็น 370 พันล้านวอน (10.3 พันล้านบาท) ภายในปี 2023
  • นอกเหนือจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการระบาดโควิด-19 การแก้ไขกฎหมายภาษีสุราของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขายคราฟต์เบียร์ในตลาดภายในประเทศ
  • จากการรายงานในปี 2018 ไทยนำเข้าคราฟท์เบียร์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ส่วนสำคัญเนื่องจากเราไม่มีการผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศ ต้องนำเข้าคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศ

 


รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ไม่กี่ปีมานี้ในไทยมีการพูดถึงประเด็นการเปิดเสรีเบียร์มากขึ้น เพราะไทยมีกฎหมายสุราที่สกัดกั้นการตั้งโรงเบียร์ขนาดเล็กอยู่ ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ยากจะแข่งขันกับผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ได้ พี่ทุยจึงอยากพาไปดู “Craft Beer เกาหลีใต้” ที่ช่วงโควิด-19 นี้ ตลาดคราฟต์เบียร์บ้านเขาเติบโตแบบพุ่งพรวด

จากความต้องการเบียร์ที่หลายหลายและรสชาติดีมากขึ้นของผู้บริโภค ส่งให้ความนิยมของคราฟต์เบียร์เพิ่มขึ้นถึงขนาดที่กดดันบริษัทเบียร์รายใหญ่ในเกาหลีใต้ที่ครองตลาดมายาวนานให้เหงื่อตกได้

แต่กว่าที่ตลาดคราฟต์เบียร์ของเกาหลีใต้จะเติบโตได้ขนาดนี้ ก็มีต้องต่อสู้ฝ่าฟันมาไม่น้อย วันนี้พี่ทุยจะพาไปดูความก้าวหน้าของวงการคราฟต์เบียร์ของเกาหลีใต้ ว่าเขาเติบโตแค่ไหน และความสำเร็จของเขาเกิดจากอะไร 

คราฟต์เบียร์ คืออะไร

Craft Beer หรือ คราฟต์เบียร์ เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่โดย American Brewers Association ในปี 1970 หมายถึงผู้ผลิตเบียร์ขนาดเล็กซึ่งผลิตได้ 6 ล้านบาร์เรลหรือน้อยกว่านั้น ดำเนินธุรกิจอย่างอิสระและใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่คิดค้นรสชาติ หมัก บรรจุขวด และการส่งขาย และผลิตภัณฑ์เบียร์ที่ได้มีรสชาติพิเศษเฉพาะตัว

ในเกาหลีใต้คำนี้ถูกใช้อย่างกว้าง ๆ กับผู้ผลิตสุราขนาดเล็กและขนาดกลาง ยกเว้นแบรนด์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น Hite Jinro, Oriental Brewery (OB) และ Lotte Chilsung Beverage

Craft Beer เกาหลีใต้ เติบโตแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ตลาดเบียร์ในเกาหลีใต้นั้นถูกครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศกับแบรนด์จากต่างประเทศ แต่หลังจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ความนิยมของคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ในปี 2020 ยอดขายคราฟต์เบียร์ในเครือร้านสะดวกซื้อของเกาหลีใต้อย่าง CU ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 500% เทียบกับปีก่อนหน้า

ในปี 2021 แนวโน้มความนิยมของคราฟต์เบียร์ก็ยังอยู่ในขาขึ้น เมื่อเทียบยอดขายปลายเดือน มิ.ย. 2021 กับปีก่อน ยอดขายของคราฟต์เบียร์ เพิ่มขึ้นถึง 239.2% สถิติในปี 2019 เอง ก็น่าสนใจ เพราะยอดขายคราฟต์เบียร์เพิ่มขึ้น 220.4% ในขณะที่ยอดขายแอลกอฮอล์โดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 12.3% ในปี 2019 และ 17.8% ในปี 2020 และในเดือน พ.ค. 2021 เบียร์ที่ขายดีอันดับ 1 ในเครือร้านสะดวกซื้อ CU ก็คือคราฟต์เบียร์ยี่ห้อ Gompyo 

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตเบียร์แห่งเกาหลี (Korea Craft Brewers Association) ตลาดคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นนั้นเติ่มโตเป็น 118 พันล้านวอน (3.3 พันล้านบาท) ในปี 2020 เติบโตเกือบสองเท่าจากปี 2018 โดยทางสมาคมคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตเป็น 370 พันล้านวอน (10.3 พันล้านบาท) ภายในปี 2023

ทำไม Craft Beer เกาหลีใต้ กำลังจะเป็นเบียร์กระเเสหลัก ?

Craft Beer เกาหลีใต้ เติบโตได้เพราะอะไร

ก่อนหน้านี้วงการเบียร์ของเกาหลีใต้ มีเพียงบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ครองตลาด แต่หลายปีนี้คราฟต์เบียร์ของเกาหลีใต้ก็เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งยังได้รับความนิยมแบบที่สู้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็มาจากหลายปัจจัย

ผู้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ส่วนหนึ่งที่ยอดขายคราฟต์เบียร์ของเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากช่วงโควิด-19 ผู้คนอยู่ติดบ้านมากขึ้นเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม คนรุ่นใหม่ก็เริ่มสร้างวัฒนธรรมการเพลิดเพลินกับคราฟต์เบียร์ที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ในระหว่างชมภาพยนตร์และซีรีส์ของ Netflix ที่บ้าน

นักดื่มชาวเกาหลีใต้เริ่มให้ความสำคัญกับ “ความหลากหลาย” ไม่ผูกขาดรสชาติเบียร์กับแค่บริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทในประเทศ ผู้คนชอบที่จะค้นพบเบียร์ที่มีความหลากหลายและอร่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่นอกเหนือจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการระบาดโควิด-19 การแก้ไขกฎหมายภาษีสุราของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขายคราฟต์เบียร์ในตลาดภายในประเทศ

การแก้ไขกฎหมายภาษี

ปี 2020 เกาหลีใต้แก้ไขกฎหมายภาษีสุรา โดยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีตามมูลค่าต้นทุนการผลิต (การตลาด การโฆษณา ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็นำมาคำนวณภาษี) เปลี่ยนมาเก็บภาษีตามปริมาณเบียร์ที่ขาย ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ได้

ด้วยภาษีที่น้อยลง ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นสามารถลดราคาขายเบียร์ลงได้ ดังนั้นราคาของคราฟต์เบียร์จึงถูกพอที่จะเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อ โดยสามารถทำโปรโมชันเบียร์ สี่กระป๋องราคา 10,000 วอน (280 บาท) ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

ปรับปรุงระเบียบโรงงานสุรา

นอกจากนี้ยังมีการแก้ระเบียบของโรงงานสุรา เมื่อก่อนผู้ผลิตเบียร์ไม่สามารถจ้างโรงงานของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายอื่น (OEM) ให้ผลิตเบียร์ของตัวเองได้ แต่ปัจจุบันหลังแก้กฎหมายแล้ว โรงเบียร์ขนาดเล็กกับบริษัทขนาดใหญ่สามารถจับมือกัน ทำให้ขยายกำลังผลิตคราฟต์เบียร์ได้มากขึ้น

อย่างคราฟต์เบียร์ยี่ห้อยอดนิยม Gompyo ก่อนหน้านี้ถูกผลิตโดยโรงเบียร์ขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตจำกัด สามารถผลิตได้เพียง 200,000 กระป๋องต่อเดือนเท่านั้น แต่หลังเปลี่ยนแปลงกฎก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 15 เท่าเป็น 3 ล้านกระป๋องต่อเดือน

การต่อต้านเบียร์นำเข้า

อีกทั้งเมื่อมีการแก้กฎหมายภาษีแล้ว ทำให้ราคาของคราฟต์เบียร์สามารถแข่งขันกับเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศได้ ประกอบกับปัญหาพิพาทระหว่าง ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ ชาวกิมจิได้คว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นทั่วประเทศ ส่งผลให้ญี่ปุ่นที่เคยส่งออกเบียร์มาเกาหลีใต้ เป็นอันดับสองในปี 2019 ก็ตกลงมาอยู่อันดับที่ 10

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเบียร์ในเกาหลีใต้ ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2020 แต่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2011 ที่ยกเลิกกฎหมายซึ่งระบุว่าโรงเบียร์ต้องผลิตเบียร์มากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีจึงจะได้รับใบอนุญาต ที่เคยทำให้มีผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่แค่สองราย แต่ปริมาณนี้ก็ลดลงเหลือ 150,000 ลิตร และในปี 2014 ก็ลดกำหนดขั้นต่ำเหลือแค่ 50,000 ลิตรต่อปี จึงไม่แปลกใจที่มีโรงเบียร์เกิดใหม่มากมายในโซล

ก่อนหน้านี้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเกาหลีใต้ถูกครอบงำโดย “Big 2” คือ Hite-Jinro และ Oriental Breweries (OB) ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 90% ความได้เปรียบของทั้งสองบริษัทก็มาจากโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการประหยัดต่อขนาด การจำกัดใบอนุญาตสำหรับโรงเบียร์ที่มีการผลิตต่ำ และภาษีที่สูงที่เรียกเก็บจากแอลกอฮอล์นำเข้า

แต่หลังจากเปิดเสรีเบียร์มากขึ้น ตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้ก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เติบโตขนาดที่ว่าบีบโรงเบียร์ขนาดใหญ่ของประเทศให้ต้องปรับตัว ในปี 2021 โรงเบียร์เจ้าใหญ่ก็เริ่มตั้งทีมเพื่อพัฒนาคราฟต์เบียร์ของตัวเองเพื่อมาแข่งขันในตลาดนี้

คราฟต์เบียร์ไทยในปัจจุบัน

ทำไม Craft Beer เกาหลีใต้ กำลังจะเป็นเบียร์กระเเสหลัก ?

ปี 2020 แบรนด์ “ศิวิไลซ์” คราฟต์เบียร์ไทย ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวที ‘World Beer Awards 2020’ แต่กลับต้องรับรางวัลในฐานะแบรนด์คราฟต์เบียร์จากเวียดนาม เพราะกฎหมายในไทยไม่เปิดทางให้ตั้งโรงงานเบียร์ขนาดเล็กได้

จากการรายงานในปี 2018 ไทยนำเข้าคราฟท์เบียร์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ส่วนสำคัญเนื่องจากเราไม่มีการผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศ ต้องนำเข้าคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศ

เมื่อดูกฎหมายการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ระบุว่า ผู้ผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย 51% และแบ่งการผลิตเบียร์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) ซึ่งต้องมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และต้องผลิตเบียร์ได้เกิน 10 ล้านลิตรต่อปี

2. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งตามกฎต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตเบียร์มากกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และไม่สามารถบรรจุขวดจำหน่ายได้เอง

ซึ่งคราฟท์เบียร์เป็นเบียร์ที่ผลิตในระดับครัวเรือน จึงไม่คุ้มค่าหากจะต้องไปจัดตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทเพื่อขออนุญาตผลิต ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยจึงไม่สามารถจัดตั้งโรงเบียร์ในประเทศได้ ต้องส่งเบียร์ไปผลิตในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว หรือกัมพูชา และส่งกลับมาขายในไทย

พี่ทุยว่ามองว่า ถ้าไทยสามารถแก้ไขกฎหมายการผลิตสุราได้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมคราฟต์เบียร์ไทยให้ไปแข่งขันกับคราฟต์เบียร์ชาติอื่นได้แล้ว ก็จะทำให้ตลาดเบียร์ในประเทศมีการแข่งขันมากขึ้น ตลาดไม่ถูกผูกขาดด้วยผู้เล่นน้อยราย ผู้บริโภคก็มีโอกาสได้สินค้าที่มีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น

หมายเหตุ : อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดสามารถก่อความเสียหาย ต่อทั้งตนเอง คนรอบข้าง และสังคมภาพรวมได้ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมการบริโภคแอลกอฮอล์ เพียงนำเสนอมุมมองภาพรวมทางธุรกิจเท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย